ข้อเสนอใหม่ของการศึกษาบทบาทของทหารกับความขัดแย้งทางการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2553 เล่มที่ 1


บทนำ

ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ความแตกแยกและความขัดแย้งของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “ทหาร” จะต้องมีการผนวกกับคำวิเศษณ์เพื่อขยายฝ่ายข้างของทหารนั้น เช่น แตงโม มะเขือเทศ บูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ ทหารพราน หน่วยรบพิเศษ ฯลฯ เพราะเมื่อพูดถึงทหาร เราเริ่มไม่แน่ใจว่ากำลังพูดถึงทหารฝ่ายไหน และปฏิเสธได้ยากว่า ความบานปลายของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทหารมีหลายสาย เพราะเหตุการณ์การปะทะกันที่สี่แยกคอกวัว, การระเบิดในหลายจุดในกรุงเทพเป็นระยะๆ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2553 หรือการปะทะกันในวันที่ 10 และ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 ระหว่างฝ่าย นปช. และฝ่ายรัฐบาล เป็นสิ่งที่ค่อนข้างพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ผู้ที่เจนจัดในการใช้อาวุธทำลายล้างสูงเช่นนี้น่าจะเป็นทหาร เพราะคนทั่วไปคงไม่ได้รับการอบรมมาเป็นพิเศษให้ใช้อาวุธเหล่านี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจเหล่ากลุ่มของทหาร

ปรากฎการณ์แบ่งสีของทหารค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ในความเข้าใจของผู้เขียน ผู้เขียนจึงย้อนกลับไปวิเคราะห์ว่า ทหารแบ่งเป็นสายตั้งแต่เมื่อใด และในการศึกษาหาข้อมูลดังกล่าว ผู้เขียนได้ค้นพบข้อมูลอันน่าสนใจว่า แท้จริงแล้วทหารแบ่งเป็นสายมานานแล้ว และในระยะเวลาที่ผ่านมา ทหารได้มีการต่อสู้เชิงอำนาจเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ในสถาบันทหารเอง ซึ่งสะท้อนกลับไปว่า ความเข้าใจของผู้เขียนจากการอ่านหนังสือหลายๆ เล่มว่า ทหารเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และมีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองเพื่อคุ้มครองบ้านเมืองให้รอดพ้นจากความวุ่นวายนานับประการนั้นเป็นเพียงความเข้าใจหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนัก

ภายหลังการศึกษาเปรียบเทียบจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากหนังสือหลายเล่ม ผู้เขียนพบว่าจริงๆ แล้วทหารไม่ได้มีเอกภาพอย่างที่คิด ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การย้อนกลับไปพิเคราะห์ทฤษฎีที่กล่าวว่าทหารเป็นองค์กรการเมืองที่เป็นเอกภาพ มีความเป็นสถาบัน (ในขณะที่สถาบันการเมืองอื่นนั้นมีความเป็นสถาบันต่ำกว่า) เพื่อนำมาใช้อธิบายการต่อสู้ระหว่างสถาบันทหารกับสถาบันนอกระบบราชการนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะเมื่อศึกษาถึงการรัฐประหารและการกบฏหลายครั้งในเมืองไทย ที่ถึงแม้ว่า “ทหาร” จะเป็นผู้ทำ แต่การก่อการเหล่านั้นมาจากทหารต่างกลุ่มกัน การต่อสู้ของทหารต่างกลุ่มกันในทางการเมืองนั้นน่าจะสะท้อนสภาพของสถาบันทหารได้ดีกว่าการมองว่า สถาบันทหารคือสถาบันหนึ่งที่มาแทรกแซงการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ดังเช่นงานศึกษาอื่นๆ ได้ว่าไว้

ในการวิเคราะห์และอภิปรายผลจากการศึกษานี้ ผู้เขียนได้แบ่งแนวทางการอภิปรายไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า ที่ผ่านมาทหารไทยได้ต่อสู้กันเชิงอำนาจ และนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอย่างไรบ้าง ในส่วนที่สองเป็นส่วนการถกเถียงเชิงทฤษฎี เพื่อให้เห็นว่าที่มาที่ไปของแนวคิดทฤษฎีที่วิเคราะห์การเมืองไทยว่าเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใดแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้จึงถูกนำมาอธิบายบทบาทของทหารในการเมืองไทยในลักษณะตัวร้ายที่คอยแทรกแซงการเมืองไทย

1. ความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจในกองทัพไทย

ในส่วนนี้ผู้เขียนต้องการฉายภาพให้เห็นวิวัฒนาการของการต่อสู้ในสถาบันทหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของรัฐประหารและกบฎในครั้งต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพการแย่งชิงกันซึ่งอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อเป็นข้อมูลที่นำมาโต้แย้งกับแนวทางการวิเคราะห์เชิงสถาบันของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักในเรื่องความเข้มแข็งและเป็นสถาบันของทหารที่ยอมรับกันว่าเป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็งและมีความเป็นเอกภาพในสังคมไทย โดยพิสูจน์ว่า แม้ลักษณะภายนอกของทหารจะทำให้ดูเหมือนว่าทหารเป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับสถาบันการเมืองอื่น แต่โดยแท้จริงแล้วทหารเป็นสถาบันการเมืองที่มีการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ (struggle for power) ภายในสถาบันตนเอง

นอกจากนี้ผู้เขียนยังพบว่า ในทางประวัติศาสตร์แล้ว “ทหาร” โดนแทรกแซงจากการเมืองโดยตลอด เพราะในประเทศไทย สถาบันรัฐสภาไม่อาจเป็นเวทีของนักการเมืองได้อย่างแท้จริง นักการเมืองที่ต้องการแน่ใจว่าตำแหน่งของตนเองจะมั่นคงนั้น จะต้องผูกมิตรหรือควบคุมทหารให้ได้ ในการผูกมิตรกับทหารนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายทหารเพื่อให้ทหารฝ่ายที่ตนสนับสนุนได้อยู่ในส่วนที่คุมกำลัง การที่การเมืองมายุ่งเกี่ยวกับทหารมีส่วนทำให้ทหารต้องยุ่งกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในคำถามว่าเพราะเหตุใดทหารถึงยุ่งกับการเมือง หรือคำถามว่าเราจะตัดวงจรทหารออกไปจากการเมืองได้อย่างไร แทนที่จะคาดหวังให้ทหารมีความเป็นมืออาชีพ บทความนี้ต้องการนำเสนอว่า ควรทำให้ระบบการเมืองแบบรัฐสภาทำงานของมันได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การเมืองเลิกมายุ่งกับฝ่ายทหาร และทหารจะกลับไปเป็นทหารมืออาชีพที่หเลิกยุ่งกับการเมืองในที่สุด โดยในการวิเคราะห์ส่วนนี้จะเป็นการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องดังต่อไปนี้ จาก 24 มิถุนายน พ.ศ 2475 ถึง การรัฐประหารครั้งแรก

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ทหารมีบทบาทสำคัญในเข้ามาเป็นตัวแสดงทางการเมืองในฐานะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มาจากทหาร โดยทหารระดับมันสมองของคณะราษฎรคือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้วางแผนการ และทหารที่เข้ามาในกรุงเทพให้อยู่ที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นทหารที่ถูกลวงมาโดยนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้มีบทบาทสูงในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายหลังการรัฐประหาร จนถึงบรรยากาศในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความประนีประนอมจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายคณะราษฎร์[1] โดยเมื่อคณะราษฎรจัดทำร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ปรีดี พนมยงค์ 2526 : 346)

อย่างไรก็ดี ช่วงฮันนีมูนก็จบลงภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปีหลังจากพระราชทานรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ที่ระบบรัฐสภาก็ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ ชนวนเหตุของปัญหาอยู่ที่ความเห็นที่แตกต่างในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ที่เสนอต่อรัฐสภาโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในรัฐสภา โดยรัฐมนตรีและคณะราษฎร์สายขุนนางต่อต้านแนวทางที่นายปรีดีได้เสนอแนะไว้ในสมุดปกเหลือง หนึ่งในนั้นคือนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีทัศนคติต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยได้รับการหนุนหลังจากพระยาทรงสุรเดช จนกระทั่งในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปิดประชุมรัฐสภาและประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หลังจากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ายึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาโดยการกระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง[2] ในจุดนี้จึงเป็นเหตุการณ์แรกที่นักการเมืองดึงทหารเข้ามาแก้ไขอำนาจทางการเมือง และทำให้เหตุการณ์ยืดเยื้อบานปลายต่อไปเป็นกบฎบวรเดชในที่สุด

