นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส หรือ หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (เฉลิม พรมมาส) เป็นแพทย์ชาวไทยที่เป็นผู้ร่วมค้นพบและรายงานวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดเป็นครั้งแรกของโลกและเป็นอาจารย์แพทย์ และนักบริหารคนสำคัญในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย โดยเป็นอดีตผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย ได้แก่ ในสมัยรัฐบาลของ นายพจน์_สารสิน และในสมัยรัฐบาลของ จอมพลถนอม_กิตติขจร
ประวัติ
นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2439 ณ จังหวัดตาก เป็นบุตรของนายเพิ่มและนางตุ้ม เกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขาย เมื่อพอถึงวัยเข้าโรงเรียน บิดาก็ได้ส่งให้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนกระทั่งจบการศึกษาในระดับมัธยมบริบูรณ์ (ชั้น ม.3) จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนราชแพทยาลัยในปี พ.ศ. 2455 และสามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรแพทย์ในปี พ.ศ. 2460 และได้เข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ห้องตรวจเชื้อ ของโรงพยาบาลศิริราชต่อในทันที หลังจากที่รับราชการไปได้ราว 2 ปี ด้วยพระปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่มุ่งหวังจะส่งเสริมการแพทย์ในกรุงสยามในเวลานั้นให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณรับ น.พ.เฉลิมให้เข้าเป็นนักเรียนทุนพระราชทานส่วนพระองค์ ให้ไปศึกษาต่อยังในด้านการสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พร้อมกับสมเด็จพระบรมราชชนกในปี พ.ศ. 2463[1]
ทว่าเมื่อไปถึง น.พ.เฉลิมกลับได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้านการสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกิ้นส์ (Johns Hopkins University) ที่กำลังเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นใหม่แทน โดยนายแพทย์เฉลิมใช้เวลาเล่าเรียนอยู่ 2 ปี จึงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกได้ในที่สุด พร้อมทั้งยังได้ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ที่มีชื่อว่า “วิธีการทางห้องปฏิบัติการสำหรับ การวินิจฉัยโรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ)” (Laboratory Methods for the Diagnosis of Variola)[2] นับว่าเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการสาธารณสุขศาสตร์[3]
การรับราชการ
ในเบื้องต้นหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว นายแพทย์ เฉลิม ได้ตัดสินใจทำงานเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยทางพยาธิวิทยา ที่ภาควิชาพยาธิวิทยาและแบคทีเรียวิทยา (Department of Pathology and Bacteriology) ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกิ้นส์ต่อออกไปก่อน โดยต้องการที่จะเพิ่มพูนความรู้และสะสมประสบการณ์การทำงานทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขกลับเมืองไทยไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ทำงานดังกล่าวนี้ไปได้ราว 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2466-2468 น.พ.เฉลิมก็ได้ตัดสินใจลาออก[4] เพื่อที่จะนำความรู้และประสบการณ์อันมีค่าที่ได้รับจากการเรียนและการทำงานในสหรัฐอเมริกา กลับมาพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของสยามให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
น.พ.เฉลิมกลับมารับราชการในปี พ.ศ. 2468 นับเป็นการเริ่มทำงานในช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยได้เริ่มต้นสร้างผลงานและชื่อเสียงในรัชสมัยนี้ตั้งแต่กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำแผนกพยาธิวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ในคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมก่อนจะได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม พระบรมราชราชชนก ให้ไปเรียนต่อตามนโยบายการปรับปรุงการแพทย์ของมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ที่จะให้แพทย์ชาวไทยไปเรียนวิชาการแพทย์เฉพาะทางจากต่างประเทศ เพื่อมารับหน้าที่อาจารย์สอนและบริหารแทนแพทย์ฝรั่งที่ทำหน้าที่ในช่วงแรกของการเรียนการสอนหลักสูตรแพทย์ปริญญา โดยนายแพทย์เฉลิมกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนผู้ช่วยงานบริการและทำงานวิจัย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับมาจากในโลกตะวันตกไปสู่การสร้างแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ของสยามในเวลานั้น ให้มีคุณภาพและศักยภาพที่สูงมากขึ้น ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2471 จะได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาไปในที่สุด[5] อันถือว่าเป็นการเข้ามารับผิดชอบการเรียนการสอนแพทย์ตามหลักสูตรสากลของแพทย์คนไทยที่ส่งไปเรียนสาขาต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่จะจบมารับตำแหน่งหน้าที่แทนอาจารย์แพทย์ฝรั่งในรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนใหญ่[6]
