ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู



ประวัติความเป็นมา

แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ได้กำหนดคุณลักษณะสำคัญสี่ประการได้แก่ (ก.) เป็นตลาดร่วมและฐานผลิตเดียวกัน (ข.) เป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข็งขันสูง (ค.) เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาอย่างมั่นคง และ (ง.) เป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก โดยในส่วนคุณลักษณะการเป็นตลาดและฐานผลิตร่วมนั้นจะมีเป้าหมายเปิดเสรี (free flow) สี่ประการ คือ สินค้า บริการ แรงงานมีฝีมือ การลงทุน และการเปิดเสรียิ่งขึ้นสำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุน(freer flow of capital)ในภูมิภาค ดังนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) ครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2007 จึงได้มีมติให้คณะกรรมการความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียนดำเนินการทบทวนกรอบความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1998 และทบทวนกรอบความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Guarantee Agreement: IGA) ซึ่งได้บังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 หลังจากทบทวนแล้วก็นำข้อตกลงทั้งสองมาผสานกันให้เป็นความตกลงที่สมบูรณ์ในฉบับเดียวที่เรียกว่า ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) ภายในปี ค.ศ. 2008 เพื่อเป็นข้อตกลงใหม่สำหรับการลงทุนของอาเซียน ต่อมาในการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน ครั้งที่ 11 เมื่อ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2008 ได้ให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว จนกระทั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้ลงนาม ACIA ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14

สาระสำคัญ

การเปิดเสรีการลงทุน หมายถึง การปฏิบัติและให้สิทธินักลงทุนอาเซียนเท่ากับนักลงทุนไทย ซึ่งแต่ละประเทศสามารถเลือกเปิดเสรีสาขาต่างๆ ได้ตามความสมัครใจ โดยให้ทยอยเปิดเสรีไปเรื่อยๆ จนถึง ปี 2015 ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถสงวนสาขาที่ยังไม่พร้อมเปิดเสรีรวมทั้งมาตรการที่เป็นเงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ ได้โดยทำเป็นข้อสงวน (ส่งรายการข้อสงวนภายในหกเดือนหลังลงนาม)

อนึ่งการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA) เป็นไปตามหลักการ 10 ประการ (Guiding Principles) ดังต่อไปนี้

1. หลักการมุ่งไปข้างหน้า ยืนยันในหลักการเดิมของความตกลง AIA และ IGA และพัฒนาให้ดีขึ้น มุ่งไปข้างหน้าโดยการเพิ่มข้อบทใหม่สองข้อบท คือ การห้ามกำหนดข้อกำหนดให้ปฏิบัติ (Prohibition of Performance Requirements – PPR) และข้อบทว่าด้วยผู้บริหารอาวุโสและกรรมการบริหาร และยืนยันในหลักการเดิม เช่น การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment: NT) และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured-Nation Treatment: MFN) และมุ่งพัฒนากลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ (Investor State Dispute Settlement: ISDS) การโอนเงิน และการปฏิบัติต่อการลงทุน

2. ไม่มีการถอยหลังของข้อผูกพันภายใต้ความตกลง AIA และ IGA เดิม (No back-tracking) ยกเว้นในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชย

3. ให้มีการเปิดเสรีการลงทุน การคุ้มครอง การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวก รวมอยู่ในความตกลงฉบับเดียว

4. เป็นการเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่บรรยากาศการลงทุนที่เป็นเสรี ACIA มีรูปแบบการเขียนรายการข้อสงวนที่เป็นแบบเฉพาะตัว มีเพียง 1 รายการโดยจะทยอยลดข้อจำกัดในการลงทุนลงเรื่อยๆ 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรก ค.ศ. 2008-2010 ช่วงสอง 2011-2013 และ ช่วงที่สาม 2014-2015

5. ให้นักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนและต้องการขยายการลงทุนในอีกประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลง ACIA

6. การพิจารณาให้การปฏิบัติที่แตกต่างและเป็นพิเศษต่อสมาชิกใหม่ของอาเซียน เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การสร้างขีดความสามารถ และการอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น

7. ให้ความยืดหยุ่นในประเด็นอ่อนไหวของแต่ละประเทศสมาชิก

8. ตัดหลักการต่างตอบแทนที่เคยปรากฏใน AIA เพื่อให้ทุกประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ ACIA ได้อย่างเต็มที่

9. คงหลักการปฏิบัติที่ดีกว่าให้เฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

10. อนุญาตให้มีการขยายขอบเขตไปยังสาขาอื่นๆ ในอนาคตได้

กล่าวโดยย่อ ความตกลง ACIA ประกอบด้วยหลักสำคัญสี่ประการได้แก่ การเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจห้าสาขาหลักและกิจการบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับช่วงการผลิต (Sub-contract) ห้าสาขาเหล่านี้ได้แก่ สาขาการเกษตร สาขาประมง สาขาป่าไม้ สาขาเหมืองแร่และสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ข้อตกลงนี้จะครอบคลุมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ การลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

อาเซียนคาดหมายว่า ข้อตกลง ACIA จะสร้างความคล่องตัวให้กับสภาพแวดล้อมการลงทุน การปรับกฎเกณฑ์ให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้นในครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในส่วนการลงทุนและจูงใจให้นักลงทุนที่ลงทุนไปแล้วคงเงินทุนไว้ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้นอาเซียนยังคาดหมายว่าข้อตกลงนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจูงใจให้เกิดการเชื่อมโยงกันในภาคอุตสาหกรรม (greater industrial complementation) มากขึ้น

อ้างอิง

ASEAN Secretariat, ASEAN Charter.

ASEAN Secretariat, ASEAN Economic Community Blueprint.

ASEAN Secretariat (2012). ASEAN Comprehensive Investment Agreement – An Introduction. (Jakarta: Public Outreach and Civil Society Division).

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. เนื้อหา ACIA โดยย่อ. <http://www.boi.go.th/upload/เนื้อหา ACIA โดยย่อ_50325.pdf.> accessed on 24 June 2014.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. การเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ ACIA <http://www.boi.go.th/upload/การเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ ACIA (revised)_52346.pdf> accessed on 24 June 2014.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. ประเด็นคำถาม: รายการข้อสงวนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลุนทุนอาเซียน < http://www.boi.go.th/upload/Q&A_ACIA_48718.pdf> accessed on 24 June 2014.