นิสิตนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
นิสิตนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
อาจกล่าวได้ว่า นอกจากการปราบปรามของรัฐอย่างรุนแรงในกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 แล้วปัจจัยที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยตรง คือ การเฟื่องฟูแพร่หลายของความคิดสังคมนิยมในช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 กล่าวคือ ชัยชนะจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้การผูกขาดทางความคิดโดยรัฐพังทลายลง จึงเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยมีเสรีภาพทางความคิดอย่างเต็มที่ หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการมาช้านาน ดังนั้น เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ใหม่กลายเป็นที่ชอบธรรม ความรู้และความคิดแบบสังคมนิยมที่เคยเป็นความคิดต้องห้ามในสมัยก่อนกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่เรียกกันว่าจีนคอมมิวนิสต์ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยถือว่า จีนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นศัตรูสำคัญ และจะโฆษณาให้เห็นว่า จีนเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบในเอเชีย และเป็นรัฐที่มุ่งจะรุกรานประเทศไทย ความรู้เรื่องจีนคอมมิวนิสต์ในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งห้ามเผยแพร่ ต่อมาในระยะก่อน พ.ศ.2516 ไม่นานนัก ได้เริ่มเกิดกระแสพิจารณาจีนในอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ จีนไม่ใช่ศัตรูผู้รุกรานมากเท่าที่เคยเข้าใจ กระแสความคิดนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศ นั่นคือ การที่จีนได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ.2514 และการที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนจีนเมื่อ พ.ศ.2515 อันเป็นการเปิดความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจ สถานการณ์นี้ส่งผลทำให้รัฐบาลไทยต้องเริ่มปรับท่าที และจะเริ่มมีหนังสือที่อธิบายถึงเรื่องจีนออกเผยแพร่บ้าง เช่น นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ของ ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ และ โจวเอินไหล ของ อ.อิทธิพล ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ.2516
แต่กระนั้น กระแสแห่งตื่นตัวของประชาชนที่สนใจในเรื่องความรู้เกี่ยวกับจีนอย่างจริงจัง เริ่มเห็นได้ชัดหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เช่นการที่ ฝ่ายวิชาการ สจม.(สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ตีพิมพ์เรื่อง จีน:แผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล ออกเผยแพร่ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2516 หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลจากบันทึกของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ได้เดินทางเข้าไปในจีน และได้นำความรู้เกี่ยวกับสังคมจีนหลังปฏิวัติมาเผยแพร่กับชาวโลก นอกจากนี้ เกษม วงศ์ประดิษฐ์ ก็แปลเรื่อง 15 ปีในสาธารณรัฐประชาชนจีน ออกเผยแพร่เมื่อต้นปี พ.ศ.2517 เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายแพทย์ชาวอังกฤษ ชื่อ เจ.เอส.ฮอร์น ซึ่งได้เข้าไปทำงานในจีนหลังปฏิวัติ และอาศัยอยู่ในจีนนานถึง 25 ปี หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือขายดี และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความรู้เกี่ยวกับจีนแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ ผลสะเทือนในด้านแนวคิดสังคมนิยมก็เริ่มแสดงให้เห็นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำแถลงในการจัดพิมพ์เรื่อง จีน:แผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล ได้มีข้อความลงท้ายว่า “ในระยะแรกนี้ขอบข่ายการทำงานของเราอาจจะอยู่ในวงแคบ ด้วยความจำกัดของประสบการณ์ โลกทัศน์ และชีวทัศน์ อีกทั้งแรงงานของเราก็เป็นแรงงานอาสาสมัคร แต่เราก็จะเข้าร่วมต่อสู้ทางความคิดในกระแสของประวัติศาสตร์ เพื่อแสวงหาทิศทางของการสร้างสังคมใหม่ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
จนกระทั่ง หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ทำให้ความคิดสังคมนิยมเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก็คือการจัด “นิทรรศการจีนแดง” โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ.2517 ซึ่งนิทรรศการแสดงถึงประวัติบุคคลสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ และให้ความรู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ เช่น ในด้านการเมืองการปกครอง การศึกษา การแพทย์ เศรษฐกิจ การกีฬา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีการฉายภาพยนตร์ที่มาจากจีนคอมมิวนิสต์ด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ความรู้เกี่ยวกับจีน ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนในหลายแง่มุมเช่นนี้ ปรากฏว่านิทรรศการได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนโดยทั่วไป เพราะมีผู้มาเข้าชมแน่นขนัดทุกวัน จนต้องขยายงานไปจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และในงานนี้ ได้มีการนำเอาหนังสือต่างๆ ที่ให้ความรู้เรื่องจีนมาวางจำหน่าย เป็นเรื่อง “เกี่ยวกับจีนแดง ประวัติของเมาเซตุง ประวัติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจเช่นกัน
การจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นที่สนใจของฝ่ายรัฐบาลด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จาก การที่นายพ่วง สุวรรณรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2517 ว่า การแสดงออกต่อประชาชนของนิทรรศการจีนแดงถือว่า ผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ได้ชี้แจงต่อไปว่า “แต่ที่เจ้าหน้าที่มิได้ดำเนินการกับการกระทำดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็เพราะเป็นเรื่องนโยบายปัจจุบัน” ในที่สุดได้มีการนำเรื่องนี้ เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่า รัฐมนตรีส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การแสดงนิทรรศการครั้งนี้ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด เพราะเป็นการให้การศึกษาในแง่วิชาการ และหนังสือที่วางขายก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นหนังสือที่หาซื้อได้ทั่วไป
ผลจากการจัดนิทรรศการนี้ ได้ทำให้หนังสือ วารสาร อ.ม.ธ.ฉบับนิทรรศการจีนแดง และ ปรัชญานิพนธ์เหมาเจ๋อตง ที่ตีพิมพ์เนื่องจากนิทรรศการนี้ กลายเป็นหนังสือขายดี โดยเฉพาะเล่มหลังมีการพิมพ์ซ้ำ และหลังจากงานนิทรรศการนี้ มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับจีนศึกษาออกเผยแพร่อีก เช่น โฉมหน้าจีนใหม่ ของ เกษม วงศ์ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นภาคสองของเรื่อง 15 ปีในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้น ก็คือเรื่อง ว่าด้วยลัทธิประชาธิปไตยแผนใหม่ ของ เหมาเจ๋อตง รูดม่านไม้ไผ่ ตอนจีนปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจีน และ ศิลปะปฏิวัติ เป็นหนังสือแสดงภาพปั้นชาวนาของจีนที่สะท้อนการถูกกดขี่พร้อมกับคำบรรยาย หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ถูกสั่งเก็บโดยทางตำรวจสันติบาลเมื่อ พ.ศ.2518 เพราะ “ทางกรมตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา แล้วเห็นว่าเป็นหนังสือที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้” ซึ่งทำให้ทางการตำรวจถูกโจมตีอย่างมากในการลิดรอนสิทธิของประชาชนเช่นนั้น จนต้องยกเลิกคำสั่งเก็บหนังสือดังกล่าวในระยะต่อมา