ในระหว่างที่สอนและทำวิจัยอยู่ที่ศิริราช น.พ.เฉลิมได้เป็นศูนย์กลางการพบปะของเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องที่กำลังเข้ามารับผิดชอบในหน้าที่ราชการต่าง ๆ กันมากขึ้น จึงได้มีส่วนร่วมริเริ่มให้ก่อตั้งสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2470 เพื่อให้เป็นพื้นที่ของเหล่านักเรียนแพทย์ ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ารวมไปถึงตัวสถาบันโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่ในเวลานั้น ให้ได้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกันให้มากขึ้น[7] ภายหลังรวมกับแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในปี พ.ศ. 2476 เป็น “แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามและสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก่อนต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ในปี พ.ศ. 2490 และ น.พ.เฉลิมเองก็ได้ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคนแรก และทำหน้าที่เป็นนายกแพทยสมาคมฯ อยู่ 14 ปี (2477-78, 2481-82 และ 2489-2498) รวมทั้งเป็นกรรมการอยู่ 5 ปี คือระหว่าง พ.ศ. 2472-2475 และ 2488[8]
ในระหว่างที่ได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ แพทยสมาคมนั้น น.พ.เฉลิมได้สร้างผลงานและคุณูปการต่อวงการการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยเอาไว้มากมายหลายอย่าง แต่ที่มีความสำคัญในลำดับต้นเลยก็คือ การริเริ่มก่อตั้งสมาคมปราบวัณโรคขึ้นในปี พ.ศ. 2477 โดยนับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เรียกได้ว่า มีคุณูปการต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากวัณโรคในเวลานั้น นับว่าเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและคุกคามต่อชีวิตผู้คนและสังคมไทยเป็นอันมาก การมีสมาคมปราบวัณโรคขึ้นมา จึงได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม และช่วยให้อันตรายจากวัณโรคในสังคมไทยเสื่อมลงไปด้วยเช่นกัน[9] จะเห็นได้ว่า การที่รัฐบาลสยามในเวลานั้นได้ตัว น.พ.เฉลิมกลับคืนสู่มาตุภูมิมานั้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การแพทย์และการสาธารณสุขของสยามในช่วงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถูกยกระดับมีความก้าวหน้าขึ้นมาอีกเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นการได้นายแพทย์มากความสามารถทั้งในทางวิชาการและการบริหารงานสาธารณสุขอีกคนหนึ่งกลับคืนมาช่วยวางรากฐานที่สำคัญในด้านการแพทย์ และสาธารณสุขสมัยใหม่ให้กับสยามประเทศ
จากความสามารถทั้งในด้านงานบริหารและในทางวิชาการอันโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนในแวดวงการแพทย์และการสาธารณสุขมาเป็นเวลายาวนานของ น.พ.เฉลิม ทำให้ในปี พ.ศ. 2485 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์[10] และที่มากไปกว่านั้น ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในราชบัณฑิตชุดแรกของประเทศไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ กำจร พลางกูร (พระอัพภันตราพาธพิศาล)[11] ในปีเดียวกันนั้นเองอีกด้วย ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2488 จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไปจนถึงปี พ.ศ. 2500[12] และในระหว่างนั้นเองก็ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่เป็นช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2500 ร่วมด้วย[13]
หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของ น.พ.เฉลิมในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ คือ การริเริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ซึ่งต่อมาก็คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) โดยความคิดริเริ่มนี้ เริ่มต้นขึ้นจากพระราชปรารภของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่แพทย์และพยาบาล ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2489 ที่ทรงมีพระราชปรารภที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มีปริมาณได้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอแก่การช่วยเหลือประชาชน น.พ.เฉลิมผู้เป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้น้อมนำพระราชปรารภในครั้งนั้น มาคิดอ่านเพื่อสนองพระราชประสงค์และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน น.พ.เฉลิมจึงได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญาอย่างมากในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จนสามารถจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของไทยได้สำเร็จ ด้วยเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น พร้อมกับที่มีปีการศึกษาแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2490[14]
