นายทะเบียนสมาชิก และนายทะเบียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


นายทะเบียนสมาชิก และ นายทะเบียน

1. ความหมาย หรือ แนวคิด 

          พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้กำหนดคำนิยามในมาตรา 4 ถึงสองคำที่มีชื่อคล้ายคลึงกันแต่เป็นคนละความหมาย

“นายทะเบียนสมาชิก” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนในพรรคการเมือง

“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา  6

ถึงแม้ทั้งสองคำจะมีความคล้ายกันในทางการเรียก แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็ได้ให้ความหมายทั้งสองคำไว้แตกต่างกัน ดังนี้

(1) นายทะเบียนสมาชิก หมายถึง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายทะเบียนในพรรคการเมืองต่าง ๆ ถือเป็นสมาชิกหรือบุคคลที่สังกัดพรรคการเมือง และ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดตั้งพรรคการเมือง[1] โดยจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก การพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสมาชิก[2] ความสำคัญของนายทะเบียนสมาชิกถือเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน[3]

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนด “คุณสมบัติ” ของนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อบังคับของพรรคการเมืองแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปี[4]

อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสมาชิก มีดังนี้

  1. ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริงและต้องให้สมาชิกตรวจดูได้ โดยสะดวก ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง รวมทั้งประกาศชื่อและนามสกุลของสมาชิก ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้อง[5]
  2. ควบคุมทะเบียนสมาชิกในกรณีที่สมาชิกพรรคการเมืองลาออกจากสมาชิกภาพจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิก หรือนายทะเบียน ในกรณีที่ยื่นต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งให้นายทะเบียนสมาชิกทราบโดยเร็ว[6]
  3. รายงานให้นายทะเบียนทราบในกรณีสมาชิกชําระเงินค่าบํารุงพรรคการเมือง[7]

นายทะเบียนสมาชิกมีความสำคัญในทางการบริหารพรรคการเมือง กฎหมายจึงกำหนดให้การเลือกตั้งนายทะเบียนสมาชิกจะต้องกระทำในที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง[8] พร้อมทั้งกำหนดโทษไว้สำหรับบุคคลที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นนายทะเบียนสมาชิก[9]

(2) นายทะเบียน หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยในความหมายดังกล่าวนี้กฎหมายหมายความถึงองค์กรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบพรรคการเมือง ซึ่งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้แก่ “เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง”[10]

อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. อำนาจหน้าที่โดยทั่วไป

นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คําชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้[11] ตลอดทั้งอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา[12] นายทะเบียนมีหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกของทุกพรรคการเมือง[13]

  1. อำนาจหน้าที่โดยเฉพาะ

ในกรณีนี้กฎหมายกําหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองใช้อำนาจกระทำร่วมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีดังต่อไปนี้

2.1 กรณีการสิ้นสภาพพรรคการเมือง ตามเหตุที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[14] เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนหรือมีผู้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดสิ้นสภาพ ให้นายทะเบียนดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีกรณีที่เป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ให้เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีเช่นนี้ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองที่ถูกประกาศว่าสิ้นสภาพไม่เห็นด้วยกับการประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง

2.2 กรณีการยุบพรรคการเมือง

แบ่งออกเป็นสองกรณี คือ เมื่อมีหลักฐานปรากฏต่อ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ตามเหตุในมาตรา 92[15] หรือ เมื่อปรากฏเหตุตามมาตรา 92 ต่อ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 93 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะยื่นคําร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคําร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินคดี นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้

ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราว ตามคําร้องขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้

หน้าที่ของนายทะเบียนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา[16]

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

          คดีในศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 ระหว่าง “นายทะเบียนพรรคการเมือง
กับ พรรคประชาธิปัตย์” ข้อเท็จจริงในคดี นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายไปโดยผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายซึ่งเงินจำนวนยี่สิบเก้าล้านบาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสรรให้จากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 อนุมาตรา (2) และ (3) จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 98[17] โดยคดีนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกิดปัญหาว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในสองฐานะ คือ ฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ ฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

