ช่องทางธรรมชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ

ความนำ

"ช่องทางธรรมชาติ" เป็นช่องทางที่นอกเหนือไปจากด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งประชากรจากสองรัฐที่ติดกันสามารถเดินทางข้ามไปมาได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจาก การกำหนดแนวพรมแดนธรรมชาติ เป็นเส้นบ่งชี้ขอบเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศหนึ่งจากประเทศหนึ่ง จึงก่อให้เกิดช่องโหว่ที่อำนาจรัฐทั้งสองไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบควบคุมได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ "ช่องทางธรรมชาติ" มักถูกใช้เป็นช่องทางในการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าหนีภาษี ยาเสพติด รวมถึงการก่ออาญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ในการเมืองไทย "ช่องทางธรรมชาติ" ถูกใช้เป็นช่องทางหลบหนีของผู้ต้องหาคดีการเมือง นักการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง มาโดยตลอด เพราะเป็นหนทางที่มีโอกาสมากที่สุดในอันที่จะหลบเลี่ยงจากการสังเกตเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ ถูกบันทึกประวัติว่ากำลังหลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องหาคดีการเมือง และ ผู้ลี้ภัยการเมือง มักอาศัยช่องทางธรรมชาติเดินทางไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า โดยมีกลุ่มคนคอยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และมีจุดมุ่งหมายปลายทางในการไปพำนัก หรือ ลี้ภัยในประเทศที่สาม ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ต้องโทษคดีการเมือง ทั้งนี้ หนึ่งในกรณีที่ทำให้ "ช่องทางธรรมชาติ" เป็นที่รู้จัก ก็คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หายตัวไปอย่างปริศนาก่อนที่จะถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปล่อยประละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว เมื่อปลายปี 2560 ซึ่งปรากฏตามข่าวภายหลังว่าได้หลบหนีผ่าน "ช่องทางธรรมชาติ" ไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนจะปรากฏตัวครั้งแรก ณ มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

รัฐ-ชาติสมัยใหม่ การเมือง และการหลบหนี

 

คำว่า ช่องทางธรรมชาติ ก็คือ ป่า เขา ลำเนา ไพร ขอยกตัวอย่าง ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด ซึ่งเป็นด่านที่มีการอนุญาตเพียงแค่ช่องทางเดียว แต่ที่เหลือมีช่องทางธรรมชาติที่เดินข้ามได้อีกร้อยกว่าช่อง และคำว่า ร้อยกว่าช่องนี้ก็คือ จะเดินข้ามตรงไหนก็ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ที่จะเข้าไปตรวจ[1]

 

พล.ต.ต.สุภธัช คำดี

รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

26 สิงหาคม 2560

 

          การเดินทางระหว่างประเทศของบุคคลที่มีสถานะเป็นพลเมืองของรัฐไปยังรัฐจำเป็นต้องผ่านมาตรการตรวจคนเข้าเมืองตามกฎหมาย ซึ่งปกติแล้วจะต้องเดินทางผ่าน  3 ด่านเท่านั้น ก็คือ ด่านบก (ด่านพรมแดน) ด่านน้ำ (ท่าเรือ) ด่านอากาศ (สนามบิน)[2] มาตรการเหล่านี้วางอยู่บนมโนทัศน์เกี่ยวกับรัฐอธิปไตยสมัยใหม่ (modern sovereign state) ซึ่งต้องการกำหนดขอบเขตดินแดนแน่ชัด (territory) ที่อำนาจอธิปไตย (sovereignty) จะครอบคลุมไปถึงเหนือประชากรที่เป็นสมาชิกทั้งหมดของตนได้ (population) โดยมีรัฐบาลกลางปกครองประเทศ (the central government)[3] กระนั้นก็ตาม แม้ รัฐ-ชาติ ส่วนใหญ่จะมีเส้นเขตแดนที่ (borderline) แน่ชัดบนแผนที่ แต่ในทางกายภาพแล้วกลับยังคงคุมเครือไม่ชัดเจน อันเนื่องมาจากการกำหนดด้วยแนวพรมแดนทางธรรมชาติ (ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย ระยะห่างทางทะเล) มากกว่าที่จะใช้เครื่องหมายบ่งบอกที่มนุษย์สร้างขึ้น ในกรณีของประเทศไทยนั้น มีความยาวตลอดแนวเขตแดนทางบกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านรวมกัน 5,326 กิโลเมตร ทว่าส่วนใหญ่แล้วยังเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ ที่ประกอบด้วย แม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย ทิวเขา และแนวเส้นตรง และมีด่านพรมทางบกร่วมกันทั้งสิ้น เพียง 33 แห่งเท่านั้น[4] จึงเกิด "ช่องทางธรรมชาติ" ที่ประชากรจากสองรัฐข้างเคียงจะสามารถเล็ดลอดเดินทางข้ามไปมาโดยไม่เป็นที่สังเกตจากเจ้าหน้าที่รัฐได้อยู่เสมอ ทั้งยังถือเป็นวิถีชีวิตปกติของผู้คนแถบชายแดนอีกด้วย สำหรับการเมืองไทยแล้ว คำว่า "ช่องทางธรรมชาติ" ได้ถูกนำมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางจากกรณีที่มีข่าวลือว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เป็นช่องทางหลบหนีคดีปล่อยประละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อันได้แก่

กรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ไปปรากฏตัวเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 จนศาลต้องออกหมายจับและริบเงินประกัน 30 ล้านบาท[5] ทั้งนี้ มีเบาะแสว่าวันที่ 23 สิงหาคม 2560 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับเลขานุการส่วนตัวได้หลบหนีไปผ่าน "ช่องทางธรรมชาติ" ซึ่งคาดกันว่าอาจเป็น 1) บริเวณชายแดนด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว ข้ามไปยังประเทศกัมพูชา 2) ชายแดนไทย-กัมพูชา จากเกาะช้าง จังหวัดตราด ข้ามทะเลไปยังเกาะกง ประเทศกัมพูชา 3) ชายแดนไทย-ลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าใช้เส้นทางใดในการหลบหนี แต่มีประเทศเปลี่ยนผ่าน คือ ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่ง นายทักษิณ ชินวัตร มารอรับ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[6]

กรณี นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งมีการออกหมายจับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557[7] หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวนานถึง 5 เดือน จนกระทั่ง 22 พฤศจิกายน 2557 ที่เริ่มกลับมาโพสต์ Facebook ส่วนตัวครั้งแรก เพื่อแสดงความขอบคุณบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือตลอดการเดินทางหลายครั้ง[8] นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เปิดเผยในปี 2559 หรืออีก 2 ปี หลังจากการ "เดิน" ออกจากประเทศไทย ว่า "ผมใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง เดินขึ้นๆ ลงๆ บนยอดของเทือกเขาแห่งหนึ่งออกจากประเทศไทย เป็นการเดินที่เหนือยที่สุดในชีวิต ถึงตอนท้ายเมื่อใกล้จุดหมาย ขาผมเกือบไม่เหลือแรงจะยืนหรือเดินต่อเลย"[9] ทั้งนี้ แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นพื้นที่ชายแดนบริเวณใด แต่คาดกันว่าเป็นชายแดนที่ข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส ด้วยสถานะ “ผู้ลี้ภัย” จากรัฐบาลฝรั่งเศส

กรณี จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จึงจำเป็นต้องหนีออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจประจำตัวจอมพล ป. บันทึกเหตุการณ์ว่า คืนวันนั้น จอมพล ป. ขับรถยนต์ด้วยตนเอง พร้อมด้วยผู้ติดตาม 3 คน จนไปถึงแหลมงอบ จังหวัดตราดเมื่อฟ้าสาง และได้สั่งบอกให้หนึ่งผู้ติดตามขับรถกลับกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือได้เช่าเรือประมงด้วยราคา 2 พันบาท เพื่อออกจากประเทศไทย ระหว่างการเดินเรือต้องเจอทั้งคลื่นผมและพายุฝน จนเครื่องดับลอยเคว้งคว้างกลางทะเล แต่ในที่สุดก็ถึงเกาะกง ประเทศกัมพูชา ตอนเจ็ดโมงเช้า จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ฝั่งกัมพูชาและได้รับการดูแลหลังจากนั้น[10] ภายหลังจากครอบครัวเดินทางมาสมทบบริเวณเมืองชายทะเลใกล้กรุงพนมเปญ แล้วจึงเดินทางต่อไปเพื่อขอลี้ภัยยังประเทศญี่ปุ่น อันเป็นสถานที่ซึ่ง จอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรม ในอีก 7 ปี ต่อมา (11 มิถุนายน 2507)[11]