กบฏบวรเดช ถึงกบฎพระยาทรง

ภายหลังจากการยึดอำนาจ 1 วัน พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และในปีเดียวกันนั้นเองได้เห็นความแตกแยกของคณะทหารไทยอย่างรุนแรงและเสียเลือดเนื้อเป็นครั้งแรก ได้แก่ กบฏบวรเดช ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้น โดยประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มูลเหตุจูงใจของพระองค์เจ้าบวรเดชมาจากการที่ท่านไม่พอใจรัฐบาลของพระยาพหลฯ เนื่องจาก พระยาพหลฯ ปล่อยให้ประชาชนฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลังจากการก่อการอันไม่สำเร็จของพระองค์เจ้าบวรเดช ทำให้“กบฏบวรเดช” กลายเป็นหนึ่งในตำนานสงครามกลางเมืองของประเทศไทยที่ได้คร่าชีวิตทหารทั้งสองฝ่ายไปเป็นจำนวนมาก[3] และเป็นจุดแตกหักระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายขุนนางในกลุ่มคณะราษฎร์ ซึ่งกินความขัดแย้งยาวนานจนถึงปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ผลกระทบโดยตรงของกบฏบวรเดชคือเป็นการดึงพันเอกแปลก พิบูลสงคราม ให้กลายมาเป็นวีรบุรุษในการปราบกบฏครั้งนี้ เพราะสามารถประสบความสำเร็จในการเป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมพร้อมรถปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยก ออกไปปราบปรามกองกำลังของพระองค์เจ้าบวรเดชได้ประสบความสำเร็จ ในปีถัดมา พันตรีแปลกได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายอำนาจของพันเอกแปลก ในทางการเมือง และนอกจากนั้นยังดึงให้พันตรีผิน ชุณหะวัน เสนาธิการกองผสมปราบปรามพวกกบฏ และเสนาธิการมณฑล ทหารบกที่ 3 ก้าวเข้าสู่อำนาจอีกด้วย

เห็นได้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของสมาชิกรัฐสภา เป็นสิ่งที่นำพาให้ฝ่ายหนึ่งใช้กำลังและอีกฝ่ายหนึ่งก็ใช้กำลังตาม ในครั้งแรก พระยามโนปกรณ์ ฯ ปิดรัฐสภาด้วยความสนับสนุนของพระยาทรง ฯ และต่อมาพระยาพหล ฯ ก็ชิงอำนาจมาได้ และต่อมาได้ถูกตีกลับโดยการก่อการของพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งการต่อต้านพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ทำให้พันตรีแปลก ได้เลื่อนชั้นเป็นพันเอกแปลกในทันที การดึงทหารเข้ามาในเวทีการเมือง ทำให้เกิดทหารแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมีพันเอกแปลก พิบูลสงครามเป็นผู้สนับสนุน กับฝ่ายของพันเอกพระยาทรงสุรเดช ซึ่งสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ในระยะเวลาต่อมา เมื่อพันเอกแปลก ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481ได้มีคำสั่งให้พระยาทรง ฯ พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศโดยทันที พร้อมด้วยครอบครัว และนายทหารคนสนิท ในข้อหากบฎต่อประเทศ ต่อมาได้มีการกวาดล้างนายทหารสายพระยาทรงสุรเดชและผู้ที่ต้องสงสัย โดยจับผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คนเข้าคุกเมื่อเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 ผู้โดนจับกุมประกอบด้วยญาติและลูกศิษย์หลายคนของพระยาทรงสุรเดช และนักการเมืองฝีปากกล้าผู้เคยตำหนิพระยาพหลในรัฐสภา และต่อมารัฐบาลได้ตั้งศาลพิเศษเพื่อการประหารชีวิตบุคคลจำนวน 21 คนในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ซึ่งในกลุ่มนี้มีคนสนิทของพระยาทรง เช่น นายดาบพวง พลนาวี ข้าราชการรถไฟผู้เป็นพี่เขยพระยาทรงสุรเดช, ร้อยเอก ขุนคลี่ พลพฤนท์ นายทหารประจำกองบังคับการโรงเรียนรบเชียงใหม่ (ซึ่งเป็นโรงเรียนรบที่พระยาทรงสุรเดชตั้งขึ้น) และลูกศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช 4 คน ได้แก่ ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี, ร้อยโท แสง วัณณศิริ, ร้อยโท สัย เกษจินดา และ ร้อยโท เสริม พุ่มทรง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกประหารชีวิต อันเป็นการตัดตอนเส้นทางกลับคืนสู่อำนาจของพระยาทรง ฯ ไว้ที่นี้ การตัดตอนการกลับคืนสู่อำนาจของพระยาทรง ฯ เป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาอย่างลึกซึ้ง เพราะเมื่อพระยาทรงฯ ประสบความสำเร็จในการเป็นกุนซือวางแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว ท่านก็ปฏิเสธในการเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าในกรณีสมุดปกเหลืองนั้น พระยาทรงฯ อยู่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และหลังจากพระยาพหล ฯ ทำการรัฐประหารพระยามโน ท่านก็ขอออกเดินทางไปต่างประเทศ สำหรับสาเหตุที่ท่านถูกเข้าใจว่ากระทำการกบฏต่อรัฐบาลจอมพล ป. นั้น เป็นไปได้ว่า ในช่วงที่ จอมพล ป. ก้าวมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านจอมพล ป. ได้ถูกลอบสังหารหลายครั้ง และท่านสงสัยว่าเป็นพระยาทรง ฯ ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารเหล่านั้น ซึ่งสาเหตุความขัดแย้งระหว่างนายทหารสองคนนี้ มาจากเรื่องสมุดปกเหลือง ที่พระยาทรง ฯ อยู่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์ ในขณะที่จอมพล ป. อยู่ฝ่ายพระยาพหล ฯ ประเด็นการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กับบทบาทของทหารหนุ่มยุคแรก

ภายหลังจากที่กำจัดพระยาทรงฯ ไปได้ บ้านเมืองก็อยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาในระยะหนึ่ง แต่เมื่อบ้านเมืองสงบลงก็มาถึงความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำที่เหลือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทยอยู่ที่การรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ซึ่งได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นการรัฐประหารที่สามารถกำจัดปีกซ้ายฝ่ายก้าวหน้าของคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ และที่สำคัญคือได้สร้างกลุ่มทหารกลุ่มใหม่ที่เป็นทหารหนุ่ม ที่มีความแตกต่างจากคณะราษฎรเพราะจบมาจากโรงเรียนนายร้อยในเมืองไทย และไม่มีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

การปฏิวัติ พ.ศ. 2490 เริ่มต้นโดยพลโทผิน ชุณหะวัน อาศัยความร่วมมือขอบกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นพันเอกสฤษดิ์ ธนรัชต์เป็นผู้บังคับการกรม[4] ซึ่งการรัฐประหาร 2490 ทำให้กรมทหารราบที่ 1 กลายมาเป็นหน่วยทหารที่มีความสำคัญทางการเมือง โดยกลายเป็นกองกำลังในการปฏิวัติรัฐประหารตลอดมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 นี่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของทายาททางการเมืองที่จะมีบทบาทในกองทัพไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงกลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองต่อเนื่องไปนับ 3 ทศวรรษ ได้แก่ พันเอกสฤษดิ์ ธนรัชต์, พันเอกถนอม กิตติขจร, พันเอกประภาส จารุสเถียร และพันเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งทั้ง 4 คนนี้เป็นผู้ที่คุมตำแหน่งในส่วนคุมกำลังในเขตกรุงเทพมหานคร และยึดกุมตำแหน่งสำคัญทั้งในกองทัพและในทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ต้องการทำรัฐประหารต้องคุมกำลังในเขตกรุงเทพมหานครให้ได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า นายทหารระดับที่คุมกำลังเหล่านี้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม จึงมีอนาคตในทางการเมืองและการทหารสืบต่อมาอีกเป็นระยะเวลานาน

ถ้าย้อนกลับไปดูสาเหตุที่พลโทผิน กระทำรัฐประหารต่อ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงธาราสวัสดิ์ นั้น น่าจะเกี่ยวข้อง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. มีคำสั่งให้พลตรีผิน ชุณหะวัณ ยกกองกำลังทหารไปยึดดินแดนเชียงแสนและเชียงตุงในประเทศพม่าปัจจุบันนี้ ซึ่งตอนนั้นถูกจอมพลเจียงไคเช็คยึดครองอยู่ ในที่สุดวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ไทยผนวกดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยกองกำลังพายัพ ซึ่งมีพลตรีผิน รองแม่ทัพกองทัพพายัพ เป็นข้าหลวงทหารประจำรัฐไทยใหญ่ มีการตั้งศาลากลางสหรัฐไทยใหญ่เดิมขึ้นที่เมืองเชียงตุง แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยภายใต้นายควง อภัยวงศ์ ต้องคืนดินแดนส่วนนี้ให้สหประชาชาติ ให้พลตรี ผิน ชุณหะวัณ และทหารในกองทัพพายัพ เดินเท้ากลับมาจากเชียงตุง และถูกปลดจากการเป็นทหารกองหนุน ซึ่งกล่าวได้ว่า แม้การก่อการของพลโทผิน นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุการณ์สวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งทำให้บ้านเมืองมีความแตกแยก แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ควรนำมาวิเคราะห์ในที่นี้ก็คือเรื่องของพลโทผินกับเชียงตุง ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิมาก ที่แม้จะชนะศึกและยึดนครเชียงตุงซึ่งอยู่ห่างไกลและเดินทางยากลำบาก แต่ต้องกลับประเทศไทยอย่างสิ้นศักดิ์ศรีในฐานะผู้แพ้สงคราม

