ชิต เวชประสิทธ์
“ชิต เวชประสิทธ์ : ผู้แทนฯจากใต้ของพรรคสหชีพ”
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
มีคนบอกกันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสหชีพส่วนมากมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สมาชิกคนหนึ่งของพรรคสหชีพที่เคยมีบทบาททางการเมืองในอดีตนั้นท่านเคยเป็นผู้แทนราษฎรจากจังหวัดทางภาคใต้ของไทย คือจังหวัดภูเก็ตท่านผู้นี้ได้แก่คุณชิต เวชประสิทธิ์ อดีตนักการเมืองคนใต้ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2481 การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของประเทศไทย และครั้งนั้น ชิต เวชประสิทธิ์ ยังไม่สังกัดพรรคการเมือง เพราะยังไม่มีพรรคการเมืองให้สังกัด ท่านมาสังกัดพรรคสหชีพในการเลือกตั้งครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งปี 2489 การเลือกตั้งครั้งที่ 3 กับครั้งที่ 4 ห่างกันประมาณ 8 ปี ก็เพราะช่วงนั้นอยู่ในเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการขยายอายุของวาระการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำหรับพรรคสหชีพนั้นเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2489 ก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปีเดียวกันเพียง 6 วันเท่านั้นเอง หัวหน้าพรรคคือ ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค และมีนายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเลขาธิการ ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคจึงยังไม่ทันได้มีบทบาทส่งเสริมผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งมากนัก
ชิต เวชประสิทธิ์ เป็นคนใต้โดยกำเนิด ท่านเกิดที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร ในเขตอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 มีนาคมปี 2457 มีบิดาคือนายยาน และมีมารดาชื่อ สิ้ว การศึกษาเบื้องต้นท่านเรียนที่โรงเรียนประชาบาลคือโรงเรียนปลูกปัญญา และมาเรียนต่อที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มาเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชยการวัดสามพระยา เมื่อปี 2473 เรียนอยู่สองปีจบแล้วจึงได้งานทำที่หอสมุดแห่งชาติ ก่อนที่จะเข้า ไปเรียนรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2476 ทำงานไปเรียนไปจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน พอดีมีการเปิดมหาวิทยาลัยแห่งที่สองได้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี 2477 ท่านจึงได้เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ตอนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชิต เวชประสิทธิ์ ได้ไปสอบแข่งขันเชาวเลขและพิมพ์ดีด ได้เป็นที่ 2 ของประเทศ จึงถือได้ว่าเก่งเรื่องเชาวเลข และทำให้สอบเข้าทำงานเป็นพนักงานเชาวเลขของมหาิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯได้ จึงได้เรียนใกล้กับที่ทำงานด้วย ท่านเรียนจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี 2480 ส่วนชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับ คุณ สมจิต ประธานธุรารักษ์
ชีวิตการเมืองของ ชิต เวชประสิทธิ์ เริ่มขึ้นในปี 2481 เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพฯ เขตสัมพันธวงศ์ เพราะท่านสมัครเข้าแข่ง และไม่มีผู้สมัครคนอื่น แต่เป็นอยู่ไม่นานรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนายุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ ชิต เวชประสิทธ์ จึงเดินทางกลับบ้านเกิดไปลงสมัคร รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดภูเก็ต ชิตได้รับเลือกตั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 2481 ได้ผู้แทนราษฎรคนใหม่ของจังหวัดพร้อมกับได้รัฐบาลของนายกฯคนใหม่คือ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ถึงปลายปี 2484 รัฐบาลยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยและเข้ามาอยู่ในประเทศไทยทำให้มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่นำโดยนาย ปรีดี พนมยงค์ อดีตรัฐมนตรีคลัง ได้ร่วมใจกันตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งต่อมาก็คือขบวนการเสรีไทย ที่มีผู้แทนราษฎรหลายคนรวมทั้งชิต เวชประสิทธิ์ ร่วมด้วย และงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คือต้องหาทางให้หลวงพิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถทำได้สำเร็จโดยการทำให้รัฐบาลแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรถึงสองครั้งติดต่อกัน อันมีผลทำให้หลวงพิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2487 และนาย ควงอภัยวงศ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล ครั้งนี้ชิต เวชประสิทธิ์ ได้ตำแหน่งการเมืองเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงนี้มีนายกฯ นายควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ในรัฐบาลหลังสงครามที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ชุดนี้ ชิตได้ร่วมเป็นรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก โดยได้สั่งราชการกระทรวงคมนาคม ได้อยู่มาจนนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาในเดือนตุลาคม ปี 2488 และกำหนดการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 หลังเลือกตั้งนายควง อภัยวงศ์ ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเมืองไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ค่อยจะมีเสถียรภาพ รัฐบาลนาย ควง อภัยวงศ์ แพ้มติในสภาฯจึงลาออก สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติขอให้นาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนมีการประกาศรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 และได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพิ่มเติม ในวันที่ 5 สิงหาคมปี 2489 หลังการเลือกตั้งที่นายปรีดี พนมยงค์ ชนะการเลือกตั้งด้วยไม่กี่วัน นาย ปรีดีได้ลาออกจากนายกฯ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เข้ามาเป็นนายกฯ ครั้งนี้ชิต เวชประสิทธิ์ ได้เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และอยู่จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 จึงพ้นตำแหน่งเพราะการรัฐประหาร
ในปี 2492 เมื่อมี “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ชิต เวชประสิทธิ์ ได้เข้าร่วมด้วยเพื่อจะยึดอำนาจล้มรัฐบาลของคณะรัฐประหารที่มีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ประสบความสำเร็จ
ชิตจึงถูกจับกุมตัวและถูกส่งเข้าเรือนจำ แต่ท้ายที่สุดอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ท่านจึงเป็นอิสระ และได้ใช้ความรู้ธรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นทนายจำเลยในคดีสำคัญๆของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลต่อมา
ชิต เวชประสิทธ์ กลับมาลงเลือกตั้งที่จังหวัดภูเก็ตในภายหลังอีก 4 ครั้ง แต่ชนะเพียงครั้งเดียวในการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 และได้เป็นผู้แทนฯอยู่จนถึงปี 2514 เมื่อจอมพล ถนอม ยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญ
ชิต เวชประสิทธิ์มีชีวิตนอกวงการเมืองต่อมาอีกหลายปี ท่านได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2536