 

ช่องทางธรรมชาติ : ช่องโหว่ของอำนาจรัฐ หรือ โอกาสของประชาชน

หากพิจารณาจากมุมมองของภาครัฐที่ให้ความสำคัญในมิติด้านความมั่นคงแล้ว ช่องทางธรรมชาติก็คือช่องโหว่ที่อำนาจอธิปไตยของรัฐไม่สามารถแพขยายไปได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง เพราะด้วยพื้นที่พรมแดนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ใช้ภูมิประเทศเป็นจุดอ้างอิงนั้น นอกจากก่อให้เกิดความคุมเครือของแนวพรมแดน ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาขึ้นตราบใดที่ไม่มีความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางวัตถุ และทรัพยากรมนุษย์แล้ว อย่างกว้างขวางเกินไปกว่าที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเข้าไปตรวจตราสอดส่องได้ ฝนที่สุดก็คือ เกิดการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งเพื่อมาค้าแรงงาน หลบหนีคดี หรือซ่องสุมกันเพื่อเตรียมการก่อการร้ายในพื้นที่รัฐอื่น ลดการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและสินค้าหนีภาษี รวมถึงการลักลอบขนย้ายยาเสพติดผ่านบริเวณพรมแดนธรรมชาติอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การกำหนดเขตแดนให้แน่ชัดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

1) เส้นเขตแดนในปัจจุบันของรัฐไทยเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคอาณานิคม ซึ่งมหาอำนาจขณะนั้นอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญหรือเป็นตัวแปรในการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างรัฐบาลสยาม กับ รัฐบาลอาณานิคมรอบข้าง ทว่าการปักปันเขตแดนอีกจำนวนมากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ขณะที่มหาอำนาจอาณานิคมได้เสื่อมอำนาจลงไป พร้อมๆ กับการเกิดรัฐอธิปไตยในภูมิภาค

2) การกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศจะต้องเป็นความยินยอมของรัฐอธิปไตยทั้งสองฝ่าย ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายที่สามนั่นก็คือ องค์ารสหประชาชาติด้วย อย่างไรก็ตามในหลายกรณี สองรัฐอธิปไตยมักเกิดกรณีพิพาทกันจนไม่อาจหาข้อตกลงกันได้ อันเนื่องมาจากการยึดถือแนวปักปันเขตแดนคนละแนว หรือแผนที่คนละฉบับที่มี มาตราส่วนแผนที่(map scale) แตกต่างกันอันส่งผลให้ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่าย ดังที่เกิดขึ้นในกรณีพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร[12] และพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย[13] เป็นต้น

3) การกำหนดเส้นเขตแดนให้แน่ชัดอาจไม่มีความจำเป็นในทุกกรณี ทั้งยังทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก เพราะไม่เพียงจะทำลายวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยมาอย่างยาวนานบริเวณพรมแดนนั้นๆ เท่านั้น แต่ยังต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการสำรวจ ทำทำแผนที่ หรืออาจรวมไปถึงการสร้างแนวกั้น
ดังปรากฏในกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เสนอแนวคิดการก่อสร้างรั้วและกำแพงสูง เป็นระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร ตามแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก โดยมีรายงานว่าต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21,6000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง[14]

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนหนึ่งกลับมองว่าพรมแดนธรรมชาติที่ไม่มีความชัดเจนในการปักปันเขตแดนบนแผนที่นั้นได้กลายเป็น “โอกาส” ให้กับรัฐอธิปไตย ที่วางอยู่บนแนวคิดตายตัวว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตย ดินแดน และประชากร กล่าวคือ แทนที่เส้นเขตแดนอันแน่ชัดจะกำหนดขอบเขตของรัฐที่แน่นอน (ซึ่งหมายความต่อไปได้ว่าเป็นการสกัดกั้น ไม่ให้ประชากรเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ) พรมแดนธรรมชาติได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจชายแดนให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ประชากรในบริเวณดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพใหม่ๆ และมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเดิมทีเคยถูกพิจารณาว่าอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐและศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งการมีเส้นเขตแดนของรัฐนั้นก่อให้เกิดอุปสรรคจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น การไม่มีพรมแดนที่แน่ชัดยังหมายความว่า รัฐส่วนกลางจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้คนบริเวณชายแดน ที่ปกติแล้วมักจะเป็นกลุ่มวัฒนธรรม อัตลักษณ์ร่วม หรือ อาจเกี่ยวดองกันเป็นเครือญาติกันด้วย[15] ด้วยเหตุนี้ รัฐอธิปไตยจึงควรใช้ความคลุมเครือของเส้นเขตแดนให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้าน ตลอดจนความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในภูมิภาค ทั้งนี้เพราะผลประโยชน์แห่งชาติไม่ได้หมายความเพียงความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐส่วนกลางเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงคุณภาพชีวิตและสิทธิชุมชนของผู้คนในรัฐด้วย

