ซ้ายจัดดัดจริต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียง:       
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
 2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


ซ้ายจัดดัดจริต

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการเคลื่อนไหวของผู้นำกองทัพเพื่อแสดงจุดยืนของกองทัพในวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและในวลีหนึ่งได้กล่าวถึง “ซ้ายจัดดัดจริต” และกลายเป็นวลีทางการเมืองในช่วงเวลานั้นที่สื่อมวลชนนำไปขยายผลและพาดหัวสื่อในลักษณะต่างๆ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามว่า ฝ่ายซ้าย หมายถึง กลุ่มที่มีอุดมคติเพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น มักใช้วิธีการที่รุนแรงและรวดเร็ว โดยทั่วไปใช้หมายถึงกลุ่มที่นิยมลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์[1]

คำว่า ฝ่ายซ้าย - ฝ่ายขวา (left – right politics) เป็นระบบจำแนกจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองและพรรคการเมือง การเมืองฝ่ายซ้ายและการเมืองฝ่ายขวามักถูกนำเสนอว่าขัดแย้งกัน แม้ว่าปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มอาจมีจุดยืนฝ่ายซ้ายในประเด็นหนึ่งและจุดยืนฝ่ายขวาในอีกประเด็นหนึ่ง และจุดยืนฝ่ายขวาในอีกประเด็นหนึ่งก็ได้ ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่กำเนิดของคำดังกล่าว ฝ่ายซ้ายถูกเรียกว่า “ขบวนการเคลื่อน” (party of movement) และฝ่ายขวาถูกเรียกว่า “ขบวนการระเบียบ” (party of order) จุดยืนแบบเป็นกลางเรียกว่า “สายกลาง” (centrism) และบุคคลที่มีจุดยนดังกล่าวเรียกว่า “กลุ่มสายกลาง หรือผู้เดินสายกลาง” (moderate) จากข้อมูลที่มีการรวบรวมได้และเป็นที่ยอมรับตรงกันได้มีการแบ่งกลุ่มของ “ฝ่ายซ้าย – ฝ่ายขวา” เอาไว้ดังนี้[2] ฝ่ายซ้าย ประกอบด้วย กลุ่มก้าวหน้า เสรีนิยมคลาสสิค สังคมเสรีนิยม กรีน สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อิสรนิยมฝ่ายซ้าย ฆราวาสนิยม คตินิยม สิทธิสตรี ลัทธิอัตตาณัติ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม ลัทธิต่อต้านทุนนิยม และอนาธิปไตย ส่วนฝ่ายขวา ประกอบด้วย อนุรักษนิยม นักปฏิกิริยา อนุรักษนิยมใหม่ ประเพณีนิยม ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ อิสรนิยมฝ่ายขวา อำนาจนิยมฝ่ายขวา กษัตริย์นิยม เทวาธิปไตย ชาตินิยม นาซี (รวมถึงนาซีใหม่) และฟาสซิสต์

โชคชัย สุทธาเวศ ได้อธิบายพัฒนาการของการมีฝ่ายซ้าย (Left-wing) และฝ่ายขวา (Right-wing) ในทางการเมืองว่า กำเนิดขึ้นมานานไม่ว่าจะในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยที่ใช้สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาเป็นที่ทำงานของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ในการเมืองระดับต่างๆ พวกฝ่ายซ้ายคือตัวแทนของผู้ด้อยอำนาจและเป็นคนยากคนจน ที่มีอยู่จำนวนมหาศาล เช่น กรรมกร ผู้เปราะบางที่ตกขอบในสังคม ส่วนพวกฝ่ายขวาคือ ฝ่ายเจ้าและเหล่าทหาร ขุนนางผู้ทรงเกียรติ คนร่ำรวย เจ้าของทุน เจ้าของกิจการ และนักธุรกิจ เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายนิยมแยกกันนั่งคนละฝั่ง