ในช่วงแรกของการรัฐประหาร 2490 จอมพลผิน เลือกนายควง เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อีกเพียง 5 เดือนก็จี้ให้นายควงออก และดึงเอาจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการกลับมาของจอมพล ป. คราวนี้ ไม่ได้มาพร้อมกับกำลังทหารเหมือนสมัยแรก ซึ่งในการรัฐประหารนั้น จอมพล ป. ไม่ได้คุมกำลังในการปฏิวัติด้วยตัวเองด้วยซ้ำ จึงต้องอาศัยทหารหนุ่มจากกรมทหารราบที่ 1 ในการสนับสนุนการเป็นนายกรัฐมนตรีของตน และในช่วงระหว่างการดำรงตำแหน่ง จอมพล ป. ต้องประสบกับปัญหากบฎถึง 3 ครั้ง ได้แก่ กบฏเสนาธิการ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2491) กบฏวังหลวง (26 มิถุนายน พ.ศ. 2492) และกบฏแมนฮัตตัน ( 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494) โดยในกบฎครั้งแรกคือ กบฏเสนาธิการนั้น เกิดจากนายทหารเสนาธิการหลายคน ได้แก่พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรี เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหาร วางแผนจะยึดอำนาจการปกครอง แต่รัฐบาลทราบแผนการเสียก่อน และสามารถจับกุมคณะทหารได้ ครั้งที่สองคือกบฏวังหลวงนั้นเกิดโดยนายปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับคณะนายทหารเรือและพลเรือนกลุ่มหนึ่งเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและตั้งเป็นกองบัญชาการ โดยในการปราบกบฏครั้งนี้ได้ปรากฏชื่อของพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้อำนวยการปราบปรามด้วย ซึ่งได้มีการสู้รบกันจนรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ และนายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนครั้งที่สามซึ่งเป็นครั้งที่ดูจะร้ายแรงที่สุด คือ นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยได้ใช้ปืนจี้นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงครามไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการต่อสู้กันระหว่างทหารเรือและทหารบกกับทหารอากาศ โดยมีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินใส่เรือหลวงศรีอยุธยาซึ่งขณะนั้นมีนายกรัฐมนตรีถูกจับไว้เป็นตัวประกันอยู่ แต่ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงครามก็หนีรอดมาได้ โดยมีทหารเรือผู้หนึ่งได้พาว่ายน้ำหนีออกมาจากเรือได้ โดยในกบฏแมนฮัตตันนี้ถือว่าเป็นความรุนแรงมากที่สุด เพราะนอกจากสถานที่ราชการต่างๆ จะเสียหายแล้ว ยังมีการจมเรือหลวง และมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งทหารของทั้งสองฝ่ายและประชาชนพลเรือน

ปัญหากบฏหลายครั้งในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม น่าจะเป็นตัวบ่งบอกสถานภาพของจอมพล ป. ในสมัยนั้นได้ว่า อยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงและต้องพึ่งพิงกับอำนาจอื่น เพราะถึงแม้จะครองยศสูงสุดในระดับจอมพล แต่คนที่คุมกำลังนั้นจริงๆ แล้วคือทหารระดับกลาง นอกจากนี้ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นการดำรงตำแหน่งที่อยู่บนการคานอำนาจของนายทหารระดับจอมพล 2 คน คือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลูกเขยของพลโทผิน ชุณหะวัน (ผู้นำการรัฐประหาร พ.ศ. 2490) และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แล้วในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ต้องหนีไปต่างประเทศในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมองตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2490 แล้วว่า เป็นสิ่งที่การเมืองดึงให้ทหารเขามามีบทบาททางการเมือง โดยดึงนายทหารระดับกลางเข้ามา และสืบเชื้อสายอำนาจทางการเมืองต่อไปอีก เพราะยังมีอายุราชการลงเหลืออยู่อีกนาน

การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500 สามารถสร้างสภาวะเอกภาพให้กับทหารได้ถึง 15 ปี ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2514 สาเหตุเกิดจากการที่ในช่วงเวลานั้น เกิดจากการที่ ทหารสามารถจัดระเบียบการสืบทอดตำแหน่งสำคัญทางการทหารได้อย่างเข้มแข็งโดยปราศจากการแทรกแซงของสายทางการเมือง เช่น ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ซึ่งเป็นกำลังหลักของกองทัพภาคที่ 1 นั้นถูกกำหนดไว้ให้บุคคล 3 คนคือ สฤษดิ์ ถนอม และประภาส (ชัยอนันต์, 2525) ซึ่งนายทหารแต่ละท่านสามารถคุมกองกำลังอยู่หลายปี แต่ภายหลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมดุลดังกล่าวได้เริ่มเปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะจอมพลถนอมที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบมาต้องแบ่งอำนาจทางการเมืองให้กับผู้นำคนอื่น เช่น พล.อ. ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ผบ.ทบ.) พล.อ. จิตติ นาวีเสถียร (ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและ รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์) พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ (อธิบดีกรมตำรวจ และ รัฐมนตรีมหาดไทย)[5] ต่อมาความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ และกลุ่มพล.อ. กฤษณ์ สีวะรา เริ่มไม่พอใจกับการวางตัวทายาทของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ต้องการให้พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร และลูกเขยจอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ประกอบกับการที่พันเอกณรงค์ ได้ปฏิบัติการในทางรุกรานต่อฝ่ายอำนาจอื่นซึ่งเคยเป็นฐานของอำนาจตนและอำนาจพ่อตา จึงยิ่งขยายรอยร้าวให้แผ่กว้างออกไปอีก ซึ่งเมื่อประสมกับการที่สังคมได้เกิดกลุ่มพลังใหม่ นั่นก็คือพลังของนิสิตนักศึกษาที่ได้สร้างความเครือข่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถึงปี พ.ศ. 2515 ก็ยิ่งทำให้สถาบันกองทัพไทยไม่อาจรับมือกับพลังของนิสิตนักศึกษาได้

ยังเติร์ก : การก่อตัวของนายทหารหนุ่มยุคสอง

ชัยอนันต์ (2525) วิเคราะห์ต้นเหตุของการก่อตัวของนายทหารกลุ่มยังเติร์กไว้ว่า เกิดจากการที่สายการสืบทอดอำนาจของกองทัพบกขาดช่วงลง และเป็นช่วงของ “การก่อตัวของทหารกลุ่มย่อยในกองทัพ” นำโดย พันตรี มนูญ รูปขจร, พันตรีจำลอง ศรีเมือง, พันตรี ชูพงศ์ มัทวพันธ์, พันตรีประจักษ์ สว่างจิตร ซึ่งการเกาะกลุ่มของนายทหารหนุ่มกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากช่องว่างในอำนาจของกองทัพ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากสภาพของกองทัพภายหลังเหตุการณ์นั้นมีสภาพแตกต่างกับในช่วงปี พ.ศ. 2490 – 2501 เป็นอันมาก โดยในช่วงปี 2490-2501 ผู้นำทางการทหารในกองทัพบก 3 คน คือ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม จอมพลประภาส สามารถควบคุมอำนาจในกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะที่หลังปี พ.ศ. 2516 มานั้น กองทัพบกขาดผู้นำระดับสูงที่มีอำนาจเด็ดขาดและมีบารมี ชัยอนันต์ อธิบายต่อว่า เหตุผลที่เบื้องหลังการรัฐประหารคือ นายทหารกลุ่มนี้มองว่าเกียรติภูมิของทหารหลังจาก 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ค่อนข้างตกต่ำ จึงได้ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยกิจกรรมแรกคือการประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และสามารถผลักดันให้พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่นายธานินทร์ ไกรวิเชียร

