ดำรงไทย (พ.ศ.2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคดำรงไทย (2549)

พรรคดำรงไทยได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2549[1] โดยมีนายณัฐวัฒน์ นุชนารถ[2] ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549[3] นายณัฐวัฒน์ นุชนารถ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคดำรงไทยทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคดำรงไทย ทำให้ต้องมีการสรรหาตำแหน่งหัวหน้าพรรคขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ที่ประชุมพรรคได้มีมติเลือกนายนายโชติพัฒน์ สกุลดีเชิดชู[4] ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ในส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคนั้น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคดำรงไทยได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยแบ่งเป็นแบบสัดส่วนจำนวน 10 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 11 คน ซึ่งทั้งหมดมิได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ


นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

1.สนับสนุนและส่งเสริมการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ

2.มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยปราศจากการแทรกแซงด้วยอำนาจแฝงอื่นๆ

3.เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นลำดับแรก


นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1.ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจแบบเสรี โดยยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชนเป็นเป้าหมาย ปรับปรุงโครงสร้างสถาบันการเงินให้มีศักยภาพ

2.กระจายรายได้ด้วยมาตรการกระจายการลงทุนไปสู่ส่วนภูมิภาคอย่างทั่วถึง

3.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดรับกับการลงทุนทุกภาคส่วนของประเทศ

4.ใช้มาตรการการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้คงที่

5.ส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง


ด้านการพัฒนาสังคม

1.ยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมทุกสาขาอาชีพ

2.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ

3.ยกเลิกการจัดเก็บค่าเล่าเรียนของบุตรผู้มีรายได้น้อยโดยส่งเสริมให้ทุนเล่าเรียนถึงระดับปริญญาตรี

4.สนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา โดยจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาระดับชุมชน


นโยบายด้านการต่างประเทศ

1.พัฒนาและกระชับความสัมพันธ์กับต่างชาติ โดยอาศัยเวทีการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก

2.แก้ปัญหาผู้อพยพและแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านให้ยุติอย่างมีขอบเขต

3.ใช้มาตรการการค้าระหว่างประเทศนำร่องเชื่อมมิตรสัมพันธไมตรี


นโยบายด้านการเกษตร

1.แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยจัดตั้งกองทุนซื้อที่ดินกลับคืนจากเอกชน ออกพระราชบัญญัติเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ครอบครองที่ดินผืนใหญ่มิให้ถือครองเกินระยะเวลา 2 ปี

2.แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง โดยการปฏิรูปพัฒนาลุ่มน้ำ จัดตั้งกรมฝนหลวงเพื่อทำฝนเทียมในฤดูแล้ง พัฒนาระบบน้ำจากทุกเขื่อน เพื่อผันน้ำสู่พื้นที่ทางการเกษตร

3.แก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร โดยการยกเลิกการจำนำผลผลิตทางการเกษตรทุกประเภท ส่งเสริมให้องค์กรภาคการเกษตรรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง และสร้างคลังสินค้ากลางให้ครบทุกภูมิภาคของประเทศ


นโยบายด้านอุตสาหกรรม

1.รัฐร่วมลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในชนิดที่ขาดแคลนเพื่อนำร่อง

2.พัฒนาและส่งเสริมสภาพคล่องแกบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม

3.กระจายสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัด

4.จัดตั้งสถาบันประกันมาตรฐานแรงงานเพื่อรับรองคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ยอมรับ

5.ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีและไตรภาคี

6.จัดตั้งศูนย์แรงงานเพื่อบริการจัดหางานและจัดระบบแรงงานที่เป็นธรรม

7.พัฒนาระบบการจัดสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง


นโยบายด้านสาธารณสุข

1.จัดระบบการประกันสุขภาพของประชาชน ให้มีโอกาสรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมในทุกภูมิภาค

2.พัฒนาและยกระดับสถานีอาณามัย

3.จัดระบบบริการรักษาพยาบาลแบบไม่เก็บค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด


นโยบายด้านการศึกษาและศาสนา

1.การศึกษาภาคบังคับไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนทุกระดับ

2.การศึกษานอกโรงเรียนบริการฟรีถึงระดับครัวเรือนทุกชุมชน

3.ส่งเสริมให้มีสภาการศึกษาและวิชาการระดับชาติ

4.ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากที่สุด


นโยบายด้านความมั่นคง

1.เร่งขจัดปัญหาการคอรัปชั่นทุกองค์กร

2.ลดระยะเวลาประจำการของทหารเกณฑ์ลงเหลือ 1 ปี แต่เพิ่มจำนวนการเกณฑ์ทหารประจำการให้มากขึ้นเป็นสองเท่า


นโยบายด้านการต่างประเทศ

1.ยึดมั่นในทุกพันธกรณีที่ได้ให้สัตยาบันไว้ทุกประเทศ

2.แสวงหาแนวร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในการขจัดปัญหาการก่อการร้าย

3.ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทุกชาติ

4.กำหนดบทบาทและทิศทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

5.ผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้า การเข้าเมืองและการส่งผ่านสินค้าเข้าออกกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 32ง หน้า 109
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 32ง หน้า 147
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 60ง หน้า 140
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 92ง หน้า 120