ถัดมาในปี พ.ศ. 2491 น.พ.เฉลิมก็ยังได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้สำเร็จขึ้นเป็นแห่งแรกอีก โดยเป็นผลสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับ น.พ.สวัสดิ์ แดงสว่าง กันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ น.พ.เฉลิมยังเป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาและทำการสอนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช[15] นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2497 น.พ.เฉลิมก็ยังได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของไทย โดยได้เป็นผู้นำที่ริเริ่มให้มีการรื้อฟื้นโครงการผลิตบุคลากร เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (นักเทคนิคการแพทย์) ที่ได้เคยมีการนำเสนอกันเอาไว้มาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2487 กลับมาดำเนินการใหม่ พร้อมกับได้มีการขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) ให้เข้ามาช่วยตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดวางหลักสูตรขึ้น จนสามารถจัดตั้งเป็นโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้นได้สำเร็จก่อนในปี พ.ศ. 2499 และภายหลังก็ได้มีการเลื่อนขึ้นเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ในปี พ.ศ. 2500[16]
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของ น.พ.เฉลิม คือ การร่วมผลักดันให้มีการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นได้สำเร็จ นับเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามของประเทศ และแห่งแรกในระดับภูมิภาคของประเทศไทย โครงการดังกล่าวนี้ได้ริเริ่มขึ้นมาจากการที่ น.พ.เฉลิมได้มีปรารภว่าต้องการให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ในต่างจังหวัด เพราะต้องการให้แพทย์ได้สัมผัสกับชีวิตในส่วนภูมิภาคตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และหวังว่าเมื่อสำเร็จ เป็นแพทย์แล้ว จะได้ประกอบอาชีพอยู่ในส่วนภูมิภาค ประกอบกับในเวลานั้น การขาดแคลนแพทย์ยังมีอยู่มาก และการกระจายของแพทย์ไปสู่ชนบทไม่ได้ผล จึงได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในส่วนภูมิภาคที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2497 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการแต่อย่างใด[17]
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 น.พ.เฉลิมจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทางองค์การ USOM ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้กำลังดำเนินการช่วยเหลือการศึกษาแพทยศาสตร์อยู่ในประเทศไทยให้เข้ามาสนับสนุนการตั้งโรงเรียนแพทย์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งทาง USOM เองก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทย จึงได้ตกลงทำสัญญาให้ความช่วยเหลือ เป็นความช่วยเหลือทางการเงินครั้งหนึ่งในวงเงิน 65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้างอาคาร พร้อมกับจัดจ้างผู้ออกแบบอาคารโรงเรียนแพทย์แห่งนี้มาให้เลย ทั้งนี้ยังได้ให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ เช่น จัดหาครูชาวอเมริกันมาช่วยสอน จนกว่าฝ่ายไทยจะสามารถดำเนินการได้เอง ในกรอบเวลาประมาณ 6-8 ปี จัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาให้ และยังให้ทุนอาจารย์แพทย์และพยาบาลไทยไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย ซึ่งทำให้ทางรัฐบาลไทยในเวลานั้น จึงได้ยอมอนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นได้ในที่สุด[18]
