ทัวร์วัคซีน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ทัวร์วัคซีน

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

บทนำ

          ทัวร์วัคซีน (vaccine tourism) ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศของตนพร้อมกับการให้สิทธิที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปในเวลาเดียวกัน การเกิดขึ้นของทัวร์วัคซีนมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์วัคซีนป้องกัน โควิด-19 ที่มีความต้องการสูงทั่วโลก ขณะที่การผลิตและการกระจายวัคซีนยังคงจำกัด บางประเทศหรือบางเมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมีวัคซีนเกินกว่าความต้องการของประชากรภายในประเทศจึงอาศัยความได้เปรียบดังกล่าวดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยแพ็คเกจท่องเที่ยวตามปกติ พร้อมทั้งพ่วงการฉีดวัคซีนให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปด้วย ในประเทศไทยซึ่งความต้องการวัคซีนคุณภาพสูงยังคงสูงกว่าปริมาณที่รัฐบาลจะสามารถจัดหาได้นั้นมีประชาชนบางส่วน รวมถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงเดินทางไปต่างประเทศแบบทัวร์วัคซีน เพื่อให้ตนเองเข้าถึงวัคซีนที่ต้องการได้ แม้จะเป็นความสมัครใจเดินทางด้วยตนเอง แต่ก็เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชนที่ยังคงต้องรอวัคซีนคุณภาพจากภาครัฐต่อไป

ทัวร์วัคซีนกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

          นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสช่วงปลายปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่จะนำเข้าผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายนอกเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ World Travel and Tourism Council (WTTC) เปิดเผยว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดในปี 2562 หนึ่งในสี่ของตำแหน่งงานใหม่ทั่วโลกข้องเกี่ยวกับภาคการเดินทางและภาคการท่องเที่ยว แต่เมื่อถึงปี 2563 มีตำแหน่งงานหายไปจากอุตสาหกรรมนี้แล้วกว่า 62 ล้านตำแหน่งงาน ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางระหว่างประเทศยังลดลงถึง ร้อยละ 72.5 ขณะที่การเดินทางภายในประเทศลดลง ร้อยละ 50.8[1] นอกจากนั้นแล้ว จากข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณการผลิตและจัดหาวัคซีนในหลายประเทศยังคงต่ำกว่าความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจน จึงทำให้บางประเทศหรือบางเมืองที่มีวัคซีนเกินกว่าความต้องการของประชากรภายในประเทศมองเห็นโอกาสที่จะฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวของตนผ่านการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ นอกจากจะเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนตามปกติแล้ว ยังเสนอทางเลือกเพื่อจะได้รับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 อีกด้วย[2]

          ในสหรัฐอเมริกา บางมลรัฐหรือบางเมืองพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยการเสนอสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นมหานครนิวยอร์ก มลรัฐอราสก้า มลรัฐแอริโซนา มลรัฐฟลอริดา มลรัฐหลุยส์เซียนา และมลรัฐเท็กซัส ในหลายกรณีนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติไม่จำเป็นจะต้องแสดงเอกสารสำคัญใด ๆ ในกรณีของเมาดีฟนั้น ได้ประกาศแผนการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบทัวร์วัคซีนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 หากว่าประชากรชาวเมาดีฟได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว[3] ทัวร์วัคซีนที่เป็นระบบที่สุดสามารถพบได้ในกรณีเมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอ็มมีเรท ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ถือวีซ่าเข้าเมืองสามารถเข้ารับวัคซีนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่ลงทะเบียนนัดหมายการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นและแสดงเอกสารวีซ่าเข้าเมืองนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา[4] ในอินโดนีเซียกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว ได้ประกาศนโยบายให้วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังเกาะบาหลี[5] ขณะที่รัสเซีย ก็มีแผนการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวพร้อมเสนอการฉีดวัคซีนแบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 ถึง 2,500 เหรียญสหรัฐ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างไรก็ตามการเดินทางเข้าประเทศรัสเซียยังคงประสบปัญหาเนื่องจากทางการยังไม่มีนโยบายอนุมัติวีซ่าแก่คนต่างชาติ[6] เซอร์เบียร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ส่งเสริมทัวร์วัคซีนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ก่อนที่จะระงับแผนการนี้ไปในช่วงสั้น ๆ และกลับมาส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบนี้อีกครั้ง[7]