ถึงกระนั้น ก็ยังมีหนังสือในแนวสังคมนิยมออกตีพิมพ์จำหน่ายอีกมากมาย เริ่มจากเรื่อง คำประกาศแห่งความเสมอภาค ซึ่งแปลจากเรื่อง Communist Manifesto ของคาร์ล มาร์กซ และเฟรเดอริก เองเกลส์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นหนังสือแปลที่อ่านยาก แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก หนังสือแนวลัทธิมาร์กซเล่มอื่นที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2517 ก็เช่น หลักลัทธิเลนิน ของ ไพรัช บำรุงวาที ปรัชญาลัทธิมาร์กซิส ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปรัชญาชาวบ้าน ของ ศักดิ์ สุริยะ ซึ่งเป็นการนำเอาลัทธิมาร์กซ มาอธิบายให้เข้าใจง่าย และประยุกต์ได้กับชีวิตประจำวัน หนังสือเหล่านี้ เมื่อพิมพ์เผยแพร่แล้วก็กลายเป็นที่สนใจอย่างยิ่งในหมู่ประชาชน แม้กระทั่งหนังสือในเชิงวิชาการลัทธิมาร์กซ ที่ออกเผยแพร่แล้วเสนอหลักการไม่ชัดเจนและยากแก่การทำความเข้าใจ เช่น วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ ของ น.ชญานุตม์ และหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เสนอประวัติของมาร์กซ เช่น ความผิดพลาดของนายหมาก ของ วสิษฐ์ เดชกุญชร ก็ได้รับความสนใจเช่นกัน
หนังสือที่เริ่มเสนอแนวทางการวิเคราะห์สังคมโดยใช้ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ ที่ออกเผยแพร่ใน พ.ศ.2517 ก็มีแล้ว นั่นคือเรื่อง วิวัฒนาการของสังคม ของ สุพจน์ ด่านตระกูล เรื่อง วิจัยสังคมไทย ของ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ เรื่อง การเมืองไทยกับทางไปสู่สังคมนิยม ของ สุรัฐ รจนาวรรณ หนังสืออีกเล่มที่มีความสำคัญก็คือเรื่อง ภัยร้ายจากเผด็จการฟาสซิสม์ ของ โยธิน มหายุทธนา ซึ่งรวบรวมตีพิมพ์ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2517 แต่กระนั้น หนังสือที่ทำสถิติขายดี ก็คือเรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยใช้นามปากกาว่า สมสมัย ศรีศูทรพรรณ หนังสือนี้ เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 แล้วนำมาพิมพ์ซ้ำ ในเรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ได้ใช้ลัทธิมาร์กซมาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์สังคมไทยในสมัยศักดินา และชี้ให้เห็นโฉมหน้าที่กดขี่ของสังคมศักดินา ซึ่งเป็นการทำลายภาพดั้งเดิมในสังคมไทย ที่พยายามเสนอว่า สังคมยุคศักดินาเป็นสังคมที่สงบร่มเย็น ภายใต้บารมีของผู้ปกครอง ความจริงแล้วเคยมีงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เช่น ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2515 โดย กมล กมลตระกูล ผู้นำกลับมาตีพิมพ์อธิบายว่า ค้นพบหนังสือนี้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเอามาพิมพ์ซ้ำ แต่ขายไม่ดีนัก จนเมื่อนำมาตีพิมพ์ใหม่หลังกรณี 14 ตุลาฯ กลับกลายเป็นหนังสือขายดีมาก
เรื่องราวสำคัญ ที่เผยแพร่ในระยะ พ.ศ.2517 นี้ด้วย ก็คือเรื่องเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการพิมพ์เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของ สุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สวรรคต เพื่อยืนยันว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีความผิด นอกจากนี้ก็คือ เรื่อง กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของ สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ซึ่งมุ่งจะอธิบายถวายพระเกียรติพระราชอนุชาว่า ทรงบริสุทธิ์พระทัยและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารครั้งนี้ แต่หนังสือเรื่องกรณีสวรรคตเล่มสำคัญที่ตีพิมพ์ในระยะนี้คือเรื่อง กงจักรปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือที่ ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช แปลจากหนังสือเรื่อง The Devil's Discus ของ Rayne Kruger และเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทยในระยะก่อนหน้านี้ หนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อเท็จจริง และเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยชี้ให้เห็นเช่นกันว่า นายปรีดี พนมยงค์ และเจ้าหน้าที่พระราชวัง 3 คนที่ถูกประหารชีวิตไม่มีความผิดแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะกรณีสวรรคตยังอยู่ในความสนใจของประชาชนเสมอ หนังสือเหล่านี้จึงได้รับความสนใจอย่างมาก
นอกจากหนังสือเล่มแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ และวารสารในเชิงก้าวหน้าที่เสนอแนวคิดใหม่แก่สังคม ทั้งในด้านแนวทางประชาธิปไตย ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยม ตลอดจนเสนอบทบาทของขบวนการนักศึกษา ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยเช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย และ เสียงใหม่ และที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษคือ The Nation สำหรับหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ออกราย 3 วัน ส่วนที่เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ก็คือ มหาราษฎร์ ซึ่งออกพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาฯ ประชาชาติรายสัปดาห์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับประชาชาติรายวัน และ The Nation นอกจากนี้ ก็คือหนังสือรายสัปดาห์ จตุรัส ที่เด่นมากในการเสนอประเด็นทางการเมืองและสังคม และ เอเซียวิเคราะห์ข่าว ซึ่งเสนอแนวทางสังคมนิยม และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจีนศึกษาให้แก่ขบวนการนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ก็คือหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ของสมาคมสังคมศาสตร์ ซึ่งมีอิทธิพลมาหลายปีก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปุถุชน ซึ่งเป็นนิตยสารทางวรรณกรรมและสังคม แม้กระทั่ง วารสารรายเดือน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ของกลุ่มนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งมี ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เป็นบรรณาธิการ ก็มีบทบาทที่ก้าวหน้ามากขึ้น และช่วยสร้างความคิดใหม่ให้แก่ขบวนการนักศึกษาเช่นกัน
ต่อมา ใน พ.ศ.2518 และ พ.ศ.2519 ก็ยังคงเป็นระยะ ”ดอกไม้ร้อยดอกเบ่งบาน”สำหรับแนวคิดสังคมนิยม เพราะหนังสือที่เสนอแนวทางสังคมนิยมยังคงตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และครอบครองส่วนข้างมากของตลาดหนังสือ ที่สำคัญคือ กลุ่มนักศึกษาที่ก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่นำโดย นิสิต จิรโสภณ ได้ตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “ชมรมหนังสือแสงตะวัน” เพื่อพิมพ์หนังสือเผยแพร่อุดมการณ์สังคมนิยมโดยตรง สำนักพิมพ์นี้พิมพ์หนังสือที่เด่นมากก็คือ หนังสือชุด สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็น 8 เล่ม เล่มอื่นๆ ก็เช่น เหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนใหม่ ของ เทอด ประชาธรรม ลัทธิคอมมิวนิสต์จอมปลอมของครุสชอฟ ของ กองบรรณาธิการหุงฉี แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ของ มาร์กซ และ เองเกลส์ ซึ่งฉบับที่ชมรมหนังสือแสงตะวันนำมาตีพิมพ์ ก็คือ ฉบับแปลของสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง ทีปกร ศิลปินนักรบของประชาชน เป็นหนังสือรวมบทความด้านวรรณกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์ ความเรียงว่าด้วยศาสนา เป็นงานแปลเชิงวิพากษ์ศาสนาของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง วิทยาศาสตร์สังคมของประชาชน ของ อนันต์ ปั้นเอี่ยม ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายลัทธิมาร์กซ อย่างง่ายเช่นกัน เรื่อง วิวัฒนาการแห่งสังคมสยาม ของ สรรค์ รังสฤษฏิ์ เป็นเรื่องของการนำเอาลัทธิมาร์กซ มาอธิบายประวัติศาสตร์สังคมไทย เป็นต้น
