ชลิต กุลกำม์ธร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ชลิต กุลกำม์ธร : ผู้ก่อการฯฝ่ายทหารเรือ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯสายทหารเรือนั้น ที่มีคนรู้จักกันมากเพียงไม่กี่คน คือ หลวงสินธุสงครามชัย หลวงศุภชลาศัย และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ยังมีอีกหลายคนและแต่ละคนก็มีบทบาทในการเมืองไทยบางช่วงบางตอนสืบมา ดังเช่นพลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร ที่เข้าสู่การเมืองครั้งแรก ในฐานะผู้ก่อการฯฝ่ายทหารเรือ ที่มียศเป็นนายเรือเอก แต่ต่อมาก็ต้องออกจากราชการเสียก่อน เพราะเหตุการณ์กบฏ ภายหลังได้กลับเข้ามาสู่วงการเมืองอีกโดยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครและต่อมาก็ได้ลงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่เทศบาลนครกรุงเทพและได้รับเลือก เป็นนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครกรุงเทพ อันบทบาทแรกที่สำคัญคือการเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง การปกครองปี 2475 นั้น ชลิต กุลกำม์ธร ซึ่งมียศเมื่อปี 2475 เป็นนายเรือ และเป็นนายทหารเรือสองคน ที่นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ส่งให้ไปร่วมงาน กับนายทหารบกชุดที่มีนายร้อยโท ขุนวิมลสรกิจ เป็นหัวหน้าชุด ที่จะต้องแยกย้ายกันไปประจำตามจุดที่กำหนดในเวลาตีสี่ ของวันที่ 24 มิถุนายนปี 2475 หน้าที่ของนายทหารหนุ่มเหล่านี้ก็คือ"ไปควบคุมบ้านของบุคคลสำคัญ"และเมื่อการดำเนินการของฝ่ายก่อการฯ เรียบร้อยแล้วนายทหารเรือและทหารบกชุดนี้ที่มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย จึงได้เดินทางไปสมทบกับฝ่ายอื่นๆ ที่ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯที่ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในเวลา 7.30 น. เพื่อช่วยคุ้มกันกองบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ

        ชลิต กุลกำม์ธร เป็นคนเมืองจันทบูร เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2444 ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี มีบิดาชื่อนายกู้ และมารดาชื่อ เหรียญ เป็นชาวสวนเมืองจันทบุรี สำหรับการศึกษาของชลิต ก่อนที่จะมาเรียนที่โรงเรียนนายเรือนั้น ท่านได้เรียนที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา มาก่อน เข้ามาเรียนในโรงเรียนนายเรือในปี 2465 เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งคือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  จบจากโรงเรียนนายเรือจึงได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารเรือมาตลอด จนได้รับยศสุดท้ายเป็นนายพลเรือตรี มีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ กองเรือรบ และถูกให้ออกจากราชการในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏแมนแฮตตัน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 สำหรับชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับนางสำอาง

        ทางด้านงานการเมืองนั้น ชลิต กุลกำม์ธร ได้อยู่ในคณะราษฎรตลอดมา และเมื่อมีการยึดอำนาจซ้ำ ของผู้นำคณะราษฎรที่นำโดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ชลิต ก็ยังยืนหยัดอยู่กับคณะราษฎร ครั้นมี"กบฏบวรเดช" ที่พยายามล้มรัฐบาลในปี 2476 ท่านก็อยู่กับทางรัฐบาล ดังนั้นเมื่อรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชเรียบร้อย ท่านจึงได้ตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ท่านได้เป็นรัฐมนตรีลอยของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ เมื่อปี 2487 หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ตามมาภายหลังอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่เป็นนายทหารเรือด้วยกันก็ตาม

        แต่เมื่อคณะรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัน เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี 2490 พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร ก็เป็นนายทหารหรือระดับสูงคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ดังนั้น อีกสี่ปีต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 จึงได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏแมนแฮตตัน” ที่นำโดยนาวาตรี มนัส จารุภา และนายทหารเรือระดับกลางบางส่วนนำกำลังเข้าจี้จับตัวนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงครามไปเป็นตัวประกัน จนเกิดการยิงปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารบกและทหารอากาศฝ่ายรัฐบาล กับกองกำลังทหารเรือที่ถูกโจมตี ท้ายที่สุดฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ อันมีผลทำให้เกิด การกวาดล้างในกองทัพเรือ นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ลงมาถึงตำแหน่งอื่นๆอีกหลายตำแหน่ง นายทหารเรือหลายคนถูกจับดำเนินคดี และถูกให้ออกจากราชการ พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญคนหนึ่งในกองทัพเรือ จึงถูกดำเนินคดีและถูกให้ออกจากราชการด้วย

        เวลาผ่านไปได้ประมาณหกปีท่านจึงกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง โดยอาสาเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดพระนคร เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า และเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ ที่ยังเหลืออยู่ที่เปิดตัวชนกับรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามอย่างจริงจัง โดยท่านมาชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 ภายหลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายนปี 2500 แล้ว แต่ท่านก็อยู่ในตำแหน่งไม่ทันครบปีเพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ยึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 คราวนี้พลเรือตรี ชลิต ต้องว่างเว้นจากวงการเมืองไปอีกเป็นเวลาถึง 10 ปี ในปี 2511 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพ ขึ้นทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ส่งพลเรือตรี ชลิต และสมาชิกของพรรคลงสมัครร่วมกันเป็นคณะ และผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาเทศบาลนครกรุงเทพ สภาแห่งนี้ จึงได้เลือกพลเรือตรี ชลิต เป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งท่านก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีของนครหลวงของประเทศไทยสืบมาจนถึงปี 2513 จึงได้พ้นตำแหน่ง

        ครั้นถึงปี 2519 พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร ก็ได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ตั้งขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดยพลเรือ สงัด ชลออยู่ แต่สภาปฏิรูปการปกครองฯนี้ก็อยู่ได้ประมาณหนึ่งปีเท่านั้น หลังจากนั้นพลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร ก็ได้พ้นไปจากวงการเมือง และมีชีวิตอยู่สืบมาจนถึงปี 2539 จึงได้ถึงแก่กรรม