กระแสทัวร์วัคซีนของกลุ่มคนไทยระดับบน

          ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลไทยและความต้องการวัคซีนคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลให้ทัวร์วัคซีน กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของกลุ่มคนไทยที่มีกำลังจ่าย ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ที่ยังคงรอคอยวัคซีนจากภาครัฐ บริษัทนำเที่ยวในประเทศไทย จึงเห็นถึงโอกาสที่จะขายแพ็คเกจทัวร์วัคซีนไปท่องเที่ยวประเทศที่มีนโยบายฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น บริษัทยูนิไทยแทรเวล จำกัด เสนอขายแพ็คเกจทัวร์วัคซีนไปท่องเที่ยว 2 ประเทศ (ราคาเริ่มต้นที่ 67,500 บาทต่อคน ไม่รวมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ) ได้แก่ สหรัฐฯ ที่เมืองซานฟานซิสโกและลอสแอนเจลิส โดยสามารถฉีดวัคซีน Johnson & Johnson และประเทศเซอเบียร์ที่สามารถเลือกฉีดวัคซีนได้ 5 ประเภทไม่ว่าจะเป็น Sputnik V, AstraZeneca, Pfizer, Sinovac, และ Moderna ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่า “เหตุผลที่บริษัทฯ จัดทัวร์ฉีดวัคซีนขึ้นมา เพราะเห็นว่าเมื่อเดินทางไปแล้ว ได้ฉีดวัคซีนจริง และได้เที่ยวจริงโดยไม่ต้องกักตัว ประกอบกับคนไทยกลุ่มมีกำลังซื้ออยากออกไปเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว และไม่อยากรอวัคซีนยี่ห้อที่ตัวเองต้องการในไทย ซึ่งต้องรออีกอย่างน้อย 2-3 เดือน”[8]

          จากการหารือระหว่าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และผู้แทนจากบริษัทนำเที่ยว ได้ข้อสรุปว่าการจัดทัวร์เพื่อนำนักท่องเที่ยวชาวไทยไปต่างประเทศเพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นสามารถดำเนินการได้แต่ให้ใช้คำว่า “ทัวร์สุขภาพ” แทนคำว่า “ทัวร์วัคซีน” และห้ามมีการโฆษณาเกินจริง รวมถึงต้องแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายและการคุ้มครองกรณีแพ้วัคซีนด้วย[9] ทั้งนี้ บุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักแสดงไทยจำนวนหนึ่งขานรับ กับทางเลือกข้างต้น และมีข่าวว่าพวกเขาเดินทางไปฉีดวัคซีนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีสหรัฐฯ กลายเป็นปลายทางหลักของการไปฉีดวัคซีน ตัวอย่างเช่น เป็ก สัณณ์ชัย เองตระกูล เดินทางไปฉีดวัคซีน อีก 2 เข็ม ที่สหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศไทย[10] นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี หนิง-ศรัยฉัตร จีระแพทย์ ติ๊ก-อภิภาวดี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์[11] ซอ จียอน ดารานักแสดง และฮั่น อิสริยะ ภัทรมานพ ศิลปินนักร้อง นักแสดง[12] และ มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล บล็อคเกอร์และเจ้าของช่องยูทูป I Roam Alone ซึ่งรายหลังนี้ระบุว่า “ถ้าประเทศเราเองมีการจัดการที่ดี มีวัคซีนให้เลือกและเข้าถึงทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ มิ้นท์ก็คงได้ฉีดตั้งแต่ก่อนเดินทาง และทุกคนก็คงได้กำลังเริ่มต้นกลับมาใช้ชีวิตได้แบบเดิม”[13]

