ดูด ส.ส.
ผู้เรียบเรียง:
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ดูด ส.ส.
จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยเหตุนี้ภาพก่อนการเลือกตั้งจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ดูด ส.ส.” ที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในเขตเลือกตั้งเพื่อหวังจะได้คะแนนเสียงจากฐานเสียงของ ส.ส. ที่ดูดมาสามารถช่วยทำให้พรรคการเมืองที่มีนโยบาย หรือภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็ยังคงปรากฏภาพการดูด ส.ส. เพื่อทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีความเข้มแข็งและอิทธิพลทางการเมืองสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นอํานาจที่มาจากประชาชน ผู้ปกครองประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเพียงตัวแทนที่ได้รับมอบอํานาจให้ใช้อํานาจอธิปไตย แทนประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง[1] ทั้งนี้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[2] มาตรา 83 กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน ดังนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน
สภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อยู่ในหมวดที่ 7 รัฐสภา ประกอบด้วย มาตรา 83 ถึงมาตรา 106 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละ 1 คะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งจะส่งผู้สมัครคนเดียวกันลงสมัครรับเลือกตั้งเกิน 1 เขตมิได้
สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกัน โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้คณะกรรมการ
การเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรนั้น โดยหลักแล้วเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้แต่ทำได้เพียงปีละครั้ง รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา[3]
สำหรับการเมืองแบบรัฐสภาของไทยนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ชื่นชอบ ซึ่งคะแนนที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตได้รับ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตามจะถูกนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคเมืองแต่ละพรรคควรจะได้ และสรุปออกมาเป็นที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบบเช่นนี้ทำให้ความนิยมในตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตกลายเป็นหัวใจสำคัญในสนามเลือกตั้ง ทำให้ทุกพรรคการเมืองต่างวางแผนและลงทุนในการหาตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตอย่างมาก จนเป็นปรากฏการณ์
“พลังดูด”
การดูด ส.ส. เป็นการต่อรองกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อหวังให้คนในพรรคที่ต้องการมาอยู่กับพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการสนับสนุนซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ปฏิบัติการ “ดูด” เกิดขึ้นมากมาย ประกอบด้วย การให้ทรัพย์สิน/เงินทอง การเอื้อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง การให้ความช่วยเหลือทางคดีความ และการคลายทุกข์ให้เครือญาติ แต่แนวคิดการดูด ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. ให้ย้ายสังกัดพรรคการเมืองก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าจับตามองเพราะแม้แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงแนวคิดการดูด ส.ส. ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการจัดการเลือกตั้งว่า การดูด ส.ส. มีกันทุกพรรคการเมือง และมีมาอย่างยาวนาน เป็นครรลองประชาธิปไตยของไทย ประชาชนควรใช้วิจารณญาณได้ว่าอะไรคือการทำเพื่อส่วนรวมหรือพวกพ้อง และยังกล่าวอีกว่าหากการดูด ส.ส. นั้นมีเป้าหมายร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนน่าจะช่วยกันทำงานได้[4]
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการดูด ส.ส. สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และช่วงที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว ดังนี้
1. ช่วงก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไป
ก่อนหน้าการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐถูกกล่าวหาเรื่อง “ดูดส.ส.” อย่างหนักหน่วงจากพรรคการเมืองอื่น วิธีการดึงดูดตัวผู้มีชื่อเสียงให้มาสมัคร ส.ส.