นอกจากหนังสือของชมรมหนังสือแสงตะวัน ยังมีหนังสืออื่นๆ อีกมากซึ่งเสนอความรู้เกี่ยวกับจีน และแนวทางสังคมนิยม หนังสือเหล่านี้พิมพ์เผยแพร่ในนามสำนักพิมพ์ต่างๆ หลากหลายกัน ที่เป็นหนังสือเชิงทฤษฎี เช่น วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม (2518) ของ ชาญ กรัสนัยบุระ ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ (2518) ของ เฟรเดอริก เองเกลส์ แปลโดย อุทิศและ โยธิน มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไร (2518) ของ สุภา ศิริมานนท์ เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน (2518) ของ วิภาษ รักษาวาที เป็นต้น เรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และแนวคิดทฤษฎีก็เช่น นักศึกษาจีน:แนวหน้าขบวนการปฏิวัติสังคม (2518) ซึ่งพิมพ์โดยพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คติพจน์เหมาเจ๋อตงว่าด้วยการสร้างพรรค (2519) ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ (2519) โฉมหน้าจีนใหม่ (2519) ตีพิมพ์โดยองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนเส้นทางสังคมนิยมจีน (2519) ของ ธีรยุทธ บุญมี นอกจากเรื่องจีนแล้ว เรื่องเกี่ยวกับผู้นำเกาหลีเหนือก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเช่นเดียวกันคือ กิมอิลซอง ของ คม ทิวากร ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เข็มทิศ และเผยแพร่เมื่อต้นปี พ.ศ.2519 นอกจากนี้ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนอินโดจีน เช่น สงครามอินโดจีน(2516) ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล สงครามอินโดจีน ลาว เขมร เวียดนาม (2517) ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สงครามจรยุทธ ของ โวเหงียนเกี๊ยบ แปลโดย ศาศวัต วิสุทธิ์วิภาษ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ปุถุชน ใน พ.ศ.2517 สรรนิพนธ์โฮจิมินห์ (2518) และเรื่อง วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง(2519) ของ ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น และหนังสือที่แพร่หลายอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งคือ เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ ของ ศรีอุบล ซึ่งเป็นเรื่องของ เช กูวารา นักปฏิวัติสากลนิยมผู้โด่งดัง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2516 ต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และทำให้เช กูวารา เป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมไทย
แม้กระทั่ง เอกสารภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลายฉบับที่เสนอเนื้อหาปฏิวัติ ก็ได้รับการนำมาตีพิมพ์อย่างเปิดเผย เช่น ชีวทัศน์เยาวชน ซึ่งนำเสนอหลักการในการดำรงชีวิตที่ก้าวหน้าของเยาวชน ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางสังคม โดย อธิคม กรองเกรดเพชร เป็นเอกสารศึกษาเรื่องทฤษฎีภายในพรรค ใครสร้างใครทำ เป็นเอกสารของพรรคที่นำเสนอการวิเคราะห์สังคมไทยอย่างง่ายๆ คติพจน์เหมาเจ๋อตง เป็นการรวบรวมวลีและถ้อยคำต่างๆ ของเหมาเจ๋อตง มาไว้ในเล่มเดียวกัน และถือเป็นหนังสือคู่มือของสมาชิกสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย หนทางการปฏิวัติไทย เป็นเอกสารชี้นำสถานการณ์ภายในพรรค และเรื่องอื่นๆ เช่น หญิงสู้หญิงชนะ ใต้ธงปฏิวัติ ฯลฯ แต่ที่สำคัญก็คือ การตีพิมพ์ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อรัญ พรหมชมภู(อุดม ศรีสุวรรณ) เมื่อ พ.ศ.2519 ซึ่งเป็นหนังสือวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่า ไทยนั้นมิใช่ประเทศที่เป็นเอกราชสมบูรณ์ แต่ตกอยู่ในฐานะ ”กึ่งเมืองขึ้น” ของจักรพรรดินิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การเผยแพร่ของหนังสือเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นการนำมาซึ่งการปฏิวัติทางภูมิปัญญาของสังคมไทย ทำให้นักศึกษาประชาชนจำนวนมาก หลุดจากโครงครอบทางความคิดแบบเก่าสู่โครงสร้างทางความคิดแบบใหม่ที่มีทีท่าว่าจะก้าวหน้ากว่าในยุคสมัยนั้น นั่นคือแนวคิดแบบสังคมนิยม การที่แนวคิดสังคมนิยมกลายเป็นที่ยอมรับ ส่วนหนึ่งก็เพราะทฤษฎีลัทธิมาร์กซสามารถวิเคราะห์สังคมเก่าได้อย่างมีพลัง และยังเสนอทางออกได้ชัดเจน นั่นคือการนำเสนอว่า สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่มีชนชั้น มีการกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบกัน เพื่อรักษาการกดขี่ขูดรีดนั้น ชนชั้นปกครองจะสร้างรัฐขึ้นมาปกป้องอำนาจของตน และสร้างศาสนาและวัฒนธรรมขึ้นมามอมเมาประชาชน แต่สาระสำคัญที่ชนชั้นปกครองต้องการรักษาไว้คือ การขูดรีดทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ชนชั้นปกครองที่เป็นชนชั้นศักดินาและนายทุน มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ขณะที่ประชาชนชั้นล่างที่เป็นกรรมกรชาวนา จะตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้นเสมอ แต่กระนั้น แนวคิดสังคมนิยมก็มิได้สอนให้ประชาชนท้อแท้ เพราะตามหลักปรัชญาสังคมนิยมนั้น มนุษย์เป็นผู้สร้างสังคมของตนเอง ดังนั้น ชนชั้นกรรมกรและชาวนาจึงสามารถที่จะกำหนดอนาคตของตนได้ โดยการรวมพลังกันก่อการปฏิวัติ โค่นล้มสังคมที่กดขี่ลง แล้วสร้างสังคมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นแทน สังคมใหม่ของกรรมาชีพนี้คือ สังคมแบบสังคมนิยม ที่มนุษย์จะมีความเสมอภาค ไม่มีการกดขี่ขูดรีดกันอีกต่อไป จะเป็นสังคมที่ก้าวหน้ารุ่งเรือง
ตัวอย่างที่ดีสำหรับความก้าวหน้าของลัทธิสังคมนิยม ในความรู้ที่พัฒนาหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็คือ ชัยชนะและการยืนหยัดของการปฏิวัติจีน เพราะตั้งแต่หลังการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2492 จีนก็สามารถแก้ปัญหาความยากจนและล้าหลังของตน และพัฒนาจนกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลก และเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคยิ่งกว่าประเทศทุนนิยมใดๆ การที่หนังสือพิมพ์เอเชียวิเคราะห์ข่าว ได้นำเอาเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้า ชัยชนะ และแบบอย่างอันดีของจีนมาเผยแพร่ ก็เป็นการปลุกเร้าให้เห็นอนาคตว่า สังคมไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังบทความที่สะท้อนว่า “ระบบเศรษฐกิจของเราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นสังคมนิยม จึงจะแก้ไขภาวะยุ่งยากได้ และความจริงแนวโน้มความเสื่อมศรัทธาในระบบทุนนิยมนั้นเป็นไปทั่วโลก” นอกจากนี้ ชัยชนะในการปฏิวัติของกัมพูชาและเวียดนามในเดือนเมษายน พ.ศ.2518 และชัยชนะของการปฏิวัติลาวในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก็เป็นแรงใจปลุกเร้าให้เห็นว่า โอกาสในการขับไล่จักรพรรดินิยมและสร้างชัยชนะที่จะนำมาสู่การสร้างสังคมใหม่นั้นเกิดขึ้นได้ และเป็นการช่วยตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจในชัยชนะของประชาชนมากขึ้น
ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงทำให้อุดมการณ์สังคมนิยมค่อยๆ กลายเป็นอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษาไทย และทฤษฎีสังคมนิยมกลายเป็นอาวุธในการวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการวิเคราะห์และวิพากษ์สังคมไทยว่า เป็นสังคมชนชั้น ที่มีการกดขี่ขูดรีดกันอย่างรุนแรง ชนชั้นปกครองไทยได้สบคบกับจักรพรรดินิยมอเมริกา ทำการกดขี่ประชาชนอย่างหนัก หนทางในการแก้ไขจึงจะต้องปฏิวัติประเทศไปสู่สังคมนิยม โค่นล้มชนชั้นที่กดขี่ อันได้แก่ กลุ่มทุนนิยมขุนนาง ขุนศึก และ ศักดินา ขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา และสร้างสังคมใหม่แห่งชนชั้นกรรมกรชาวนาขึ้น อุดมการณ์สังคมนิยมได้เรียกร้องให้นักศึกษาในฐานะที่เป็นเยาวชน เข้าแบกรับหน้าที่นี้ ซึ่งสอดคล้องกับจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อส่วนรวมในขบวนการนักศึกษา ที่พัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เมื่อมาถึงขณะนี้ คำขวัญเรียกร้องให้ “รับใช้ประชาชน” จึงแพร่หลายทั่วไปในขบวนการนักศึกษา