ทัวร์วัคซีนกับความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข

          จากข้อมูลของบริษัท Globaldata ผู้ให้บริการด้านข้อมูลระบุว่า มีประชากรทั่วโลกเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น ที่ไม่ได้เป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่อีก ร้อยละ 94 กังวลถึงผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง Johanna Bonhill-Smith นักวิเคราะห์จากบริษัทดังกล่าวเสริมว่า “กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศยากจนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในตอนนี้เพียงเพราะพวกเขาสามารถมีกำลังจ่ายในการเดินทาง นี่ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่าประเทศที่ส่งเสริมทัวร์วัคซีนควรบริจาควัคซีนส่วนเกินแทนที่จะเสนอให้กับนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย"[14] ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัวร์วัคซีนนำเสนอทางเลือกและโอกาสให้กับประชากรระดับบนของสังคม แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนและบริการสาธารณสุข ในหมู่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจน ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับความยากลำบากภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ของรัฐแล้ว ยังมีข้อจำกัดที่จะได้รับวัคซีนคุณภาพซึ่งเป็นที่ต้องการจากทั่วโลก ตัวอย่าง เช่น ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีเพียง 3.5 โดสต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ในสหรัฐฯ จำนวนวัคซีนมีถึง 1,115 โดสต่อประชากร 1,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564)[15] กล่าวได้ว่า ในด้านหนึ่งสถานการณ์วัคซีนฉายภาพความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา ในอีกด้านหนึ่งทัวร์วัคซีนก็ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนคุณภาพในหมู่ประชากรของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง

บรรณานุกรม

“Bali vaccine vacations to offer global visitors a beach and a jab." Nikkei Asia (June 29, 2021). Available <https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/Bali-vaccine-vacations-to-offer-global-visitors-a-beach-and-a-jab>. Accessed October 11, 2021.

“Serbia’s New Tourism Boom: From Russia to Belgrade for Jabs." Balkan Insight (October 6, 2021). Available <https://balkaninsight.com/2021/10/06/serbias-new-tourism-boom-from-russia-to-belgrade-for-jabs/>. Accessed October 9, 2021.

“The concept of ‘vaccine tourism’ is a double-edged sword." Airport Technology (August 31, 2021). Available <https://www.airport-technology.com/comment/vaccine-tourism-double-edged/>. Accessed October 11, 2021.

“These Countries Are Now Offering COVID-19 Vaccines for Tourists." Schengen Visa Info (July 13, 2021). Available <https://www.schengenvisainfo.com/news/these-countries-are-now-offering-covid-19-vaccines-for-tourists/>. Accessed October 10, 2021.

“Vaccine tourism is a double-edged sword, says GlobalData." Hospitality Net (September 9, 2021). Available <https://www.hospitalitynet.org/news/4106345.html>. Accessed October 10, 2021.

“เป๊ก สัณณ์ชัย ฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 มาครบทุกยี่ห้อ จะตายมั้ย คอยติดตาม." ไทยรัฐออนไลน์ (23 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/entertain/news/2174260>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

“โควิด-19: อย. ส่งหนังสือห้ามโฆษณาทัวร์เที่ยวอเมริกาพ่วงฉีดวัคซีน เหตุผิด พ.ร.บ. ยา." บีบีซีไทย (16 มิถุนายน 2564).  เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-57494463>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“ไม่ไหวแล้ว! เซเลบฯ เมืองไทยกลัวโควิด บินลัดฟ้าไปฉีดวัคซีนที่อเมริกา." ผู้จัดการออนไลน์ (9 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/celebonline/detail/9640000066639>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

““จียอน” ควง “ฮั่น” บินไปอเมริกา รีวิวหลังฉีด “โมเดอร์นา” สำหรับคนไทยที่จองเข็ม 3." ไทยรัฐออนไลน์ (29 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/entertain/news/2151780>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

“ทางเลือกใหม่? ทัวร์ฉีดวัคซีน เจาะลูกค้ากระเป๋าหนัก-วีซ่าพร้อมเดินทาง." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (5 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/936038>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

“มิ้นท์​ I Roam Alone เผยเหตุผล ทำไมเลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่อเมริกา." ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-677161>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

อ้างอิง

[1] "Vaccine tourism is a double-edged sword, says GlobalData," Hospitality Net (September 9, 2021). Available <https://www.hospitalitynet.org/news/4106345.html>. Accessed October 10, 2021.