ในนามของพรรค เริ่มตั้งแต่การทาบทามไปจนถึงวีธีการที่ว่ากันว่า มีการข่มขู่หากไม่ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจะสร้างความลำบากในการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดมีผู้สมัคร ส.ส. ถูกดูดย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครในระบบแบ่งเขตมีไม่น้อยกว่า 91 คน แบ่งเป็น ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคเดิมจำนวน 37 คน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 18 คน, พรรคภูมิใจไทย 13 คนและมีบางส่วนที่เคยสังกัดพรรคขนาดรองอื่นๆ
มาก่อน
จากผลการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 97 เขต เป็นผลงานของ ส.ส. แชมป์เก่าที่ถูกพลังดูดให้ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจำนวน 37 คน กวาดคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐไปทั้งสิ้น 1,412,522 คะแนน โดยแบ่งเป็นอดีต ส.ส. หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยจำนวน 22 คน คะแนนรวม 866,267 คะแนน, พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน คะแนนรวม 170,153 คะแนน, พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน คะแนนรวม 159,497 คะแนน, พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คน คะแนนรวม 41,918 คะแนน, พรรคพลังชล 2 คน คะแนนรวม 92,912 คะแนน และพรรคภูมิใจไทย 2 คน คะแนนรวม 81,775 คะแนน
สำหรับผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ส. เคยได้รับชัยชนะในนามของพรรคสังกัดเดิมมีแนวโน้มจะคว้าชัยได้จำนวน 23 ที่นั่ง แบ่งเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย 17 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง, พรรคพลังชล 2 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง โดยจังหวัดที่พรรคพลังประชารัฐสามารถชนะได้ทั้งจังหวัด จากการส่ง ส.ส. ที่ดูดมาลงสนาม ได้แก่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชรและสระแก้ว นอกจากนี้ยังมีตระกูลการเมืองที่ลงสมัครแล้วสอบผ่านได้ทุกคน ได้แก่ ตระกูลรัตนเศรษฐและตระกูล
เทียนทอง
เมื่อเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งจากปี 2554 กับปี 2562 ของบรรดาผู้สมัคร ส.ส. ที่มาตาม “พลังดูด” แล้วชนะการเลือกตั้ง 91 คน แบ่งได้เป็น[5]
1) ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะอีกในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 18 คน
2) ผู้ที่เคยแพ้การเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะได้ในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 11 คน
3) ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐแล้วแพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 18 คน
4) ผู้ที่เคยแพ้การเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐก็แพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 34 คน
5) ผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะได้ในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 7 คน
6) ผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐก็แพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 3 คน
