นิเวศวิทยาการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.นิตยา โพธิ์นอก

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ

 

ความหมายและความสำคัญ

          นิเวศวิทยาการเมือง (political ecology) เป็นแนวคิดทางการเมืองที่เกี่ยวกับความเชื่อ อุดมการณ์ องค์ความรู้ในการจัดสรรทรัพยากรในสังคม โดยมีพื้นฐานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ในการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างมนุษย์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งอาจไม่ใช่มนุษย์ก็ได้ เพราะนิเวศวิทยา (Ecology) นั้นหมายถึงระบบความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างดิน พืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ[1] เมื่อใดที่ระบบทางธรรมชาติอยู่อย่างโดด ๆ ไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องจะยังคงเป็นนิเวศวิทยาอยู่ หากเมื่อมีมนุษย์เข้ามากระทำ เช่น ออกกฎหมาย จัดการ ซึ่งทำให้ระบบนิเวศวิทยานั้นเปลี่ยนไป จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่านิเวศวิทยาการเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและสิ่งแวดล้อม[2] อย่างไรก็ดี นิเวศวิทยาการเมืองถือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่หากเทียบกับแนวคิดทางการเมืองแบบดั้งเดิมอื่น อีกทั้งยังมีที่มาของการเคลื่อนไหวแนวคิดนี้จากหลายสำนัก ทำให้เป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวถึงในหลายรูปแบบเพราะมีตัวแปรที่ผกผันตลอดเวลา[3] ดังนั้น ความหมายของนิเวศวิทยาการเมืองยังคงถูกนิยามหรือตีความได้อย่างหลากหลายตามมุมมองของนักวิชาการแต่ละช่วงสมัย

          นิเวศวิทยาการเมืองเป็นแนวคิดที่สำคัญในแง่การอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจการเมืองและสิ่งแวดล้อม ทำให้เข้าใจอำนาจทางการเมืองที่เป็นเงื่อนไข นำไปสู่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้วจะนำไปสู่การหาแนวทางเพื่อจัดการสิ่งเหล่านั้นอย่างยั่งยืน[4] ยกตัวอย่างในมิติการเมือง นิเวศวิทยาการเมืองสามารถใช้อธิบายการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มคนในสังคม อย่างสิทธิในที่ดินทำกินที่นับวันยิ่งกีดกันคนยากจนมากขึ้น[5] การให้ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นภาคส่วนที่อยู่ใกล้ชิดฐานทรัพยากรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตน[6] หรือตัวอย่างการใช้นิเวศวิทยาการเมืองไปอธิบายในมิติทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น การอธิบายความสัมพันธ์ของสังคมและธรรมชาติในบริบทของทุนนิยมใหม่[7] หรือตัวอย่างการศึกษาในมิติเศรษฐกิจสังคมที่อธิบายการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มที่แตกต่างทางเพศและชนชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น คนเหล่านั้นได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร[8]

          ด้วยลักษณะของแนวคิดที่มีความสำคัญในการอรรถาธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อม ทำให้วิธีการที่ใช้ในการค้นคว้า อธิบายและวิเคราะห์ตามแนวคิดนี้เป็นแบบเชิงลึกและเน้นไปในทางวิพากษ์ โดยอาจมีการศึกษาเป็นรายกรณี เช่น เข้าไปสัมภาษณ์หรือฝังตัวสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง[9] ในส่วนต่อไปเป็นตัวอย่างของการอธิบายวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้

 