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยการวิเคราะห์ของชัยอนันต์ ตามที่ชัยอนันต์กล่าวว่า สภาพกองทัพ-การเมืองระหว่างปีเพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในปี พ.ศ. 2490-2501 มีความเข้มแข็งในขณะที่ช่วงปี ปี 2516 – 2525 ทหารมีความอ่อนแอ นั้นค่อนข้างขัดแย้งกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยช่วงปี พ.ศ. 2490-2501 ซึ่งเป็นช่วงการดำรงตำแหน่งของจอมพล ป. นั้น ทหารไม่น่าจะเข้มแข็งและมีเอกภาพ เพราะปรากฏว่ามีรัฐประหารขึ้นถึงสามครั้ง นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองของนายทหารรุ่นน้องที่คุมกำลังทหาร ซึ่งจอมพล ป. ใช้วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง นอกจากนี้การที่ชัยอนันต์กล่าวว่า นายทหารกลุ่มนี้มองว่าเกียรติภูมิของทหารหลังจาก 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ค่อนข้างตกต่ำ นั้น เป็นข้อมูลที่ได้มาจาการสัมภาษณ์นายทหาร จปร. 7 เอง จึงเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่ออ้างความชอบธรรมในทางวิชาชีพ และปกป้องตัวเอง ซึ่งหากเทียบกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าวว่า ตนเองเป็นรัฐบาลหอย คือรัฐบาลเปรียบเสมือนเนื้อหอยอยู่ในเปลือกหอย ได้แก่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จะให้เข้าใจว่าทหารมีสถานภาพตกต่ำได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลยังยอมให้ทหารปกป้องโดยการยอมเป็นเนื้อหอย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาบทบาทของทหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมานั้นจะเห็นว่า ทหารไม่ได้มีบทบาทตกต่ำตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือเรื่องยังเติร์กได้กล่าวไว้ จากที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ในหนังสือชีวลิขิต ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของท่านว่า พล.ร.อ. สงัดได้กล่าวกับท่านว่า จำเป็นที่ต้องทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่เช่นนั้นนายทหารกลุ่มอื่นจะทำการในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่ง ม.ร.ว. เสนีย์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคณะของ พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเรื่องระหองระแหงกับรัฐบาล และมีข่าวว่า พล.อ. ฉลาดจะทำการรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งหลังจาการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แล้ว พล.ร.อ. สงัด ได้แต่งตั้งนายธานินทร์ ไกรวิเชียร ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่ขวาจัดที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลที่นำโดยพลเรือนก็ไม่สามารถปฏิบัติงานให้ถูกใจทหารได้ บ้านเมืองมีความไม่มั่นคง รัฐบาลใช้นโยบายล้อมปราบและล้อมจับนักศึกษาอย่างหนักข้อ และเกิดกบฏขึ้นในเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้นคือ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

ที่มาของการก่อการกบฎเกิดขึ้นจากการที่ พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกสืบต่อจาก พล.อ. บุญชัย บำรุงพงษ์ โดยให้ย้ายดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกจ่อคิวผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 เพื่อที่จะคานอำนาจกับกลุ่ม พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งการย้ายพล.อ. ฉลาดมาเช่นนี้ เป็นการข้ามลำดับอาวุโส และข้ามขั้นตอนเพราะไม่ได้ผ่านผู้บัญชาการทหารบก และยังเป็นคำสั่งโยกย้ายนอกฤดูกาลจากรัฐบาลรักษาการ (รัฐบาลยุบสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 แต่แต่งตั้งพล.อ. ฉลาดเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519) ด้วยเหตุนี้หลังจากการเลือกตั้งกลุ่มพล.อ. กฤษณ์ได้กลับเข้ามามีอำนาจ พล.อ. ฉลาดจึงถูกคำสั่งย้ายไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 และอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2519 คราวนี้ให้ไปช่วยราชการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงนั้นมีข่าวว่าพล.อ. ฉลาดจะทำการปฏิวัติหลายครั้ง ทำให้พล.อ. ฉลาดถูกให้ออกจากราชการในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ด้วยเหตุผลว่าไม่ไปรายงานตัวกับคณะปฏิรูปการปกครอง ต่อมาพล.อ. ฉลาดได้ลี้ภัยการเมืองโดยไปบวชที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร และสึกออกมาปฏิวัติพร้อมกับพันโทสนั่น ขจรประศาสน์ นายทหารคนสนิท แต่ในการก่อการนั้น พล.อ. ฉลาดไม่ได้มีกองกำลังของตนเองในกรุงเทพ เพราะนำทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และกองพลทหารราบที่ 19 กองพันที่ 1,2 และ 3 เข้ามายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี, กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า, กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยเข้ามาควบคุมตัวนายทหารสำคัญคือ พล.อ. ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ประลอง วีระปรีย์ เสนาธิการทหารบก และพลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ฝ่ายผู้ก่อการพยายามเข้าควบคุมตัว พล.อ. เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกด้วย แต่พล.อ. เสริมสามารถหนีออกจากบ้านพักไปได้ แต่แม้ว่า พล.อ. ฉลาดจะเข้ายึดสถานที่สำคัญได้บางส่วน แต่กำลังทหาร 3 เหล่าทัพและตำรวจยังเป็นของรัฐบาล ในที่สุด พล.อ. ฉลาดก็ถูกล้อม และได้มีการเจรจาว่าผู้ก่อการคือ พล.อ. ฉลาด และนายทหารอีก 4 คนจะเดินทางออกไปนอกประเทศ คือ ไต้หวัน แต่ต่อมารัฐบาลพลิกแผนไม่ยอมส่งนายทหารทั้ง 5 คนออกนอกประเทศ และได้ดำเนินคดีกับทั้ง 5 คนนี้ในฐานะกบฎ ซึ่งในที่สุดพล.อ. ฉลาด หิรัญศิริถูกตัดสินประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

เหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองต่อฝ่ายทหาร เพราะแต่เริ่มเดิมทีของการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการกองทัพบกของพล.อ. ฉลาด นั้นเป็นเรื่องของการดันจากฝ่ายการเมือง (โดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ซึ่งเมื่อรัฐบาลใหม่ที่มาไม่ใช่รัฐบาลเดิมแล้ว คนที่มาด้วยการเมืองก็ต้องตกไปด้วยการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อพล.อ. ฉลาด รับไม่ได้ จึงต้องมีการต่อสู้ ซึ่งการต่อสู้และการสูญเสียในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่สำคัญของการแทรกแซงทางการเมืองต่อฝ่ายทหาร และทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกทอดหนึ่ง ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ภายหลังวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อีกที คือ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารในวันดังกล่าวแล้ว จึงแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจะต้องการปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี แต่ภายหลังได้มีการรัฐประหารอีกครั้ง โดยมีข้ออ้างว่า ทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าการปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป นอกจากนี้ยังประกาศข้ออ้างอื่นๆ ว่า การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดยะลา ซึ่งผลจากการยึดอำนาจคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น และมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 แทน จนกระทั่งถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 จึงมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2521 แทน และได้แต่งตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แล้ว รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้เพราะวุฒิสมาชิกซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนในการกำหนดผู้ที่จะเป็นรัฐบาลด้วย วุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งนี้คือผู้ที่กลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้นจึงสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักด์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามเมื่อบริหารประเทศภายใต้ระบบรัฐสภา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ไม่สามารถต่อสู้ในระบบการเมืองได้ ต่อมาเมื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กำหนดจะเปิดอภิปรายในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศลาออกเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นจึงมีการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้เลือกเอา พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกและหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ. เปรม ส่งผลดีต่อกลุ่มนายทหารหนุ่มคือในระยะแรกทำให้กลุ่มนายทหารหนุ่มสามารถเข้าใกล้ศูนย์กลางของอำนาจอย่างง่ายดาย เพราะสมาชิกของกลุ่มหลายคนมีความใกล้ชิดกับพล.อ. เปรม เห็นได้จากการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยนายกรัฐมนตรีเมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2522 โดยนายกรัฐมนตรีนั้นพบว่า สมาชิกของกลุ่มนายทหารหนุ่มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกถึงประมาณ 20 คน ซึ่งในช่วงนั้นกล่าวได้ว่ากลุ่มนายทหารนี้มีบทบาททางการเมืองค่อนข้างมาก เพราะสามารถติดต่อกับพล.อ. เปรมได้โดยตรง แต่ในปีถัดมาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มนายทหารนี้ต้องชนกับพลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เข้าอย่างจัง ในเรื่องประเด็นการต่ออายุราชการของพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เพราะนายทหารหนุ่มไม่ต้องการให้มีการต่ออายุราชการ โดยพลตรีอาทิตย์เป็นผู้รวบรวมรายชื่อนายทหารบกส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่ออายุราชการให้แก่พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และเมื่อมีการต่ออายุราชการของพล.อ. เปรม ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 แล้ว ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน โผทหารก็ออกมาว่า พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ถูกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ซึ่งมีความสำคัญไปสู่ตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งชัยอนันต์ วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะความไม่พอใจของกลุ่มนายทหารหนุ่มต่อพลตรีอาทิตย์ (ชัยอนันต์, 2525)

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ได้เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในกองทัพอันนำมาสู่การสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของกลุ่มนายทหารหนุ่ม ซึ่งมีชื่อภายหลังเหตุการณ์นี้ว่า กบฏเมษาฮาวาย เนื่องจากเป็นการก่อการในวันที่ 1 เมษายน (ในวันที่ 1 เมษายนเป็นวันโกหกของฝรั่ง) โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพล.อ. เปรม กับคณะนายทหารหนุ่ม โดยข่าวที่ว่าจะมีการต่ออายุพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ต่อไปอีก 1 ปี และกลุ่มนายทหารหนุ่มจะถูกย้ายจากส่วนคุมกำลังทั้งหมด ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ ในคืนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2524 พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร จึงนำทหารกรมทหารราบที่ 2 เข้ามาในกรุงเทพและขอให้พล.อ. เปรม นำการปฏิวัติ แต่ได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ยังยืนยันใช้กำลังยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน 2524 โดย คณะนายทหารหนุ่มได้จับตัวพล.อ. เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบกและออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ แต่พล.อ. เปรมฯ ได้หลบหนีไปตั้งกองบัญชาการที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่การก่อการในครั้งนี้ต่างฝ่ายต่างแถลงปลดกันออกอากาศโดยไม่มีการต่อสู้ให้เสียเลือดเนื้อ ในที่สุดฝ่ายนายทหารหนุ่มยอมแพ้ และผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ และภายหลังเหตุการณ์ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจากพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในอีก 6 เดือนต่อมา

หลังจากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย ประเทศไทยต้องจารึกการกบฏชาร์เตอร์ ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในกลุ่มทหารไทยได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ.อ. มนูญ รูปขจร และ น.ท. มนัส รูปขจร ได้นำกองกำลังรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์และกรมอากาศโยธินอีกจำนวนหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ โดยอาศัยการสนับสนุนจากนายทหารนอกประจำการชั้นผู้ใหญ่ 4 คน พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ. เสริม ณ นคร พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ พล.อ.อ. กระแส อินทรัตน์ การก่อการเสร็จสิ้นในเวลาอันรวดเร็วโดยชัยชนะของรัฐบาล อย่างไรก็ตามการก่อการในครั้งนี้ยังมีข้อน่าสงสัยบางประการที่ยังไม่ได้รับการชำระ เป็นต้นว่าสาเหตุที่แท้จริงของการก่อการมาจากอะไร หรือเพราะเหตุใดจึงมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าร่วม และเพราะเหตุใด พ.อ. มนูญ จึงก่อการในเรื่องนี้เพียงลำพังโดยปราศจากเพื่อน จปร. 7 เข้าร่วมด้วย และเพราะเหตุใดจึงมีการยิงถล่ม พล.ต. อิสสระพงศ์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ นายทหารคนสำคัญ และยังเป็นพี่เขยของ พล.ท. สุจินดา คราประยูร ผู้นำ จปร. 5 ซึ่งเรื่องความขัดแย้งของ จปร. 7 และ จปร. 5 ก็เป็นปกิณกะสาระอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534: จปร. 7 และ จปร. 5

การรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่นักวิชาการชอบหยิบยกมาในฐานะของชัยชนะของประชาธิปไตยเหนือเผด็จการอำนาจนิยม แต่แท้จริงแล้วการรัฐประหาร รวมทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ น่าจะสะท้อนความเป็นจริงในการเมืองไทยในระดับที่มากกว่าการรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์

ส่วนหนึ่งของการรัฐประหารเกิดจากปัญหาการทุจริตคอรับชั่นในฉายา (บุฟเฟต์คาบิเนต) ก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงนั้นเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างคณะรัฐบาลและนายทหารรุ่น จปร. 5 ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ โดยเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดจากคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่เรียกกันในนามบ้านพิษณุโลกนั้น มีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับคณะนายทหารรุ่นนี้ จนในที่สุด พล.อ. ชาติชาย นายกรัฐมนตรียอมอ่อนข้อให้กับทหาร โดยการออกคำสั่งปลด ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร หนึ่งในคณะที่ปรึกษาฯ ออก เนื่องจากมีปัญหากับทหาร และหลังจากนั้นก็เกิดความกระทบกระทั่งขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งจะขอเรียงให้เห็นลำดับเหตุการณ์โดยย่อ ดังนี้

1. วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2533 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยหวังว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนี้จะทำให้ พล.อ. ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วเปิดทางให้ จปร. 5 ขึ้นแทน ซึ่งในที่สุด พล.อ. สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งทั้งสองท่านเป็น จปร. 5 รุ่นเดียวกัน

2. วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2533 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจาก ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงพูดจาพาดพิงตนเองและภรรยา แม้ พล.อ. ชาติชาย จะปลอบใจด้วยการแต่งตั้งให้ พล.อ. ชวลิตเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทหารพอใจ ต่อมาทหารยึดรถถ่ายทอดสัญญาณวิทยุพร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เนื่องจากปล่อยคลื่นรบกวนระบบสื่อสารของทหารเรือ มีข่าวลือว่า ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าว

3. วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 พล,อ. สุจินดา คราประยูร มีคำสั่งรักษาพระนครที่ 43/2533 ห้ามชุมนุมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะท้าทายกองทัพโดยการจัดม็อบสนับสนุนรัฐบาลมาที่รอบทำเนียบรัฐบาล

4. ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี โดยย้ายร.ต.อ. เฉลิม ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ทำให้ จปร. 5 ไม่พอใจอย่างมาก เพราะต้องการให้ปลด ร.ต.อ. เฉลิม

5. พล.อ. ชาติชาย ดึงพล.อ. อาทิตย์กำลังเอก มาเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งการนำพล.อ. อาทิตย์เข้ามานั้น นายทหาร จปร. 5 ว่าเป็นภัยคุกคามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่าคงจะตั้งพล.อ. อาทิตย์มาปลดนายทหาร จปร. 5 ออกจากตำแหน่งสำคัญ คือ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก โดยพล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล แกนนำ รสช. ระบุว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจยึดอำนาจก็คือการแต่งตั้ง พล.อ. อาทิตย์ ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

6. นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่กินแหนงแคลงใจระหว่างทหารกับรัฐบาลอีกประการหนึ่ง คือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ดึงตัว พล.ตรี มนูญ รูปขจร นายทหาร จปร. รุ่น 7 ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับนายทหาร จปร. 5 กลับมาอีกครั้ง ซึ่งคงจำได้ว่าหลังจากกบฎยังเติร์ก ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 แล้ว พ.อ. มนูญ ก็ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการและถูกถอดยศ และเดินทางออกนอกประเทศ แต่ในยุครัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ได้ออกคำสั่งให้มีการนิรโทษกรรม จึงเดินทางกลับประเทศไทย และได้รับการคืนยศดังเดิม และในปี 2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศจาก “พันเอก” ให้เป็น “พลตรี” ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเดินทางกลับมาของพ.อ. มนูญ และยังไม่ได้รับการคืนยศ และเลื่อนยศนี้ ทำให้เป็นสิ่งที่นายทหาร จปร. รุ่น 5 ไม่พอใจอย่างมาก ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างการรัฐประหารของคณะ รสช. ด้วย ภายหลังจากนั้นได้มีการเลือกตั้ง และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจากผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีปัญหาบางประการ พล.อ. สุจินดา คราประยูร จึงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นมีการรวมกลุ่มกันต่อต้านการดำรงตำแหน่งของ พล. อ. สุจินดา เป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในแกนนำคือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ผู้นำคนหนึ่งของ จปร. รุ่น 7

การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

นักวิชาการหลายคน มั่นใจว่า การรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คือการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย สุจิต บุญบงการ (2545) กลช่าวว่า “โอกาสที่ทหารจะยึดอำนาจนั้นคงจะไม่มีอีก” เช่นเดียวกับ ปณิธาน วัฒนายากร (2545) ก็กล่าวเช่นเดียวกัน โดยปัจจัยภายในประเทศคือความเป็นมืออาชีพ และการไม่ยอมรับระบบทหารจากต่างประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทหารไม่น่าจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำการปฏิวัติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ต้องจารึกไว้ถึงเหตุการณ์รัฐประหารครั้งใหม่ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 จนได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวพล. อ. สนธิ บุญรัตกลิน เปิดเผยว่าได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการเตรียมการก่อรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่าเริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 (The Nation, 2006) โดยอ้างว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีปัจจัยอยู่ 2 ประการคือ การเรียกร้องจากประชาชน และภาระหน้าที่ของทหารในการรักษาความมั่นคงของประเทศ รักษาชาติบ้านเมืองและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ไม่ว่าการอ้างการรัฐประหารจะเป็นอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ. สนธิ บุญรัตกลิน ผู้ก่อการรัฐประหารนั้นไม่ได้สวยงามมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดย พล.อ. สนธิ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในสายของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่งภายหลังจากการรัฐประหารแล้วพล.อ. สนธิ ได้เชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ของ พล.อ. สนธินั้น มาจากการผลักดันของ พล.อ. เปรม และ พล.อ. สุรยุทธ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า พล.อ. สนธิ นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งน่าจะเป็นผู้คลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ยอมให้พล. อ. สนธิ ทหารคนละสาย (และยังเป็นสายที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ประกาศสงคราม โดนการประกาศถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ) ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก แล้ว พ.ต.ท. ทักษิณ ยังพลาดในการวางตำแหน่งเหล่าทัพเป็นสายนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 เกือบทั้งหมด ได้แก่ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ (ผบ.ทร.) และ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุก (ผบ.ทอ.) ยกเว้นพล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ (ผบ.สส.),คนเดียวที่เป็น ตท.5 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่เป็นผู้นำการรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งสาเหตุที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ยอมแต่งตั้ง ตท. 6 ขึ้นตำแหน่งสูงสุดทั้งแผง เพราะคิดว่าตนเองสามารถให้นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ คุมตำแหน่งสำคัญ ได้หมดแล้ว โดยในกองทัพภาคที่ 1 คือ พล.ต. พฤณท์ สุวรรณทัต เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1รอ.), พล.ต. ศานิต พรหมมาศ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ม.2 รอ.) พล.ต. เรืองศักดิ์ ทองดี เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ผบ.พล.ปตอ.) ซึ่งเห็นได้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ค่อนข้างแน่ใจว่า สามารถไว้ใจคนที่คุมกำลังสำคัญทั้ง 3 เหล่าคือ ทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ ซึ่งคุมกองกำลังทางทหารในกรุงเทพไว้ทั้งหมด แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คนที่นำกำลังหลักมายึดอำนาจ คือ พล.ท. อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 และพล.ท. สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 โดยสนธิกำลังจาก กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 กองพลรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 3 ศูนย์การทหารราบ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งสิ้น 7 กองพล 17 กรม 43 กองพัน เรียกได้ว่าทหารที่ทำการยึดอำนาจนี้มาจากต่างจังหวัด ซึ่ง ตท. 10 รุ่น พ.ต.ท. ทักษิณ ที่คุมกำลังอยู่ในกรุงเทพไม่อาจประสานงานกันเพื่อต่อสู้ได้เลย