ในระดับสากล พรรคการเมืองในแนวอนุรักษ์นิยม เป็นพรรคของผู้มีอำนาจในสังคมดั้งเดิมและให้ความสำคัญกับคนข้างบนๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะสุขสบายมากกว่าคนข้างล่างผู้ทุกข์ยาก จึงมักเรียกกันว่าพรรคฝ่ายขวา ทหารที่เป็นชาตินิยม ฟาสซิสต์ รวมทั้งผู้ที่รับใช้ผู้มีอำนาจในสังคมดั้งเดิมก็เช่นกัน ก็จะถูกจัดอยู่ในพวกฝ่ายขวา ส่วนพรรคสังคมนิยมเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของมวลชนคนไร้สมบัติและคนยากคนจนทั้งหลาย จึงมักเรียกกันว่าพรรคฝ่ายซ้าย รวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ทำให้คนเสมอภาคกัน และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงๆจังๆ เพื่อยกเลิกความไม่เป็นธรรมต่างๆที่เป็นอยู่ ก็มักจะเป็นขบวนการของชาวฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะซ้ายเก่าหรือใหม่ก็ตาม ที่ทำงานร่วมกับชาวอนาธิปัตย์ (Anarchist) และชาวเสรีนิยม (Libertarian) ขบวนการต่อสู้ดังกล่าวนี้ ต้องการได้อำนาจรัฐและใช้มันเพื่อปลดปล่อยการครอบงำและการเอารัดเอาเปรียบจากชาวฝ่ายขวา ที่อาจมีอำนาจรัฐอยู่เดิมในเวลานั้น หรืออยู่เหนือฝ่ายซ้ายโดยสถานภาพทั่วๆไปในสังคม

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในระบอบประชาธิปไตย แบบที่รัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ประเทศในแนวทุนนิยมสวัสดิการและทุนนิยมการตลาดเพื่อสังคม เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวียน (สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์) ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ พรรคฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ในประเทศได้อำนาจรัฐร่วมกันยาวนานกว่าฝ่ายขวา แต่ก็ไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป นอกดินแดนแถบนั้น ดังเช่น ในเยอรมนีพรรคฝ่ายขวาได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายซ้าย ส่วนประเทศในแนวทุนนิยมเสรี เช่น สหรัฐอเมริกา พรรคลูกผสมฝ่ายซ้ายกับขวากลาง (คือพรรคเดโมแคร์ท) ได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายขวา (คือพรรครีพับลิกัน) เล็กน้อย แต่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น พรรคฝ่ายขวาได้อำนาจรัฐยาวนานกว่าฝ่ายซ้ายในระยะเวลาที่ค่อนข้างมาก ในประเทศไทยที่ทุนนิยมเสรีเป็นใหญ่เช่นกัน นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยกเว้นในช่วงของคณะราษฎร พรรคฝ่ายขวาทั้งผ่านการเลือกตั้งและฝ่ายขวาแบบเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจมาได้ เป็นรัฐบาลยาวนานกว่าพรรคฝ่ายซ้าย (ที่มีอยู่น้อยมาก)
ในระยะเวลาที่ค่อนข้างมากเช่นกัน[3]

 

2.  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562  ที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ผู้บัญชาการทหาร (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมพิธีวันสถาปนา พล.ร.1รอ. ครบรอบ 112 ปี โดยได้แถลงถึงจุดยืนของกองทัพว่าเดิมตั้งใจเขียนเป็นข้อความ แต่ได้นั่งคิดมาสองคืนแล้ว แต่เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน 2562 นายกรัฐมนตรีออกเป็นสารถึงประชาชน จึงตัดสินใจไม่ทำเป็นสาร และจะสรุปเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจ ตนเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างชาติเมื่อสองเดือนก่อนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะต้องเดินไปตามวิถีทางการเมืองซึ่งจากการสัมภาษณ์ดังกล่าวมีประเด็นดังนี้[4]

