ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยแยกเป็น 2 ส่วนดังนี้
1. จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
2. จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่ผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองนั้นด้วย
การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งข้างต้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใดจ่าย หรือรับว่าจะจ่ายแทนหรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทน เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยความยินยอมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย
เท่าที่เคยปฏิบัติมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเสียงเลือกตั้ง ปี 2544 ไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อคน และต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 ได้ขยายเพดานการใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็น 1.5 ล้านบาทต่อคน ค่าใช้จ่ายจำนวนที่กำหนดนี้ เชื่อกันว่าไม่พอเพียงต่อการใช้จ่ายที่แท้จริง พรรคใหญ่ต้องการกำหนดวงเงินให้สูงเข้าไว้ ในขณะที่พรรคเล็กมีเงินทุนน้อยต้องการให้จำกัดวงไว้ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบพรรคที่มีเงินทุนมากจนเกินไป
ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายนี้ มีข้อสังเกตว่า ผู้สมัครหรือพรรคจะต้องมีการแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครหรือของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนั้นด้วย และต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายการเลือกตั้งที่ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องแล้วแต่กรณี ภายใน 90 วันหลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง
ถ้าไม่ยื่นรายการค่าใช้จ่ายตามกำหนดเวลา หรือรายการค่าใช้จ่ายอันเป็นเท็จ จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์อีกด้วย