จารุบุตร เรืองสุวรรณ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


จารุบุตร เรืองสุวรรณ : ประธานวุฒิสภาผู้เคยเป็นเสรีไทย


          ประธานวุฒิสภาผู้นี้ แสดงตนในหลายบทบาท เคยเป็นนักวิชาการถึงกับเป็นคณบดีในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงดีมาแล้ว แต่ที่เป็นเสรีไทยนั้นบางคนอาจมองข้าม หรือไม่ก็ลืมไป ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ด้วยว่าบางเวลาคนก็ลืมเรื่องเสรีไทยไปทั้งหมดก็มี การที่เราพอจะทราบว่าท่านผู้นี้เป็นเสรีไทย ก็มาจากคำบอกเล่าของตัวท่านเอง ท่านผู้นี้คือคุณ จารุบุตร เรืองสุวรรณ นักการเมืองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เคยเป็นประธานรัฐสภา

          จารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นคนจังหวัดขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ปี 2463 ที่อำเภอภูเวียง มีบิดาชื่อเจริญ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในจังหวัด และมีมารดาชื่อเอี่ยม การศึกษาเบื้องต้นจึงอยู่ที่จังหวัด และไปเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เมื่อปี 2480 เรียนจบก็มีอาชีพเป็นครูประชาบาลที่โรงเรียนวัดโพธิสมภรณ์อุดรธานี ตอนนั้นมีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็น “ตลาดวิชา” เปิดรับนักศึกษามาลงทะเบียนเรียนและทำงานไปด้วยได้ จารุบุตรเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนและเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ในปี 2481 โดยยังทำงานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี อีกปีถัดมา
          จารุบุตรสอบวิชาครู พ.ป. ได้เป็นอันดับหนึ่ง จึงได้เข้ามาเป็นครูในเมืองหลวงที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และก็ได้เห็นความเจริญของมหานครของประเทศ จารุบุตรเรียนจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ.2485 เมื่อจบได้ปริญญาแล้วอีกปีต่อมาจึงสอบเข้ารับราชการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ท่านได้เรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯจนจบ  เป็นเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตในปี 2487 สำหรับชีวิตครอบครัวของท่านนั้น ท่านได้สมรสกับคุณอรนุช อ่างศิลา

          การทำงานเสรีไทยของคุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ นั้นมีขึ้นหลังที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านประเทศไทย จากคำบอกเล่าของท่านทำให้ทราบว่ามีคนไทยรวมกลุ่มกันมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ท่านเองบอกว่ากลุ่มท่านนั้นตั้งชื่อว่า “ไทยเสรี” และการที่ท่านได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ นั้นก็เป็นเพราะท่านเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯอยู่ในเวลานั้น ดังที่ท่านเล่าว่า

          “เมื่อถูกชี้ตัวแล้วท่านก็เรียกกระผมขึ้นไปตึกโดม ใช้เวลาโอ้โลมปฏิโลมเกลี้ยกล่อม ทดสอบน้ำใจหลายครั้ง จึงทราบว่ากระผมกับพวกก็กำลังดำเนินงานเพื่อกู้ชาติอยู่เช่นกัน ต่อมาเข้าพบท่านปรีดี”
 

          ในหนังสือที่ลงประวัติของท่านระบุว่าจารุบุตรต้องเดินทางไปปฏิบัติงานที่ต่างประเทศ ไปทำงานที่ “หน่วย 136 กองทัพ ที่ 14 ของกองทัพอังกฤษ” ทำให้ท่านได้ยศทหารชั่วคราวเป็นร้อยโท มีหน้าที่เป็น “นายทหารติดต่อ” กับทหารฝ่ายสัมพันธมิตร

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงแล้ว การเมืองในเมืองไทยก็กลับมาคึกคัก ผู้คนทยอยกันประกาศตัวออกมาเล่นการเมืองกันมากหน้าหลายตา จะมีเว้นบ้างก็พวกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะแม้จะรอดตัวจากคดีอาชญากรสงคราม แต่ก็แพ้เกมการเมืองในตอนนั้น และเมื่อมีการเลือกตั้งเพิ่มในตอนกลางปี 2489
จารุบุตร เรืองสุวรรณ ก็ปรากฏตัวลงเลือกตั้งที่จังหวัดขอนแก่น และเขาก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรสมใจนึก ขณะที่มีอายุได้เพียง 26 ปี แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก็มีอายุอยู่ต่อมาอีกเพียงปีเศษเท่านั้นเอง เพราะมีการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 อันมีผลให้สภาฯสิ้นสุดลง หลังการรัฐประหาร รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2491 ไม่มีชื่อคุณจารุบุตรเป็นผู้แทนฯ ท่านมาชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2492

          จารุบุตร เรืองสุวรรณ กลับมาเป็นผู้แทนราษฎรซ้ำอีกครั้งในการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ในยุครัฐบาลทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงชนะเลือกตั้งเท่านั้นท่านยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย

          “ปี 2495 ท่านมีส่วนร่วมในการริเริ่มตั้งพรรค "เสรีประชาธิปไตย" ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นทางการในอีกสามปีต่อมา โดยมีคุณเมธ รัตนประสิทธิ์ ส.ส.เชียงใหม่ เป็นหัวหน้าพรรค และท่านเป็นเลขาฯพรรค. พรรคของท่านโด่งดังและเป็นที่นิยมของประชาชนมิใช่น้อย จึงเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในสภา (มี ส.ส. 13 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้นมี 6 ที่นั่ง )”


        ครั้งนี้ คุณจารุบุตรเป็นผู้แทนฯได้นานถึง 4 ปี แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ท่านไม่ได้เป็นผู้แทนฯ คงจะลงเลือกตั้งแล้วไม่ชนะ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 อีกครั้งท่านก็ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้แทนราษฎรอีกในนามพรรคเสรีประชาธิปไตย อยู่จนจอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจอีกครั้ง และไม่มีการเลือกตั้งไปอีกประมาณ 10 ปี เมื่อมีเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” แล้วการเมืองก็กลับมาคึกคักอีก คุณจารบุตรก็ได้เข้ามาเล่นการเมืองอีก ท่านชนะการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของท่านในตอนต้นปี 2519 โดยสังกัดพรรคธรรมสังคม รวมแล้วท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น 5 ครั้ง เคยสังกัดพรรคการเมืองสองพรรค ระหว่างที่เว้นว่างทางการเมือง คุณจารุบุตรซึ่งเป็นครูเก่าก็ยังไปมีบทบาทในวงการศึกษาเอกชน ร่วมคิดกับมิตรในวงการค้าตั้งมหาวิทยาลัยหอการค้า โดยท่านเคยดำรงตำแหน่งคณบดีด้วย ในปี 2524 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯคุณจารุบุตร ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และในปี 2526 ท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ได้ทำงานต่อมาอย่างเข้มแข็ง จนเสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะไปราชการต่างจังหวัดในวันที่ 19 มีนาคม ปี 2527