 

บทส่งท้าย

          แม้หน่วยงานภาครัฐและฝ่ายความมั่นคงจะตรวจสอบควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวดเพียงใด แต่ช่องทางธรรมชาติก็ยังคงเป็นหนทางหลบหนีลี้ภัยของบรรดานักการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องหาคดี รวมถึงเป็นพื้นที่คุมเครือของการก่ออาชญากรรมข้ามชาติอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประสบภัยทางการเมืองและนักการเมืองจำนวนหนึ่งแล้ว เมื่อกระบวนการยุติธรรมและระบบการเมืองไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายตนได้ ทั้งยังถูกเลือกปฏิบัติเพื่อกำจัดพวกเขาให้พ้นจากเส้นทางการเมือง การหลบหนีภัยย่อมเป็นหนทางที่แย่กว่า (the lesser evil) การถูกดำเนินคดีในประเทศของตนเอง เพราะอย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็สามารถได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากประเทศที่สาม และโดยหลักการทั่วไป คดีการเมือง หรือ คดีที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ต่างออกไปจากเสรีประชาธิปไตยนั้น มักมีแนวโน้มเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงก่อให้เกิดความคลางแคลงใจและความเชื่อมั่นที่มีต่อความโปร่งใสและความเป็นกลางที่เกิดขึ้น ในทางกายภาพแล้ว "ช่องทางธรรมชาติ" จะสื่อนัยยะถึงความห่างไกลจากความเจริญแบบเมืองและการปราศจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ที่สกัดกั้นไม่ให้ประชากรเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันอย่างอิสระ ขณะที่ในทางการเมือง "ช่องทางธรรมชาติ" สื่อความไปถึงโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความไม่เป็นธรรมทางการเมืองของนักการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องหาคดีการเมือง อันนับเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ในปัจจุบัน

 

บรรณานุกรม

“4 เส้นทาง “ยิ่งลักษณ์” สมทบ “ทักษิณ”." ประชาชาติธุรกิจ (30 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-30928>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“11 มิถุนายน 2507 – จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่น." The Standard (11 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก  <https://thestandard.co/onthisday11june2507/>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“Exclusive - Trump border 'wall' to cost $21.6 billion. take 3.5 years to build: internal report." Reuters. (10 February 2017). <https://www.reuters.com/article/us-usa-trump-immigration-wall-exclusive/exclusive-trump-border-wall-to-cost-21-6-billion-take-3-5-years-to-build-internal-report-idUSKBN15O2ZN>. Accessed May 10, 2020.

Heywood, Andrew. (2019). Politics. 5th Edition. London: Red Globe Press.

“กิเลน ประลองเชิง. "หนีไปกับจอมพล." ไทยรัฐออนไลน์. (30 สิงหาคม 2560). <https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1053192>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“ข้ามห้วย ขึ้นเขา! รู้จัก ‘ช่องทางธรรมชาติ’ ลือจุดเผ่น ‘ปู’ หนีไป ‘ดูไบ’." ไทยรัฐออนไลน์ (26 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1050629>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

คำนูณ สิทธิสมาน. "พื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย มาจากผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทน้ำมัน." ผู้จัดการออนไลน์
(7 กันยายน 2557). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9570000102547>.
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