เมื่อพิจารณาจาก “ส.ส. พลังดูด” ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้ง 91 คน เป็น ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่นจากการเลือกตั้งปี 2554 แล้วมาชนะอีกในการเลือกตั้ง 2562 มีจำนวน 19 คน เมื่อจัดลำดับตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับต่อจำนวนบัตรดีของในแต่ละเขต พบว่า ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย
ตารางที่ 1: ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่น และชนะอีกครั้งในปี 2562
ลำดับ |
จังหวัด |
ชื่อผู้สมัคร |
พรรคสังกัดเดิม |
คะแนนที่ได้ |
คะแนนรวม |
คิดเป็น % |
1 |
สระแก้ว |
ฐานิสร์ เทียนทอง |
พรรคเพื่อไทย |
63,099 |
100,804 |
62.596 |
2 |
สระแก้ว |
ตรีนุช เทียนทอง |
พรรคเพื่อไทย |
52,787 |
98,292 |
53.704 |
3 |
พะเยา |
ธรรมนัส พรหมเผ่า |
พรรคเพื่อไทย |
52,417 |
98,921 |
52.989 |
4 |
ชลบุรี |
รณเทพ อนุวัฒน์ |
พรรคพลังชล |
54,644 |
106,056 |
51.524 |
5 |
เพชรบูรณ์ |
จักรัตน์ พั้วช่วย |
พรรคเพื่อไทย |
49,741 |
105,067 |
47.342 |
6 |
นครราชสีมา |
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ |
พรรคเพื่อไทย |
40,454 |
86,124 |
46.972 |
7 |
ราชบุรี |
ปารีณา ไกรคุปต์ |
พรรคเพื่อไทย |
46,409 |
101,947 |
45.523 |
8 |
เพชรบูรณ์ |
วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ |
พรรคเพื่อไทย |
43,242 |
97,855 |
44.19 |
9 |
กาญจนบุรี |
พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ |
พรรคเพื่อไทย |
40,308 |
100,348 |
40.168 |
10 |
ราชบุรี |
บุญยิ่ง นิติกาญจนา |
พรรคเพื่อไทย |
40,030 |
100,038 |
40.015 |
11 |
เพชรบูรณ์ |
เอี่ยม ทองใจสด |
พรรคเพื่อไทย |
36,034 |
94,485 |
38.137 |
12 |
นครราชสีมา |
ทัศนียา รัตนเศรษฐ |
พรรคเพื่อไทย |
35,983 |
98,363 |
36.582 |
13 |
เพชรบูรณ์ |
สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ |
พรรคเพื่อไทย |
35,225 |
97,159 |
36.255 |
14 |
กำแพงเพชร |
อนันต์ ผลอำนวย |
พรรคพลังประชาชน |
31,127 |
86,951 |
35.798 |
15 |
ชลบุรี |
สุชาติ ชมกลิ่น |
พรรคพลังชล |
38,268 |
111,517 |
34.316 |
16 |
กำแพงเพชร |
ปริญญา ฤกษ์หร่าย |
พรรคเพื่อไทย |
30,112 |
89,152 |
33.776 |
17 |
กำแพงเพชร |
ไผ่ ลิกค์ |
พรรคเพื่อไทย |
32,642 |
97,365 |
33.525 |
18 |
ชลบุรี |
สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ |
พรรคประชาธิปัตย์ |
31,261 |
94,469 |
33.091 |
19 |
สระบุรี |
กัลยา รุ่งวิจิตรชัย |
พรรคประชาธิปัตย์ |
31,035 |
120,669 |
25.719 |
ส่วนจำนวนผู้สมัคร “ส.ส.พลังดูด” ที่ลงสนามเลือกตั้ง 91 คน เป็น ส.ส. ที่เคยสอบตกในการเลือกตั้งครั้งก่อนภายใต้สังกัดพรรคอื่น แต่ย้ายมาพรรคพลังประชารัฐแล้วประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 11 คน ในจำนวนนี้ 9 คนเคยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งปี 2554 และมีฐานเสียงเป็นทุนเดิมอยู่ไม่น้อยที่ทำให้กลับมาชนะในการเลือกตั้ง 2562 ได้ เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตารางที่ 2: ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่กลับมาชนะในปี 2562