พัฒนาการการมีนายทะเบียนพรรคการเมืองของประเทศไทย แรกเริ่มกำหนดให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง จนกระทั่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงก่อให้เกิดปัญหาในการใช้อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองในสองฐานะ กล่าวคือ การใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และเป็นการใช้อำนาจในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ปัญหาการใช้อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองในสองฐานะ ทำให้เกิดปัญหาในเชิงรูปแบบ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ รวมถึงปัญหาความเป็นกลาง รวมถึงความสับสนในการตีความว่าขณะนั้น ประธานกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจในฐานะใด หากเป็นกรณีทั้งสองตำแหน่งจะต้องกระทำการร่วมกัน (Co-decision) กล่าวคือ การใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเลือกตั้ง มีอำนาจยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการตรวจสอบในเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

 

'3'. การแก้ไขปัญหาอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน

          ปัญหาดังกล่าวนี้ได้รับการแก้ไขในรัฐธรรมนูญแก่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้ในปัจจุบัน ได้กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยถือเป็นบุคคลที่แยกต่างหากจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้อำนาจโดยบุคคลคนละคนกัน กล่าวคือ เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว นับเป็นการ แก้ไขปัญหาความสับสนในการตีความการใช้อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉบับก่อนทั้งในเชิงทฤษฎีและ ในเชิงกระบวนการ[18]

ตัวอย่างความซ้ำซ้อนของอำนาจนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ถูกแก้ไขแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวอีกในการยื่นคำร้องภายหลังจากที่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ดังปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เหตุอันเนื่องมาจากพรรคการเมืองทำสัญญากู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 กล่าวคือ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคใหม่ หรือมีส่วนร่วมเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหม่เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94

กรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุมาตรา 92 สัมพันธ์กับนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวคือ เมื่อมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 93 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเรื่องปรากฏแก่นายทะเบียน กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนมีหน้าที่ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา โดยในคดีนี้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณารายงานการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานแล้วจึงได้เสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 มาตรา 66 และมาตรา 72 จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองแล้วให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ

 

4. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137/ตอนที่ 21 ก/18 มีนาคม 2563'. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ '5'/'2563

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115/ตอนที่ 35 ก/9 มิถุนายน 2541. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. '2541'

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 64 ก/7 ตุลาคม 2550. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. '2550'

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง กับพรรคประชาธิปัตย์ ('2553)', ออนไลน์จาก https://th.wikipedia.org/wiki/คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง_กับพรรคประชาธิปัตย์_(2553).

สัญชัย จุลมนต์. ตำแหน่งนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ออนไลน์จาก http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=10459.

 

1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10.

[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 15.

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21.

[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 16.

[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25.

[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 27.

[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 141 (4)

[8] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 38.

[9] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 112.

[10] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6.

[11] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 7.

[12] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 17.

[13] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 26.

[14] พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ

(1) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 17 วรรคสาม หรือไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 33 (1) หรือ (2) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

(2) ภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงตามที่กำหนด
ในมาตรา 33 (1) ติดต่อกันเกินเก้าสิบวัน

(3) ภายหลังจากที่ดำเนินการครบตามมาตรา 33 (2) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี

(4) ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมือง เป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย

(5) ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้ง ติดต่อกันหรือเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

(6) มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

(7) พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ

[15] มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

  1. กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
  2. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  3. กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
  4. มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด

[16] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94.

[17] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง กับพรรคประชาธิปัตย์ (2553), ออนไลน์จาก https://th.wikipedia.org/wiki/คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง_กับพรรคประชาธิปัตย์_(2553), เข้าถึงวันที่ 11 พ.ค. 63.

[18] สัญชัย  จุลมนต์. ตำแหน่งนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. 2560. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ออนไลน์จาก http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=10459. เข้าถึงวันที่ 11 พ.ค. 63.