บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
1. บทนำ
นับแต่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาไว้อย่างจำกัดโดยส่วนมากจะถูกจำกัดบทบาทเป็นเพียงสภาพี่เลี้ยงในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา และหน้าที่ในการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ แต่งตั้งตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งตุลาการของศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และ ศาลปกครอง ตลอดจนแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อมาเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทบาทของวุฒิสภาใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รอบด้าน เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม นอกจากนั้น ยังคงอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
2. อำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นหน้าที่เฉพาะตัวและหน้าที่ที่ต้องใช้พร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1) การเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (มาตรา 114)
2) อำนาจในการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ (มาตรา 121 วรรคสอง) อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ (มาตรา 123 วรรคแรก)
การประชุมรัฐสภาถือว่ามีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาของประเทศไทย ดังนี้ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาที่ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพไป (มาตรา 111(5))
ในส่วนของการประชุมรัฐสภา รัฐธรรมนูญได้กำหนดเฉพาะในส่วนของความคุ้มกันให้แก่สมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับทั้งเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในสมัยประชุมรัฐสภา สำหรับในส่วนของความคุ้มกันถูกกำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตรา 125 ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด
3) การพิจารณาร่างกฎหมาย
3.1 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั่วไป วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน ทั้งนี้ เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา (มาตรา 136 วรรคแรก) ถ้าวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น (มาตรา 136 วรรคสาม)
3.2 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระรา'ชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย' ภายหลังจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาของวุฒิสภา วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น ในกรณีเช่นนี้และในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 (มาตรา 143 วรรคสาม) ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้นำความในมาตรา 138 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที (มาตรา 143 วรรคสี่)
3.3 พิจารณาพระราชกำหนด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดตามคำเสนอนแนะของคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการนำพระราชกำหนดนั้นเข้าสู่การพิจารณาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติจากรัฐสภา ดังนั้น บทบาทอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพระราชกำหนดจึงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา
4) หน้าที่ของวุฒิสภาเกี่ยวกับการเสนอให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ
4.1 การให้ความเห็นเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ในระหว่าง 5 ปีแรก)
รัฐธรรมนูญกำหนดรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (มาตรา 272)
4.2 หน้าที่ให้คำแนะนำในการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (มาตรา 204 วรรคท้าย)
2) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ได้รับการแต่งตั้ง “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยอนุโลมมาตรา 204 วรรคท้ายมาใช้ในกรณีนี้ (มาตรา 217)
3) การให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา 222)
4) การให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา 238)
สำหรับตำแหน่ง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 241)
5) การให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา 246)
4.3 สิทธิในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 144 วรรคสอง กล่าวคือ
การกระทำที่ฝ่าฝืนในส่วนของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ที่มีการการเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ (มาตรา 144 วรรคสาม)
4.4 สิทธิในการเสนอความเห็นในกรณีร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การเสนอความเห็นในกรณีดังกล่าวนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา สามารถเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ภายใต้เงื่อนไขด้านระยะเวลา คือ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 (มาตรา 148)
4.5 สิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
ในกรณีพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย และให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 173 วรรคแรก)
4.6 สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอความคิดเห็นในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ ดังนี้ สมาชิกวุฒิสภาสามารถให้ความคิดเห็นดังกล่าวได้ (มาตรา 165)
4.7 การให้ความคิดเห็นของในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น (มาตรา 219)
5) สิทธิของสมาชิกวุฒิสภา
5.1 สิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ (มาตรา 150)
5.2 สิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ภายใต้เงื่อนไขต้องมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 153)
5.3 สิทธิในการตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี (มาตรา 82)
5.4 สิทธิในการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๒๓๔ (1) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง (มาตรา 236)
6) อำนาจหน้าที่ในบทเฉพาะกาลของวุฒิสภาชุดแรก
สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งจำนวน 250 คนแรกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 269วุฒิสภาชุดแรกยังมีหน้าที่ ดังนี้ (มาตรา 270)
1. ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
2. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศโดยให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
3. ในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีมิได้แจ้งว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา อาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วเสร็จ
7) อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสมาชิกวุฒิสภา
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ (มาตรา 255) สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกกำหนดไว้ในมาตรา 256(1) ให้อำนาจในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา สมาชิกวุฒิสภาจึงมีส่วนสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการลงมติในวาระที่หนึ่ง และ ในวาระที่สาม ของการแก้ไข ดังนี้
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 256(3))
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย สมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 256(6))
ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ(มาตรา 256(9))
8) การดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่ดี
รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ (มาตรา 113) ทั้งได้กำหนดบทบาทให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา 185) นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง (มาตรา 184)
(1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(2) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ
(4) ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.