ทำงาน ทำงาน ทำงาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และศิปภณ อรรคศรี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

ที่มา และแนวคิดของ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

                                        “ทำงาน

                                         ทำงาน

                                         ทำงาน”

 

          3 คำสั้น ๆ ที่วางเรียงกันลงมาโดยใช้สีตัวอักษรสีเขียว กลายมาเป็นภาพจำของคนกรุงเทพฯ และโลกออนไลน์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยมีจุดเริ่มต้นจากเสื้อที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สวมใส่ขณะลงพื้นที่ทำกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งช่วยให้เกิดภาพจำต่อนายชัชชาติในภาพลักษณ์ของคนขยันทำงาน

          วริทธิ์ธร สุขสบาย หนึ่งในทีมผู้ออกแบบได้อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบโลโก้ว่า ต้องการสื่อถึงความเป็นมนุษย์ เข้าถึงได้และมีความถ่อมตัว มีความแข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกร้าว อีกทั้งคำว่า “ทำงาน” ยังสะท้อนบุคลิกของนายชัชชาติอีกด้วย[1] ขณะที่ในมุมมองของนายชัชชาติอธิบายไว้ว่า ช่วงแรกเคยใช้คำขวัญ “Better Bangkok” (กรุงเทพฯ ที่ดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงความรับรู้ของคนทั่วไปเมื่อเทียบกับ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ที่นำเสนอ ในเวลาต่อมา เพราะคำว่า “ทำงาน” ไม่ได้เพียงสะท้อนถึงการทำงานของนายชัชชาติ แต่ยังเข้าถึงทุกคนในฐานะคนที่ล้วนแต่ต้องดิ้นรนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ[2] ส่งผลให้คำขวัญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ไม่เพียงแต่สะท้อนตัวตนของนายชัชชาติ แต่ยังมีความเข้าถึงความรู้สึกของชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องทำงานหารายได้ในแต่ละวันอีกด้วย 

 

ภาคปฏิบัติของแคมเปญหาเสียง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

          ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หนึ่งในภาพจำที่ประชาชนมีต่อนายชัชชาติ คือ การที่นายชัชชาติจะสวมเสื้อสีดำสกรีนคำขวัญสีเขียวและมีฟอนต์ตัวอักษรที่สะดุดตา “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

 

Work Work Work (1).jpg
Work Work Work (1).jpg

ภาพ : จากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์[3]

 

          ขณะออกมาไลฟ์สดทาง Facebook ในช่วงเวลาเช้า เพื่อออกมาสำรวจพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ พร้อมแสดงความคิดเห็นในการต่อยอดหรือปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้เข้ากับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารเมืองของนายชัชชาติ หรือเป็นการเดินทักทายสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาในกรุงเทพฯ รวมถึงออกมาไลฟ์สดตรวจสอบพื้นที่เวลาที่มีฝนตกหนัก หรือมีเหตุการณ์ใดที่ผู้จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องให้ความสนใจ นำมาสู่ภาพจำของคนกรุงเทพฯ ต่อนายชัชชาติในบุคลิกที่ขยันลงพื้นที่ทำงานตรวจสอบและเสนอแนะการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนความขยันในแบบเข้าถึงง่ายของนายชัชชาติ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถชี้แจงหรือแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ให้รับฟังได้ รวมถึงการรับฟังเสียงวิจารณ์ที่เข้ามาตำหนิถึงความไม่ทั่วถึงในการลงพื้นที่ขณะยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งลงพื้นที่หาเสียง โดยนายชัชชาติทำตามคำขวัญหาเสียง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ด้วยการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อคิดเห็นเหล่านั้น[4]

 

กระแสความนิยมและการนำไปใช้ และการ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” หลังชัชชาติได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ

          ไม่เพียงแต่คำขวัญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” จะกลายมาเป็นภาพจำในช่วงหาเสียงของนายชัชชาติ แต่รูปแบบของการออกแบบโลโก้คำขวัญ ทั้งฟอนต์ตัวอักษรและสีที่ใช้นั้นกลายมาเป็นกระแสที่ประชาชนทั่วไปต้องการร่วมเล่นกับกระแสด้วย ทำให้มีการผลิตสินค้าเสื้อผ้ามากมายที่ผลิตขึ้นมาในลักษณะคล้ายกับเสื้อที่นายชัชชาติสวมใส่ในช่วงหาเสียง แต่มีการดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมความคิด “ทำงาน” ในแบบของคนทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ เช่น “ลางาน” “นอน” หรือ “ปวดหลัง”[5] เป็นต้น หรืออาจนำคอนเซปต์ทางศิลปะไปดัดแปลงใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการทำงาน แต่เป็นการรับอิทธิพลการออกแบบโลโก้ของทีมงานเพื่อนชัชชาติไปใช้ ซึ่งสะท้อนความสำเร็จในการออกแบบโลโก้ให้เข้าถึงความนิยมของมหาชนทั่วไปได้ง่ายอีกด้วย

 

Work Work Work (2).jpg
Work Work Work (2).jpg

ภาพ : เสื้อผ้าดัดแปลงตามกระแส Logo ทำงาน ทำงาน ทำงาน

 

          นอกจากนั้น หลังจากที่นายชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การทำงานหลังจากผ่านไป 1 ปีในฐานะของผู้ว่าฯ ได้มีการแถลงออกมาภายใต้หัวข้อ “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน” โดยสะท้อนผ่านกรอบคิดของนายชัชชาติที่เน้นการทำงานร่วมกันของทีมงานที่มีพลังงานเหลือเฟือตลอดทั้ง 365 วัน โดยนายชัชชาติยังได้สะท้อนความสำเร็จของการใช้แนวคิด “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ดัง key messages ที่เสนอไว้ในงานแถลง[6] ดังนี้

          1. การให้ความสำคัญกับโครงการเส้นเลือกฝอย กับเมกะโปรเจคต์ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่

          2. กรอบคิดของระบบราชการที่ต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

          3. การใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง

          4. ความโปร่งใสในการบริหาร เน้นคุณธรรมและความสามารถในการปรับตำแหน่ง

          5. สร้างความร่วมมือทุกฝ่ายในการขับเคลื่อน

 

บรรณานุกรม

The Matter. (2565). ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ คุยเบื้องหลังทีมดีไซน์สโลแกนของชัชชาติ ที่กลายเป็นไวรัล. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://thematter.co/bkk65/176140/176140

The Momentum. (2565). ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ไม่ใช่แค่คำขวัญของชัชชาติ แต่คือสิ่งที่ทุกคนในกรุงเทพฯ รู้สึก. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://themomentum.co/report-chadchart-work/

ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย. (2566). ชัชชาติโชว์ผลงาน ‘365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ มั่นใจมาถูกทางแล้ว. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://plus.thairath.co.th/topic/speak/103314

มติชนออนไลน์. (2565). ‘ชัชชาติ’ เดินเท้าลาดพร้าว 64 หลังวิน จยย.โวยน้ำท่วม เจอหลุมบ่อ-เสาถูกชน ยันเร่งแก้. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3431396

 

อ้างอิง

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Matter. (2565). ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ คุยเบื้องหลังทีมดีไซน์สโลแกนของชัชชาติ ที่กลายเป็นไวรัล. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://thematter.co/bkk65/176140/176140

[2] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Momentum. (2565). ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ไม่ใช่แค่คำขวัญของชัชชาติ แต่คือสิ่งที่ทุกคนในกรุงเทพฯ รู้สึก. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://themomentum.co/report-chadchart-work/

[3] ภาพจากเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ https://www.facebook.com/chadchartofficial/photos/?ref=page_internal

[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: มติชนออนไลน์. (2565). ‘ชัชชาติ’ เดินเท้าลาดพร้าว 64 หลังวิน จยย.โวยน้ำท่วม เจอหลุมบ่อ-เสาถูกชน ยันเร่งแก้. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3431396

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Matter. (2565). ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ คุยเบื้องหลังทีมดีไซน์สโลแกนของชัชชาติ ที่กลายเป็นไวรัล. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://thematter.co/bkk65/176140/176140

[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย. (2566). ชัชชาติโชว์ผลงาน ‘365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ มั่นใจมาถูกทางแล้ว. Retrieved 18 กันยายน 2566, from https://plus.thairath.co.th/topic/speak/103314