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้นิเวศวิทยาการเมือง

          ตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดต่อไปนี้ เป็นการรวบรวมมานำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อผู้อ่านพอเข้าใจว่านิเวศวิทยาการเมืองมีลักษณะเป็นเช่นไร ผ่านตัวอย่างการเคลื่อนไหวชุมชนกรณีกว๊านพะเยา การศึกษานิเวศวิทยาการเมืองของเกษตรกรรมชานเมืองกรุงเทพมหานคร การต่อต้านการทำเหมืองแร่ของประชาชนจังหวัดเพชรบูรณ์ และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          พัฒนาการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กว๊านพะเยา ที่มุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวของชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดพะเยา มีความสำคัญต่อการเกษตรและประมงในพื้นที่ แต่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและการใช้งานทรัพยากรเกินขีดความสามารถของธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษและการลดลงของทรัพยากรทางน้ำ ทั้งยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชุมชนท้องถิ่นกับภาครัฐและนักลงทุนที่มุ่งหวังการพัฒนาที่เน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชุมชนท้องถิ่นจึงได้รวมตัวกันเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้กลยุทธ์ เช่น การประท้วง การประชาสัมพันธ์ และการฟ้องร้องทางกฎหมาย โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการเพื่อเพิ่มพลังในการต่อสู้ การเคลื่อนไหวของชุมชนส่งผลให้ภาครัฐต้องพิจารณาและปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาในพื้นที่กว๊านพะเยา มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน[10]

          การศึกษาการดำรงอยู่ของสวนเกษตรกรรมในเขตพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร ด้วยการกระจายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้กรุงเทพมหานครต้องสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวสวนเปลี่ยนแปลงไปเพราะสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงและพื้นที่ถูกนายทุนกว้านซื้อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าและที่อยู่อาศัย ยกตัวอย่างเช่น สวนกล้วยไม้สกุลม็อคคาราของตาเสงี่ยมย่านภาษีเจริญที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียชุมชนบ้านจัดสรรที่ขยายตัว สวนฝรั่งแห่งแรกในถนนบางแวกในเขตบางแค หรือนาข้าวของอาจารย์วรินทร์ เขียวสะอาดย่านทวีวัฒนา ที่ได้รับผลกระทบคือการเกษตรไม่อาจใช้น้ำจากแหล่งสาธารณะได้เช่นเดิมเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง กรณีนี้ภาคส่วนผู้เป็นนายทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชานเมืองทำให้เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเอง ไปสู่การเรียนรู้วิถีการเกษตรแบบใหม่ หรือเตรียมพร้อมเพื่อหาพื้นที่แห่งใหม่ในการทำเกษตรหากเจ้าของที่ดินไม่ให้เช่าพื้นที่ต่อ การจัดการกับเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบพื้นที่เมืองเพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมกลางเมืองและชานเมืองไว้ เนื่องจากหลีกเลี่ยงการพัฒนาโครงสร้างของเมืองได้ยาก[11]

          การศึกษาความขัดแย้งและการต่อต้านการทำเหมืองแร่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อศึกษาเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ กลวิธี กระบวนการของขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการต่อสู้คัดค้านใช้ยุทธศาสตร์แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนผ่านการให้ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ กรอบการเคลื่อนไหวในการต่อสู้คัดค้านมีชื่อว่า "คนหนองไผ่ไม่เอาเหมืองแร่" และ "สำนึกรักบ้านเกิด" เพื่อปกป้องพื้นที่ของประชาชน สำหรับกระบวนการและปัญหาจัดระดมทรัพยากรเป็นการสร้างเครือข่ายอาศัยความสัมพันธ์แบบเครือญาติ สมาชิกในชุมชนเป็นหลัก โดยมีลักษณะไม่เป็นทางการ มีกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ปัญหาของการจัดการทรัพยากรคือไม่มีการระดมทรัพยากรอย่างเป็นทางการ แต่เน้นการสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่ประชาชน ซึ่งการต่อสู้ของภาคประชาชนเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากโครงการของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ[12]

          การศึกษาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศ ความขัดแย้งทางนิเวศ และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง รวมถึงเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับประมงชายฝั่งอ่าวบ้านดอน 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น ประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคม อ่าวบ้านดอนมีการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศ 3 ยุค ได้แก่ ยุคเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองก่อน พ.ศ. 2504 ช่วงการใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ พ.ศ. 2504-2545 ช่วงให้สัมปทานป่าชายเลนและจัดสรรพื้นที่ทะเลให้เกษตรกรเลี้ยงหอยตะโกรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และ พ.ศ. 2545-2549 ช่วงที่รัฐส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเล นำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ทะเลนอกเขตอนุญาตเพื่อเลี้ยงหอยแครงกว่า 200,000 ไร่ การบุกรุกและการจัดสรรพื้นที่ทะเลส่งผลให้ทะเลกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลและเกิดวิกฤตความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและผู้มีอิทธิพล นำไปสู่การเสนอนโยบายให้ชุมชนประมงจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง โดยมีกฎกติกาที่เป็นธรรม ซึ่งการจัดการจำเป็นต้องให้มีการบริหารจัดการโดยชุมชน (Self-governance) เพื่อให้มีความสมดุลในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกัน[13]

