คณะอนุกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
องค์ประกอบและที่มาของคณะอนุกรรมการ
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 6 บัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาสรรหาสมาชิก โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาสมาชิก วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิก และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวนหกคณะ[1] ดังต่อไปนี้
(ก) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการเกษตร
(ข) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการอุตสาหกรรม
(ค) คณะอนุกรรมการการผลิตด้านการบริการ
(ง) คณะอนุกรรมการกลุ่มในภาคสังคม
(จ) คณะอนุกรรมการกลุ่มในภาคฐานทรัพยากร
(ฉ) คณะอนุกรรมการกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ
ให้คณะอนุกรรมการแต่ละคณะประกอบด้วย อนุกรรมการคณะละสิบสองคนซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือมีความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการด้านนั้น โดยมีผู้แทนภาคราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันภาคการผลิต สหภาพแรงงาน องค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินการโดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้ มาแบ่งปันกันและสื่อมวลชนในจำนวนที่เท่ากัน บุคคลใดจะเป็นอนุกรรมการเกินกว่าหนึ่งคณะไม่ได้
อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะอนุกรรมการแต่ละคณะตาม (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) มีหน้าที่เสนอรายชื่อองค์กรที่มีคุณลักษณะและมีกิจกรรมที่เหมาะสมให้เป็นองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ โดยให้คำนึงถึงองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมจริงและมีลักษณะการบริหารงานเป็นที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด
ทั้งนี้ ให้องค์กรผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อสมาชิกแต่ละองค์กรเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมัครใจตามจำนวนที่คณะกรรมการสรรหากำหนด และให้คณะอนุกรรมการตามที่กล่าวแล้วข้างต้น คัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสามเท่าของจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีได้ตามที่กำหนดสำหรับกลุ่มนั้นๆ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด และให้บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละกลุ่มดังกล่าวนั้นประชุมกัน เพื่อทำการคัดเลือกกันเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนดให้ได้บุคคลผู้ที่จะเป็นสมาชิก ตามจำนวนที่จะพึงมีได้ตามที่กำหนดสำหรับกลุ่มนั้นๆ

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกที่คณะกรรมการสรรหากำหนด โดยต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนไปตามภาค อาชีพ เพศ และขนาดของกิจการโดยในกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกลุ่มการผลิตด้านการอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกจ้าง และในกลุ่มการผลิตด้านการบริการจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ค้าอิสระหรือผู้ประกอบกิจการด้วยตนเองรายย่อยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒินั้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ ความสามารถ และมีภูมิปัญญาอย่างแท้จริง โดยให้องค์กรผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อตามกลุ่มต่างๆ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการตาม (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อคณะอนุกรรมการตาม (ฉ) และให้ดำเนินการตาม (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) โดยอนุโลม
ดูเพิ่มเติม
พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548.
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาศาสตร์. โครงการวิจัยเสริมสร้างประสิทธิภาพและ ประเมินผลการสรรหาสมาชิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3, 2552.
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาศาสตร์. การสร้างสร้างความรู้และความเข้าใจและพัฒนา กระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2551.
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานประจำปี 2548.
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานประจำปี 2552.
www.nesac.go.th/
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 6