[2] "The concept of ‘vaccine tourism’ is a double-edged sword," Airport Technology (August 31, 2021). Available <https://www.airport-technology.com/comment/vaccine-tourism-double-edged/>. Accessed October 11, 2021.

[3] "These Countries Are Now Offering COVID-19 Vaccines for Tourists," Schengen Visa Info (July 13, 2021). Available <https://www.schengenvisainfo.com/news/these-countries-are-now-offering-covid-19-vaccines-for-tourists/>. Accessed October 10, 2021.

[4] "These Countries Are Now Offering COVID-19 Vaccines for Tourists," Schengen Visa Info (July 13, 2021). Available <https://www.schengenvisainfo.com/news/these-countries-are-now-offering-covid-19-vaccines-for-tourists/>. Accessed October 10, 2021.

[5] "Bali vaccine vacations to offer global visitors a beach and a jab," Nikkei Asia (June 29, 2021). Available <https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/Bali-vaccine-vacations-to-offer-global-visitors-a-beach-and-a-jab>. Accessed October 11, 2021.

[6] "These Countries Are Now Offering COVID-19 Vaccines for Tourists," Schengen Visa Info (July 13, 2021). Available <https://www.schengenvisainfo.com/news/these-countries-are-now-offering-covid-19-vaccines-for-tourists/>. Accessed October 10, 2021.

[7] "Serbia’s New Tourism Boom: From Russia to Belgrade for Jabs," Balkan Insight (October 6, 2021). Available <https://balkaninsight.com/2021/10/06/serbias-new-tourism-boom-from-russia-to-belgrade-for-jabs/>. Accessed October 9, 2021.

[8] "ทางเลือกใหม่? ทัวร์ฉีดวัคซีน เจาะลูกค้ากระเป๋าหนัก-วีซ่าพร้อมเดินทาง," กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (5 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/936038>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

[9] "โควิด-19: อย. ส่งหนังสือห้ามโฆษณาทัวร์เที่ยวอเมริกาพ่วงฉีดวัคซีน เหตุผิด พ.ร.บ. ยา," บีบีซีไทย (16 มิถุนายน 2564).  เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-57494463>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[10] "เป๊ก สัณณ์ชัย ฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 มาครบทุกยี่ห้อ จะตายมั้ย คอยติดตาม," ไทยรัฐออนไลน์ (23 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/entertain/news/2174260>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

[11] "ไม่ไหวแล้ว! เซเลบฯ เมืองไทยกลัวโควิด บินลัดฟ้าไปฉีดวัคซีนที่อเมริกา," ผู้จัดการออนไลน์ (9 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/celebonline/detail/9640000066639>. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564.

[12] "“จียอน” ควง “ฮั่น” บินไปอเมริกา รีวิวหลังฉีด “โมเดอร์นา” สำหรับคนไทยที่จองเข็ม 3," ไทยรัฐออนไลน์ (29 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/entertain/news/2151780>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[13] "มิ้นท์​ I Roam Alone เผยเหตุผล ทำไมเลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่อเมริกา," ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-677161>. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564.

[14] "Vaccine tourism is a double-edged sword, says GlobalData," Hospitality Net (September 9, 2021). Available <https://www.hospitalitynet.org/news/4106345.html>. Accessed October 10, 2021.

[15] "The concept of ‘vaccine tourism’ is a double-edged sword," Airport Technology (August 31, 2021). Available <https://www.airport-technology.com/comment/vaccine-tourism-double-edged/>. Accessed October 11, 2021.