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า ในการป้องกันการรัฐประหารนั้น ฝ่ายการเมืองได้มีการย้ายนายทหารข้ามรุ่นกันเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหล่าทหารบก เพราะเป็นทหารที่คุมกำลังในกรุงเทพที่มีพลังที่จะปฏิวัติได้ พ.ต.ท. ก็คิดว่า สถานการณ์จะเป็นเช่นนั้น จึงให้ ผบ.พล. ในกรุงเทพเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันหมด แต่ลืมไปว่า ผบ. ทบ,, ผบ.สส แบะมผบ. ทอ. ล้วนมาจากฝ่ายทหาร แต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนนั้น ทหารส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการพลิกเกมส์รัฐประหารที่เคยเกิดในเมืองไทยว่า ทหารกรุงเทพเหล่า ราบ ม้า ปืน ที่จะมีบทบาทในการรัฐประหารมาโดยตลอด จากการวิเคราะห์บทบาทของทหารในทางการเมืองแล้ว พบว่าทหารกับการเมืองมีความสัมพันธ์กันใน 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ลักษณะการแย่งชิงอำนาจกันเองของทหาร ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ กลุ่ม พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ไม่พอใจกับการวางตัวทายาทของจอมพลถนอม กิตติขจร และลูกเขย จอมพลประภาส จารุเสถียร, การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ตัดหน้า พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ, การฟอร์มตัวของกลุ่มยังเติร์กและการกบฎเมษาฮาวาย, การดึงตัวพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกกับ จปร. 5, ความขัดแย้งระหว่างจปร. 5 และ จปร. 7, การที่จปร. 5 ไม่พอใจที่พล.อ. ชาติชายดึงตัวพันเอกมนูญ รูปขจรกลับมารับราชการและเลื่อนยศให้เป็นพลตรี

2. ทหารถูกดึงเข้ามาในระบบการเมืองเพื่อส่งเสริมอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดบ่อยครั้งรองลงมา เช่น การดึงพระยาทรง ฯ เข้ามาสนับสนุนพระยามโนปกรณ์, การดึงพันเอกพิบูลสงครามมาสนับสนุนพระยาพหลพลพยุหเสนา, การคานดุลอำนาจระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า กับ จอมพลสฤษดิ์ เป็นต้น

3. การกระทำของทหารเอง ซึ่งผู้เขียนพบว่าเกิดขึ้นน้อยที่สุดและประสบความสำเร็จน้อยที่สุดด้วย เช่น พลโทผิน ชุณหะวันกับการรัฐประหาร 2490, การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์, การรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร, การรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ ไกรวิเชียร โดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่, การกบฏของพลเอกฉลาด หิรัญศิริ, การกบฏเมษาฮาวายและกบฏชาร์เตอร์ เป็นต้น

2. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์บทบาทของทหารในการเมืองไทย

จากส่วนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พยายามวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียวคือ การแทรกแซงของทหารในฝ่ายการเมือง และเป็นที่มาของวงจรอุบาทว์ แต่จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ของทหารกับนักการเมืองมีอยู่หลายลักษณะ

ในส่วนต่อจากนี้ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นถึงแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ทางรัฐศาสตร์ที่นำมาอธิบายขยายความการเมืองไทย ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เห็นภาพว่ามีทฤษฎีใดบ้างที่ครอบงำความคิดของนักรัฐศาสตร์ไทยที่ผ่านมา

ฮันติงตันกับแนวคิดการพัฒนาทางการเมือง (political development)

หากกล่าวถึงนักรัฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์บทบาทของทหารในการเมืองไทย คงหลีกหนีที่จะไม่พูดถึง แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ไปได้ ในฐานะเจ้าพ่อทฤษฎีเชิงสถาบัน ได้มีนักรัฐศาสตร์หลายท่านหยิบแนวคิดและแนววิเคราะห์ของท่านมาใช้หลายส่วน ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเมือง โดยฮันติงตันเสนอหว่า สังคมสมัยใหม่ (modern society) จำเป็นต้องมีการพัฒนาสถาบันทางการเมือง (political development)

ใน Political Order in Changing Society (1968) ซึ่งเป็นตำราเล่มคลาสสิกเล่มหนึ่งของฮันติงตัน ได้กล่าวว่า ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) และการพัฒนาทางการเมือง (political development) จะต้อง “ดำเนินไปด้วยกัน” โดย เมื่อสังคมได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากสังคมแบบดั้งเดิมหรือสังคมเกษตรกรรม ไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเติบโตของบุคลากรในภาคการผลิตที่มีการศึกษามากขึ้นเพื่อป้อนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม คนเหล่านี้จะกลายเป็นชนชั้นกลาง เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (professionalism) สังคมอุตสาหกรรมยังทำให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบของชุมชนเมือง ซึ่งเชื่อมเข้าหากันด้วยสื่อมวลชน (mass communication) ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คือปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมือง (political consciousness) และรูปแบบการเมืองจะเปลี่ยนไปเป็นความเป็นสมัยใหม่ทางการเมือง (political modernization) ซึ่งในรูปแบบการเมืองสมัยใหม่นี้ประชาชนจะต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ทางการเมือง ตั้งแต่ การเลือกตั้ง การเรียกร้องในแนวนโยบาย และการถอดถอนรัฐบาลที่คิดว่าตนเองไม่ชอบธรรม ในกระบวนการมีส่วนร่วมนี้ สังคมจะต้องพัฒนาสถาบันการเมือง (political development) เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ของสังคม

จุดสำคัญของข้อเสนอของฮันติงตันอยู่ที่ข้อสรุปที่ว่า “โครงสร้างและสถาบันการเมืองจะต้องพัฒนาไปให้สอดคล้องทัดเทียมกับความเป็นสมัยใหม่ของสังคม” มิเช่นนั้นโครงสร้างทางการเมืองจะไม่สามารถรับมือกับความเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ ได้ และนำมาสู่ความล้มเหลวทางการเมือง (political decay) ฮันติงตันจึงเสนอให้มีการพัฒนาการเมือง (political development) โดยการก่อตั้งสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผลักดันทางการเมือง (interest and pressured group) การสนับสนุนการตั้งพรรคการเมือง (political party) การสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (free and fair election) โดยการเลือกตั้งจะเป็นการสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเพื่อเลือกผู้แทนของตนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไป การพัฒนาโครงสร้างและสถาบันการเมืองนี้จะต้องกระทำอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วสอดคล้องกับการพัฒนาทางการเมือง

แนวคิดของฮันติงตันเป็นที่นิยมของนักรัฐศาสตร์ไทยบางกลุ่ม โดยนำมาจำลองมาอธิบายลักษณะของการเมืองไทยว่า ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ทหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองมาโดยตลอด เพราะประชาชนยังไม่มีการศึกษาและยังไม่รู้จักการมีส่วนร่วมทางการเมือง ต่อมาเมื่อประเทศไทยได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองแล้ว ซึ่งได้ประจักษ์พยานจากเหตุการณ์อภิวัตน์ประชาธิปไตยวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่มีประชาชนที่มีความตระหนักทางการเมือง ประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางอันเป็นผลพวงจากความเจริญทางการเมือง ได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทางการทหาร ซึ่งสะท้อนความตื่นตัวทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ และการเรียกร้องทางการเมือง และความต้องการมีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นการพัฒนาทางการเมืองยังไปได้ช้า เนื่องจากประเทศอยู่ภายใต้การปกครองแบบทหาร” ซึ่งเห็นได้ว่าเมื่อนำความคิดของฮันติงตันมาอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองไทยในยุคดังกล่าวแล้ว ค่อนข้างมีหลักมีฐานทำให้เข้าใจการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง และสอดคล้องกับการเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาในสมัยนั้นที่ต้องการเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ในฐานะสถาบันการเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นการสะท้อนแล้วสะท้อนอีกว่า ประเทศไทยขาดสถาบันการเมืองอื่นที่มาคานอำนาจกับสถาบันทหาร