การเผยแพร่ของอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งเปิดโปงให้เห็นความเหลวแหลกเสื่อมทรามของสังคมไทยอย่างชัดแจ้ง ได้รับการเผยแพร่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมากมาก ในที่สุด แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่และค่อนข้างมีบทบาท ก็ยังประกาศว่าจะใช้นโยบายบริหารประเทศแบบ “สังคมนิยมอ่อนๆ” นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมขึ้นมาต่อสู้ทางรัฐสภา 3 พรรค นั่นคือ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ที่นำโดยนายแคล้ว นรปติ และมี นายเกริก ระวังภัย เป็นรองหัวหน้าพรรค นายพรชัย แสงชัจจ์ เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาคือ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค นายไขแสง สุกใส เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายบุญสนอง บุญโยทยานเป็นเลขาธิการพรรค ปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้รับการต้อนรับและเข้าร่วมจากคนรุ่นใหม่จากขบวนการนักศึกษาจำนวนมาก และได้ชูคำขวัญว่า"ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" พรรคที่สามก็คือ พรรคพลังใหม่ ซึ่งตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนที่รักความเป็นธรรมอีกกลุ่มหนึ่ง หัวหน้าพรรคก็คือ นายกระแส ชนะวงศ์ นายแพทย์รางวัลแมกไซไซ เลขาธิการพรรคก็คือ นายปราโมทย์ นาครทรรพ นอกจากนี้ยังร่วมด้วย คนอื่นๆ เช่น นายจรัญ ประดับพงษ์ นายประสาน ต่างใจ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นต้น พรรคแนวทางสังคมนิยมทั้งสามพรรค ได้พยายามดำเนินการต่อสู้หนทางรัฐสภาเพื่อปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนคนยากคนจนอย่างเต็มที่ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 มีสมาชิกทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสู่สภาถึง 37 ที่นั่ง เป็น สมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 15 ที่นั่ง พรรคพลังใหม่ 12 ที่นั่ง และ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 ที่นั่ง และในจำนวนนี้ ปรากฏว่า นายสุธีร์ ภูวพันธ์ ส.ส.พรรคแนวร่วมสังคมนิยมจากจังหวัดสุรินทร์ ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดของประเทศด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า พรรคแนวทางสังคมนิยมได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และกลายเป็นพลังต่อรองทางการเมืองในรัฐสภาอันสำคัญยิ่ง
ผลงานชิ้นสำคัญของพรรคแนวทางสังคมนิยมทั้ง 3 พรรคก็คือ ความพยายามผลักดันให้มีการเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2496 โดยเริ่มจากวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2518 บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย แถลงว่าจะเสนอให้มีการเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นเครื่องมือของฝ่ายทรราชย์ในการเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงควรที่จะยกเลิกเสีย และได้เสนอให้ประชาชนไทย สามารถตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นในยุโรปตะวันตก ดังนั้น ในวันที่ 23 เมษายน ทั้งสามพรรคได้ชักชวนให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเกษตรสังคม ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอร่างยกเลิกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ จึงนำมาซึ่งการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เพราะฝ่ายทหารและข้าราชการยังเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นในการใช้ปราบปรามการก่อการร้ายของฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือถ้าเลิกกฎหมายฉบับนี้ ก็ควรจะต้องมีกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ในที่สุด สภาความมั่นคงก็ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ เรียกว่า “ร่างกฎหมายความปลอดภัยแห่งชาติ” ซึ่งยิ่งมีมาตรการในการปราบปราบประชาชนที่ครอบจักรวาลยิ่งกว่าพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ และในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2518 คณะรัฐมนตรีได้รับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ แต่ต่อมา ได้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างหนัก โดยขบวนการนักศึกษา และพรรคสังคมนิยมทั้ง 3 พรรค รัฐบาลจึงแถลงว่า จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาใหม่
ด้วยการเคลื่อนไหวของฝ่ายพรรคสังคมนิยม ทำให้ผู้ปกครองศักดินาและพรรคการเมืองชนชั้นนายทุน ก็เกิดความหวาดระแวงว่า พรรคแนวทางสังคมนิยมเหล่านี้ จะไปทำให้ผลประโยชน์และความได้เปรียบของตนลดลง จึงได้ใช้พยายามที่จะใส่ร้ายป้ายสีและทำลาย เช่น การโจมตีว่าพรรคสังคมนิยมเหล่านี้เป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ โดยใช้คำขวัญรณรงค์ว่า “สังคมนิยมทุกชนิด คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง” หรือได้เงินจากองค์การสืบราชการลับของเคจีบี. แห่งสหภาพโซเวียตบ้าง ขายชาติให้เวียดนามบ้าง เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง นอกจากนี้ก็คือการใช้ความรุนแรงทำร้ายและก่อกวนผู้สมัครรับเลือกตั้งของทั้ง 3 พรรค ด้วยเหตุจากการโจมตีใส่ร้ายและสกัดกั้นทุกวิถีทางดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.2519 มีผู้สมัครทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพียง 6 คนเท่านั้น คือ พรรคพลังใหม่ 3 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 คน และ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 1 คน
อย่างไรก็ตาม การแพร่หลายของความรู้เกี่ยวกับจีน และการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายเช่นกัน เพราะรัฐบาลพลเรือนหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีแนวโน้มที่จะยอมรับการเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2517 รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เสนอยกเลิก ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ที่จะให้มีการเปิดการค้ากับจีนอย่างเสรี แต่ปรากฏกว่าสมาชิกสภาที่เรียกว่ากลุ่ม 99 คัดค้าน อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านจีนไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อฟื้นฟูและกระชับไมตรีระหว่าง 2 ประเทศ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518
อิทธิพลของแนวคิดสังคมนิยม ทำให้นักศึกษากลายเป็นแนวหน้าในการวิพากษ์วัฒนธรรมเก่าด้วยการเสนอคำขวัญ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” มาหักล้างแนวทางศิลปะแบบเก่า โดยการวิพากษ์ว่า แนวทางศิลปวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่นั้น เป็นศิลปะที่มุ่งรับใช้ชนชั้นปกครองศักดินาและทุนนิยม เพื่อจะมอมเมาให้ประชาชนพร่ามัวอยู่กับความล้าหลัง และยอมรับการครอบงำของชนชั้นปกครอง ศิลปะแนวใหม่จึงไม่ควรที่จะเป็นเช่นนั้น หากแต่จะต้องเป็นศิลปะที่รับใช้ประชาชน โดยการสะท้อนภาพความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนคนชั้นล่าง แล้วเสนอทางออกหรือแนวทางการต่อสู้ต่อคนเหล่านั้น กระแสศิลปะเพื่อชีวิตนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่องานด้านวรรณกรรม ส่วนหนึ่งก็คือการนำเอาวรรณกรรมเพื่อชีวิตเดิมที่เคยตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2490 มาตีพิมพ์ซ้ำ ต่อมา ใน พ.