นิวเดม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง      

1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม 
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต  แก้วหานาม
3.นายเด่นพงษ์ แสนคำ
4.นายเฉลิมพล แสงแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


1. ความนำ

          นิวเดม (New Dem) เป็นคำที่เรียกกลุ่มสมาชิกพรรคการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคำว่านิวมาจาก New ที่แปลว่าใหม่ และคำว่าเดมมาจาก Dem ซึ่งเป็นอักษรสามตัวแรกของชื่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเขียนเต็ม ๆ ก็คือ Democrat Party การเกิดขึ้นของกลุ่มนิวเดมเกิดขึ้นเนื่องมาจากความพยายามสร้างการเมืองแบบใหม่ให้กับพรรค ซึ่งมีรายงานเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ว่าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวคนรุ่นใหม่ (New Dem) 21 คน เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง และนำเสนอนโยบายจากคนรุ่นใหม่ พร้อมเดินหน้ายกเลิกเกณฑ์ทหาร สนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมการแข่งขันอีสปอร์ต และเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์[1] ในช่วงเดียวกันนี้ซึ่งเป็นช่วงของการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่พยายามชูทั้งนโยบายใหม่ ๆ ที่มักจะมาพร้อมกับการเปิดตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอแนวทางดำเนินการทางด้านนโยบายของพรรคการเมือง กล่าวได้ว่าการเปิดตัวของนิวเดมเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างความน่าสนใจให้กับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี

 

2. ปรากฏการณ์การเปิดตัวนิวเดมของพรรคประชาธิปัตย์

          พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวกลุ่มนิวเดม (New Dem) ที่ย่อมาจากคำว่านิวเดโมเครตหรือประชาธิปัตย์ใหม่ จำนวน 21 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะทำงานการเมืองและพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งนิวเดมตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มนิวเดม พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า แนวคิดก้าวนอกกรอบ ไม่ได้หมายถึงว่ากรอบที่มีอยู่แต่เดิมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ไดี แต่อาจเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับมันน้อยเกินไป ทำไมการที่เราอยากให้ชายไทยทุกคนทำประโยชน์ให้กับชาติ เราต้องบังคับให้เขาไปเป็นทหาร คำถามนี้มีคำตอบ และเพื่อที่หาคำตอบนั้น เราต้องกล้า กล้าที่จะออกมาจากกรอบความคิดเดิมๆ นายพริษฐ์ ย้ำว่า กลุ่มนิวเดมไม่ใช่องค์กรเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาเสียงเท่านั้น และไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพรรคเท่านั้น แต่จะเป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่นอกพรรคการเมือง คนรุ่นใหม่ที่กล้าจะก้าวออกจากกรอบ[2]

ด้าน นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ เสนอการเปิดการค้ากัญชาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนผลิตและสกัดสารของกัญชาออกมาโดยรัฐควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัย รวมทั้งรัฐจะต้องส่งเสริมงานวิจัยสายพันธุ์กัญชาใหม่ๆ ของไทย กัญชาจะมีมูลค่าถึง  เนื่องจากมองถึงสรรพคุณกัญชาที่สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยด้วยโรคพากินสัน ดีเมนเชียร์ หรือการเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็ง[3]

 

3. พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองเก่ากับบทบาททางการเมือง

          นายควง อภัยวงศ์ ได้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยการประชุมรวมตัวกันของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่บริษัทของนายควง ที่ย่านเยาวราช แต่ทางพรรคถือเอาวันที่ 6 เมษายน เป็นวันก่อตั้งพรรค เพื่อให้ตรงกับวันจักรี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อมานายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังถูกกดดันจากกรณีสวรรคต ร.8 และรัฐสภาลงคะแนนให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ใกล้ชิดนายปรีดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ[4] ในช่วงปี พ.ศ. 2489 ที่ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ร.ต.ถวัลย์ ยาวนานถึง 7 วัน 7 คืนติดต่อกัน รวมถึงการหาเสียงในเดือนสิงหาคมด้วย[5] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ถูกนายทหารฝ่ายจอมพล ป. ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารยึดอำนาจ นายควงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก[6] พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรคที่มีบทบาทสำคัญหลายคน ทั้งในบทบาททางด้านวิชาการ การเคลื่อนไหวทางการเมือง และแนวคิดสำคัญ ๆ ระดับประเทศ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถมีความยั่งยืนทั้งที่เป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านมาโดยตลอด

          หลังการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562 ทำให้มีการค้นคำว่า "พรรคแมลงสาบ" ในเสิร์ชเอนจินปริมาณเพิ่มขึ้น คำนี้มีการใช้เพื่อหมายถึงอายุยืนยาวและการรั้งอำนาจอย่างยาวนานของพรรค และมีการใช้เพื่อล้อเลียนพรรคเมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่ไร้เกียรติของพรรค ทั้งนี้ คำดังกล่าวมีที่มาจากศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกพรรค ในการประชุมประจำปี 2545 ที่เสนอ "ทฤษฎีแมลงสาบ" เพื่อให้พรรคอยู่รอดในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเวลานั้น[7]

          บทบาทสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นพรรคการเมืองที่ทำให้การเมืองไทยมีบทบาท เป็นผู้นำทางด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งที่เป็นการเมืองในสภาและการเมืองนอกสภา
มีนักการเมืองที่มีความกล้าหาญที่เป็นผู้นำทางการเมืองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ในการสร้างความชัดเจนในการสร้างรูปแบบของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี

 

4. นิวเดมกับบทบาทใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์

          สำหรับที่มาของกลุ่ม นิวเดม มีการเปิดตัว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และ นายสุรบถ หลีกภัย รวบรวม คนรุ่นใหม่ เปิดตัวในนาม “นิวเดม” (New Dem)
ก้าวนอกกรอบ นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 20 คน อาทิ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม, นายสุรบถ หลีกภัย
หรือ ปลื้ม บุตรชายนายชวน หลีกภัย, นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ลูกชายนายพนิต วิกิตเศรษฐ์, นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ (จันทะระลาวัน) หรือ หมอเอ้ก, นายสรรเพชร บุญญามณี บุตรชายนายนิพนธ์
บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ที่อยากนำเสนอแนวคิดที่ก้าวนอกกรอบ เช่น นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เปลี่ยนเป็นทหารสมัครใจ เปิดค้าสารสกัดกัญชาเสรี โดยมีรัฐควบคุม ลดความเหลื่อมล้ำคนพิการ ความเสมอภาคทางเพศ ให้ทุกเพศแต่งงานกันได้และมีผลทางกฎหมาย เพื่อตอบโจทย์สังคมในยุคปัจจุบัน[8]

          กระนั้นก็ตาม นิวเดม ก็ไม่ประสบความสำเร็จและทำตามคำบอกกล่าวที่ตนให้ไว้กับประชาชนเหมือนที่หาเสียงไว้ในตอนแรก จึงทำให้นิวเดมบางส่วนที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และถือเป็นผู้มีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มสมาชิกเก่าของพรรคต้องลาออกจากการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ไปในที่สุด ซึ่งเห็นได้ว่า นิวเดมไม่ได้ประสบความสำเร็จทางการเมืองแต่อย่างใด ความไม่ประสบความสำเร็จทางการเมืองนี้ อาจเป็นเพราะภาพความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองด้วย ที่ประชาชนมีความนิยมน้อยลงจึงส่งผลให้ภาพรวมของพรรคลดลงไปด้วย และนิวเดมเองเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มสมาชิกพรรคเดิมที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายสมัย

หลังจากคณะกรรมการบริหาร และส.ส.พรรคปชป.มีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ทำให้นิวเดม
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ลาออกบางส่วน ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มนิวเด็มในปัจจุบัน นอกจาก น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกกลุ่มนิวเด็มแล้ว ยังคงมี นายสุรบถ หลีกภัย นายณัฐภัทร เนียวกุล
นายรัฐพงศ์ ระหงษ์ นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายชัยชนะ เดชเดโช นายพายุ เนื่องจำนงค์ น.ส. สุชาดา แทนทรัพย์ (ไอเดียร์) น.ส.มัฐธิณี มูลทิพย์ น.ส.พลอยนภัส โจววณิชย์ น.ส.อาภา
รัชตะกุลธำรง และสมาชิก คนอื่นๆ อีก ร่วม 30 คน ยังคงทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่[9]