นอกเหนือไปกว่านั้น น.พ.เฉลิมก็ยังได้มีผลงานด้านงานบริหารการสาธารณสุขไทยอีกหลายอย่าง เช่น ได้จัดการให้ย้ายที่ทำการของสำนักงานแพทยสมาคม ฯ จากถนนบำรุงเมือง (สถานตรวจโรคปอด กองควบคุมวัณโรค) ออกไปอยู่ที่บ้านศาลาแดงของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (บริเวณโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2490[19] โดยที่ในปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่ที่บริเวณซอยศูนย์วิจัย มีที่ทำการถาวรบนที่ดินเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2509[20] ได้ริเริ่มให้มีการจัดประชุมแพทย์ภาคกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2497 ริเริ่มจัดตั้งทุนสวัสดิการของแพทยสมาคม ฯ ในปี พ.ศ. 2498[21] จึงจะเห็นได้ว่า น.พ.เฉลิมนั้นถือว่าเป็นผู้ที่มีผลงานในการรับราชการและบริหารงานสาธารสุขของไทยได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นที่ประจักษ์ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลของ นายพจน์ สารสิน ให้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารงานด้านสาธารณสุขของไทย ในปี พ.ศ. 2500 และยังได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกในรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับการสิ้นสุดลงของรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2501[22]
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงราวปีเศษ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ น.พ.เฉลิมก็ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันด้านการศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง จนเป็นอีกหนึ่งในผลงานอันเป็นที่น่าจดจำ ได้แก่ การผลักดันให้มีการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2500[23] โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายของชีวิตการรับราชการของ น.พ.เฉลิม พรมมาส และไม่ได้มีการกลับเข้ารับราชการประจำหรือมีบทบาทสำคัญในการบริหารงานสาธารณสุขของไทยอีก
ผลงานทางด้านวิชาการ
นายแพทย์เฉลิม พรมมาส นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ได้มีบทบาทสำคัญและคุณูปการต่อวงการงานสาธารณสุขของไทยเอาไว้อย่างมากมาย ในตลอดระยะเวลาของการรับราชการกว่า 40 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา โดยเฉพาะในด้านงานวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่ของไทย ดังจะเห็นได้จากผลงานทางวิชาการของ น.พ.เฉลิมที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เอาไว้เป็นจำนวนมาก ที่ยังนับได้อีกว่ามีประโยชน์ต่อการจัดการโรคระบาดให้กับสังคมไทยในยุคต่อ ๆ มาด้วย จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ได้ร่วมวางรากฐานการศึกษาของแพทย์และการสาธารณสุขไทยสมัยใหม่เอาไว้ให้แก่คนไทยและสังคมไทยจนมาถึงในปัจจุบัน
ผลงานทางด้านวิชาการของ น.พ.เฉลิม พรมมาส ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะเอาไว้มากมาย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นับได้ร่วม 20 ชิ้นด้วยกัน โดยผลงานทางวิชาการชิ้นแรกของ น.พ.เฉลิมที่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณะคือ เรื่อง “การปราบโรคพยาธิ์ปากขอที่เกาะตรินิแดด (Trinidad)” ตีพิมพ์ลงในจดหมายเหตุทางแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2466 และในปีถัดมา พ.ศ. 2467 น.พ.เฉลิมก็ได้ทำการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการชิ้นที่ 2 ในเรื่อง “การวินิจฉัยไข้ทรพิษ โดยการทดลอง” เผยแพร่ลงในจดหมายเหตุทางแพทย์อีกครั้ง[24] ซึ่งวารสารจดหมายเหตุทางแพทย์นี้ นับว่าเป็นวารสารทางวิชาการและในทางการแพทย์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยและยังคงมีการดำเนินกิจกรรมอยู่มาจนถึงในปัจจุบัน[25]
จากนั้นในปี พ.ศ. 2470 น.พ.เฉลิมจึงได้ทำการตีพิมพ์ผลงานการวิจัยของตนเองในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในเรื่อง “รายงานของกรณีพยาธิใบไม้ในสยาม” (Report of a case of Opisthorchis felineus in Siam) ในวารสารที่ชื่อว่า Annals of tropical medicine and parasitology (Ann Trop Med Parasitol)[26] นับเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่เป็นคุณูปการต่อวงการการแพทย์และการสาธารณสุขสยามเป็นอย่างยิ่งของ น.พ.เฉลิม เพราะเป็นการค้นพบพยาธิใบไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก[27] ถัดมาในอีกไม่นานนัก น.พ.เฉลิมยังได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเอาไว้อย่างต่อเนื่องอีกปีละ 1 เรื่อง เป็นผลงานภาษาไทยเผยแพร่เอาไว้ในจดหมายเหตุทางแพทย์ในชื่อเรื่อง “โรคพยาธิ์ ตับ ปอด และมะดูราฟุต” เมื่อ พ.ศ. 2471 และเรื่อง “เชื้อมาลาเรียที่พบในคนไข้ของโรงพยาบาลศิริราช” เมื่อ พ.ศ. 2472 ก่อนที่จะว่างเว้นการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิชาการไปเป็นเวลาราว 3 ปีกว่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการศึกษาและค้นพบ ที่ได้นำไปสู่ผลงานวิชาการที่นับเป็นชิ้นที่สำคัญที่สุดและมีคุณูปการต่อวงการทางการแพทย์ในระดับโลกของ น.พ.เฉลิมในเวลาต่อมา[28]
