นักบุญทุนชาวบ้าน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

บทนำ

          “นักบุญทุนชาวบ้าน” เป็นคำเปรียบเปรย ซึ่งหมายถึงผู้ที่อุทิศตนเพื่อสังคมโดยการใช้ทรัพย์สินหรือทรัพยากรของผู้อื่น หรือผู้ที่อาสาเรี่ยไรรวบรวมเงินบริจาคจากผู้อื่นเพื่อนำไปมอบให้แก่หน่วยงานที่ขาดแคลน หรือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนต่ออีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้คำเรียก “นักบุญทุนชาวบ้าน” ในสังคมการเมืองไทยมักถูกอ้างไปถึงกรณีที่ศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนวงกว้าง อาศัยความโด่งดังของตนเองเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนและภาคเอกชน เพื่อนำไปมอบให้หน่วยงานภาครัฐที่ขาดแคลนหรือประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อน ซึ่งมี 3 กรณีสำคัญ ได้แก่

          1) โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ซึ่งเป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 เพื่อรวบรวมเงินบริจาคมอบให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน 11 แห่ง

          2) กิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางโดย บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ในช่วงปลายปี 2562 และ

          3) โครงการ “One Man and the River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ของนายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือโตโน่ ภาคิน ซึ่งเป็นกิจกรรมว่ายน้ำข้ามสองฝั่งโขง ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพื่อรวบรวมเงินบริจาคมอบให้แก่โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลคำแก้ว ทางฝั่งประเทศลาว

          โดยทั้ง 3 กรณีได้รับการตอบรับสนับสนุนจากประชาชนและภาคเอกชนจำนวนมาก ตลอดจนภาครัฐที่เข้าไปให้การอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามเนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการประเภทนี้เป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับเดือดร้อนและหน่วยงานภาครัฐ กระแสสังคมส่วนหนึ่งจึงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือศิลปินคนดังให้มารับบริจาคจากประชาชน และด้วยความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐนี้เองได้ก่อให้เกิด “นักบุญทุนชาวบ้าน” ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูบนเงินบริจาคของผู้อื่น

จากงานช่วยเหลือสังคมสู่ “นักบุญทุนชาวบ้าน”

          แม้การทำกิจกรรมการกุศลหรือกิจกรรมช่วยเหลือสังคมจะไม่ได้หมายถึงกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง ทว่าผู้นำกิจกรรมเพื่อสังคมจำนวนหนึ่งกลับถูกกระแสสังคมเปรียบเปรยเชิงเย้ยหยันว่า “นักบุญทุนชาวบ้าน” เนื่องจากบุคคลที่ทำหน้าที่รวบรวมเงินบริจาคนั้น ได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียง ผลประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ ก็เพราะความล้มเหลว หรือไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาล จนต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก “นักบุญทุนชาวบ้าน” แทนที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังตัวอย่าง 3 กรณี ต่อไปนี้

          1. โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ปี 2560

          นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ศิลปินนักร้องชื่อดัง จัดโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ซึ่งปรากฏครั้งแรกช่วงปลายปี 2559 ประกอบด้วยหลายกิจกรรมย่อย อันเป็นกิจกรรมวิ่งการกุศล รวบรวมและระดมเงินบริจาคเพื่อนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส ซึ่งนับตั้งถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2564 มียอดบริจาครวมกันทุกกิจกรรมมากกว่า 1,600 ล้านบาท[1] แต่กิจกรรมที่กลายเป็นที่กล่าวถึงและได้รับการติดตามมากที่สุด คือ กิจกรรม “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลจากเบตง-แม่สาย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน - 25 ธันวาคม 2560 โดยตูน บอดี้สแลม วิ่งจาก อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 2,215 กิโลเมตร และมียอดบริจาครวมกันมากถึง 1,300 ล้านบาท ซึ่งเดิมตั้งเป้าไว้เพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยความโด่งดังของ ตูน บอดี้สแลม จึงทำให้กิจกรรมวิ่งครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่อง มีศิลปิน นักแสดง บุคคลมีชื่อเสียง เข้าร่วมกิจกรรมระหว่างเส้นทางจำนวนมาก ทั้งนี้ตลอดเส้นทางการวิ่งมีประชาชนรอต้อนรับ ร่วมบริจาค และถ่ายภาพ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงภายในจังหวัดเส้นทางการวิ่งรวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมให้กำลังใจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่น ๆ คอยอำนวยความสำดวก[2] กิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” ส่งผลให้ตูน บอดี้สแลม ได้รับการยกย่องชื่นชมจากสื่อมวลชน ประชาชน และบุคคลจากรัฐบาล และก่อให้เกิดกระแสวิ่งเก็บตกรับบริจาคในเส้นทางที่ตูน บอดี้สแลม ไม่ได้วิ่งผ่าน จนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2563 ซึ่งมีชื่อของ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ปรากฏรวมอยู่ด้วย[3]

