ทรงสนับสนุนดนตรีไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถทางดนตรี แต่ช่วงต้นรัชกาลด้วยภาวะงบประมาณขาดแคลน จึงจำเป็นต้องยุบกรมมหรสพลง ต่อมาไม่นานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คัดเลือกนักดนตรีและนาฏศิลปินที่มีฝีมือกลับมา โดยให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ

ดนตรีไทยในราชสำนักมีหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้กำกับดูแล กับท่านหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ได้ถวายคำแนะนำแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงดนตรีและทรงแต่งเพลงไทย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) จัดตั้งวงมโหรีหลวงฝ่ายใน มีหน้าที่ขับกล่อมในราชสำนักและบรรเลงในงานพระราชพิธี

ด้านดนตรีสากล ทรงสนับสนุนวงเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่มีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ควบคุมวง วิทยาการดนตรีจึงเติบโตขึ้นอีกครั้งแม้ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิม ทว่าเข็มแข็ง มากด้วยฝีมือ และคุณค่า

พระเจนดุริยางค์ได้จดบันทึกเกี่ยวกับพัฒนาการขั้นสำคัญของเพลงไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือการบันทึกเพลงไทยเป็นตัวโน้ตสากล

“...แต่ไหนแต่ไรมาเพลงไทยของเราเคยจารึกจดจำอยู่ในสมองของอาจารย์ดนตรีไทยทั้งหลาย เมื่อต่างคนต่างมรณกรรมไป เพลงไทยก็ตายตามตัวไปด้วย ที่มีเหลืออยู่ก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ทั้งยังขาดตกบกพร่อง ผิดเพี้ยนกันไป หาความแน่นอนไม่ได้ และโดยเหตุนี้เพื่อจัดให้เพลงไทยได้รูปเป็นมาตรฐานถาวร มิให้สาบสูญไปเสีย งานบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลจึงถูกริเริ่มขึ้น...จากนั้นแล้ว เพลงไทยก็ถูกบันทึกเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ สำหรับดุริยางค์ศิลปประจำชาติของเรา...”

ขณะที่งานกำลังดำเนินไปด้วยดีก็มีเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ งานบันทึกโน้ตเพลงไทยต้องยุติลงโดยสิ้นเชิง

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