1) ยันกองทัพเป็นทหารอาชีพ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กองทัพบก จะต้องกลับมาอยู่ในส่วนของกองทัพที่จะต้องพัฒนาตัวเองเป็นทหารอาชีพ อยากให้ทุกคนเข้าใจ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาว่า ปัจจุบันกองทัพบกเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีความสง่างามทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องกำลังพล เนื่องจากปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมถึง ผบ.ทบ.แม่ทัพภาค และผู้บังคับหน่วย ถือเป็นต้นแบบให้กับทหารในกองทัพบก ในนามของหน่วยทหารเฉพาะกิจมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ทั้งเรื่องระเบียบวินัย และลักษณะทหารที่ดี กองทัพบกเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่จะต้องทำงานเพื่อพิทักษ์ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตนและกองทัพไม่ได้ทำงานการเมือง

2) ลั่นทหารอยู่เคียงข้างประชาชน

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัส เน้นย้ำอยู่เสมอว่า ทหารจะต้องอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริงและผมก็ให้คำมั่นว่า ทหารยุคนี้จะอยู่เคียงข้างกับประชาชนอย่างแท้จริงโดยจะวางตัวอยู่ในบทบาทของทหารในการปกป้องประเทศ อธิปไตยและช่วยเหลือประชาชนทุกเรื่องซึ่งต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าใครเป็นผู้บังคับหน่วยและไม่ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ไม่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่  ตนขอบอกเลยว่าไม่มีใครที่จะอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ ตนได้พูดเสมอและให้โอวาทผู้บังคับหน่วยทุกคนว่าตำแหน่งผู้นำของหน่วยทหารไม่ใช่เป็นตำแหน่งที่มีข้อยกเว้นว่า จะต้องทำงานน้อยกว่าคนอื่น ต้องทำงานมากกว่าคนอื่นอย่านำมาเป็นข้ออ้าง ขอให้มั่นใจทหารยุคนนี้จะดูแลปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี

3) วาทกรรมสุมสงครามกลางเมือง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าประเทศไทย ไม่ยอมรับกติกาที่มีอยู่ แบ่งแยกระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการซึ่งเป็นเพียงวาทกรรม ที่ถูกสร้างขึ้นมา ถามว่าเราเป็นคนไทยด้วยกันหรือไม่ วาทกรรมนี้ถูกแบ่งขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อแบ่งแยกประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ตามได้คะแนนเสียง 8 ล้าน 7 ล้าน 4 ล้าน 5 ล้าน นำมารวมกันเป็น 20-30 กว่าล้านเสียง นั้นหมายความว่า เราต้องการให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรืออย่างไร ณ วันนี้ยังคิดถึงการแบ่งฝ่ายแบ่งแยกอยู่ หรืออย่างไร ทำไม จึงไม่เคารพกติกา แล้วไปสู้กันในสภาฯ

4) จวกการเมืองปลุกซ้ายตกขอบ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ต่อว่าในชีวิตผ่านและเห็นการปฏิวัติรัฐประหารรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้กระทั่งการทำสัตยาบรรณตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2534 ที่มีอดีตนักการเมืองหลายคนที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วร่วมลงสัตยาบรรณ อาทิ นายมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคมและนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ลงสัตยาบรรณตั้งรัฐบาล ท้ายที่สุดก็มีการฉีกสัตยาบรรณทิ้ง นี่คือวาทะการเมืองและเกมการเมืองที่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกชี้นำโดยนักการเมืองแบบเดิมๆหรือ พวกซ้ายตกขอบ