ศ.2517 ก็ได้มีการจัดนิทรรศการ ”เผาวรรณคดี” โดยสาระคือการนำเอาวรรณคดีทั้งหลาย ที่ถือกันว่าทรงคุณค่ามาวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นด้านที่เป็นวรรณกรรมรับใช้ชนชั้นศักดินา ส่วนนิยายประโลมโลกทั้งหลายก็ถูกวิพากษ์ว่าเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า มอมเมา เสนอแต่เรื่องไร้สาระ ดังนั้นขบวนการนักศึกษาจึงได้พยายามที่จะเสนอรูปแบบใหม่แห่ง “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” เข้าแทนที่ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มุ่งจะสะท้อนถึงความทุกข์ยาก และการต่อสู้ของประชาชนที่ถูกกดขี่ กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นการรื้อฟื้นกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เริ่มพัฒนาในทศวรรษที่ 2490 มีการรื้อฟื้นและตีพิมพ์ซ้ำงานเขียนของกลุ่มอักษรสาส์น งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์และนักเขียนอื่นในสมัยนั้น เช่น การตีพิมพ์งานเรื่อง ข้อคิดจากวรรณคดี ของ อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร) เรื่อง ศิลปวรรณคดีกับชีวิต ของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ (อุดม สีสุวรรณ) รวมทั้งนวนิยายเพื่อชีวิต เช่น แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา ปีศาจ และ ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เมืองนิมิตร ของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ เป็นต้น แต่กระนั้น กระแสแห่งวัฒนธรรมของยุคหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็มีการลักษณะพิเศษของยุคสมัยตนเอง กรณีหนึ่งก็คือ การเกิดการเฟื่องฟูของ นวนิยายและหนังสือเด็กจากจีน โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ออกเป็นภาษาไทยจำนวนมาก เช่น พายุ ซึ่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเอเชียวิเคราะห์ข่าว ก่อนมีการรวมเล่ม เรื่องอื่น ได้แก่ ตะเกียงแดง รุกเหนือรบใต้ เกาอี้เป่า ทหารน้อยจางก่า เดินทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เข้าโรงเรียน หยางกินซือวีรชนอมตะ และหลิวหูหลาน เป็นต้น ซึ่งลักษณะของทุกเรื่อง จะต้องสะท้อนให้เห็นซึ่งจิตใจที่เสียสละและกล้าหาญของประชาชนจีน ที่อุทิศชีวิตเพื่อชาติ และเพื่อการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมอันดีงาม อันเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง
ไม่เพียงแต่การรับอิทธิพลจากช่วงทศวรรษ 2490 และการรับอิทธิพลจากจีน กระแสวัฒนธรรมเพื่อชีวิตในสมัย 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็ได้ก่อให้เกิดการสร้างวรรณกรรมเพื่อชีวิตแห่งยุคสมัยตนเองเช่นกัน เช่น ได้เกิดการเขียนเรื่องสั้นใหม่ โดยนักเขียนรุ่นใหม่ เช่น สถาพร ศรีสัจจัง วัฒน์ วรรลยางกูร นอกจากนี้ ด้านนวนิยาย เช่น พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ของ สันติ ชูธรรม พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก ไผ่ตัน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตำบลช่อมะกอก ของ วัฒน์ วรรลยางกูร หรือการเกิดงานแปลใหม่ เช่น คนขี่เสือ ของ ภวาณี ภัฏฏาจารย์ ซึ่งเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตอินเดีย เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ของ นิโคไล ออฟตรอฟสกี แต่ที่เฟื่องฟูอย่างมากคือ บทกวีใหม่ที่แต่งโดย รวี โดมพระจันทร์ วิสา คัญทัพ ซึ่งได้มีการรวมเล่มตีพิมพ์ออกเป็นเล่ม
ควบคู่กับการเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรม ก็คือ การวิพากษ์ระบบการศึกษาแบบเก่าว่า เป็นการศึกษาแบบล้าหลัง รับใช้สังคมทุนนิยม และใช้ระบบ ”แพ้คัดออก” ซึ่งทำให้ชนชั้นล่าง มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ยาก จึงได้มีการจัดนิทรรศการ ”โฉมหน้าการศึกษา และชำแหละหลักสูตร” เมื่อต้นปี พ.ศ.2518 ซึ่งวิพากษ์เนื้อหาการศึกษาแบบเก่า และเสนอให้จัด “การศึกษาเพื่อมวลชน” ขึ้นแทนที่ ในขณะเดียวกัน ก็มีการพิมพ์หนังสือออกมามากมายเพื่อนำเสนอแนวคิดเช่นนี้ เช่น เรื่อง การศึกษาเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความพิมพ์ตั้งแต่เดือน มีนาคม พ.ศ.2517 โรงเรียนตายแล้ว ของ ช.เขียวพุ่มพวง พิมพ์ใน พ.ศ.2518 ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี ผลสะเทือนจากการวิพากษ์แนวทางการศึกษา และการเสนอการศึกษาเพื่อมวลชน ทำให้รัฐบาลต้องยอมรับ และตั้งกรรมการพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2518
ในด้านบทเพลง และดนตรีก็เช่นเดียวกัน เพลงแบบเก่าจะถูกวิจารณ์ว่า เป็นเพลงไม่มีเนื้อหาสาระ สะท้อนแต่เรื่องความรักส่วนตัว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ขบวนการนักศึกษาจึงได้ให้กำเนิดเพลงแบบใหม่ ที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งเป็นบทเพลงที่สะท้อนชีวิตและความทุกข์ยากของประชาชน ได้เกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตขึ้นมาในขบวนการนักศึกษามากมาย วงดนตรีเพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นมาเป็นวงแรกก็คือ วงดนตรี ท.เสนและสัญจร ใน พ.ศ.2516 ซึ่งนำโดย สุรชัย จันทิมาธร และเล่นเพลง “คนกับควาย” ที่แต่งโดย สมคิด สิงสง และเพลง ”เปิบข้าว” ที่นำมาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ วงนี้ต่อมาพัฒนามาเป็นวงดนตรีคาราวาน นอกจากนี้ ก็เช่น วงดนตรีกรรมาชน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่นำเอาเพลงที่จิตร ภูมิศักดิ์แต่งไว้มาร้อง วงดนตรีโคมฉาย และ วงดนตรีลูกทุ่งสัจจธรรม ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง วงดนตรีคุรุชน ของนักศึกษาวิทยาลัยครูสวนสุนันทา นอกจากนี้ วงดนตรีที่มีเอกลักษณ์อันน่าสนใจ คือ วงดนตรีต้นกล้า ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง เพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากขบวนการนักศึกษา และได้กลายเป็นอาวุธอันสำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ ตลอดจนปลุกเร้าจิตใจนักศึกษาให้มีความรู้สึกกล้าต่อสู้ เพลงหลายเพลงมีบทบาทอย่างมาก ในการสร้างจิตสำนึกรับใช้ประชาชนและความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่แก่นักศึกษา เช่น เพลง ”เพื่อมวลชน” ที่เสนอให้นักศึกษาพลีตนเพื่อรับใช้ประชาชน เพลง “ฟ้าใหม่” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวังต่อสังคมใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพลง “อเมริกันอันตราย” สะท้อนถึงภาระหน้าที่ในการต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา เพลง “ความตายอย่างมีค่า” ปลุกใจให้นักศึกษากล้าเสียสละเพื่ออุดมการณ์ และ เพลง “ต้นมะขามสนามหลวง” ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเผชิญหน้ากับชนชั้นปกครองที่แหลมคมมากขึ้น ส่วนเพลง “อินโดจีน” ก็แต่งขึ้นเพื่อสดุดีชัยชนะของประชาชนอินโดจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มชนชั้นนำได้ควบคุมการเผยแพร่เพลงเพื่อชีวิตอย่างยิ่ง โดยไม่ยอมให้เพลงเหล่านี้ได้ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง หรือโทรทัศน์เลย ดนตรีเพื่อชีวิตจึงกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของขบวนการนักศึกษา จนกระทั่งถึงเวลาเมื่อเกิดกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ในวงการละครก็เช่นเดียวกัน ละครเพื่อชีวิตซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็คือ ละครพระจันทร์เสี้ยว ต่อมาก็เกิด คณะละครตะวันเพลิง ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะละครแฉกดาว ของนิสิต นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาฯ, เชียงใหม่, รามคำแหง, ธรรมศาสตร์ โดยมี คำรณ คุณะดิลก จากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมาช่วยฝึกซ้อม จนถึง พ.ศ.2518 ชมรมศิลปะการละครของทุกมหาวิทยาลัย ก็หันมาจัดแสดงละครเพื่อชีวิตทั้งสิ้น จากนั้น เมื่อมีการจัดนิทรรศการ หรือมีการชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ละครเพื่อชีวิต จินตลีลา และงิ้วที่ก้าวหน้า ก็จะกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจของการแสดงบนเวทีเสมอ
กลุ่มจิตรกรรมและประติมากรรมเพื่อชีวิต ที่พัฒนาขึ้นมาหลังจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็ก่อให้เกิดการการจัดตั้งกลุ่ม ”แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ขึ้น ซึ่งศิลปินฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลายได้รวมกันและได้เลือกให้ พนม สุวรรณนาถ เป็นประธานแนวร่วมคนแรก จากนั้น ก็ได้จัดนิทรรศการชื่อ “ศิลปวัฒนธรรมทาส” ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่รับใช้ชนชั้นที่กดขี่ และเสนอศิลปะวัฒนธรรมใหม่ที่รับใช้ประชาชนต่อมาจิตรกรกลุ่มนี้เขียนภาพสะท้อนถึงปัญหาสังคมการเมืองอย่างชัดเจน ชุดภาพที่เด่นมากคือการแสดงภาพเมื่อครบรอบ 2 ปี 14 ตุลา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2518 กลุ่มศิลปินได้วาดภาพคัทเอาท์ทางการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนจำนวน 48 ภาพ ออกแสดงบนเกาะกลางถนนราชดำเนินตลอดสาย ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพศิลป์ขนาดใหญ่ครั้งแรก และสร้างผลสะเทือนอย่างมากต่อวงการศิลปะในประเทศไทย
กระแสวิพากษ์วัฒนธรรมของขบวนการนักศึกษา ยังก่อให้เกิดการปรับขบวนภายในด้วย เนื่องจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้สร้างผลสะเทือนให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงทำให้เกิดพรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าในทุกมหาวิทยาลัย และได้มีการขยายงานมวลชนในหมู่นักศึกษา จนหลายพรรคได้รับเลือกตั้งให้เป็นพรรคบริหารมหาวิทยาลัย ในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานอันมั่นคงของฝ่ายนักศึกษาก้าวหน้า ที่มีแนวโน้มสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน กลุ่มนักศึกษาที่ก้าวหน้าในมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันตั้งพรรคนักศึกษาชื่อ พรรคพลังธรรม ตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาฯ และได้ส่ง พีรพล ตริยะเกษม ลงสมัครเลือกตั้งได้รับชัยชนะมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 ต่อมาใน พ.ศ.2517 ได้ส่ง วิจิตร ศรีสังข์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นพรรคบริหารองค์การนักศึกษาต่อมาอีกสมัยหนึ่ง
ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ก่อตั้งเป็นพรรคสัจจธรรมใน พ.ศ.2517 แต่พ่ายแพ้การการเลือกตั้งองค์การนักศึกษา แม้ว่าจะคุมเสียงในสภาไว้ได้ โดยพรรคที่ชนะเลือกตั้ง คือ พรรครามธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายกลาง จนถึง เดือนมกราคม พ.ศ.2518 พรรคสัจจธรรมจึงชนะเลือกตั้งทั้งองค์การบริหารและสภา และ ใน พ.ศ.2519 พรรคสัจจธรรมก็ชนะอีกครั้งหนึ่ง โดยมี มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม เป็นนายกองค์การ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้ตั้งพรรคแนวร่วมมหิดลขึ้นมาสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับชัยชนะ เช่นเดียวกันที่มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มีการตั้งพรรคพลัง ซึ่งชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย สำหรับที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าขื่อ พรรคประชาธรรม ชนะการเลือกตั้งเช่นกัน และ ใน พ.ศ.2519 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การ
สำหรับที่จุฬาลงกรณ์กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ตั้งพรรคจุฬาประชาชนขึ้น แต่ใน พ.ศ.2518 นั้น พรรคที่ชนะเลือกตั้ง คือ พรรคอิสราธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายกลาง จนในการเลือกตั้ง พ.ศ.2519 พรรคจุฬาประชาชนได้รณรงค์แข่งกับพรรคน้องพี่จุฬาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา และได้รับชัยชนะ เป็นครั้งแรก โดยผลักดันให้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกสโมสร นอกจากนี้ก็คือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มั่นของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายล้าหลัง พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าคือ พรรครวมพลังสามัคคี ก็ชนะเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2519 นอกจากนี้ยังมีการตั้งพรรคนักศึกษาก้าวหน้าในวิทยาลัยครูหลายแห่ง และชนะเลือกตั้งเช่นกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในทุกมหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2519 สำหรับในระดับโรงเรียนมัธยม แม้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในลักษณะเช่นนี้ แต่กลุ่มนักเรียนที่ก้าวหน้า ก็ขยายองค์กรของตนเองได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
การขยายอิทธิพลที่ก้าวหน้าของฝ่ายนักศึกษานั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อการเสื่อมสลายของระบบโซตัส ระบบอาวุโส และประเพณีรับน้องอันเหลวไหลของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นกระแสของนักศึกษาในระยะก่อนกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ไม่มีระบบรับน้องเช่นนั้น ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เลิกระบบเช่นนั้นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ โดยจะเรียกนักศึกษาใหม่ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยคำว่า “เพื่อนใหม่” แทนคำว่า ”น้องใหม่” และใน พ.ศ.2517 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการรับเพื่อนใหม่ด้วยการจัดสัมมนาเรื่องปัญหาของประเทศไทยในด้านต่างๆ จากนั้นใน พ.ศ.2518 ก็จัดงานรับเพื่อนใหม่ โดยการนำนักศึกษาใหม่ไปฝึกการใช้แรงงานเพื่อให้รู้จักชีวิตชาวนาที่อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ต่อมามหาวิทยาลัยวิชาการศึกษา หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนิสิตที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ก็ล้มเลิกการจัดรับน้องใหม่เช่นเดียวกัน ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงแรก ได้มีการยกเลิกพิธีรับน้องใหม่เป็นบางคณะ คณะอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์นั้นเริ่มต้นก่อน จากนั้นคณะอื่นๆ ก็ค่อยเลิกรับน้องตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2519 คณะวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นคณะสุดท้ายที่เลิกงานรับน้อง หลังจากที่นิสิตฝ่ายก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งภายในคณะ และในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขอนแก่นก็เลิกการรับน้องเช่นกัน คงเหลือแต่เพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ยังดำรงพิธีรับน้องไว้มากที่สุด แต่กระนั้น ใน พ.ศ.2519 คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เลิกรับพิธีรับน้องเช่นกัน เหลือแต่เพียงคณะวนศาสตร์ ที่ยังคงเป็นคณะสุดท้ายที่คงประเพณีการรับน้องไว้อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ประเพณีที่ล้าหลัง ไร้สาระ และฟุ่มเฟือยชนิดต่างๆ ถูกลดจำนวนลงอย่างมาก และมักจะไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาส่วนใหญ่ กิจกรรมที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำในช่วงนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีสาระ เช่นการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ที่ก้าวหน้า ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการประสานและมุ่งรับใช้ประชาชนระดับล่าง การจัดงานอภิปรายถึงปัญหาสำคัญของชาติ การตั้งกรรมการขึ้นให้คำปรึกษา หรือรับร้องทุกข์ของประชาชนในด้านต่างๆ งานออกค่ายของนิสิตนักศึกษาก็แปรเปลี่ยนจากงานสร้างถาวรวัตถุเป็นการใช้แรงงาน และดัดแปลงตนเองให้เข้ากับกรรมกรชาวนา การแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้ถูกรื้อฟื้นมาจัดใหม่อีกครั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2519 โดยที่นิสิตนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัย ล้มเลิกรูปแบบกิจกรรมที่ล้าหลังทั้งหมด และริเริ่มใช้กิจกรรมที่เป็นประโยชน์แทน เช่น การไปทำความสะอาดวัดในตอนเช้า และการสอดแทรกเนื้อหาที่ก้าวหน้าลงไปในการจัดขบวนพาเหรด จึงทำให้ฟุตบอลประเพณี พ.ศ.2519 มีรูปแบบที่แตกต่างจากงานที่จัดในปีก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