พรรคประชาธิปัตย์ท่ามกลางการเมืองร่วมสมัย ถือเป็นช่วงขาลงอย่างมาก ซึ่งอาจจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่จำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาลดลงอย่างมากในประวัติการณ์ ในทางกลับกันกลุ่มนิวเดมก็พยายามสร้างพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาในพรรค ซี่งก็ไม่ประสบความสำเร็จและโดนปฏิเสธไปในที่สุด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความถึง กลุ่มนิวเดม (New Dem) ที่ลาออกจากพรรคหลังพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า นิวเดมเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่เข้ามาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ รวมตัวก่อตั้งกันมาก่อนเลือกตั้ง แม้ตนไม่คุ้นเคยกับคนรุ่นนี้ทั้งหมด แต่ในรุ่นตนซึ่งถือเป็นรุ่นใหญ่ ซึ่งก็ชื่นชมคนรุ่นนี้เสมอ นอกจากนี้นายนิพิฏฐ์ ระบุต่อว่า แม้บางเรื่องตนไม่เห็นด้วย อาจเป็นเพราะอายุหรือประสบการณ์เราไม่เท่ากัน แต่ตนสงบเสงี่ยมไม่พูดถึงให้เขาน้อยใจ มีแต่ชื่นใจว่าพรรคมีกำลังหนุนจากคนรุ่นใหม่ ภาวนาให้เขาเข้มแข็ง เติบโต
เพื่อมาแตะมือกับพวกเรา ก่อนที่เราจะอำลาการเมือง จะได้ฝากพรรคประชาธิปัตย์ไว้กับเขา[10]

 

 

5. บทสรุป

          กล่าวได้ว่านิวเดมทำให้พรรคประชาธิปัตย์เริ่มที่จะมีกลุ่มความคิดในพรรคเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือกลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบจัด และกลุ่มที่เห็นว่าจะก้าวไปสู่ความทันสมัยบนฐานของการพัฒนาวิถีของประชาธิปไตย และยังแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่อยากจะให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ก้าวไปสู่การพัฒนาการเมืองภายใต้รูปแบบของประชาธิปไตยอย่าเต็มที่ นอกจากนี้นิวเดมยังเป็นตัวแทนของพลังคนรุ่นใหม่ที่อยากจะออกมาพัฒนาวิถีประชาธิปไตยนอกกรอบเดิม ๆ ที่ถูกสร้างและให้ความหมายโดยคนรุ่นก่อน กล่าวได้ว่าปรากฏการณ์นิวเดมทำให้พลังของนักการเมืองสมัยใหม่สร้างคุณค่าให้กับวิถีประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก

 

บรรณานุกรม

“ปชป.เปิดตัว New Dem 21 คนรุ่นใหม่ ชูนโยบายก้าวนอกกรอบ”, ข่าวไทยพีบีเอส (14 พฤศจิกายน 2561), จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/275679> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2561)

“ไม่ใช่คนใน!! “นิวเดม” ประกาศไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม”, Springnews (6 มิถุนายน 2562), จาก <https://www.springnews.co.th/truth/truth-election-62/507526> สืบค้นเมื่อ (4 มิถุนายน 2563)

สารานุกรมวิกิพีเดีย, “พรรคประชาธิปัตย์”, วิกิพีเดีย (2020), จาก < https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคประชาธิปัตย์#cite_ref-seni_22-0> สืบค้นเมื่อ (4 มิถุนายน 2563)

         

อ้างอิง


[1] “ปชป.เปิดตัว New Dem 21 คนรุ่นใหม่ ชูนโยบายก้าวนอกกรอบ”, ข่าวไทยพีบีเอส (14 พฤศจิกายน 2561), จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/275679> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2561)

[5] เรื่องเดียวกัน

[6] สารานุกรมวิกิพีเดีย, “พรรคประชาธิปัตย์”, วิกิพีเดีย (2020), จาก < https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคประชาธิปัตย์#cite_ref-seni_22-0> สืบค้นเมื่อ (4 มิถุนายน 2563)

[7] เรื่องเดียวกัน

[8]  “ไม่ใช่คนใน!! “นิวเดม” ประกาศไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม”, Springnews (6 มิถุนายน 2562), จาก <https://www.springnews.co.th/truth/truth-election-62/507526> สืบค้นเมื่อ (4 มิถุนายน 2563)

[9] เรื่องเดียวกัน

[10] “'นิพิฏฐ์' เสียดาย "นิวเดม" ลาออก ประชาธิปัตย์ เผยเขาเกิดมาช่วงบ้านเมืองเลวร้าย!”, ข่าวสดออนไลน์ (6 มิถุนายน 2562), จาก <https://www.khaosod.co.th/politics/news_2588632> สืบค้นเมื่อ (4 มิถุนายน 2563)