ผู้เขียนขอเสนอว่า แนวคิดของฮันติงตันมิได้ผิด อย่างไรก็ตาม วิธีการอธิบายตามแนวทางนี้ของนักวิชาการไทยเป็นการอธิบายแบบเลือกเล่า (narrative) เพราะเลือกเพียงแต่บางเหตุการณ์ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังนอกราชการกับพลังในระบบราชการเท่านั้น เช่นภาพ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ไม่ได้ทำให้เห็นวิวัฒนาการการเมืองไทยในภาพรวมทั้งหมด ว่าแท้จริงแล้วการต่อสู้ทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ของพลังในระบบราชการด้วยกันเอง กลุ่มก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นกลุ่มข้าราชการ ซึ่งในที่สุดแล้วได้ต่อสู้กันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันทหารที่ได้ต่อรองและต่อสู้กันเอง และในกรณีที่ฝ่ายทหารถูกแทรกแซงทางการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองไม่อาจจะแก้ไขปัญหาภายในรัฐสภาได้ (เช่นในกรณีปิดรัฐสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา, การรัฐประหาร พ.ศ. 2490) ในบางครั้งทหารเองก็ถูกการเมืองเล่นงาน (เช่นในกรณีกบฏพระยาทรงฯ หรือ กบฏพลเอกฉลาด) ซึ่งการต่อสู้ระหว่างสถาบันการเมืองนอกรัฐสภากับสถาบันทหารนั้นมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อสู้ของพลังภายในระบบราชการด้วยกันเอง

ทหารกับความเป็นสถาบันทางการเมือง

ไฟเนอร์ (S.E Finer, 1976) ก็เป็นนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งที่ผู้ศึกษาการเมืองไทยนิยมนำมาอธิบายลักษณะเด่นของทหารในฐานะสถาบันการเมืองว่า ทหารมีลักษณะเด่น 5 ประการคือ มีการบังคับบัญชาที่รวมศูนย์, มีการบังคับบัญชาที่ลดหลั่นเป็นลำดับขั้น มีระเบียบวินัย มีการติดต่อสื่อสารภายในหน่วยย่อยต่างๆ ขององค์กร มีความสามัคคีรักหมู่คณะ และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังมีคุณธรรมทางการทหาร (military virtues) ซึ่งเมื่อรวมกับลักษณะเด่นทั้ง 5 ประการนี้ ทำให้คณะทหารเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งดีที่สุดเมื่อเทียบกับองค์กรต่างๆ ในสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะทหารเข้ามามีบทบาทในการเมืองสูง โดยเฉพาะในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ Finer ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความเป็นวิชาชีพของทหารยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความคิดของทหารที่ว่า “พวกตนเป็นผู้รับใช้รัฐ มิใช่ผู้รับใช้รัฐบาล” ณ จุดนี้ทหารจึงใช้ความคิดของตนเองกำหนดว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาล และเป็นเหตุปัจจัยที่ทหารใช้กำหนดว่าเมื่อใดที่ควรจะปฏิวัติเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ (ชัยอนันต์, 2525)

นอกจากฮันติงตันและไฟเนอร์แล้ว ปรามาจารย์ด้านตะวันตกที่กล่าวถึงบทบาทของทหารในฐานะสถาบันการเมืองที่สามารถสร้างความเป็นสมัยใหม่ในประเทศด้อยพัฒนาอีกคนหนึ่ง ลูเซียน ไพน์ (Lucian Pye) และเฟรด ริกส์ (Fred Riggs) โดยไพน์ได้สนับสนุนทหารในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในฐานะนักปฏิรูปสังคมและการเมือง เนื่องจากความเป็นองค์กรของทหารที่มีลักษณะเข้มแข็ง มีระเบียบวินัย มีความรักชาติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อคอมมิวนิสต์ (มานะ รัตนโกเศส, 2523) ส่วนริกส์มองว่าการเมืองการปกครองในประเทศไทยนั้นมีการครอบงำโดยสถาบันราชการ ซึ่งริกส์เรียกว่ารัฐราชการ (bureaucratic polity) ซึ่งหมายความว่าเป็นรัฐที่ระบบราชการมีความเข้มแข็งเป็นสถาบันการเมืองเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าบทบาทของทหารในการแทรกแซงทางการเมืองจะเป็นบทบาทในแง่บวกทั้งหมด โดยกนลา สุขพานิช-ขันปราบ และสุจิต บุญบงการ (2529) ได้ศึกษาบทบาทของทหารในช่วงระยะเวลาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพบว่า ทหารและการปกครองแบบเผด็จการนั้นไม่อาจสร้างระบอบที่มีประสิทธิภาพได้ โดยการปกครองของทหารก็พบว่ามีการทุจริตคอร์รับชั่นไปไม่น้อยกว่ารัฐบาลพลเรือน และที่สำคัญคือ การมีทหารไม่เป็นหลักประกันว่าจะสามารถสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพได้ ในทางตรงกันข้ามได้เกิดระบอบเผด็จการและภาวะอนาธิปไตย ที่นำไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ทหารกลุ่มต่างๆ หมุนเวียนเข้ามาทำการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นอกจากนี้ สุจิต บุญบงการ (2552) ก็เป็นนักวิชาการที่กล่าวถึงบทบาททหารในการเข้ามาในแวดวงทางการเมือง โดยกล่าวว่า ทหารได้เริ่มมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่แรกเริ่มของการมีประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา อาจารย์ทั้งสองให้ความเห็นว่าทหารเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งของสังคมไทย เนื่องจากเป็นสถาบันที่ได้รับการพัฒนามาก่อนสถาบันการเมืองอื่นๆ จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชนว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีอำนาจ รวมทั้งมีความพร้อมในตัวเองมากที่สุด การยืนยันบทบาทเด่นของธรรมชาติของสถาบันทหาร

จากการศึกษาแนวทางการวิเคราะห์การเมืองไทยตามแนวคิดของนักรัฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ทหารมีบทบาทเด่นในการเมืองไทย เพราะมีความพร้อมในเชิงสถาบัน และมีความเข้มแข็งทางด้านอุดมการณ์ แต่เพราะเหตุใดการศึกษาการเมืองการปกครองในแนวนี้จึงไม่ตั้งข้อสงสัยต่อปัญหาการสืบทอดอำนาจของสถาบันทหาร เพราะในความเข้มแข็งเชิงสถาบันนั้น ควรมีระบบการสืบทอดอำนาจที่สันติ หากสถาบันทหารมีความเข้มแข็งในฐานะสถาบันการเมืองจริง เพราะเหตุใดจึงต้องมีการใช้กำลังห้ำหั่นกันและกันในการสืบทอดอำนาจ จริงๆ แล้วลักษณะเด่นของทหารไทยที่มักจะต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจกันนั้น สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอและความไม่มีเสถียรภาพของสถาบันการเมืองนี้ เช่นเดียวกับที่ค่อนข้างขัดแย้งกับแนวคิดเรื่อง การเป็นสถาบันอันทรงความเป็นมืออาชีพของทหาร ตามที่ฮันติงตันกล่าวว่า “ทหารอาชีพจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง” โดยฮันติงตันเชื่อว่า ความเป็นมืออาชีพของทหาร เช่น ความชำนาญในสาขาอาชีพ ทักษะ การฝึกอบรม อุดมการณ์ร่วมกันฯลฯ เป็นสิ่งที่ถ่วงไม่ให้ทหาร (ซึ่งแม้ว่าจะมีอาวุธ)เข้ามาแทรกแซงในการเมือง ซึ่งฮันติงตันกล่าวว่า สถาบันทหารในรัฐสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นทหารมืออาชีพ ไม่ใช่ทหารรับจ้างหรือทหารของพระราชาเหมือนในสังคมบุพกาล ด้วยเหตุนี้ทหารมืออาชีพจึงมีความรับผิดชอบกับภาระงานในเป้าหมาย จึงไม่มาข้องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งในจุดนี้การอธิบายบทบาทของทหารในทางการเมือง โดยหยิบยกความเป็นมืออาชีพของทหารในฐานะส่วนของทฤษฎี แต่สรุปว่า ด้วยความเป็น “มืออาชีพจึงพร้อมที่จะแทรกแซง” ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะถ้าเป็นมืออาชีพจริง (ตามแนวคิดของฮันติงตัน) ทหารไม่ควรจะเข้ามายุ่งกับการเมือง ซึ่งการสรุปเช่นนี้ขัดกับแนวทางการอธิบายทฤษฎีของฮันติงตันแบบผิดฝาผิดตัว ทหารในฐานะ “ผู้เล่น” : สำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง

แม้แต่ในกระแสนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองบางสำนักก็มองทหารในลักษณะของความเป็นเอกภาพเช่นกัน โดยมองว่าเป็นสถาบันที่คานอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น “เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ (2539)” ของผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเกอร์แล้ว พบว่า ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลของพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณสามารถคงอยู่ได้คือการที่ฝ่ายธุรกิจสามารถปรองดองกับฝ่ายทหารได้ และเมื่อฝ่ายธุรกิจขยายใหญ่ขึ้นจนพยายามสยายปีกมาควบคุมฝ่ายทหารด้วยนั่นเองทำให้เกิดความเสียสมดุลในทางการเมือง ซึ่งได้นำไปสู่การรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 (ผาสุกและคริส, 2539)