ในปี พ.ศ. 2476 น.พ.เฉลิม กับ น.พ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยจนนำไปสู่การค้นพบครั้งสำคัญในวงการการแพทย์และการสาธารณสุขของโลก นั่นก็คือ การค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยได้ทำการตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อเรื่องว่า “รายงานเบื้องต้นของการศึกษาวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด” (Preliminary report of a study on the life-cycle of Gnathostoma spinigerum) เผยแพร่ลงในวารสาร Journal of Parasitology ซึ่งเป็นวารสารวิชาการทางการแพทย์ในระดับโลกด้านการศึกษาพยาธิวิทยา และยังได้มีการร่วมกันตีพิมพ์งานการศึกษาวิจัยที่ต่อเนื่องในเรื่องของพยาธิตัวจี๊ดนี้ตามออกมาอีกหลายชิ้นด้วยกัน โดยที่การศึกษาต่อเนื่องชิ้นแรกได้เผยแพร่ออกมาในปี พ.ศ. 2477 ในชื่อเรื่องว่า “เก้ากรณีศึกษาของพยาธิตัวจี๊ดในมนุษย์” (Nine cases of human Gnathostomiasis) ลงในวารสาร Indian Medical Gazette ขณะที่ในปีเดียวกันนี้เอง ก็ยังได้ตีพิมพ์งานวิชาการภาษาไทยที่ชื่อว่า “โครงการปราบวัณโรคตามหลักวิชาการ” ลงในจดหมายเหตุทางแพทย์ร่วมกับ น.พ.สวัสดิ์ และ น.พ.กำจร เพิ่มเติมมาอีกหนึ่งชิ้นด้วย[29]
ต่อมา น.พ.เฉลิม กับ น.พ.สวัสดิ์ ยังได้มีการร่วมกันตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยที่เป็นความต่อเนื่องกันในการศึกษาวิจัยเรื่องพยาธิตัวจี๊ดตามออกมาอีกสองชิ้น ในปี พ.ศ. 2479 และ พ.ศ. 2480 ในชื่อเรื่อง “รายงานการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด” (Further report of a study on the life cycle of Gnathostoma spinigerum) และ “การทดลองให้อาหารแมวที่มีตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดที่มาจากโฮสต์ตัวกลางชนิดที่สอง” (Feeding experiments on cats with Gnathostoma spinigerum larvae obtained from the second intermediate host) ตามลำดับ โดยทั้งสองชิ้นนี้ได้ทำการตีพิมพ์กับวารสาร Journal of Parasitology อีกครั้งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยเผยแพร่ในระดับนานาชาติเป็นครั้งสุดท้ายของ น.พ.เฉลิม โดยหลังจากนั้นมา ก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีการตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยเผยแพร่ลงในวารสารระดับนานาชาติอีกเลย อย่างไรก็ดี น.พ.เฉลิมยังคงได้มีการศึกษาทำวิจัยทางการแพทย์และตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยออกมาอยู่อีกหนึ่งชิ้น แต่เป็นการเผยแพร่ในระดับภายในประเทศ ในปี พ.ศ. 2482 ด้วยเรื่องที่มีชื่อว่า “โรค rhinosporidiosis ในประเทศไทย รายงานคนเจ็บสามราย” โดยเผยแพร่ลงในจดหมายเหตุทางแพทย์ นับเป็นผลงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขชิ้นสุดท้ายของ น.พ.เฉลิม[30]
นอกจากนั้น น.พ.เฉลิมก็ยังได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการออกมาอีกหลายชิ้นอยู่ด้วยกัน แต่เป็นในลักษณะของงานวิชาการเชิงกระบวนการศึกษาทางการแพทย์เสียมากกว่า การศึกษาวิจัยโรคภัยหรือพยาธิวิทยาเหมือนในแต่ก่อน อาทิ ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “การสืบสวนค้นคว้า” เผยแพร่ในหนังสือศิริราชอนุสรณ์ ในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2490 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เผยแพร่ในจดหมายเหตุทางแพทย์ในปี พ.ศ. 2492 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “การเรียนหมอ” (On medical education) เผยแพร่ในสารศิริราชในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “พัฒนาการแห่งเวชศึกษาในประเทศไทย” เผยแพร่ในอนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข ครบ 15 ปี พ.ศ. 2485-2500 ในกระทรวงสาธารณสุข และในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “การบรรยายถึงความเป็นมา ของแขนงวิชาปาราสิตวิทยา” เผยแพร่ในวารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการชิ้นสุดท้ายของ น.พ.เฉลิม พรมมาส[31]
จากผลงานทางวิชาการทั้งหมดของ น.พ.เฉลิม พรมมาส ที่ได้กล่าวถึงไปนั้น นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถหรือศักยภาพในทางวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จนได้รับการยกย่องในความสามารถที่มีออกไปอย่างกว้างขวางถึงในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี แต่ที่มากไปกว่านั้น ผลงานทางวิชาการเหล่านี้ของ น.พ.เฉลิมยังสามารถยกย่องให้มีฐานะเป็นดั่งอีกหนึ่งในผู้ที่ร่วมวางรากฐานทางวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขสมัยใหม่ของไทยให้มีความเข้มแข็งจนมาถึงในปัจจุบันด้วยก็ว่าได้ เนื่องจาก ผลงานทางวิชาการทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย บทความวิชาการทางการแพทย์ ตลอดจนวิทยานิพนธ์ก็ดี นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการจัดการโรคระบาดในสังคมไทยให้แก่แวดวงการแพทย์และการสาธารณสุขไทยในยุคหลังเป็นอย่างมาก โดยนับตั้งแต่ที่ น.พ.เฉลิมได้เดินทางกลับมารับราชการในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนอาจจะกล่าวได้ว่า ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นับว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นอันมากที่สุดยุคสมัยหนึ่ง จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญของวงการสาธารณสุขไทย ที่ทำให้เห็นว่าการแพทย์ของสยามหรือไทยในเวลานั้นได้ปรับตัวและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
