ความแตกต่างระหว่างอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ กับคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


ความแตกต่างระหว่างอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)

ก่อนที่จะกล่าวถึงความแตกต่างของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สป. กับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ จะขอนำเสนอถึงที่มาและบทบาทหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น

ที่มาของสภาพัฒน์ฯ

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นที่มีความรู้ความชัดเจนหรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกินเก้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ (มาตรา 5)[1]

อำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ

ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรี

(2) พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับข้อเสนออื่นๆ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(3) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

(4) จัดให้มีการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนา และในด้านการปฏิบัติงานตามแผน

นอกจากนั้น มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ยังได้กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะนำเสนอในตารางเปรียบเทียบต่อไป

การประชุมปรึกษาหารือระหว่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

เปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ กับสภาพัฒน์ฯ

อำนาจหน้าที่ของ สป. ตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 เปรียบเทียบได้ดังตารางต่อไปนี้[2]

อำนาจหน้าที่ของ สป. อำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ

(1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(2) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้

(3) ให้คำปรึกษาหรือความเห็นในเรื่องใดๆ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เห็นสมควรและขอรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ในเรื่องนั้น ซึ่งอาจกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม

(4) พิจารณาศึกษาและจัดทำรายงานเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เห็นสมควรกำหนด เป็นแนวทาง ในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

(1) เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรี

(2) พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับข้อเสนออื่นๆ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(3) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

(4) จัดให้มีการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนา และในด้านการปฏิบัติงานตามแผน

จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของ สป. กับอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ มีความสัมพันธ์และใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าซ้ำซ้อนกันอยู่หลายประการ แต่หากพิจารณาในเจตนารมณ์ของการมีสภาที่ปรึกษาฯ ก็จะเข้าใจถึงที่มาของข้อมูลและกระบวนการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีของทั้งองค์กรมีความแตกต่างกัน โดยสภาที่ปรึกษาฯ จะให้ความสำคัญกับข้อมูลจากประชาชนทุกภาคส่วนโดยจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาฯ นั้นมาจากผู้แทนองค์กรกลุ่มอาชีพและกิจกรรมทุกภาคส่วนของสังคมไทย แต่การดำเนินงานของสภาพัฒน์ฯ จะเน้นข้อมูลจากภาครัฐมากกว่า (แม้ว่าสภาพัฒน์ฯ จะได้ให้ความสำคัญต่อภาคประชาชนมากขึ้น แต่ก็แตกต่างจากสภาที่ปรึกษาฯ ที่กฎหมายกำหนดแนวคิดไว้ชัดเจน นับตั้งแต่องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาฯ)

เปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ กับสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) ตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 เปรียบเทียบได้ดังตารางต่อไปนี้

อำนาจหน้าที่ของ สศ. อำนาจหน้าที่ของ สศช.

(1) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เรื่องที่จะต้องเสนอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา

(2) รับผิดชอบในงานธุรการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(3) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

(4) เป็นหน่วยงานทางวิชาการให้แก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(5) ดำเนินการต่างๆ ในการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย

(1) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอแนะจุดหมายและนโยบายแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

(2) พิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และของรัฐวิสาหกิจใดร่วมกับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจนั้น กับจัดประสานแผนงานและโครงการพัฒนาเหล่านั้น เพื่อวางแผนส่วนรวมสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งตามจุดหมายแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามกำลังทรัพยากรที่มีอยู่ และตามลำดับความสำคัญก่อนหลังในการใช้ทรัพยากรนั้น

(3) ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับกำลังเงิน กำลังคน และทรัพยากรอื่นที่มีอยู่และที่อาจหามาได้ และวางแผนการใช้และการจัดหาทรัพยากรดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของรัฐ

(4) จัดทำข้อเสนอ โดยหารือกับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรมที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินในเรื่องที่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำปีของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจ สำหรับสินทรัพย์ถาวรหลักที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการนี้ ไม่ว่าจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ยืม เงินกำไรที่ได้สะสมไว้หรือเงินอื่นใดก็ตาม

(5) ศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายที่จ่ายจริงสำหรับการสร้างและการบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวรหลักที่ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขรายจ่ายเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น ให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างและการบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวรหลักนั้นๆ

(6) ศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายที่จ่ายจริงสำหรับการจัดบริการทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขรายจ่ายเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น

(7) พิจารณาให้คำแนะนำและกำหนดหลักการให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนาที่จะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในทางวิชาการ การเงิน การกู้ยืม และการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(8) ติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับผลงานตามโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งรัดปรับปรุง หรือเลิกล้มโครงการพัฒนาอันหนึ่งอันใดเมื่อเห็นสมควร

(9) ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อเสนอนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมระยะสั้น ในอันที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

(10) ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและภาวะเศรษฐกิจและสังคมของต่างประเทศที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอและคำแนะนำต่างๆ

(11) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของ สศ. กับอำนาจหน้าที่ของ สศช. ค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก สภาพัฒน์ฯ โดยอำนาจหน้าที่ของ สศ. เน้นการสนับสนุนการดำเนินงานของ สป. แต่อำนาจหน้าที่ของสศช. ค่อนข้างจะมีเนื้อหาและขอบเขตงานที่กว้าง มีความสัมพันธ์กับทุกส่วนราชการที่มีการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ และที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ และเน้นการศึกษาวิเคราะห์ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมที่นำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่มา

พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548

พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521.

พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.

ดูเพิ่มเติม

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : แนวคิด โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การดำเนินงาน ปัญหา และแนวทางการพัฒนา. จุลนิติ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 มี.ค. – เม.ย. 2548 หน้า 29 – 46.

http://www.nesdb.go.th/

http://www.nesac.go.th/

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521.
  2. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.