          2. กิจกรรมช่วยเหลือผู้อุทกภัยภาคอีสาน ปี 2562

          อุทกภัยใหญ่ปลายปี 2562 ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางต้องประสบกับความยากลำบากและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อดีตนักแสดงชื่อดัง ซึ่งทำงานกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้ออกมาเสนอตัวเป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จนถึงกลางเดือนกันยายน 2562 มียอดบริจาคมากกว่า 422 ล้านบาท โดยนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และทีมงานได้ตระเวรแจกเงินและสิ่งของจำเป็นในจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น[4] ในระหว่างนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดกิจกรรม “ร่วมใจพี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 เพื่อระดมเงินบริจาคจากประชาชน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคนร่วมออกรายการโทรทัศน์ รับโทรศัพท์จากประชาชนผู้ประสงค์จะบริจาค โดยกิจกรรมนี้นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้เข้าร่วมด้วย เนื่องจากต้องการมีส่วนในการช่วยประชาชนให้ได้มากที่สุด และกล่าวตอนหนึ่งว่า “คนอย่างผม ไม่มีใครมาบังคับผมได้ ผมมาด้วยใจ ผมอยากมาช่วยส่วนรวมจริง ๆ ไม่ได้มีอะไรกับใคร ไม่มีใครมาบังคับผมเลย[5] อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เกิดกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารจัดการเงินบริจาคของนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่เงินบริจาคโอนเข้าบัญชีส่วนตัวและพฤติกรรมนำเงินไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนอย่างผิดวัตถุประสงค์ จนได้รับฉายาว่า “นักบุญทุนชาวบ้าน”[6] หลังจากนั้นไม่นาน นายบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ได้ลาออกจากมูลนิธิร่วมกตัญญูเพื่อไม่ให้มูลนิธิเสียชื่อเสียง และเมื่อถึงเดือนตุลาคม 2563 ได้ชักชวนประชาชนออกมาแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า “คุณจะว่าผมเป็น “นักบุญทุนชาวบ้าน” คำนี้ผมชอบมาก อย่างน้อยชาวบ้านยังไว้ใจผมให้ผมเป็นสะพานบุญให้”[7]

         3. โครงการ “One Man and the River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ปี 2565

          ระหว่างวัดที่ 21-22 ตุลาคม 2565 นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือโตโน่ ภาคิน ได้จัดโครงการ “One Man and the River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม ไปยังแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมระยะทาง ไป-กลับ 10 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนบริจาคจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลนครพนมและโรงพยาบาลท่าแขก แขวงคำม่วน (ฝั่งลาว) โดยได้รับเงินบริจาคไปทั้งสิ้น 87.7 ล้านบาท ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ 16.9 ล้านบาท[8] กระแสวิพากษ์วิจารณ์ระยะแรกพุ่งตรงไปที่ความพร้อมด้านสภาพร่างกายและประสบการณ์ของโตโน่ ภาคิน ที่ไม่เคยว่ายน้ำข้ามฝั่งโขงมาก่อน จึงอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งโตโน่ ภาคิน ตอบโต้ประเด็นนี้ว่า “ผมเชื่อว่าคุณหมอ พยาบาล เสี่ยงกว่าผมหลายเท่า สิ่งที่เขาทำงานอยู่...ถ้าเกิดว่าอันตราย มันลงไม่ได้ มันเสี่ยงกับทุก ๆ คน เราไม่ทำอยู่แล้ว”[9]  อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้มาจากการเรียกร้องของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลนครพรมมีงบประมาณเพียงพอต่อการดูแลประชาชนอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้กิจกรรม “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้นไปอีก เพราะไม่เพียงรับบริจาคให้กับโรงพยาบาลที่ไม่ได้ขาดแคลน หากยังต้องอาศัยหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนในพื้นที่ช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น[10] จึงนับว่าเป็นความย้อนแย้งที่ภาครัฐต้องออกมาสนับสนุนให้ประชาชนทำการกุศลเพื่อประชาชนด้วยกันเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกุศลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริจาคให้กับหน่วยงานภาครัฐด้วย

