ดาราประถมาภรณ์ช้างเผือก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ผ้าปักดิ้นเงิน ดิ้นทอง และไหม

เส้นผ่าศูนย์กลาง 17.0 เซนติเมตร

รอบนอกปักเป็นกระจังด้วยดิ้นเงินจำนวน 16 แฉก และกระจังปักไหมสีแดงแทรกระหว่างอีก 16 แฉก ถัดเข้ามาเป็นกรอบวงแหวนปักดิ้นเงิน ตรงกลางดวงตราเป็นรูปช้างเผือกยืนบนแท่นดอกบัวบาน อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎปักดิ้นทอง ขนาบข้างด้วยฉัตร 7 ชั้น และมีลายกระหนกเปลวแทรกอยู่บนพื้นหลังปักไหมสีฟ้า

ประวัติความเป็นมา

ดาราประถมาภรณ์ช้างเผือก เป็นเครื่องประดับในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 เรียกว่า ประถมาภรณ์ช้างเผือก (เดิมเรียกว่า มหาวราภรณ์) เรียกย่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก เป็นดาราที่ใช้ประดับบนฉลองพระองค์ครุยประถมาภรณ์ช้างเผือกสำหรับฝ่ายหน้า โดยติดไว้ทางเบื้องซ้ายของฉลองพระองค์ครุย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริสร้างขึ้นเมื่อปีระกา พ.ศ. 2404 จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน เดิมทำเป็นรูปช้างสลักบนแผ่นทองคำ มีรูปแบบต่างๆ กัน บางชนิดทำเป็นรูปช้างมีมงกุฎและเครื่องสูงลงยาราชาวดีประดับเพชร บางชนิดก็มีแต่ช้างและมงกุฎไม่มีเครื่องสูง บางชนิดทำเป็นรูปช้างกับธงลงยาบ้าง ไม่ลงยาบ้าง ไม่มีชื่อและชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นแต่เรียกกันว่า “เดคอเรแชน” ( Decoration) สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ข้าราชการที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือทูตต่างประเทศ และชาวต่างประเทศบางคนที่เข้ามาในประเทศไทย

ใน พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริเห็นว่า ตรารูปช้างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างไว้นั้น นับได้ว่าเป็นเครื่องราชอิสริยยศอย่างสูง เพราะมีรูปช้างเผือกอันเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน และเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศทั่วไป สมควรที่จะได้จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานตอบแทนพระมหากษัตริย์ต่างประเทศหรือพระราชทานแก่ผู้ที่ทำความชอบทางราชการ แต่โดยที่ของเดิมที่สร้างขึ้นไว้นั้น ยังไม่มีชื่อ ชั้น และแพรแถบ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดชื่อ ชั้น และแพรแถบขึ้น

ใน พ.ศ. 2484 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขชื่อ ชั้น และแพรแถบเสียใหม่ พร้อมทั้งตราพระราชบัญญัติ เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก พุทธศักราช 2484” [1]

อ้างอิง

  1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, (กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์, 2523), หน้า 88-89.