ช่วงพระชนม์…ที่อีตัน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

วิทยาลัยอีตันเป็นโรงเรียนประจำที่นักเรียนต้องใช้ชีวิตร่วมกันและพำนักอยู่ที่โรงเรียน ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นชาวสยามคนแรกและคนเดียวที่เข้าศึกษาที่วิทยาลัยแห่งนี้

นายเจ เอช เอ็ม แฮร์ ผู้จัดการโรงเรียนมีรายงานถึงพระอุปนิสัยและพระจริยาวัตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ไว้ว่าระยะแรกไม่ทรงพระสำราญมากนักเนื่องจากไม่ทรงรู้จักใครกับทั้งมีสิ่งแปลกใหม่ให้ทรงเรียนรู้มาก

การเรียนในโรงเรียนประจำหรือที่คนไทยในยุคนั้นเรียกกันว่า Public school ยังช่วยให้เด็กๆ รู้จักปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น และยิ่งไปกว่านั้นระบบการดูแลนักเรียนเป็นลำดับชั้นที่มีวินัยเคร่งครัด การส่งเสริมให้เล่นกีฬาเป็นทีม รู้จัก “เล่นในกติกา” “รู้แพ้ รู้ชนะ” เห็นประโยชน์ของส่วนใหญ่มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย นั่นอาจกล่าวได้ว่าในระยะเวลา ๓ ปีที่วิทยาลัยอีตันนับเป็นเวลาสำคัญของการหล่อหลอมเจ้าฟ้าชายจากสยาม ซึ่งทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา


ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