นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง อารีรัตน์ วิชาช่าง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์เพียงคนเดียว ของเขต 6 กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ใช้ระยะเวลา 16 ปี บนเส้นทางการเมืองจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประวัติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า "มาร์ค" เกิดวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ บุตรชายคนเดียว ในจำนวนบุตร 3 คน ของ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ มีพี่สาว คือ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ และน.ส.งามพรรณ เวชชาชีวะ สมรสกับ ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ (ศกุนตาภัย) เวชชาชีวะ มีบุตร 2 คน คือ.น.ส.ปราง และนายปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้านการศึกษาจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอีตัน (Eton College) ประเทศอังกฤษ ระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ ภายหลังสำเร็จการศึกษาเริ่มการทำงาน คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2531 เป็นอาจารย์ประจำ(ยศร้อยตรี) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.) เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ในปี พ.ศ. 2532 อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ และระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534 เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) เมื่อปี พ.ศ. 2541 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) เมื่อปี พ.ศ. 2542[1]

 

การดำเนินงานทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความสนใจการเมืองตั้งแต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตการเมืองอย่างแท้จริงด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเขตคลองเตยช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมาเมืองไทย และต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขต 6 ของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลางท่ามกลางกระแส "มหาจำลองฟีเวอร์" ถือว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น สำหรับเส้นทางทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ มีดังนี้ พ.ศ. 2535 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต 6 (สาธร ยานนาวา บางคอแหลม) 2 สมัย (2535/1 และ 2535/2) ได้รับการแต่งตั้งเป็น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2535-2537) พ.ศ. 2537 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (รองนายกฯ ศุภชัย พานิชภักดิ์) พ.ศ. 2538 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 (ดินแดง ห้วยขวาง พระโขนง คลองตัน) ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2538-2539) พ.ศ. 2539 ส.ส. เขต 5 (ดินแดง ห้วยขวาง พระโขนง คลองตัน)พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกฯ ชวน หลีกภัย พ.ศ. 2540-2544) พ.ศ. 2542 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2542-2548) พ.ศ. 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2544-2548) พ.ศ. 2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2548-2549) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 (พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 7 (28 เมษายน พ.ศ. 2548) พ.ศ.2551 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) พ.ศ. 2551 ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย (15 ธันวาคม พ.ศ. 2551)[2]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 ณ ตึกรัฐสภา เริ่มประชุมเวลา 09.32 นาฬิกา เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และพันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองขึ้นบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวเปิดประชุม จากนั้นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2551 เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ ต่อจากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณา ต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระที่ 6 คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน หลังจากนั้นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้รับรอง 214 เสียงเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดในสภา ต่อมานายเสนาะ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน พรรคประชาราช เสนอชื่อ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้รับรอง 195 เสียง เกิน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ประชุมได้ลงมติออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยให้ความเห็นชอบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 235 เสียง และเห็นชอบให้ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 198 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จำนวน 437 คน) จึงถือว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทน ราษฎรให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 172 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[3]

รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เริ่มประชุมเวลา 11.15 นาฬิกา เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภากล่าวเปิดประชุม จากนั้นได้หารือขอความเห็นชอบจากที่ประชุม เพื่อเปลี่ยนสถานที่การประชุมในการพิจารณาคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จากอาคารรัฐสภาไปยังห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากมีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมประท้วงทำการปิดล้อมอาคารรัฐสภาจนทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ต่อจากนั้นประธานรัฐสภาได้ให้เลขาธิการรัฐสภาเชิญพระบรมราชโองการให้ที่ประชุมรับทราบ 2 ฉบับ คือ 1. พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และ 2.พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จากนั้นประธานรัฐสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อได้แถลงนโยบายจบแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายซักถามตามลำดับ[4]

ภายหลังการปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 3 เดือน ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2552 เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นบัลลังก์และกล่าวเปิดประชุม แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องการถ่ายทอดการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จากนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระเรื่องด่วน คือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นราย บุคคล ซึ่งร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง กับคณะ จำนวน 172 คน เป็นผู้เสนอ จากนั้น ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้เสนอญัตติทั้งสองฉบับได้แถลงเหตุผลฯ โดยมีสมาชิกฯ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามลำดับ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งพักการประชุม เวลา 01.09 นาฬิกา ของวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2552 และนัดประชุมต่อในเวลา 09.00 นาฬิกา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง นายสามารถ แก้วมีชัย ได้ดำเนินการประชุมต่อ มีสมาชิกฯ อภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีได้ตอบชี้แจงเป็นลำดับ ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้ปิดอภิปราย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อนุญาตให้ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อภิปรายสรุปญัตติ และนัดประชุมเป็นพิเศษเพื่อลงมติในญัตติดังกล่าว ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญทั่วไป) วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2552 ณ ตึกรัฐสภา เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และพันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวเปิดประชุม ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบเรื่องต่าง ๆ จากนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระเรื่องด่วน ตามลำดับ คือ 1. ลงมติญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับญัตติ(ไม่ไว้ วางใจ) 176 เสียง ไม่เห็นชอบด้วยกับญัตติ (ไว้วางใจ) 246 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 15 เสียง โดยมีมติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่านายก รัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 158 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนการลงมติญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้ วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่ประชุมลงมติ คือ รัฐมนตรีทุกคนมีมติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่ารัฐมนตรีทั้ง 5 คน คือ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เช่นกัน[5]