ลำดับ |
จังหวัด |
ชื่อผู้สมัคร |
พรรคสังกัดเดิม |
คะแนนที่ได้ |
คะแนนรวม |
คิดเป็น % |
1 |
กาญจนบุรี |
อัฏฐพล โพธิพิพิธ |
พรรคประชาธิปัตย์ |
21,363 |
54,369 |
39.293 |
2 |
สิงห์บุรี |
โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ |
พรรคชาติไทยพัฒนา |
48,970 |
125,186 |
39.118 |
3 |
สมุทรปราการ |
กรุงศรีวิไล สุทินเผือก |
พรรคภูมิใจไทย |
41,745 |
122,662 |
34.033 |
4 |
นราธิวาส |
วัชระ ยาวอหะซัน |
พรรคชาติไทยพัฒนา |
32,268 |
98,960 |
32.607 |
5 |
กรุงเทพมหานคร |
ชาญวิทย์ วิภูศิริ |
พรรคประชาธิปัตย์ |
31,551 |
100,447 |
31.411 |
6 |
นครสวรรค์ |
นิโรธ สุนทรเลขา |
พรรคเพื่อไทย |
25,998 |
84,898 |
30.623 |
7 |
สระบุรี |
กัลยา รุ่งวิตรชัย |
พรรคประชาธิปัตย์ |
31,035 |
120,669 |
25.719 |
8 |
นครสวรรค์ |
ภิญโญ นิโรจน์ |
พรรคชาติพัฒนาฯ |
24,656 |
98,290 |
25.085 |
9 |
แม่ฮ่องสอน |
ปัญญา จีนาคำ |
พรรคชาติไทยพัฒนา |
29,754 |
133,617 |
22.268 |
10 |
ตาก |
ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ |
เพื่อไทย |
43,787 |
107,487 |
40.737 |
11 |
ระยอง |
สมพงษ์ โสภณ |
เพื่อไทย |
29,077 |
97,025 |
29.968 |
นอกจากนี้การเลือกตั้ง 2562 มี "ส.ส. พลังดูด” ที่เคยชนะในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ลงสมัครแล้วแพ้ จำนวน 18 คน โดย 9 คนเป็น ส.ส. ที่ถูก “ล้มแชมป์” โดย ส.ส. จากพรรคสังกัดเดิม และเป็นการแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทยจำนวน 8 คน ซึ่ง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมดเป็น ส.ส. หน้าใหม่ที่ลงสมัครในพื้นที่ฐานเสียงเดิมของเพื่อไทย ดังนี้
ตารางที่ 3: ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เคยชนะการเลือกตั้ง แต่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2562
ลำดับ |
จังหวัด |
ชื่อผู้สมัคร |
พรรคสังกัดเดิม |
'คะแนนที่ได้ในปี '2554 |
'คะแนนของพรรคที่ชนะ ในปี '2562 |
'คะแนนที่ได้ในปี '2562 (อันดับ) |
1 |
นนทบุรี |
ฉลอง เรี่ยวแรง |
เพื่อไทย |
50,966 |
28,954 |
27,725 (2) |
2 |
อยุธยา |
องอาจ วชิรพงศ์ |
เพื่อไทย |
49,190 |
50,646 |
34,105 (2) |
3 |
ลพบุรี |
อำนวย คลังผา |
เพื่อไทย |
62,091 |
28,326 |
26,584 (2) |
4 |
เลย |
ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข |
เพื่อไทย |
38,049 |
41,763 |
22,291 (3) |
5 |
เลย |
เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข |
เพื่อไทย |
34,835 |
55,514 |
31,105 (2) |
6 |
เลย |
วันชัย บุษบา |
เพื่อไทย |
48,961 |
53,289 |
19,367 (3) |
7 |
กาฬสินธุ์ |
นิพนธ์ ศรีธเรศ |
เพื่อไทย |
54,178 |
40,262 |
18,266 (2) |
8 |
อุบลราชธานี |
สุทธิชัย จรูญเนตร |
เพื่อไทย |
37,573 |
42,903 |
33,960 (2) |
9 |
นครพนม |
ชูกัน กุลวงษา |
เพื่อไทย |
50,609 |
44,675 |
28,326 (2) |
10 |
จันทบุรี |
ธวัชชัย อนามพงศ์ |
ประชาธิปัตย์ |
47,770 |
26,805 |
25,661 (2) |
11 |
จันทบุรี |
ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา |
ประชาธิปัตย์ |
53,709 |
28,750 |
27,766 (2) |
12 |
ฉะเชิงเทรา |
บุญเลิศ ไพรินทร์ |
ประชาธิปัตย์ |
43,510 |
35,045 |