ด้านศูนย์นิสิตที่มีสถานะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวนั้น ในช่วงแรกหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดความขัดแย้งภายใน เนื่องจากนักศึกษากลุ่มอิสระจำนวนหนึ่ง ไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการศูนย์นิสิต ที่นำโดย สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ดังนั้น ในการประชุม วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 คณะกรรมการศูนย์ได้ถูกซักฟอกอย่างหนัก จากนั้น กลุ่มนักศึกษาส่วนหนึ่ง จึงได้แยกตัวออกมาตั้งเป็น “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นผู้นำ การแยกตัวดังกล่าวก็ด้วยเหตุผลว่าจะให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น โดยคำแถลงกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีอธิบายลักษณะการทำงานของกลุ่มว่า ...ดำเนินงานเหมือนศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ แต่โครงสร้างในการทำงานเป็นอิสระกว่า...มีนโยบายที่จะให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งเร่งเร้านักเรียน นิสิต นักศึกษาให้สนใจต่อปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง รับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านความฟุ้งเฟ้อ
ผลจากความขัดแย้ง ทำให้กรรมการชุดของสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ลาออกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 แต่ปรากฏว่าในการเลือกตั้งวันที่ 6 ธันวาคม ชุดของ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก จึงทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไป กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี จึงได้เป็นแกนรวมกลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งเป็นสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย มีองค์กรนำที่แตกต่างไปจากศูนย์นิสิต นอกจากนี้กลุ่มของ ธีรยุทธ บุญมี ก็แยกตัวไปตั้งกลุ่มชื่อ ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช.) เคลื่อนไหวเป็นอิสระเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือได้ว่า ขบวนการนักศึกษายังเป็นเอกภาพในแง่ของเป้าหมาย ที่มุ่งจะต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยเป็นเอกราชอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าผลจากความแตกแยกในองค์กร ทำให้ศูนย์นิสิตสูญเสียบทบาทนำในช่วงปี พ.ศ.2517 เพราะองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ได้เป็นเอกภาพกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีครบรอบปี 14 ตุลาคม เมื่อ พ.ศ.2517 กลุ่มอิสระ 13 กลุ่มนำโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานมหกรรมการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าศูนย์นิสิตไม่เข้าร่วมการจัดงานครั้งนี้ จากนั้นต่อมา ในการเคลื่อนไหวขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจรครั้งแรก หลังจากที่จอมพลถนอมลอบกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2517 โดยอ้างว่าจะมาเยี่ยมพ่อที่ป่วยหนัก นักศึกษาได้จัดการชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้มีการจับกุมและดำเนินคดีจอมพลถนอม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ศูนย์นิสิตซึ่ง ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ รักษาการเลขาธิการ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว ดังนั้น องค์กรนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าต่างๆ 23 กลุ่ม จึงได้จัดตั้งกันขึ้นเป็น แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยมี สุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาธิการ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทำให้จอมพลถนอมต้องหนีออกนอกประเทศอีกครั้งในวันที่ 29 ธันวาคม นั้นเอง
ต่อมา คำนูณ สิทธิสมาน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามารักษาการตำแหน่งเลขาธิการศูนย์นิสิต ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2518 แต่การนำของศูนย์นิสิตก็ยังไม่เป็นเอกภาพ จนถึงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2518 เมื่อพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นส่วนข้างมาก และสามารถผลักดันให้ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการศูนย์นิสิต จึงทำให้การนำในขบวนการเป็นเอกภาพกันมากที่สุด และถือได้ว่า กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้ามีบทบาทนำในขบวนการนักศึกษาอย่างชัดเจน
ในระหว่างปี พ.ศ.2517 ได้เกิดความขัดแย้งในขบวนการ เนื่องจากกระแสการวิพากษ์ลัทธิแก้ ผิน บัวอ่อน กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่วิจิตร ศรีสังข์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ ของ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ เพื่อประกอบนิทรรศการมหกรรมการเมืองในโอกาสครบรอบปี 14 ตุลา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2517 ชื่ออำนาจ ยุทธวิวัฒน์ เป็นนามปากกาของ นายผิน บัวอ่อน อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่หันมาทำงานให้กับฝ่ายอำนาจรัฐ และพยายามขยายการจัดตั้งของฝ่ายตนเข้ามาในขบวนการนักศึกษา ข้อเสนอในหนังสือเล่มนี้ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมาก เพราะในส่วนนำของพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะเชิดชูแนวทาง 14 ตุลาคม อันจะนำมาซึ่งการลุกขึ้นสู้ในเมือง และจะเป็นการง่ายแก่ชนชั้นปกครองในการปราบปราบ กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าในพรรคพลังธรรมได้นำเสนอว่า สิ่งที่จะต้องเชิดชู คือ เจตนารมณ์ 14 ตุลา ที่รักประชาธิปไตย และ จิตใจ 14 ตุลาที่กล้าเสียสละ ยิ่งกว่าที่จะเชิดชูแนวทาง 14 ตุลา ดังนั้น จึงได้มีการนำเอาหนังสือแนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ มาเผาทิ้ง และได้มีการออกหนังสือชื่อ ศึกษา 14 ตุลา และวิพากษ์หลิวส้าวฉีไทย ของดรุณใหม่ ออกมาตอบโต้ โดยมีการวิพากษ์ ผิน บัวอ่อนว่า เป็นนักปล้นทฤษฎี และเป็นหัวโจกลัทธิแก้ ของไทย
การวิวาทะในขบวนการนักศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดผลคือความแตกแยก เพราะนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนำนักศึกษาที่วิพากษ์ผิน บัวอ่อน ได้แยกตัวไปตั้งพรรคนักศึกษาใหม่ ชื่อ พรรคแนวประชา ในการเลือกตั้งภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2518 จึงกลายเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคแนวประชาฝ่ายหนึ่ง กับพรรคพลังธรรม ซึ่งสามารถสร้างแนวร่วมสามัคคีกับพรรคยูงทอง เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง พรรคแนวประชาได้เสนอคำขวัญเพื่อจูงใจนักศึกษาว่า ไม่นำไม่ตามใคร เราจะไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแสดงนัยถึงการวิจารณ์พรรคพลังธรรมว่า เอาแต่เคลื่อนไหวภายนอกมากเกินไป จนไม่สนใจนักศึกษาส่วนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายพรรคพลังธรรม-ยูงทองได้ใช้ยุทธวิธีเคาะประตูนักศึกษา ด้วยแบ่งกลุ่มย่อยไปพูดคุยกับนักศึกษา จึงทำให้ฝ่ายพรรคพลังธรรมยังคงชนะการเลือกตั้ง แต่กระนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อมาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2519 พรรคแนวประชาได้สละแนวทางของผิน บัวอ่อน และกลับมาสามัคคีกับพรรคพลังธรรมอีกครั้ง พรรคทั้งสามจึงส่งคนสมัครรับเลือกตั้งร่วมกัน แข่งกับกลุ่มฝ่ายขวาซึ่งตั้งพรรคโดมขึ้นมา ปรากฏว่าแนวร่วม 3 พรรคได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดย พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา
อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เผยแพร่เข้ามาในขบวนการนักศึกษาโดยผ่านลูกหลานของผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่เข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษา แต่ต่อมาหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม การขยายตัวขององค์กรพรรคในขบวนการนักศึกษาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขบวนการนักศึกษาเริ่มเห็นชอบกับแนวทางสังคมนิยมมากขึ้นทุกที และเชื่อมั่นว่านี่เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาของประเทศไทย การยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผลจากความเชื่อที่ว่า พรรคเป็นองค์กรจัดตั้งของฝ่ายสังคมนิยมอย่างแท้จริง และมีเกียรติประวัติการต่อสู้มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 จึงสามารถเป็นองค์กรที่นำการสร้างสังคมใหม่ให้เป็นจริงได้ นอกจากนี้ วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.)ของพรรคอมมิวนิสต์ ยังเป็นกระบอกเสียงที่เสนอและวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยทฤษฎีสังคมนิยมอย่างมั่นคงที่สุด นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงปราบปรามของฝ่ายกลไกรัฐ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนไม่น้อย ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ในฐานะทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลปฏิกิริยา แต่ในด้านของตัวบุคคลนั้น ปรากฏว่าฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นอยู่ไกลเกินไป ที่จะเข้าใจและชี้นำสถานการณ์แห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาได้ จึงกลายเป็นว่าคนของขบวนการนักศึกษานั่นเอง ที่เข้าไปมีบทบาทภายในองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง และคนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีบทบาทชี้นำในขบวนการนักศึกษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์กร
พรรคคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเพียงผู้นำในเชิงแนวคิดทางยุทธศาสตร์ แต่คนของขบวนการนักศึกษาเองที่เป็นฝ่ายกำหนดแนวทางการต่อสู้ ปลายปี พ.ศ.2518 กระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมในขบวนการนักศึกษา ได้ครอบคลุมไปถึงการสร้างประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ในกรอบเดิม โดยเริ่มจากการจัดงานลอยกระทงรักไทยซึ่งเป็นงานลอยกระทงในรูปแบบใหม่ ไม่มีการประกวดนางนพมาศ แต่เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน นอกจากนี้ เมื่อปีใหม่ พ.ศ.2519 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้จัดงานปีใหม่ อรุณแห่งชัย โดยสร้างความหวังให้ปี พ.ศ.2519 เป็นปีแห่งชัยชนะของประชาชน ขณะที่ทางกลุ่มนิสิตที่ก้าวหน้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จัดงานปีใหม่ชูไทขึ้นเช่นกัน และในเดือนมกราคม พ.ศ.2519 นี้เอง งานฟุตบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถูกนำมาจัดใหม่ โดยสอดแทรกเนื้อหาที่ก้าวหน้าลงไป ต่อมาในเทศกาลสงกรานต์ของ พ.ศ.2519 ขบวนการนักศึกษาก็จัดงานสงกรานต์เบิกฟ้าประเพณีเพื่อสะท้อนประเพณีใหม่ที่รับใช้ชีวิต รับใช้มวลมหาประชาชน ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดโฉมหน้าใหม่ทางวัฒนธรรมของไทยด้วย
ในระยะที่การต่อสู้แหลมคมมากขึ้น และแนวความคิดสังคมนิยมเป็นที่ยอมรับมากขึ้นนั้น นอกจากจะมีการเสนอแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม ทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแล้ว ยังได้มีการเสนอหลักเกณฑ์ในการเป็นนักปฏิวัติ เพื่อปรับปรุงขบวนการนักศึกษาให้มีลักษณะปฏิวัติมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการจัดตั้ง และเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงชีวทัศน์ครั้งใหญ่ โดยสาระนั้น การจัดตั้งก็คือการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีวินัยและมีจิตใจสู้รบมากขึ้น ส่วนการปรับปรุงชีวทัศน์ก็คือ ความพยายามที่จะผลักดันว่าผู้ปฏิบัติงานในขบวนการนั้น จะมีโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีชีวทัศน์ที่ก้าวหน้าด้วย ตัวแบบของบุคคลที่ก้าวหน้า และก่อให้เกิดความประทับใจแก่ขบวนการนักศึกษา ก็คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งมีลักษณะการใช้ชีวิตที่น่ายกย่อง และเสียสละท่ามกลางการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2509 หลังจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ชีวิตของเขาถูกนำมาศึกษา นำมากล่าวสดุดี มาแต่งเป็นเพลง ควบคู่กับการเขียนของเขา ที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างมากมาย จนสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ถึงกับจัดการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือ ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ (2517)
นอกจากการสร้างบุคคลตัวแบบขึ้นมาแล้ว การปรับปรุงชีวทัศน์ยังได้มาจากการศึกษา โดยหนังสือเล่มสำคัญที่ใช้ในการศึกษาเพื่อปรับปรุงชีวทัศน์ก็เช่น ชีวทัศน์เยาวชน ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมข้อเสนอแนะและการชี้นำต่อการใช้ชีวิตที่ก้าวหน้าของเยาวชน เสริมทฤษฎี ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมมาจากบทความที่เคยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เสียงใหม่ เป็นเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับวิธีคิดวิธีการทำงานของเยาวชนนักศึกษา ศีลธรรมสังคมนิยม ของ อนุช อาภาภิรม ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้เห็นว่า โลกสังคมนิยมก็สามารถที่จะมีศีลธรรมได้ และศีลธรรมใหม่นั้นไม่ได้วางรากฐานอยู่ที่ศาลนา ซึ่งเป็นจิตนิยม แต่เป็นศีลธรรมที่วางอยู่บนรากฐานแห่งการเสียสละ และรับใช้ประชาชน พลังชีวิต เรียกร้องให้เยาวชนกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เป็นต้น นอกจากนั้น วรรณกรรมจากจีนจำนวนมาก ก็มีลักษณะเสนอทัศนะในการดัดแปลงตนเองเช่นกัน เช่นเรื่องของ นอร์แมน เบธูน นายแพทย์และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แคนาดา ที่เข้าไปช่วยเหลือการปฏิวัติจีน ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เป็นแบบอย่างของจิตใจสากลนิยม และเรื่องของจางซือเต๋อ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เสียสละตนเอง ทำงานทุกชนิดเพื่อการปฏิวัติ และแสดงให้เห็นจิตใจที่เสียสละ
ในกระแสแห่งการนำเสนอให้มีการปรับปรุงชีวทัศน์นั้น ส่วนหนึ่งเรื่องทัศนะใหม่ต่อความรัก ก็เป็นที่สนใจไม่น้อย ซึ่งเป็นเพราะนักศึกษาที่ยังเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว มีความอ่อนไหวต่อเรื่องความรักได้ง่าย จึงมีหนังสือที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องความรักตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม เช่น เรื่อง สารแด่นิด ของ ประสาน พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2517 และกลายเป็นหนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ต่อมา ก็ได้มีการตีพิมพ์เรื่อง บนเส้นทางรัก ของ ลือชัย รังสรรค์ ซึ่งเป็นหนังสือที่เคยตีพิมพ์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ชีวทัศน์หนุ่มสาว ซึ่งเป็นเอกสารศึกษาทัศนะความรักภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และ เรื่องที่โด่งดังมากเมื่อ พ.ศ.2519 ก็คือ ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ของ อารยา แสงธรรม และ พิทักษ์ ชัยสูงเนิน พิมพ์โดยพรรคจุฬาประชาชน การนำเสนอในเรื่องปัญหาความรักนี้ เกือบทุกเรื่องจะมีเนื้อหาที่คล้ายกัน คือ เสนอให้มองความรักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเรียกร้องให้แปรความรักส่วนตัว มาขึ้นกับผลประโยชน์ของประชาชน หรือขึ้นต่องานปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีงามเสียก่อน[1]
อ้างอิง
- ↑ เรียบเรียงมาจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544, หน้า 63 – 166.