5) ติงควรจับมือกันไปต่อสู้ในสภา

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมถามว่า นิสิต นักศึกษาออกมาใช้เสียงครั้งแรกผมและทหารชื่นชมที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิกัน แต่เมื่อใช้สิทธิแล้วท่านจะเลือกใคร ท่านเลือกไปแล้ว ทำไมนักการเมืองไม่มาจับมือกันและไปต่อสู้กันในสภาฯ ต่างคนต่างทำหน้าที่เพื่อให้ประเทศชาติก้าวต่อไปข้างหน้า หากใครก็ตามเป็นรัฐบาลแล้วทำไม่ดี ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ทำไมต้องมานั่งเถียงกัน แบ่งแยกแบ่งข้างกันทำให้ชาวโลกประเทศต่างๆมานั่งขำประเทศไทย ทั้งที่เราอยู่ภายใต้แผ่นดินไทย และภายใต้โพธิสมภารกันทั้งสิ้น”

6) รับโซเซียลมีอานุภาพกว่าอาวุธ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ต่อว่ากองทัพบกเป็นเพียงองค์กรหนึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศทั้งประเทศได้หรือทำอะไรให้พวกท่านรักประเทศได้แต่ตนถามว่าเราเป็นคนไทยด้วยกันหรือไม่
ตนยืนยันเราเป็นคนไทยด้วยกัน กองทัพบกจะยืนอยู่เคียงข้างทุกคนเพราะเราก็เป็นประชาชนและเป็นลูกหลานของพ่อแม่พี่น้องคนหนึ่ง ขอให้รักสามัคคีกัน ตนเห็นหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คและไอจีต่างๆในฐานะผู้นำกองทัพ ยอมรับว่าโซเชียลคืออาวุธมีอานุภาพและมีประสิทธิภาพมากกว่าอาวุธใดๆที่กองทัพมี

7) ชมคนยอมรับกระบวนตัดสินศาล

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า พี่น้องประชาชน และนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ ก็เรียนในประเทศไทยและจบการศึกษาที่นี้รับพระราชทานปริญญาบัตรก็จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ เราเติบโตกันที่นี้ หลายคนเป็นนักธุรกิจ เมื่อมีเงินมีทองขึ้นมา ก็เพราะแผ่นดินไทย ขอชื่นชมกับเศรษฐีที่มีเงินมีอำนาจ มีบารมีหลายคนกระทำความผิดทุจริต คอรัปชั่นหรือโกงอะไร แต่เขายอมรับกติกาประเทศ ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นว่าศาลของไทย ตัดสินแล้วว่าเขาต้องถูกจำคุก ทั้งที่เขามีเงิน มีเกียรติและศักดิ์ศรี ขอยกย่องเพราะเปรียบเหมือนเป็นคนที่มีน้ำใจนักกีฬาและยอมรับกระบวนการตัดสิน หลายคนมีเงินพร้อมที่จะหนีออกนอกประเทศ แต่เขายอมรับการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมไทย ถ้าไม่ยอมรับ กระบวนการยุติธรรม เราจะอยู่กันได้อย่างไรในเมื่อศาลฎีกาที่เป็นผู้ทรงอำนาจ ด้านการยุติธรรมสูงสุดของประเทศ

8) อัดดัดจริตคิดเปลี่ยนการปกครอง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการหลายคนได้ทุนจากราชการหรือทุนในวังไปเรียนต่างประเทศ ระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมของตัวเอง
ไม่ว่าจะไปเรียนที่ไหนหรือไปเอาตำราใครมาก็ควรนำมาดูและดัดแปลงแต่ไม่ใช่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตย อย่าไปเอาความเป็นซ้ายจัดที่ไปเรียนมาแล้ว ดัดจริต ประเทศอื่นไม่มีแบบนี้ นี่คือเมืองสยามที่เป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม เรามีระบอบประชาธิปไตยของเราแบบไทยๆสิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ ขอให้คนไทยรักกันและหันหน้าเข้าหากัน จะเป็นฝ่ายใด ก็คือ คนไทย