ควันหลงและกระแสสังคมหลังการรับบริจาค

          การระดมเงินบริจาคของศิลปินชื่อดังผ่านกิจกรรมการกุศล ย่อมได้รับสนับสนุนแทบจะทันที ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการเปิดรับบริจาคในกิจกรรมที่สร้างความสนใจแก่ประชาชน ก็มักได้รับเงินบริจาคเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แทบทุกครั้ง ในส่วนของคำยกย่องชื่นชมนั้น ก็มุ่งตรงไปที่ผลแห่งการทำ “ความดี” ดังกล่าว เช่น การรับบริจาคทำได้อย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์ในทันที กิจกรรมดึงดูดการบริจาค (การวิ่งและการว่ายน้ำ) กระทำอย่างระมัดระวังและผ่านการเตรียมความพร้อมทุกขั้นตอน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย-ลาว (กรณีโตโน่ ภาคิน) สร้างความรู้ใหม่ ๆ และสร้างกระแสความตื่นตัวในการออกกำลังกาย เป็นต้น[11] อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของการรับบริจาคนั้นเป็นไปเพื่อมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลกระแสสังคมจึงตีกลับไปที่ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของประชาชน ทว่าความย้อนแย้งยิ่งกว่าก็คือ แทนที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรงบประมาณ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ แต่กลับอาศัยความโด่งดังของกระแส “ฮีโร่นักบุญ” มาดึงดูดให้ประชาชนร่วมบริจาคเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ โดยไม่ได้แก้ไขต้นเหตุของปัญหาเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด รัฐบาลจึงลอยตัวอยู่เหนือปัญหาซึ่งเป็นเงื่อนไขให้เกิด “นักบุญทุนชาวบ้าน” อยู่เป็นระยะ[12]

          นอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเด็นการจัดสรรงบประมาณแล้ว ยังเกิดกระแสโจมตีตัวบุคคล “นักบุญทุนชาวบ้าน” ว่าแม้จะเป็นการทำความดีเพื่อสังคม แต่ก็ไม่ควรได้รับหรือยอมรับผลพลอยได้ที่เกิดจากการทำความดีนั้นเพียงคนเดียว เนื่องจากเงินรับบริจาคมาจากประชาชนและภาคเอกชนจำนวนมาก แต่ผลแห่งความดีกลับตกอยู่ที่ผู้รวบรวมเงินบริจาคเพียงคนเดียว เช่น กรณีที่ตูน บอดี้สแลม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2563 และได้รับส่วนลดค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้มีอุปการะกิตติมศักดิ์พิเศษ ซึ่งมีส่วนลดตั้งแต่ร้อยละ 30 - 50 ให้ผู้อุปการะ คู่สมรส และบุตร ตลอดชีพ กระแสโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ตูน บอดี้สแลม ควรกล่าวปฏิเสธหรืออย่างน้อยก็ควรกล่าวขอบคุณประชาชนผู้ร่วมบริจาคด้วย[13] ทั้งนี้ ทวีศักดิ์ เผือกสม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วาทกรรม “นักบุญทุนชาวบ้าน” เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมที่มักอ้างคุณธรรม ความดี ศีลธรรม และบุญญาบารมีตามความเชื่อทางศาสนา จึงชื่นชมคนทำความดี อุทิศตนเพื่อสังคมว่าเป็น “ฮีโร่” ขณะที่ฝ่ายที่ออกมาท้วงถาม “นักบุญทุนชาวบ้าน” นั้น วางอยู่บนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอันหวังพึ่งพาคุณความดีส่วนบุคคลของ “นักบุญ” บางคน ดังนั้น ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ จึงกำลังเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมด้วย อุปสรรคของการสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจึงมาจากการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งมีวาทกรรม “นักบุญทุนชาวบ้าน” เป็นส่วนหนึ่งในนั้น[14]

บรรณานุกรม

“ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้,” เทใจ, เข้าถึงจาก <https://taejai.com/th/d/onemanandtheriver/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“จบดราม่าเกาเหลารัฐบาล ! “บิณฑ์”ร่วมงาน”นายกฯ”รับบริจาคช่วยน้ำท่วม ยันไม่มีใครบังคับมา,” ผู้จัดการออนไลน์ (17 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000089749>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“เจอดราม่า! ‘ตูน’ทำดี-ทำในสิ่งที่รัฐไม่ทำ แต่ไม่ควรรับผลประโยชน์จากเงินบริจาค,” ข่าวสดออนไลน์ (15 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6136517>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

““ตูน บอดี้สแลม” ก้าวจนจบปลายทางเหนือสุดแดนสยาม จบภารกิจ 55 วัน,” PPTV (25 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/72454>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“ตูนบอดี้สแลม-มาดามแป้ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ,” ThaiPBS (29 มกราคม 2564. เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/300871>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“ถกกันเดือด หลัง ‘โตโน่’ เปิดใจว่ายข้ามโขง 15 กม. บอก ‘หมอ-พยาบาล’ เสี่ยงกว่าเยอะ,” มติชนออนไลน์ (5 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3601372>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“‘บิณฑ์’ ย้ำจุดยืนชวนรับเสด็จฯ อย่ากลัว-ให้อีกฝ่ายเห็นพลัง,” ทีวีพูลออนไลน์ (31 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.tvpoolonline.com/content/1697232>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

