คณิตศาสตร์การเมืองไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง:  รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย   


          เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ประเทศไทยนำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีการเขียนสูตรคิดคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไว้ในบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหลักการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อภายหลังการเลือกตั้งกลับพบว่ามีพฤติการณ์ตีความการใช้สูตรคำนวณดังกล่าวแตกต่างกันออกไปทั้งในกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงทำให้การคิดคำนวนสูตรดังกล่าวกลายเป็นคณิตศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

           1. ความหมาย หรือ แนวคิด

           คณิตศาสตร์การเมืองไทย เป็นชื่อของการเรียกสูตรการคำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (Party list) ซึ่งปรากฏในบทบัญญัตของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญิประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 128 ดังนี้

           จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91[1] การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

           (1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

           (2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

           (3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

           (4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

           (5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภสผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครเลือกตั้งแต่ก่อนก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวนตาม (1) และ (2) ด้วย

           การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           และจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128[2] ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ
ให้คำนวนตามวิธีการดังนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง

           (1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

           (2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะมีพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

           (3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

           (4) ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบค้น ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบค้นในกรณีมีเศษเท่ากันให้ดำเนินการตาม (6)

           (5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

           (6) ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวนมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทำให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อได้ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีการจับสลาก

           (7) ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของร้อยห้าสิบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นำ (4) มาใช้ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม

           (8) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนวันปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (1) และ (2) ด้วย

           ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) ถึง (8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

           จากบทกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นจะเห็นได้ว่า จากผลการใช้สูตรคำนวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) ที่มาจากคะแนนที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนขั้นต่ำ เมื่อรวบรวมจากจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจึงเป็นพรรคที่ควรได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส. พึงมีได้ แต่เมื่อการประกาศวิธีการใช้สูตรคำนวณของ กกต. และประกาศจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนน ซึ่งคำนวณได้จากสูตรของ กกต. ตามที่ปรากฏออกมา จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คณิตศาสตร์การเมืองไทย” ซึ่งเป็นสูตรการคำนวนที่เขียนขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำแนวคิดการจัดการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการใช้คำนวนวิธีการดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความและเข้าใจสูตรการคำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป แม้ตัวสูตรดังกล่าวจะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษณ์ที่นิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในภาษากฎหมายที่ใช้เกิดความไม่ชัดเจน คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้วลีว่า “ให้จัดสรรกับพรรคที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี แต่ต้องไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีได้” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ซึ่งผลปรากฏว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้เกลี่ยให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่คำนวณได้ เรียกระบบ Loser Bonus System (ให้รางวัลกับพรรคที่ได้เสียงน้อย) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ส.ส.จะไม่ถึง 150 ที่นั่งตามคำอธิบายของ กกต. ที่เกิดขึ้น[3]

 

           2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

          จากสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมืองไทยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งทำให้เกิดการตีความการใช้สูตรดังกล่าวในทางปฏิบัติออกเป็น 2 แนวทาง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคำนวณหาที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ดังนี้

          1. สูตรแรก นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีได้ลบ ( - ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตเลือกตั้ง ตัวเลขที่ได้สามารถนำไปใช้คำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หาร (/) จำนวน ส.ส. ทั้งหมดในระบบบัญชีรายชื่อคือ 150 คน แล้วนับจำนวนเต็มของแต่ละพรรคที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้รับ และหากยังไม่ครบส่วนที่เหลือให้คิดตามค่าเฉลี่ยทศนิยมสี่ตำแหน่งแล้วเรียงลำดับค่าเฉลี่ยที่แต่ละพรรคได้รับเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. เพิ่มอีกหนึ่งคน[[|จนครบจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อรวมกันทุกพรรค
ที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดจำนวน ]]150 คน

          ผลจากการคำนวนตามสูตรแรกนี้ จะทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เพียง 16 พรรค ดังนี้

 

ผลการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ตามสูตรแรก

อันดับ

พรรค

คะแนนที่นำมาคิด

ส.ส.พึงมีได้

ส.ส.เขต

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น

รวมที่นั่ง (ส.ส.แบบเขต + ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ได้รับการจัดสรร)

1

พลังประชารัฐ

8,433,137

118.6805

97

21.6805

119

2

เพื่อไทย

7,920,630

111.4679

137

-25.5321

137

3

อนาคตใหม่

6,265,950

88.1814

30

58.1814

88

4

ประชาธิปัตย์

3,947,726

55.5568

33

22.5568

53

5

ภูมิใจไทย

3,732,883

52.5333

39

13.5333

53

6

เสรีรวมไทย

826,530

11.6318

0

11.6318

12

7

ชาติไทยพัฒนา

782,031

11.0056

6

5.0056

11

8

เศรษฐกิจใหม่

485,664

6.8348

0

6.8348

7

9

ประชาชาติ

485,436

6.8316

6

0.8316

7

10

เพื่อชาติ

419,393

5.9022

0

5.9022

6

11

รวมพลังประชาชาติไทย

416,324

5.8590

1

4.8590

5

12

ชาติพัฒนา

252,044

3.5470

1

2.5470

3

13

พลังท้องถิ่นไทย

213,129

2.9994

0

2.9994

3

14

รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย

136,597

1.9223

0

1.9223

2

15

พลังปวงชนไทย

81,733

1.1502

0

1.1502

1

16

พลังชาติไทย

73,871

1.0396

0

1.0396

1

 

