บัตรเขย่ง
ผู้เรียบเรียง :
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
3.นายอธิพงษ์ ภูมีแสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
1. ความนำ
คำว่า “เขย่ง” เป็นคำกริยา ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง ยืนด้วยปลายเท้า, พยุงตัวให้สูงขึ้น ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงกรณีที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรที่ใช้ ว่าอาจเกิดจาก "บัตรเขย่ง"[1] จากการชี้แจงดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก และเกิดการตั้งคำถามถึงความหมายของบัตรเขย่ง ซึ่งจากคำชี้แจงของรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง อธิบายได้ว่า บัตรเขย่ง หมายถึง การที่ผู้แสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งแต่ไม่รับบัตรไปกาอันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ส่งผลให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรที่นับทั้งหมดไม่ตรงกัน หรือแปลความได้ว่า “ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน”
2. ปรากฏการณ์บัตรเขย่งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. ภายหลังปิดหีบลงคะแนนคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกว่า 92,000 หน่วยทั่วประเทศได้ทำการนับคะแนนและส่งผลการนับคะแนนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรวบรวมและส่งต่อข้อมูลตามขั้นตอนและรูปแบบที่กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) และในคืนวันเลือกตั้ง (24 มี.ค. 62) เวลา 21.28 น. ประธาน กกต. แถลงผลนับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ มีผู้มาใช้สิทธิ 65.96 เปอร์เซ็นต์ (33,775,230 คน) จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,205,624 พร้อมระบุว่าจะแถลงผลนับคะแนน 95 เปอร์เซ็นต์ อย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 25 มี.ค. 62[2] ภายหลังมีการแถลงเลื่อนวันเป็น 29 มีนาคม 2562
ท่ามกลางกระแสแรงกดดันอย่างรอบด้านต่อการทำหน้าที่ของสำนักงาน กกต. ส่งผลให้ในวันที่ 28 มีนาคม 2562 กกต. ได้แถลงผลการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 29 มีนาคม 2562 และยังเป็นการเปิดคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตครบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ระบุว่าจะให้ผลคะแนนเพียง 95 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในการแถลงผลคะแนนดังกล่าวปรากฏตัวเลขข้อมูลที่รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจง กับตัวเลขในเอกสารที่แจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนไม่ตรงกันหลายจุด ในจำนวนนี้คือจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมี 38,268,375 คน
แต่จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้อยู่มี 38,268,366 บัตร นั่นเท่ากับว่ามีบัตรเลือกตั้งหายไป 9 ใบ ต่อมาฝ่ายประจำของ กกต. ทั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่าเป็น "บัตรเขย่ง"[3] หลังจากคำชี้แจงของ กกต. ก็เกิดกระแสในสังคมเกิดขึ้นโดยเฉพาะสังคมออนไลน์ที่มีการพิมพ์แฮชแท็ก #บัตรเขย่ง สร้างความสับสนและเกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วบัตรเขย่ง คืออะไร เป็นอย่างไร และเคยมีมาก่อนหรือไม่ในการเลือกตั้งไทย
3. บัตรเขย่งกับการเลือกตั้งในอดีต
เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งในอดีตเทียบเคียงกับความหมายตามนัยที่ฝ่ายประจำของ กกต.ชี้แจงที่ว่า ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน ดังมีผลสรุปการเลือกตั้งและปรากฏการณ์ของบัตรเขย่ง
ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลัง ต่อไปนี้
พ.ศ. 2548 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สาเหตุมาจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 4 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 32,341,330 คน จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปทั้งสิ้น 32,341,324 ใบ ซึ่งบัตรเขย่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 6 ใบ ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 32,337,611 คน จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปทั้งสิ้น 32,337,582 ใบ มีบัตรเขย่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 29 ใบ ส่งผลการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 พบบัตรเขย่งทั้งการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต รวมกันทั้งสิ้น 35 ใบ
พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรี
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แต่ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหม่ ได้เกิดการก่อรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลภายใต้การรักษาการนายกรัฐมนตรี
ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภายหลังการรัฐประหารนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีคำสั่งแถลงการณ์ฉบับที่ 3 จึงทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถูกยกเลิก เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งก่อนศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 29,088,209 คน จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปทั้งสิ้น 29,088,209 ใบ และมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 28,998,364 คน จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปทั้งสิ้น 28,998,364 ใบ ส่งผลให้ไม่พบบัตรเขย่ง ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต
พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน ทำให้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะมีจำนวนการเลือก ส.ส. มากกว่า 1 เบอร์ และไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด ทำให้ไม่สามารถคิดคะแนนรวมเพื่อหาจำนวน “บัตรเขย่ง” ที่เกิดขึ้นได้ แต่หากพิจารณาเฉพาะจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 32,792,246 คน กับ จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป จำนวน 32,792,240 ใบ ทำให้สรุปได้ว่าบัตรเขย่ง ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 มีจำนวน 6 ใบ
พ.ศ. 2554 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 26 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 35,220,377 คน และมีจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปทั้งสิ้น 35,220,377 ใบ นั่นหมายความว่า ไม่พบ
“บัตรเขย่ง” ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554
จากตัวเลขย้อนหลังการเลือกตั้งไทยระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2554 พบว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป มีจำนวนที่ไม่เท่ากันอยู่ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550 หากแต่ในเวลานั้นไม่ได้มีการพูดถึง “บัตรเขย่ง” เหมือนเช่นการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
4. แนวคิด กฎหมาย กับกรณีบัตรเขย่ง
เมื่อพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้ในหมวด 5
การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ส่วนที่ 3 การนับคะแนนและการรวมคะแนน มาตรา 122 ความว่า
"ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งดําเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งทราบ และนําส่งหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งมอบหมาย"
ทั้งนี้บทกฎหมายกับกรณีบัตรเขย่ง ยังไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า “บัตรเขย่ง” ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
"คำว่า บัตรเขย่ง ไม่เคยมีในตัวบทกฎหมาย และไม่มีในพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562"[4]
5. บทสรุป
จากสาระข้างต้น คำว่า “บัตรเขย่ง” แท้จริงแล้วไม่ได้มีตัวบทกฎหมายใดกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่เป็นคำที่เจ้าหน้าที่ฝ่าย กกต.คิดค้นหรือบัญญัติขึ้นมา โดยมีสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญจนเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา แต่หากพิจารณาถึงแก่นแท้ของปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปมีจำนวนที่ไม่เท่ากันนั้น การเลือกตั้งในอดีตก็เคยมีปรากฏ เช่น ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550 หากแต่ในเวลานั้นไม่ได้มีการพูดถึงบัตรเขย่งเหมือนเช่นการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
บรรณานุกรม
“ประธานกกต. แถลงล่าสุดบอกจะเปิดเผยผลนับคะแนน 95 % วันพรุ่งนี้.," ข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์
(24 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/03/24/> สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
“ผลเลือกตั้ง 2562 : เปิดพจนานุกรมเลือกตั้งฉบับ กกต.," ข่าวบีบีซีไทยออนไลน์ (29 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47743861>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
“ย้อนรอยการเลือกตั้งไทย," เอ็มไทยไลน์ (30 มีนาคม 2562),
เข้าถึงจาก <https://news.mthai.com/politics-news/719142>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
“เลือกตั้ง2562 : กกต.ไขข้อข้องใจ บัตรเขย่ง," ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ (29 มีนาคม 2562),
เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278837>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
“อดีต กกต. ไขความหมาย “บัตรเขย่ง””, ไทยรัฐออนไลน์ (28 มีนาคม 2562),
เข้าถึงจาก < https://www.thairath.co.th/news/politic/1531995>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561.”
ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561.
[1] “เลือกตั้ง2562 : กกต.ไขข้อข้องใจ บัตรเขย่ง," ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ (29 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/278837>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
[2] “ประธานกกต. แถลงล่าสุดบอกจะเปิดเผยผลนับคะแนน 95 % วันพรุ่งนี้.," ข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ (24 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/03/24/> สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
[3] “ผลเลือกตั้ง 2562 : เปิดพจนานุกรมเลือกตั้งฉบับ กกต.," ข่าวบีบีซีไทยไลน์ (29 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47743861>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.
[4] “อดีต กกต. ไขความหมาย “บัตรเขย่ง””, ไทยรัฐออนไลน์ (28 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก < https://www.thairath.co.th/news/politic/1531995>, สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563.