30,116 (2) |
13 |
ฉะเชิงเทรา |
พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ |
ประชาธิปัตย์ |
59,036 |
42,342 |
39,361 (2) |
14 |
ชลบุรี |
พันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา |
พลังชล |
36,550 |
43,284 |
38,321 (2) |
15 |
ชลบุรี |
ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ |
พลังชล |
28,402 |
31,247 |
28,001 (2) |
16 |
สุโขทัย |
จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล |
ภูมิใจไทย |
27,671 |
34,884 |
32,133 (2) |
17 |
ราชบุรี |
ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร |
ภูมิใจไทย |
35,511 |
37,423 |
32,677 (2) |
18 |
นครราชสีมา |
บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ |
ภูมิใจไทย |
45,331 |
38,632 |
30,795 (2) |
2. ช่วงที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว
ภายหลังการเลือกตั้งและได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแล้ว ได้ปรากฏกรณีดูด ส.ส. เกิดขึ้นซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ผ่านกรณีที่ 9 ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ของพรรคได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยจำนวน 9 คน ซึ่งส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ทะยานเป็นพรรคอันดับสอง ในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลทันที ด้วยการมีที่นั่งถึง 61 เสียง รองจากพรรคพลังประชารัฐ ผลที่พรรคภูมิใจไทยได้รับจากการก้าวขึ้นเป็นพรรคอันดับสองของพรรคร่วมรัฐบาล มีด้วยกันใน 3 ประการ คือประการแรก ย่อมทำให้สามารถต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะมีมือในสภาเพิ่มขึ้น และในประการต่อมาคือ จะรักษาเก้าอี้ในกระทรวงสำคัญอย่าง รมว.คมนาคม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถูกแกนนำในพรรคพลังประชารัฐ แซะมาตลอด ได้อย่างมั่นคงอีกด้วย และอีกประการที่สำคัญยิ่งในการดูดส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่เข้ามาในครั้งนี้ คือ เพื่อเป้าหมายเตรียมการรองรับแผนดัน "อนุทิน ชาญวีรกุล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี "ตาอยู่" หรือ "ขัดตาทัพ" แทน "บิ๊กตู่" ทันที หากเกิดกรณีอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งนับเป็นแผนการอันฉลาดและล้ำลึกของแกนนำพรรคภูมิใจไทย[6]
จากเหตุการณ์พลังดูด อดีต ส.ส. อนาคตใหม่ดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านทวิเตอร์ส่วนตัวระบุว่า “ผมเป็น ส.ส.สมัยแรก เจอนักการเมืองอาวุโสรุ่นพี่ ก็ยกมือไหว้ทักทายให้เกียรติกัน ทั้ง พี่หนู อนุทิน พี่ศักดิ์สยาม พี่สรอรรถ พี่ชาดา พี่บุญลือ สัปดาห์ที่แล้ว หลายคนจาก ภท. ก็ให้กำลังใจผมเต็มไปหมดแต่สุดท้าย ก็ “ดูด” สส อนค. ไป ช่วยกันถามหน่อยครับว่าเก่งมาจากไหนได้ไปทีเดียว 9 คน เราจะปล่อยให้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อดึง ส.ส.กลายเป็นเรื่องปกติอย่างนั้นหรือ นักการเมืองรู้ สื่อรู้ ประชาชนรู้ แต่ทำไมเราทำอะไรไม่ได้ นี่หรือคือผลลัพธ์ของการปฏิรูป 5 ปีที่ผ่านมา
อนค. ตั้งใจทำการเมืองโปร่งใส แต่ถูกยุบ สุดท้ายประเทศไทยต้องการพรรค “ดูด” สส แบบนี้หรือ?”
'ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า “น้อยคนในประเทศนี้ ทั้งชีวิตจะมีเงิน 23 ล้านบาทได้ ดังนั้น จำนวนเงินที่หอมหวนเช่นนี้ย่อมสามารถชักจูงโน้มน้าวใจคนหลายคนได้ เหตุผลคือผู้ยื่นข้อเสนอต้องการรวบรวม ส.ส. ให้ครบจำนวนหนึ่งเพื่อต่อรองรัฐบาลให้ตนได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ผมสงสัยว่าหาก ส.ส. คนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ หากได้เป็นรัฐมนตรี ย่อมต้องการถอนทุนคืน ด้วยภาษีประชาชน เราเคยพูดในหลายครั้งหลายโอกาสว่าเรามีหลายคลิปของหลายคน นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
.นี่คือการทำลายระบบรัฐสภาโดยใช้อำนาจเงินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว นี่คือการกระทำที่ไร้ยางอายที่พร้อมทำลายเสียงของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตน นี่คือการแสวงหาความมั่นคงในสภาโดยไม่สนใจเจตนาของประชาชน ผมฝากประชาชนและสื่อมวลชนช่วยถามแกนนำพรรคที่ยื่นข้อเสนอว่าจะจัดการอย่างไรกับ ส.ส. ของพรรคที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ พรรคนั้นจะมีท่าทีต่อ ส.ส. ท่านนั้นอย่างไร”[7]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ชื่นชอบ ซึ่งคะแนนที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตได้รับ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตามจะถูกนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคเมืองแต่ละพรรคควรจะได้ และสรุปออกมาเป็นที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบบเช่นนี้ทำให้ความนิยมในตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตกลายเป็นหัวใจสำคัญในสนามเลือกตั้ง ทำให้ทุกพรรคการเมืองต่างวางแผนและลงทุนในการหาตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตอย่างมาก จนเป็นปรากฏให้เห็น “การดูด ส.ส.” ขึ้น
การดูด ส.ส. เป็นการต่อรองกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อหวังให้คนในพรรคที่ต้องการมาอยู่กับพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการสนับสนุนซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ปฏิบัติการ “ดูด” เกิดขึ้นมากมาย ประกอบด้วย การให้ทรัพย์สิน/เงินทอง การเอื้อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง การให้ความช่วยเหลือทางคดีความ และการคลายทุกข์ให้เครือญาติ เช่น ก่อนหน้าการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ “ดูด ส.ส.” อย่างหนักจากพรรคการเมืองอื่น วิธีการดึงดูดตัวผู้มีชื่อเสียงให้มาสมัคร ส.ส. ในนามของพรรค เริ่มตั้งแต่การทาบทามไปจนถึงวิธีการที่ว่ากันว่า มีการข่มขู่หากไม่ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจะสร้างความลำบากในการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดมีผู้สมัคร ส.ส. ถูกดูดย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครในระบบแบ่งเขตมีไม่น้อยกว่า 91 คน แบ่งเป็น ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคเดิมจำนวน 37 คน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 18 คน, พรรคภูมิใจไทย 13 คนและมีบางส่วนที่เคยสังกัดพรรคขนาดรองอื่นๆ มาก่อน ซึ่งทำให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น ได้ ส.ส. เข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรในหลายจังหวัดในลักษณะยกทั้งจังหวัด เช่น จังหวัดสระแก้ว จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น และแม้แต่ภายหลังการเลือกตั้งและได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแล้ว ก็ได้ปรากฏกรณีดูด ส.ส. เกิดขึ้นจากการที่ 9 ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ของพรรคได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยจำนวน 9 คน ซึ่งส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ทะยานเป็นพรรคอันดับสอง ในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลทันที ด้วยการมีที่นั่งถึง 61 เสียง รองจากพรรคพลังประชารัฐ ผลที่พรรคภูมิใจไทยได้รับจากการก้าวขึ้นเป็นพรรคอันดับสองของพรรคร่วมรัฐบาล มีด้วยกันใน 3 ประการ คือประการแรก ย่อมทำให้สามารถต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะมีมือในสภาเพิ่มขึ้น และในประการต่อมาคือ จะรักษาเก้าอี้ในกระทรวงสำคัญอย่าง รมว.คมนาคม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถูกแกนนำในพรรคพลังประชารัฐ แซะมาตลอด ได้อย่างมั่นคงอีกด้วย และอีกประการที่สำคัญยิ่งในการดูดส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่เข้ามาในครั้งนี้ คือ เพื่อเป้าหมายเตรียมการรองรับแผนดัน "อนุทิน ชาญวีรกุล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี "ตาอยู่" หรือ "ขัดตาทัพ" แทนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเกิดกรณีอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งนับเป็นแผนการอันฉลาดและล้ำลึกของแกนนำพรรคภูมิใจไทยที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งนั่นเอง