9) ต้องหยุดวาทกรรม/ไม่มีวันจบ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อกรีดเลือดออกมาก็คือคนไทยที่มีเลือดบรรพบุรุษปกป้องผืนแผ่นดินไทย ขอให้หยุดวาทกรรมต่างๆใครไม่ดี ก็ปล่อยให้เป็นไปตามครรลอง ใครไม่ดี ก็ต้องพิสูจน์ด้วยงานและฝีมือ ถ้าผมทำไม่ดี ก็ถูกย้ายไป ทุกคนต้องให้โอกาสกัน เกมใครเกมมัน เมื่อกรรมการตัดสินแล้วก็มาโทษกรรมการ มวยชกกันแพ้ ก็มาโทษกรรมการ ถ้าเป็นแบบนี้มันไม่มีวันจบ โดยเฉพาะวัฏจักรแห่งการล้างแค้นและความไม่พึงพอใจ ไม่มีวันจบ

10) ย้ำชัดเรายอมรับกติกาทุกอย่าง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จุดยืนและหน้าที่ของกองทัพจะเป็นอย่างไร พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ยืนยันไปแล้วว่า เรายอมรับกติกา ทุกอย่าง กองทัพไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะกองทัพเป็นกองทัพของประชาชน ตนอยากจะให้ลงมาดูว่าทุกวันนี้กองทัพ มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน อยากให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่ต้องถามแล้วว่ากองทัพจะมีปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่ซึ่งเป็นเพียงวาทกรรมเดิมๆ ที่นำถามแล้วถามอีก แล้วก็นำคำนี้ไปทำให้เด็กที่ยังไม่รับรู้อะไรมากมาย เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกองทัพ ตนถามว่าทุกวันนี้ ใครที่เป็นผู้นำ ไปช่วยเหลือประชาชน ยามเดือดร้อน นำกำลังยุทโธปกรณ์ ระดมสรรพกำลังทั้งหมดไปช่วยเหลือ

          หลังจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบกดังกล่าว ต่อมานายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการอดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้จัดบรรยายหัวข้อ "แผ่นดินของเราในมุมมองประชาธิปไตย : บทบาทของประชาชนในการสร้างชาติ” โดยระบุว่า[5] การเป็นชาติและจิตสำนึกในความเป็นไทยนั้น จิตสำนึกเกิดมาจากคนยุคหลังเขียนขึ้นมา การสร้างชาติต้องสร้างร่วมกัน และคิดถึงอนาคตร่วมกัน ประชาชนจึงคือคนที่สร้างชาติ ประชาชนเท่ากับชาติ ไม่มีประชาชนก็ไม่มีชาติ ดังนั้น ประชาชนเปรียบเสมือน 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน ส่วนที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พูดถึง Hybrid Warfare (สงครามพันทาง) แต่ต่างประเทศกลับบอกว่าเป็น Hybrid Regime หรือ 'การปกครองผสมผสาน' จนเรียกรูปแบบไม่ได้ ซึ่งยอมรับว่าตัวเองเป็นพวกซ้ายจากดัดจริต ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติของต่างประเทศมาเยอะ ไม่อยากให้ประเทศไทยต้องเจอกับการปฏิวัติอีก พร้อมขอให้ประเทศไทยหยุดปฏิวัติ แต่เป็นปฏิรูปการปกครองแทน ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเหมือนการเป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูก เป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ประเทศไทยติดหล่มการเปลี่ยนแปลงมา 13 ปี ทุกช่วงวัยไม่มีความมั่นใจในการใช้ชีวิต ติดอยู่ในกับดักด้านเศรษฐกิจ ไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ ประชาธิปไตยไม่ดีพอสำหรับทุกชนชั้น และกลับสนับสนุนแต่กลุ่มนายทุน

นอกจากนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกลุล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กองทัพพร้อมแทรกแซงการเมืองทุกเวลา และยังมีสื่อที่ชอบยุยงปลุกปั่น หรือ สื่อดาวสยาม 4.0 ซึ่งตัวเองอยากเชิญชวนให้ผู้บัญชาการทหารบกมาร่วมพูดคุยกับตัวเอง จะได้รู้ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองทุกวันนี้ และขอให้อย่ามองใครเป็นศัตรู เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็จะพร้อมจะทำร้ายคนๆ นั้น ซึ่งอย่ากังวลใจกับตัวเอง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ และคนที่สนับสนุนพรรค เพราะทุกคนปรารถนาดีให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ขณะเดียวกันการที่ผู้บัญชาการทหารบกออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เกิดความแตกแยก กลับสู่ยุคมืดอีก

 

3.  หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

บทบาททางการเมืองของทหาร มักถือกันว่าทหารไม่สามารถแสดงบทบาทที่เป็นคุณต่อการ พัฒนาประชาธิปไตยได้ ซึ่งแท้จริงแล้วในบางสถานการณ์นั้น ทหารอาจกระทําการอันเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของ ประเทศกําลังพัฒนา ที่อาจต้องอาศัยความเข้มแข็งของสถาบันทหารเป็นผู้ดูแลสถานการณ์ ในประเทศไทย สถาบันทหารเข้าแทรกแซงการเมืองบ่อยครั้งในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้แสดงบทบาททั้ง ที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อประชาธิปไตยใน 3 ด้าน คือ ด้านการกําหนดตัวกลุ่มผู้นําประเทศ ด้านการ กําหนดและบังคับใช้นโยบายสาธารณะ และด้านการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งสําหรับเมืองไทยแล้ว การแทรกแซงของทหารในทางการเมือง โดยเฉพาะการที่ทหารเป็นตัวแสดงที่เข้าควบคุมระบบ การเมืองด้วยการรัฐประหาร จนทําให้เกิดข้อสังเกตว่า การมีรัฐบาลทหารในประเทศเกิดใหม่ หรือ ต่อมาถูกเรียกว่าประเทศกําลังพัฒนา ได้กลายเป็น “กฎ” มากกว่าเป็น “ข้อยกเว้น” ทางการเมืองไป แล้ว[6]

ประเทศใดก็ตามที่ต้องการเป็นประชาธิปไตย ล้วนต้องขบคิด ถึงปัญหาข้อหนึ่งอย่าง จริงจัง นั่นก็คือ การกําหนดสถานภาพและบทบาทที่เหมาะสมให้แก่กองทัพของตน ทั้งนี้ก็เพราะว่า กองทัพเป็นองค์กรที่มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยลงได้ ดังคํากล่าวของ Peter Feaver ที่ว่า “รัฐสร้าง กองทัพขึ้นมาให้เป็นองค์กรปกป้องรัฐจากศัตรู แต่หากรัฐมีกองทัพที่ เข้มแข็งจนเอาชนะศัตรูได้ ก็ย่อมแปลว่ากองทัพนั้นมีพลังอํานาจมากพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลของตนเอง ลงได้ด้วยเช่นกัน”[7]  ดังนั้น หากต้องการมีประชาธิปไตยที่มั่นคง จะต้องจัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง ทหารกับรัฐบาลพลเรือน ให้ทหารไม่เป็นภัยต่อรัฐและระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งกําหนดบทบาทของรัฐที่จะเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาธิปไตยให้มากที่สุด ตามที่ Samuel Finer ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “การที่ทหารจะดื้อรั้นไม่เชื่อฟังคําสั่งรัฐบาลพลเรือนนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่า แปลกใจยิ่งกว่าก็คือ ทําไมเรายังเห็นทหารเคารพคําสั่งของรัฐบาลพลเรือนอยู่”[8]