ภายหลังการปฏิบัติงานของรัฐบาลครบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2552) ในฐานะนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงผลงานเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 10.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลแล้วต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังเริ่มฟื้น และกำลังมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างเร่งตัวขึ้นพอสมควร หรือเป็นการฟื้นฟูแบบตัววี คือ ลงเร็วและขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวไว้แล้ว นอกจากนี้จากผลต่อเนื่องของเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในเดือนเมษายนที่ผ่านมาประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นจุดที่รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะยังคงมีอยู่ แต่แนวทางที่รัฐบาลได้ยึดถือปฏิบัติตลอดการทำงานที่ผ่านมา และการทำงานร่วมกับรัฐสภาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นคำตอบแก่สังคมได้ในที่สุด[6]

การปฏิบัติงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นจะมีผลของงานและกาลเวลาเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าคำแถลงการณ์ที่กล่าวแก่ประชาชนคนไทย ภายหลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ พรรคประชาธิปัตย์ ว่า “ในฐานะนักการเมืองอาชีพ ผมได้รับโอกาสสูงสุด จากประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตยอยู่ในการเมืองมา 16 ปี เป็นผู้แทน 7 สมัย เคยเป็นรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ปัจจุบันตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง ความรู้ประสบการณ์ทั้งหมดจะนำมาใช้บนพื้นฐานความซื่อสัตย์เพื่อส่วนรวม ยืนยันจะไม่ละทิ้งอุดมการณ์การทำงาน และปล่อยสิ่งเหล่านั้นให้สูญหายกับการใช้อำนาจ หรือปล่อยสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในบ้านเมือง “[7] นั้นจะเป็นจริงมากน้อยอย่างไรต่อไป

อ้างอิง

  1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. ร้อยฝันวันฟ้าใหม่. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน, 2550. หน้า 327-328.
  2. ศิริกานดา ศรีชลัมภ์. คือความคิด คือชีวิต คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. กรุงเทพฯ : กู๊ดมอร์นิ่ง, 2547. หน้า 192.
  3. บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2551, หน้า 2.
  4. บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2551. หน้า 1-3.
  5. บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 17(สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2552. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2552. หน้า 1-3.
  6. แลหลังรอบสัปดาห์. สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2552 เวลา 04:16 น. NEWSCenter [ออนไลน์].
  7. เปิดใจ

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

พรรคประชาธิปัตย์. http://www.democrat.or.th/index.asp

รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์. http://www.thaigov.go.th/index.aspx?pageid=467&parent=467&directory=2292&pagename=content20&directory2=2164

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. http://www.abhisit.org/cover/queen.html

ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. http://www.cabinet.thaigov.go.th/pm_his.htm

นายกฯ คนที่ 27 ของคนไทย. http://www.sema.go.th/node/2724

ประวัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย. http://timor-leste-dili.blogspot.com/2008/12/27.html

14 ปี ของ อภิสิทธิ์ บนชีวิต"นักประชาธิปไตย เพื่อประชาชน" ตอนที่ 9 : รวมผลงาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. http://writer.dek-d.com/louis_nan/story/viewlongc.php?id=305745&chapter=9

14 ปี ของ อภิสิทธิ์ ที่ทุ่มเท ทั้งชีวิต เพื่อประชาชน. http://writer.dek-d.com/louis_nan/story/view.php?id=305745

คำแถลงผลงานรัฐบาล 6 เดือนของนายกฯอภิสิทธิ์. http://www.xn--o3chsh7mc.net/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5-6-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C/

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. การเมืองไทยหลังรัฐประหาร. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยฅน, 2550.

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ถูกฉีก. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยฅน, 2550.

บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน. ดีเบตการเมืองเรื่องศีลธรรม ?. กรุงเทพฯ : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน, 2550.

กานธนิกา ชุนหะวัต และอาจารย์ คนเช็ดเงา. อภิสิทธิ์ คนเหนือดวง. กรุงเทพฯ : Feel good Publishing, 2552.

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2551. กรุงเทพฯ, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2551.

ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์. เส้นทางสู่ฝั่งฝัน... นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. กรุงเทพฯ : ปัญญาชน, 2552.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “โลกวันนี้รายวัน”. ระบอบอภิสิทธิ์. กรุงเทพฯ : โลกวันนี้รายวัน, 2551.

เปรียบเทียบนโยบาย 3 รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์. Questionmark. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อะบุ๊คส์, 2550.

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. Thought. กรุงเทพฯ : openbooks, 2548.

สยามรัฐ ฉบับของขวัญปีใหม่ '36 ธันวาคม 2535. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, 2535.

สมจิตต์ นวเครือสุนทร. ใครว่าผม "อภิสิทธิ์"?. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2550.

สรุปการดำเนินงานและผลการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร (ประธาน : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัย 2538-2539) ครั้งที่ 1-44 (ส.ค.2538 - ก.ย.2539)กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2539.

สุเมธ จึงเลิศสถิตพงศ์. ผ่าทางตัน อภิสิทธิ์สู่บัลลังก์นายกฯ. กรุงเทพฯ : เฟริสต์ พับลิชชิง, 2548.

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. คำให้การอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คดีพรรคประชาธิปัตย์. กรุงเทพฯ : พรรคประชาธิปัตย์, 2550.