“ด่วน! ศาลออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำพิพากษา!." The Standard (25 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-dont-come-for-rice-subsidy-scheme-judgement/>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“บันทึกผู้ลี้ภัย : สมศักดิ์ เล่า 6 ชม.ของการเดินป่าออกประเทศ กับมู้ดชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วผ่านไป."
ประชาไท (23 มิถุนายน 2559). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2016/06/66481>.
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“ศาลทหารออกหมายจับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และแนวร่วม นปช. ไม่มารายงานตัว." ประชาไท (16 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2014/06/54038>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“‘สมศักดิ์'ขอบคุณ!กลับโพสต์เฟซบุ๊คอีกครั้ง." กรุงเทพธุรกิจ (22 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/619130>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

“เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน." สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. เข้าถึงจาก <http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=32&chap=5&page=t32-5-infodetail04.html>. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

อัครพงษ์ ค่ำคูณ. (2551). "ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา: ชาตินิยม การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตแดน." ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 6. ฉบับที่ 3. (กรกฎาคม-กันยายน): 18-25.

“อัครพงษ์ ค่ำคูณ: ปัญหาพระวิหารเกิดจากเราตีความเถรตรงเกินไป." สำนักข่าวอิศรา. (14 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/25139-akkrapong.html>. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

 

อ้างอิง

[1] "ข้ามห้วย ขึ้นเขา! รู้จัก ‘ช่องทางธรรมชาติ’ ลือจุดเผ่น ‘ปู’ หนีไป ‘ดูไบ’," ไทยรัฐออนไลน์ (26 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1050629>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[2] "ข้ามห้วย ขึ้นเขา! รู้จัก ‘ช่องทางธรรมชาติ’ ลือจุดเผ่น ‘ปู’ หนีไป ‘ดูไบ’," ไทยรัฐออนไลน์ (26 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1050629>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[3] Andrew Heywood, Politics, 5th Edition (London: Red Globe Press, 2019), p. 128.

[4] "เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน," สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, เข้าถึงจาก <http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=32&chap=5&page=t32-5-infodetail04.html>. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

[5] "ด่วน! ศาลออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำพิพากษา!," The Standard (25 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/yingluck-dont-come-for-rice-subsidy-scheme-judgement/>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[6] "4 เส้นทาง “ยิ่งลักษณ์” สมทบ “ทักษิณ”," ประชาชาติธุรกิจ (30 สิงหาคม 2560), เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-30928>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[7] "ศาลทหารออกหมายจับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และแนวร่วม นปช. ไม่มารายงานตัว," ประชาไท (16 มิถุนายน 2557), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2014/06/54038>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[8] "'สมศักดิ์'ขอบคุณ!กลับโพสต์เฟซบุ๊คอีกครั้ง," กรุงเทพธุรกิจ (22 พฤศจิกายน 2557), เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/619130>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[9] "บันทึกผู้ลี้ภัย : สมศักดิ์ เล่า 6 ชม.ของการเดินป่าออกประเทศ กับมู้ดชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วผ่านไป," ประชาไท (23 มิถุนายน 2559), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2016/06/66481>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[10] กิเลน ประลองเชิง, "หนีไปกับจอมพล," ไทยรัฐออนไลน์, (30 สิงหาคม 2560), <https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1053192>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[11] "11 มิถุนายน 2507 – จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่น," The Standard (11 มิถุนายน 2562), เข้าถึงจาก  <https://thestandard.co/onthisday11june2507/>. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563.

[12] "อัครพงษ์ ค่ำคูณ: ปัญหาพระวิหารเกิดจากเราตีความเถรตรงเกินไป," สำนักข่าวอิศรา, (14 พฤศจิกายน 2556), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-article/25139-akkrapong.html>. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

[13] คำนูณ สิทธิสมาน, "พื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย มาจากผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทน้ำมัน," ผู้จัดการออนไลน์ (7 กันยายน 2557), เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/daily/detail/9570000102547>. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563.

[14] "Exclusive - Trump border 'wall' to cost $21.6 billion, take 3.5 years to build: internal report," Reuters, (10 February 2017). <https://www.reuters.com/article/us-usa-trump-immigration-wall-exclusive/exclusive-trump-border-wall-to-cost-21-6-billion-take-3-5-years-to-build-internal-report-idUSKBN15O2ZN>. Accessed May 10, 2020.

[15] โปรดดู อัครพงษ์ ค่ำคูณ, "ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา: ชาตินิยม การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตแดน," ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 6, ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน, 2551): 18-25.