คณะกรรมการสามัญและวิสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
คณะกรรมการสามัญ คือ คณะกรรมการที่สภากรุงเทพมหานครแต่งตั้งจากสมาชิกสภา คณะหนึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 5 คน อย่างมากไม่เกิน 9 คน คณะกรรมการสามัญมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารในแต่ละด้านมีทั้งหมด 11 คณะได้แก่
1. คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
2. คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม
3. คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
4. คณะกรรมการการสาธารณสุข
5. คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
6. คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และติดตามงบประมาณ
7. คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
8. คณะกรรมการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
9. คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา
10. คณะกรรมการการจราจร ขนส่งและ การระบายน้ำ
11. คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการวิสามัญ สภากรุงเทพมหานคร คือ กรรมการที่สภากรุงเทพมหานครเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภา หรือผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิเสนอชื่อผู้เป็นสมาชิกสภาหรือผู้ที่มิ ได้เป็นสมาชิกสภา เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญ ส่วนจำนวนกรรมการให้เป็นไปตามที่สภากรุงเทพมหานครกำหนด คณะกรรมการวิสามัญ มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวน หรือ ศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร แล้วรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการตั้งขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เมื่อสภาพิจารณาลงมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติที่สมาชิกสภาหรือผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสนอสภาต้องแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติ แล้วจึงรายงานผลการพิจารณาต่อสภา ถ้าสภาเห็นชอบก็จะส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามเพื่อประกาศใช้เป็น กฎหมายต่อไป กรณีที่ 2 ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดก่อนรับหลักการหรือก่อนให้ความเห็นชอบ ในญัตติใดๆ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ชัดเจนเพียงพอแล้วให้นำผลการพิจารณาเสนอต่อสภา ว่าสมควรจะรับหลักการหรือให้ความเห็นชอบในญัตตินั้น ๆ หรือไม่ ประการใด
ที่มา
สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมการปกครองท้องถิ่น หมวดที่ 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 5 เรื่อง กรุงเทพมหานคร. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547.
โกวิทย์ พวงงาม. การปกครองท้องถิ่นไทย : หลักการและมิติใหม่ในอนาคต. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543.
ชูวิทย์ ฉายะบุตร. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
สมคิด เลิศไพฑูรย์. การกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่น เปรียบเทรียบ :อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2541.
สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร ปีที่ 27, 2542.
พัชรี สิโรรส และอรทัย ก๊กผล บรรณาธิการ. การบริหารเมือง : กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร, 2542.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545
กรุงเทพมหานคร <www.bma.go.th>