““บิณฑ์” นำทีมขอบคุณปิดภารกิจช่วยน้ำท่วม 6 จ.ในอีสาน ชี้แจงเงินบริจาค 422 ล้าน,” Workpoint Today (11 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/bhin-donation-account422/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“ปรากฏการณ์โตโน่ว่ายข้ามโขง ร้อยคำชม หลายคำด่า แบ่งข้างสังคมไทย,” Workpoint Today (24 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/explainer-2410/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“มรสุมนักบุญทุนชาวบ้าน? ย้อนเหตุเงินบริจาค ซื้อเสื้อชมพู “เสี่ยโป้” จับมือ “สันธนะ” แจ้งจับบิณฑ์ บันลือ”ฤทธิ์,” มติชนสุดสัปดาห์ (21 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_382752>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“ย้อนโครงการ “ก้าว “ วิ่งทั่วไทย “ตูน บอดี้สแลม” ระดมยอดบริจาคกว่า 1,600 ล้าน,” ThaiPBS (22 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/310923>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

“สรุปกรณี ‘หนึ่งคน(?)ว่าย หลายคนให้’ เมื่อโตโน่จะว่ายข้ามน้ำโขง การกุศลที่ถูกตั้งคำถามถึงการใช้ทรัพยากรรัฐ,” The Matter (21 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/brief/188901/188901>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

สุรพศ ทวีศักดิ์, “วาทกรรม ‘นักบุญทุนชาวบ้าน’ ในกระแสการเมืองวัฒนธรรม,” ประชาไท (1 พฤศจิกายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/11/101233>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

อ้างอิง

[1] “ย้อนโครงการ “ก้าว “ วิ่งทั่วไทย “ตูน บอดี้สแลม” ระดมยอดบริจาคกว่า 1,600 ล้าน,” ThaiPBS (22 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/310923>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[2] ““ตูน บอดี้สแลม” ก้าวจนจบปลายทางเหนือสุดแดนสยาม จบภารกิจ 55 วัน,” PPTV (25 ธันวาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/72454>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[3] “ตูนบอดี้สแลม-มาดามแป้ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ,” ThaiPBS (29 มกราคม 2564. เข้าถึงจาก <https://www.thaipbs.or.th/news/content/300871>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[4] ““บิณฑ์” นำทีมขอบคุณปิดภารกิจช่วยน้ำท่วม 6 จ.ในอีสาน ชี้แจงเงินบริจาค 422 ล้าน,” Workpoint Today (11 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/bhin-donation-account422/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[5] “จบดราม่าเกาเหลารัฐบาล ! “บิณฑ์”ร่วมงาน”นายกฯ”รับบริจาคช่วยน้ำท่วม ยันไม่มีใครบังคับมา,” ผู้จัดการออนไลน์ (17 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9620000089749>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[6] “มรสุมนักบุญทุนชาวบ้าน? ย้อนเหตุเงินบริจาค ซื้อเสื้อชมพู “เสี่ยโป้” จับมือ “สันธนะ” แจ้งจับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์,” มติชนสุดสัปดาห์ (21 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_382752>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[7] “‘บิณฑ์’ ย้ำจุดยืนชวนรับเสด็จฯ อย่ากลัว-ให้อีกฝ่ายเห็นพลัง,” ทีวีพูลออนไลน์ (31 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.tvpoolonline.com/content/1697232>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[8] “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้,” เทใจ, เข้าถึงจาก <https://taejai.com/th/d/onemanandtheriver/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[9] “ถกกันเดือด หลัง ‘โตโน่’ เปิดใจว่ายข้ามโขง 15 กม. บอก ‘หมอ-พยาบาล’ เสี่ยงกว่าเยอะ,” มติชนออนไลน์ (5 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3601372>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[10] “สรุปกรณี ‘หนึ่งคน(?)ว่าย หลายคนให้’ เมื่อโตโน่จะว่ายข้ามน้ำโขง การกุศลที่ถูกตั้งคำถามถึงการใช้ทรัพยากรรัฐ,” The Matter (21 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/brief/188901/188901>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[11] “ปรากฏการณ์โตโน่ว่ายข้ามโขง ร้อยคำชม หลายคำด่า แบ่งข้างสังคมไทย,” Workpoint Today (24 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/explainer-2410/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[12] “ปรากฏการณ์โตโน่ว่ายข้ามโขง ร้อยคำชม หลายคำด่า แบ่งข้างสังคมไทย,” Workpoint Today (24 ตุลาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/explainer-2410/>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[13] “เจอดราม่า! ‘ตูน’ทำดี-ทำในสิ่งที่รัฐไม่ทำ แต่ไม่ควรรับผลประโยชน์จากเงินบริจาค,” ข่าวสดออนไลน์ (15 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6136517>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.

[14] สุรพศ ทวีศักดิ์, “วาทกรรม ‘นักบุญทุนชาวบ้าน’ ในกระแสการเมืองวัฒนธรรม,” ประชาไท (1 พฤศจิกายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/11/101233>. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566.