บั้นปลายชีวิตของ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส
หลังจากที่ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส ได้เกษียณจากอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามวัย ยังคงสามารถเดินทางไปไหนมาได้เป็นอย่างดีและให้ความช่วยเหลืองานในแวดวงการสาธารณสุขของไทยอยู่อย่างต่อเนื่องเสมอมา แม้จะมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นและยังมีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตอยู่อีก แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่มักจะปรากฏขึ้นมาตามวัยและอายุขัยของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุขัยที่มากขึ้นและโรคประจำตัวที่มีความอันตรายเพิ่มขึ้นไปตามวัยนั้น ก็ได้ทำให้ น.พ. เฉลิม ต้องจากไปในแบบที่แม้แต่คนในครอบครัวก็ยังไม่ทันตั้งตัว และผู้คนที่รักและศรัทธาต่อ น.พ.เฉลิมก็ยังไม่ทันได้คาดคิด โดยถึงแก่อนิจกรรมลงอย่างสงบ ในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สิริรวมอายุได้ 78 ปี 9 เดือน 7 วัน[32]
ในเวลาต่อมาทางราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ได้สำนึกในคุณูปการของ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส ที่มีต่อวงการพยาธิแพทย์ของไทย จึงได้ทำการกำหนดขึ้นมาว่า ในวันที่ 26 พฤษภาคม ของทุกปีนั้น ให้ถือว่าเป็น “วันพยาธิแพทย์ไทย” เพื่อเป็นการให้เกียรติและยกย่องแก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ในฐานะของแพทย์ผู้บุกเบิกด้านพยาธิวิทยาในไทย[33]
หนังสือแนะนำอ่านต่อ
บทความชื่อ ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส. ใน เวชบันทึกศิริราช ปีที่ 9, ฉบับที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 2559) โดย สัญญา สุขพณิชนันท์
หนังสือ อนุสรณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เนื่องในงานสดุดีเกียรติคุณ ระลึกถึง และจัดหาทุน ศาสตรจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส (2519)
หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส (2518)
บรรณานุกรม
กำธร สุวรรณกิจ. "ประวัติสมาคม." แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2563) https://www.mat-thailand.org/14524895/ประวัติสมาคม. (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566.)
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "การจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่." คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.) https://www.med.cmu.ac.th/web/about-medcmu/the-history-of-med-cmu/. (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566)
จำนงค์ ทองประเสริฐ. "ราชบัณฑิตยสถาน " วารสารสารานุกรมศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5 (2529): หน้า 120 - 127.
ชาติชาย มุกสง. การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564.
ปัญจวัลย์ ชาวดง. ประวัติ ศาสตราจารย์ อุปการคุณ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส (หลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์). ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562.
สมชัย บวรกิตติ. "จดหมายเหตุทางแพทย์ของสภากาชาดสยาม." วารสารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น 4, ฉ. 1 (มกราคม - มีนาคม 2566): หน้า 84 - 86.
สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” เวชบันทึกศิริราช 9, ฉ. 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2559): หน้า 112 - 128.
อนุกรรมการวิชาการ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย. “วันพยาธิแพทย์ไทย”. (ม.ป.ป.) https://www.rcthaipathologist.org/article/detail.php?id_article=12 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566)
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส Dr.P.H. ม.ว.ม,ป.ช., ท.จ. (ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, วันที่ 1 กันยายน 2518), กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์, 2518.