การออกมาแสดงจุดยืนของกองทัพจากการที่พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
ได้กล่าวถึง “ซ้ายจัดดัดจริต” และกลายเป็นวลีทางการเมืองในช่วงเวลานั้นที่สื่อมวลชนนำไปขยายผลและพาดหัวสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในระบบออนไลน์และระบบปกติในที่สุด และน่าสนใจว่าการกล่าวเช่นนี้ของผู้นำกองทัพระดับผู้บัญชาการทหารบกก็ถูกตอบโต้จากสื่อมวลชนระดับอาวุโสของวงการอย่างคุณอธึกกิต แสวงสุข หรือเจ้าของนามปากกา “ใบต้องแห้ง” ที่ได้เขียนบทความตอบโต้ว่า “ขวาจัดดัดจริต” นั้น ในฐานะที่ตนเคยเป็นฝ่ายซ้ายแทบหัวร่อ เมื่อได้ยินผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงวลีดังกล่าว ถามหน่อย ซ้ายจัดคืออะไร ซ้ายจัดแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ปลุกกลุ่มเรดการ์ดท่องคติพจน์จนคลั่งที่ได้ล่มสลายไปกว่า 40 ปีมาแล้ว ทุกวันนี้รัฐสังคมนิยมทั้งหลายกลายเป็นทุนนิยมโดยรัฐปกครองด้วยพรรคเดียว ซ้ายขวาส่วนใหญ่ในโลกเข้าสู่ประชาธิปไตยทุนนิยมต่อสู้ด้วยนโยบาย เช่นฝ่ายลิเบอรัล เน้นรัฐสวัสดิการ เสรีภาพในการใช้ชีวิต ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟเน้นศีลธรรม ความมั่นคง ให้ปัจเจกบุคคลรับผิดชอบตนเอง แต่ละประเทศก็เข้มข้นเจือจางต่างกันไป แต่ซ้ายจัดขวาจัดแบบใช้อำนาจบังคับประชาชน ยกก้นเป็นคนดีหรือคนมีอุดมการณ์แทบไม่เหลืออยู่แล้ว ยกเว้นประเทศล้าหลังบางแห่ง ส่วนพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถเป็นซ้ายจัดขวาจัดไม่ว่าจะขายนโยบายก้าวหน้าเพียงใด เช่น ปฏิรูปกองทัพ ตัดงบทำรัฐสวัสดิการ เพราะถ้าจะทำได้ ต้องมีประชาชนเลือกท่วมท้น ยิ่งไปกว่านั้น พรรคการเมืองที่ต่อสู้ด้วยคะแนนนิยม ยิ่งไม่สามารถ “ล้มระบอบ” ได้ซึ่งสามารถไปดูประวัติศาสตร์โลกแทบทุกประเทศฝ่ายล้มล้างระบอบได้คือฝ่ายผู้ถืออาวุธ ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ต้องแบบพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้ด้วยอาวุธซึ่งตกยุคไปแล้ว

 

4.  สรุป

“ซ้ายจัดดัดจริต” เป็นวลีที่สื่อมวลชนในแวดวงการเมืองไทยได้มาจากการสัมภาษณ์พลเอกอภิรัชต์
คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังไม่มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) แล้วจะคุมสถานการณ์อย่างไรในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งพลเอกอภิรัชต์เลยได้เล่าว่าตนกำลังเขียนบทความที่เปรียบเหมือนวิทยานิพนธ์ว่าด้วยสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบัน พ่วงด้วยเรื่องสื่อและโซเซี่ยลมีเดีย ก่อนยืนยันบทบาทกองทัพที่จะเข้าสู่ระบบแล้ว อย่าไปจมกับอดีตที่มีคณะรักษความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีบางช่วงบางตอนในการให้สัมภาษณ์ที่กล่าวถึงพวก “ซ้ายจัดดัดจริต” ว่าไปเรียนหนังสือจากตะวันตกแล้วคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งพาลให้คิดไปว่ากำลังกระทบชิ่งไปยังพรรคอนาคตใหม่ ที่กลายเป็นป้ายตรากลุ่มชูธง “ประชาธิปไตย” แบบตะวันตก ซึ่งกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนถึงความคิดตกยุคของผู้นำกองทัพของไทยในยุคปัจจุบันต่อมา

