บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรถือว่ามีส่วนสำคัญต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบของรัฐสภา  เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นการสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 114)  กำหนดให้ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังได้กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้แก่สภาผู้แทนราษฎรไว้ในหลายด้านเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนอย่างแท้จริง รายละเอียดดังนี้

อำนาจหน้าที่ร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

          รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ร่วมกันในการดำเนินการตามกรณี มาตรา 128 กล่าวคือ มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็น “คณะกรรมาธิการสามัญ” และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็น “คณะกรรมาธิการวิสามัญ”  หรือ “คณะกรรมาธิการร่วมกัน” ตามมาตรา 137 เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด (มาตรา 129 วรรคแรก)

อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          3.1 อำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ

          รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาออกกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และ พระราชกำหนด รายละเอียดในการพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ แต่ละประเภท ดังนี้

          3.1.1 การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

                    รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้
(มาตรา 131(2)) วิธีการในการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 132 กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น โดยที่

                    - ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

                    - ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จ

          3.1.2 การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

                    การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน หรือ (3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ  ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย(มาตรา 133)  

          การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป (มาตรา 136) แต่ในกรณีของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 143) จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงถือเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน

          รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้สิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 148)    หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา อาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วเสร็จ (มาตรา 270 วรรคสาม)

          3.1.3 การพิจารณาพระราชกำหนด

          1) การตราพระราชกำหนดทั่วไปกระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดไว้ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ จึงถือเป็นหน้าที่ของถ้าสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดที่ถูกเสนอเข้ามาสู่รัฐสภา (มาตรา 172 วรรคสาม) “ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติหรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรให้พระราชกำหนดนั้นตกไป” การพิจารณาพระราชกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติพระราชกำหนด จะต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ (มาตรา 172 วรรคท้าย)

          นอกจากอำนาจในการพิจารณาร่างพระราชกำหนดแล้ว รัฐธรรมนูญยังให้ “สิทธิ” แก่สภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าการตราพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรีไม่กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ (มาตรา 173 วรรคหนึ่ง)

          2) อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน (มาตรา 174)

          3.2 อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ (มาตรา 255) สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกกำหนดไว้ในมาตรา 256(1) ให้อำนาจในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

          ทั้งนี้ รวมถึงอำนาจในการพิจารณาบรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไป ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 147 วรรคสอง

          3.3 อำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

          อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบ่งแยกได้หลายกรณี ดังนี้

          1) สิทธิในการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ (มาตรา 150)

          2) สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ (มาตรา 151) โดยต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

          3) สิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้ (มาตรา 152) ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร่วมกัน

          4) สิทธิในการตรวจสอบในกรณีผู้นำฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศสมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ในกรณีนี้ ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ (มาตรา 155)

          5) สิทธิในการตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี
(มาตรา 82)

          6) สิทธิในการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง (มาตรา 236)

          7) สิทธิในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ในกรณีที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี (มาตรา 164) ดังนั้น ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอความคิดเห็นในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถให้ความคิดเห็นดังกล่าวได้ (มาตรา 165)

          8) หน้าที่ในการให้ความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม (มาตรา 219)

          9) หน้าที่ในการรับแจ้งผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในกรณีที่ผ่านการให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว (มาตรา 245) เพื่อนำผลดังกล่าวเผยแพร่ต่อประชาชนต่อไปในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          3.4 หน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี

          รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159)

          3.5 หน้าที่สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้การสรรหาสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
เป็นหนึ่งในองค์คณะกรรมการในการดำเนินการดังกล่าว

          3.6 หน้าที่ประชุมรัฐสภา

          การทำหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมรัฐสภามีประโยชน์อย่างมาก เพราะในทางปฏิบัติการดำเนินการทางรัฐสภาจะต้องดำเนินผ่านรูปแบบของการประชุม การนำปัญหาความเดือดร้อยและความต้องการของประชาชนเพื่อเสนอรัฐบาลให้รับทราบ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ (มาตรา 121 วรรคสอง) อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ (มาตรา 123 วรรคแรก)

          การประชุมรัฐสภาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้เอกสิทธิ์แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้ (มาตรา 124) รวมถึง ความคุ้มกันในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด (มาตรา 125)

          3.7 การดำรงตำแหน่งที่ดี

          รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา 185) และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้อง (มาตรา 184)

          - ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

          - ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

          - ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ

บรรณานุกรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.