เชิงอรรถ
[1] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ก.
[2] สัญญา สุขพณิชนันท์, พฤษภาคม - สิงหาคม 2559. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” เวชบันทึกศิริราช. 9, ฉ. 2. หน้า 114.
[3] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ก.
[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า ก.
[5] สัญญา สุขพณิชนันท์, พฤษภาคม - สิงหาคม 2559. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” เวชบันทึกศิริราช. 9, ฉ. 2. หน้า 116.
[6] ชาติชาย มุกสง. การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564. หน้า 25-59.
[7] กำธร สุวรรณกิจ, 2563. "ประวัติสมาคม." แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. https://www.mat-thailand.org/14524895/ประวัติสมาคม. (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566.)
[8] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ฆ.
[9] นอกจากที่ น.พ.เฉลิมจะเป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการก่อตั้งสมาคมแห่งนี้ได้สำเร็จแล้ว ก็ยังเป็นผู้ที่ได้ริเริ่มทำให้สมาคมปราวัณโรคแห่งนี้ มีทุนรอนในการดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงสืบต่อมาอีกด้วย จากการที่ได้เสนอให้มีประเพณีจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 เพื่อหาเงินเข้าสมาคมปราบวัณโรค ด้วยการจัดเก็บค่าเข้าชม ซึ่งในครั้งแรกได้มีการจัดเก็บเงินค่าเข้าชมคนละ 1 บาท จากนั้นมาก็ได้กลายมาเป็นงานฟุตบอลประเพณีที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับแต่นั้นมาจนถึงในปัจจุบัน; สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 119.
[10] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ฆ.
[11] จำนงค์ ทองประเสริฐ, 2529. "ราชบัณฑิตยสถาน" วารสารสารานุกรมศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 5. หน้า 123 - 124.
[12] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ฆ.
[13] ปัญจวัลย์ ชาวดง, 2562. ประวัติ ศาสตราจารย์ อุปการคุณ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส (หลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์). ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 2.
[14] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 116 - 117.
[15] ในการก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากทางหน่วยบริการสาธารณสุขแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Public Health Service) ส่งนายแพทย์ เฮนรี อาร์ โอเบรียน (Henry R. O’Brien) อดีตเพื่อนร่วมหลักสูตรปริญญาเอกชั้นปีเดียวกับ น.พ. สวัสดิ์ มาตรวจสอบความพร้อมของหลักสูตรคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ ณ โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่แรก; เรื่องเดียวกัน. หน้า 117 - 118.
[16] เรื่องเดียวกัน. หน้า 117.
[17] เรื่องเดียวกัน. หน้า 117.
[18] คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป. "การจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่." คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://www.med.cmu.ac.th/web/about-medcmu/the-history-of-med-cmu/. (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566)
[19] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 118.
[20] กำธร สุวรรณกิจ. "ประวัติสมาคม." (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566.)
[21] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 118.
[22] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 116.
[23] เริ่มแรกนั้นถูกสร้างให้เป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่เตรียมนักศึกษาให้แก่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมาจึงได้มีการเปิดสอนนักศึกษาของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทั้งหมดที่จำเป็นต้องศึกษาวิชาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ภายหลังจึงได้มีการยกฐานะให้เป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2503 ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2512 จะได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลไปในที่สุด; สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 117.
[24] เรื่องเดียวกัน. หน้า 119.
[25] สมชัย บวรกิตติ, มกราคม - มีนาคม 2566. "จดหมายเหตุทางแพทย์ของสภากาชาดสยาม." วารสาร โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 4, ฉ. 1. หน้า 84 - 86.
[26] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 119.
[27] ปัญจวัลย์ ชาวดง. ประวัติ ศาสตราจารย์ อุปการคุณ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส (หลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์). หน้า 3.
[28] สัญญา สุขพณิชนันท์. “ชีวประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส.” หน้า 120.
[29] เรื่องเดียวกัน. หน้า 119 - 120.
[30] เรื่องเดียวกัน. หน้า 120.
[31] เรื่องเดียวกัน. หน้า 120.
[32] หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส. 2518. หน้า ช.
[33] อนุกรรมการวิชาการ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย, ม.ป.ป. “วันพยาธิแพทย์ไทย”. https://www.rcthaipathologist.org/article/detail.php?id_article=12 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566)