5. บรรณานุกรม

โชคชัย สุทธาเวศ. (2563). ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่, สืบค้นจาก

https://prachatai.com/journal/2020/02/86328, 7 มิถุนายน 2563

ทูเดย์ไลน์. (2562). ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า “ฝ่ายซ้าย - ฝ่ายขวา” คืออะไร และใครเป็นใครในสองฝ่ายนี้

สืบค้นจาก https://today.line.me/th/pc/article/, 7 มิถุนายน 2563

แนวหน้า. (2562). “อย่าซ้ายจัด-ดัดจริต’ ‘บิ๊กแดง’ฮึ่ม! ฉะพวกได้ทุนเรียนนอก. สืบค้นจาก

https://www.naewna.com/politic/405670?fbclid=IwAR0RN-HudLPYIoSHVCIsraieCAWPpo5PBvMLRYeu7-kh-B6f6l6MS9Dv7G8, 7 มิถุนายน 2563

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 สืบค้นจาก

https://dict.longdo.com/mobile/?search=%E0%B8%9D%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2&fbclid=IwAR3YNXnHoY8xeTE6d1DnaGbhdpv_wWuW-eeOtTxqTBrb8nwPGHoWuKNG5EM, 7 มิถุนายน 2563

ว๊อยซ์ทีวี. (2562). 'ปิยบุตร' รับเป็น 'ซ้ายจัดดัดจริต' เปรยอยากเชิญ 'ผบ.ทบ.' คุยการเมืองยุคปัจจุบัน

สืบค้นจาก http://www.voicetv.co.th/read/wunJfl3hp, 7 มิถุนายน 2563

สุรชาติ บํารุงสุข. (2551). ไตรสรณคมนทหาร รัฐประหารและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์.

Finer, S. (1976). The Man on Horseback: The Role of Military in Politics. 2nd Edition.

London: Penguin.

Peter D. Feaver, (1999) “Civil-miliatary relations”, Annual Review of Political Science, Vol.2

(1999) p.214

อ้างอิง

[1] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 สืบค้นจากhttps://dict.longdo.com/mobile/?search=%E0%B8%9D%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2&fbclid=IwAR3YNXnHoY8xeTE6d1DnaGbhdpv_wWuW-eeOtTxqTBrb8nwPGHoWuKNG5EM, 7 มิถุนายน 2563

[2] ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า “ฝ่ายซ้าย - ฝ่ายขวา” คืออะไร และใครเป็นใครในสองฝ่ายนี้ (2 เมษายน 2562) สืบค้นจาก https://today.line.me/th/pc/article/, 7 มิถุนายน 2563

[3]โชคชัย สุทธาเวศ. (2563). ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/02/86328, 7 มิถุนายน 2563

[4] ‘อย่าซ้ายจัด-ดัดจริต’ ‘บิ๊กแดง’ฮึ่ม! ฉะพวกได้ทุนเรียนนอก. สืบค้นจาก

https://www.naewna.com/politic/405670?fbclid=IwAR0RN-HudLPYIoSHVCIsraieCAWPpo5PBvMLRYeu7-kh-B6f6l6MS9Dv7G8, 7 มิถุนายน 2563

[5]'ปิยบุตร' รับเป็น 'ซ้ายจัดดัดจริต' เปรยอยากเชิญ 'ผบ.ทบ.' คุยการเมืองยุคปัจจุบัน

สืบค้นจาก http://www.voicetv.co.th/read/wunJfl3hp, 7 มิถุนายน 2563

[6]สุรชาติ บํารุงสุข. (2551). ไตรสรณคมนทหาร รัฐประหารและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์.

[7]Peter D. Feaver, (1999) “Civil-miliatary relations”, Annual Review of Political Science, Vol.2 (1999) p.214

[8]Finer, S. (1976). The Man on Horseback: The Role of Military in Politics. 2nd Edition. London Penguin.