          หากผู้อ่านได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยและงานวิชาการตามตัวอย่างที่นำมาเสนอนี้ จะเห็นได้ว่ากรณีเหล่านี้วางพื้นฐานให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ให้เห็นว่าเป็นนิเวศวิทยาในแบบที่ "ปกติ" จนกระทั่งเกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคม จึงนำไปสู่ผลกระทบระบบนิเวศที่มีอยู่เดิมรวมถึงมนุษย์ที่อยู่ในนั้นด้วย นำไปสู่ความขัดแย้ง ผลประโยชน์ หรือการจัดการที่มนุษย์ด้วยกันเองกระทำตลอดจนแสวงหาทางออกร่วมกัน ซึ่งแต่ละกรณีให้ผลของการหาทางออกแตกต่างกันแล้วแต่บริบท แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันในทางออกคือมนุษย์ทุกกลุ่มที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกันต้องถูกนำเข้าไปอยู่ในกระบวนการหาทางออกนั้น จึงจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้นิเวศวิทยาการเมืองได้สำเร็จ

 

อ้างอิง

[1] Porto-goncalves, Carlos Walter, and Enrique Leff, 2015. “Political Ecology in Latin America: the Social Re-Appropriation of Nature, the Reinvention of Territories and the Construction of an Environmental Rationality” Desenvolv Meio Ambiente. 35. p.67; Paul Robbins, 2015. “The Trickster Science” in Tom Perreault & other (Eds). The Routledge Handbook of Political Ecology. New York. Routledge. p.90; Peter J. Jacques, 2009. Environmental Skepticism: Ecology, Power, and Public Life. Burlington. Ashgate Publishing Company Jacques. pp. 48-49.

[2] Peter J. Jacques. Op. Cit. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, 2546. นิเวศเศรษฐศาสตร์ และนิเวศวิทยาการเมือง. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 160.

[3] Paul Robbins, 2012. Political Ecology: A Critical Introduction. 2nd ed. Oxford. Willey-Blackwell. 2012.

[4] Ibid. p.95; Raymond L. Bryant, 2015. The International Handbook of Political Ecology. Massachusetts. Edward Elgar Publishing. p.13.

[5] Simon Batterbury, 2015. “Doing Political Ecology Inside and Outside the Academy”. In Bryant, Raymond L. The International Handbook of Political Ecology. Massachusett. Edward Elgar Publishing, p.28.

[6] Robert Fletcher, 2010. “Neoliberal Environmentaity: Towards a Poststructuralist Political Ecology of the Conservation Debate”. Conservation and Society. 3 (2010).

[7] Tom Perreault and other, 2015. The Routledge Handbook of Political Ecology. New York. Routledge. pp.621-623.

[8] Simon Batterbury. Op.Cit. p.28

[9] Paul Robbins. Op.Cit. p.24.

[10] มนตรา พงษ์นิล, 2561. “การพัฒนากว๊านพะเยากับการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม” เอกสารประกอบการเสวนากลุ่มย่อยที่ 5 การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 10 การเมืองและวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ. สถาบันพระปกเกล้า. หน้า 301-322.

[11] วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์, 2561. สวนชานเมืองสู่สวนกลางเมือง: การดำรงอยู่ของการทำสวนในพื้นที่ธนบุรี. กรุงเทพฯ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

[12] วริยา ด้วงน้อย, 2020. “นิเวศวิทยาการเมืองว่าด้วยความขัดแย้งและการต่อต้านการทำเหมืองแร่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม.” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา. 7(2). หน้า 132-152.

[13] เพ็ญนภา สวนทอง และโอฬาร ถิ่นบางเตียว, 2563. “นิเวศวิทยาการเมืองของการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี.” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา. 7(2). หน้า 101-131.