ดาราประถมาภรณ์มงกุฎไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ผ้าปักดิ้นเงิน ดิ้นทอง และไหม

เส้นผ่าศูนย์กลาง 17.2 เซนติเมตร

รอบนอกปักเป็นกระจังสีแดงจำนวน 18 แฉก และกระจังสีเขียวแทรกระหว่างอีก 18 แฉก ถัดเข้ามาเป็นกรอบวงแหวนปักดิ้นเงิน ตรงกลางดวงตราปักดิ้นทองเป็นรูปพระเกี้ยวบนหมอนรองสีเหลืองมีพู่ห้อย 2 ข้าง ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น บนแท่นดอกบัวบาน ขนาบข้างด้วยฉัตร 7 ชั้น และมีลายกระหนกเปลวแทรกอยู่ โดยพื้นหลังปักไหมสีน้ำเงิน

ประวัติความเป็นมา

ดาราประถมาภรณ์มงกุฎไทย เป็นเครื่องประดับในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 เรียกว่า ประถมาภรณ์มงกุฎไทย(เดิมเรียกว่า มหาสุราภรณ์) เรียกย่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นดาราที่ใช้ประดับบนฉลองพระองค์ครุยประถมาภรณ์มงกุฎไทยสำหรับฝ่ายหน้า โดยจะติดที่อกเบื้องซ้ายของฉลองพระองค์ครุย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2412 โดยอนุวัตตามเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน มีการกำหนดชื่อ ชั้น และแพรแถบ

ใน พ.ศ. 2484 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พุทธศักราช 2484” [1]

อ้างอิง

  1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, (กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์, 2523), หน้า 102-103.