4. สรุป
การดูด ส.ส. เป็นการต่อรองกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อหวังให้คนในพรรคที่ต้องการมาอยู่กับพรรคการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าเรื่องของนโยบายและอุดมการณ์พรรคการเมือง และผลจากการดูด ส.ส. ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยทั้งก่อนและภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 สะท้อนลักษณะของการเมืองไทยได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ นักการเมืองบางคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่ต้องการเงินทองของล่อใจและหวังสืบทอดอำนาจผ่านระบบการช่วยเหลือเกื้อหนุนจากผู้มีอำนาจทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองไม่จบไม่สิ้น ส่งผลให้การเมืองไทยไม่พัฒนาตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งเพราะกลไกของระบบการเมืองและการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ทำให้เกิดการดูด ส.ส. ขึ้น
5. บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจ. (2563) 'ปิยบุตร' โวย! ภูมิใจไทย ดูด 9 ส.ส., สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867761?fbclid=IwAR3nuW-_xWHtP4HsJEv2T7X5F8HWxyf7sBWHyUleo2n0K4Rcm9U9ScIom4I, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
ฉัตรชัย ศรีเมองกาญจนา. (ม.ป.ป.). บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. สืบค้นจาก
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=43645, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
นิวทีวี. (2561). นายกฯ ชี้ดูด ส.ส. เป็นครรลอง ปชต.ไทย, สืบค้นจาก
https://www.newtv.co.th/news/14894, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
โพสต์ทูเดย์. (2563). แผนดูดส.ส.อนาคตใหม่เข้า"ภูมิใจไทย"เกมดัน"อนุทิน"นั่งนายกฯ, สืบค้นจาก
https://www.posttoday.com/politic/analysis/615987?fbclid=IwAR2XbJAU662QqKjDwb02j5V91FP_1pwEBX8T15dvXUeKFwXwz-gfkgsh_hc, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และวรศักดิ์ จันทร์ภักดี. (ม.ป.ป.) สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทย พ.ศ. 2560, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563
ไอลอว์. (2562). สำรวจชัยชนะ ส.ส. พลังดูดพลังประชารัฐ, สืบค้นจาก
https://ilaw.or.th/node/5266?fbclid=IwAR1hqhSsV_vSLkaeXCvGkYz20aTndwWHRmvoFv3Ble9WolEm0QGnofMcrY, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
อ้างอิง
[1] ฉัตรชัย ศรีเมองกาญจนา. (ม.ป.ป.). บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. สืบค้นจาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=43645, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
[2]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563
[3] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และวรศักดิ์ จันทร์ภักดี. (ม.ป.ป.) สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title, เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2563
[4] นิวทีวี. (2561). นายกฯ ชี้ดูด ส.ส. เป็นครรลอง ปชต.ไทย, สืบค้นจาก https://www.newtv.co.th/news/14894, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
[5]ไอลอว์ (2562). สำรวจชัยชนะ ส.ส. พลังดูดพลังประชารัฐ, สืบค้นจาก
https://ilaw.or.th/node/5266?fbclid=IwAR1hqhSsV_vSLkaeXCvGkYz20aTndwWHRmvoFv3Ble9WolEm0QGnofMcrY, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
[6] โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ (2563). แผนดูดส.ส.อนาคตใหม่เข้า"ภูมิใจไทย"เกมดัน"อนุทิน"นั่งนายกฯ, สืบค้นจาก
https://www.posttoday.com/politic/analysis/615987?fbclid=IwAR2XbJAU662QqKjDwb02j5V91FP_1pwEBX8T15dvXUeKFwXwz-gfkgsh_hc, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563
[7]กรุงเทพธุรกิจ. (2563) 'ปิยบุตร' โวย! ภูมิใจไทย ดูด 9 ส.ส., สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867761?fbclid=IwAR3nuW-_xWHtP4HsJEv2T7X5F8HWxyf7sBWHyUleo2n0K4Rcm9U9ScIom4I, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563