          2. สูตรที่ 2 นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีได้ลบ ( - ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตเลือกตั้ง ให้ได้ตัวเลขที่จะใช้คำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แล้วหาร ( / ) ตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค  แล้วนำไปปรับค่า Overhang ให้ได้ 150 เท่ากับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ นับจำนวนเต็มเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการจัดสรรก่อน ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ครบ 150 ให้คิดจากค่าเฉลี่ยทศนิยม 4 หลักที่มากที่สุดเรียงลำดับให้บัญชีพรรคการเมืองต่าง ๆ ไปจนครบจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อรวมกันทุกพรรคที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดจำนวน 150 คน

          ผลจากการคำนวนตามสูตรที่สามนี้ จะทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เพียง 27 พรรค ดังนี้

 

ผลการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ตามสูตรที่สอง

อันดับ

พรรค

คะแนนที่นำมาคิด

ส.ส.พึงมีได้

ส.ส.เขต

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น

ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับการจัดสรร

รวม

1

พลังประชารัฐ

8,433,137

118.6805

97

21.6805

19

116

2

เพื่อไทย

7,920,630

111.4679

137

-25.5321

0

137

3

อนาคตใหม่

6,265,950

88.1814

30

58.1814

50

80

4

ประชาธิปัตย์

3,947,726

55.5568

33

22.5568

20

53

5

ภูมิใจไทย

3,732,883

52.5333

39

13.5333

12

51

6

เสรีรวมไทย

826,530

11.6318

0

11.6318

9

9

7

ชาติไทยพัฒนา

782,031

11.0056

6

5.0056

4

10

8

เศรษฐกิจใหม่

485,664

6.8348

0

6.8348

6

6

9

ประชาชาติ

485,436

6.8316

6

0.8316

1

7

10

เพื่อชาติ

419,393

5.9022

0

5.9022

5

5

11

รวมพลังประชาชาติไทย

416,324

5.8590

1

4.8590

4

4

12

ชาติพัฒนา

252,044

3.5470

1

2.5470

2

3

13

พลังท้องถิ่นไทย

213,129

2.9994

0

2.9994

3

3

14

รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย

136,597

1.9223

0

1.9223

2

2

15

พลังปวงชนไทย

81,733

1.1502

0

1.1502

1

1

16

พลังชาติไทย

73,871

1.0396

0

1.0396

1

1

17

ประชาภิวัฒน์

69,417

0.9769

0

0.9769

1

1

18

พลังไทยรักไทย

60,840

0.8562

0

0.8562

1

1

19

ไทยศรีวิไลย์

60,421

0.8503

0

0.8503

1

1

20

ประชานิยม

56,617

0.7968

0

0.7968

1

1

21

ครูไทยเพื่อประชาชน

56,617

0.7929

0

0.7929

1

1

22

ประชาธรรมไทย

47,848

0.6734

0

0.6734

1

1

23

ประชาชนปฏิรูป

45,508

0.6404

0

0.6404

1

1

24

พลเมืองไทย

44,766

0.6300

0

0.6300

1

1

25

ประชาธิปไตยใหม่

39,792

0.5600

0

0.5600

1

1

26

พลังธรรมใหม่

35,533

0.5001

0

0.5001

1

1

27

ไทรักธรรม

33,748

0.4749

0

0.4749

1

1

 

          3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น
เป็นการใช้สูตรในการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามที่ได้นำเสนอตามประเด็นดังก่อนหน้านี้ ซึ่งหลักการของการตีความสูตรการคำนวณคะแนนของพรรคการเมืองเพื่อหาที่นั่ง ส.ส. ในระบบัญชีรายชื่อกลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่การเกิดคณิตศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นความสำคัญของการใช้สูตรที่แตกต่างกันได้ดังนี้[4]

          จากสูตรแรกที่นำเสนอ ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพตามสูตรแรกนี้ ขั้วพรรคการเมืองที่เคยประกาศว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่และพรรคพลังปวงชนไทย จะมี ส.ส. รวมกัน 137 + 88 + 12 + 7 + 6 + 7 + 1 = 258 เสียง ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

          ส่วนสูตรที่สอง ซึ่งเป็นสูตรตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ใช้คำนวณและประกาศวิธีการออกมาจะพบว่า ขั้วพรรคการเมืองที่เคยประกาศว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่และพรรคพลังปวงชนไทย จะมี ส.ส. รวมกัน 137 + 80 + 9 + 7 + 5 + 6 + 1 = 245 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

          ดังนั้นการใช้สูตรคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งของไทยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมามีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองแกนนำและพรรคเล็กๆ ที่ได้จำนวนที่นั่งจากการใช้สูตรที่สองเพิ่มขึ้นจากการใช้สูตรที่ 1 กว่า 11 พรรคการเมือง ซึ่งต่อมากลายเป็นตัวแปรสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา

 

          4. สรุป

          คณิตศาสตร์การเมืองไทย เป็นชื่อของการเรียกสูตรการคำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (Party list) ซึ่งปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 128 ซึ่งมีการตีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้สูตรคำนวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “คณิตศาสตร์การเมืองไทย” ซึ่งเขียนขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำแนวคิดการจัดการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการใช้คำนวนวิธีการดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความและเข้าใจสูตรการคำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป  และทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคำนวณหาที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว

 

          5. บรรณานุกรม

เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก

https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62

สืบค้นจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/,เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562). หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สืบค้น

จากเว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563.

 

อ้างอิง

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

[3] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/

[4] เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก

https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563