นอกจากนั้นได้เกิดกลุ่มการเมืองที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาทัดเทียมกับอำนาจข้าราชการ ได้แก่กลุ่มธุรกิจ (Business Association) ที่แผ่อำนาจของตนท้าทายทางการเมืองท้าทายกลุ่มอำนาจนิยม (Bureaucratic Authoritarianism) ซึ่ง รศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (1991) ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนถึงบทบาทและอำนาจที่มากขึ้นของสมาคมธุรกิจที่มีเหนือกว่ากลุ่มอำนาจนิยมทางการเมือง ว่าความพยายามในการประนีประนอมระหว่างฝ่ายอำนาจนิยมกับฝ่ายนักธุรกิจในรูปแบบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ก้าวมาถึงทางตัน เนื่องจากพลังนอกรัฐสภามีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่สถาบันทางการเมืองไทยไม่ได้ดำเนินการไปถึงจุดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองได้ โดยเฉพาะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมกึ่งเกษตรกึ่งอุตสาหกรรมกลายไปเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบจึงเป็นระบบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองในขณะนั้น ซึ่งวิธีการอธิบายการเมืองไทยในลักษณะ “กึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ” หรือ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” นี้ ซึ่งก็ยังอยู่ในวังวนทฤษฎีชนชั้นนำ ที่มองว่าทหารเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมือง เพราะเมื่อใดที่ทหารไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อนั้นคือสถานการณ์ที่ประเทศมีประชาธิปไตย “เต็มใบ” ซึ่งการอธิบายในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแคบ เพราะไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าเมื่อใดจะเกิดการปฏิวัติอีก แม้นักรัฐศาสตร์ที่คร่ำหวอดกับการศึกษาบทบาททหารในประชาธิปไตยหลายคน เช่น สุจิต บุญบงการ(2549)และ ปณิธาน วัฒนายากร (2549) ก็ทำนายว่าไม่น่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2534 อีกแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ทหารมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ลดบทบาททางการเมืองลง อีกทั้งสภาพกดดันจากภายนอกประเทศก็ยิ่งทำให้ทหารไม่อาจจะหาแนวทางใดที่สามารถอ้างความชอบธรรมในการรัฐประหารได้อีก

3. สรุป

บทความนี้ต้องการโต้แย้งความเข้าใจโดยทั่วไปทางรัฐศาสตร์ประการหนึ่งว่า การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นผลของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร โดยความเข้าใจในที่นี้มาจากการใช้ทฤษฎีมาจับประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบเลือกเล่า (narrative) ว่า เป็นสนามการสู้รบระหว่างตัวแสดง สองตัวคือ ตัวแสดงที่เป็นประชาชน ประชาธิปไตย และตัวแสดงที่เป็นฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นพลังนอกระบบราชการ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นความเข้าใจที่อธิบายการเมืองไทยอย่างง่ายเกินไป ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้ศึกษาการเมืองไทยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในระดับของการวิเคราะห์การเมืองแล้ว ยังต้องการความชัดเจนกว่านี้อย่างมาก ผู้เขียนเห็นว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวมีที่มาจากการเลือกเล่า และการเน้นวิเคราะห์เฉพาะสถาบัน “ภายนอก” ทหาร แต่ขาดการศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงองค์ประกอบภายในสถาบันทหารที่ทำให้ทหารขัดแย้งกันเอง ซึ่งถ้าไม่เข้าใจองค์กรภายในของสถาบันทหารแล้ว จะสามารถเข้าใจเหตุของการปฏิวัติได้ยากยิ่ง โดยผลจากการศึกษาพบว่าแท้จริงแล้วบทบาทของทหารในการเมืองไทยมี 3 ลักษณะคือ ลักษณะการแย่งชิงอำนาจกันเองของทหาร ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ กลุ่ม พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ไม่พอใจกับการวางตัวทายาทของจอมพลถนอม กิตติขจร และลูกเขย จอมพลประภาส จารุเสถียร, การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ตัดหน้า พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ, การฟอร์มตัวของกลุ่มยังเติร์กและการกบฎเมษาฮาวาย, การดึงตัวพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกกับ จปร. 5, ความขัดแย้งระหว่างจปร. 5 และ จปร. 7, การที่จปร. 5 ไม่พอใจที่พล.อ. ชาติชายดึงตัวพันเอกมนูญ รูปขจรกลับมารับราชการและเลื่อนยศให้เป็นพลตรี รองลงมาคือลักษณะที่ทหารถูกดึงเข้ามาในระบบการเมืองเพื่อส่งเสริมอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดบ่อยครั้งรองลงมา เช่น การดึงพระยาทรง ฯ เข้ามาสนับสนุนพระยามโนปกรณ์, การดึงพันเอกพิบูลสงครามมาสนับสนุนพระยาพหลพลพยุหเสนา, การคานดุลอำนาจระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า กับ จอมพลสฤษดิ์ เป็นต้น และลักษณะสุดท้ายเป็นการกระทำของทหารเอง ซึ่งผู้เขียนพบว่าเกิดขึ้นน้อยที่สุดและประสบความสำเร็จน้อยที่สุดด้วย เช่น พลโทผิน ชุณหะวันกับการรัฐประหาร 2490, การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์, การรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร, การรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ ไกรวิเชียร โดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่, การกบฏของพลเอกฉลาด หิรัญศิริ, การกบฏเมษาฮาวายและกบฏชาร์เตอร์

ด้วยเหตุนี้ในการทำความเข้าใจบทบาทของทหารในการเมืองไทยนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักรัฐศาสตร์จะมองทหารเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งที่ต่อสู้กันเพื่ออำนาจ (contested for power) ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและคาดเดาทิศทางของการเมืองได้ง่ายขึ้น

หนังสืออ้างอิง

Anek Laothammathus. (1991). Business Associations and the New Political Economy. Singapore: Westview Press.

Fred Riggs. (1966). Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. By Fred W. Riggs. Honolulu: East-West Center Press

S.E. Finer (1976). The Man on Horseback: the Role of the Military in Politics. 2nd Enlarged edition.

Samuel P. Huntington (1968). Political Order in Changing Societies. ew Haven and London: Yale University Press.

Samuel P. Huntington (1970). Authoritarian Politics in Modern Society: The Dynamics of Established One-Party Systems. New York: Basic Books. Inc.,.

กนลา สุขพานิช-ขันปราบ และสุจิต บุญบงการ (2529). “ทหารกับการพัฒนาทางการเมืองไทย”. จุลสารวิชาการว่าด้วยทหารไทย, 1: 3.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2525). ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย. กรุงเทพ: บรรณกิจ.

ปณิธาน วัฒนายากร (2549). บทบาทกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็ฯ. โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ (2539). เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม.

มานะ รัตนโกเศศ, พล.ต. (2523) การใช้กำลังทหารเพื่อพัฒนาการเมืองในประเทศไทย. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร.

สุจิต บุญบงการ(2549), บทบาทกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น. โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

นรนิติ เศรษฐบุตร. (2543). กลุ่มราชครูในการเมืองไทย (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.



อ้างอิง

  1. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐมนูธรรมได้ยอมรับในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย แถลงต่อสภาฯว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เป็นฉบับชั่วคราวที่ร่างในเวลาฉุกละหุก อาจบกพร่อง จึงควรให้มีอนุกรรมการ ตรวจแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 7 ท่าน ได้แก่ 1) พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นเลขาธิการ มีกรรมการประกอบด้วยพระยาเทพวิฑุร พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ พระยาปรีดานฤเบศร์ และหลวงสินาดโยธารักษ์”(รงส.1/2475, 28 มิถุนายน 2475) ซึ่งในการให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นประธานคณะอนุกรรมการนั้น ได้แสดงนัยยะทางการเมืองบางประการ กล่าวคือท่านไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มคณะราษฎร และยังเป็นคนที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย ฯ โดยคุณหญิงของท่านคือ คุณหญิงนิตย์ มโนปกรณ์นิติธาดานั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 2 วาระ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2470 และ 20 มีนาคม พ.ศ. 2472 และต่อมา พระมโนปกรณ์นิติธาดาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แต่งตั้ง อนุกรรมการฯเพิ่มขึ้นอีก 2 คน ได้แก่พระยาศรีวิศาลวาจาและนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน โดยให้เหตุผลว่าจะได้ช่วยกันคิดทำให้งานสำเร็จเร็วขึ้น (รงส.27/2475, 23 กันยายน 2475) ซึ่งพระยาศรีวิศาลวาจานี้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เคยร่วมกับนายเรมอนด์ บี. สตีเว่นส์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ยังไม่ได้มีการนำออกมาใช้ ส่วนนายพลเรือโทพระยาราชวังสันคือองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470-2476 จึงกล่าวได้ว่าการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เสนอขอตั้งอนุกรรมการขึ้นอีก 2 คนนี้คือการนำคนที่สายอนุรักษ์นิยมให้ความไว้วางใจเข้ามาช่วยร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งแสดงว่าในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วยนั้นเกิดขึ้นโดยความประนีประนอมของทุกฝ่าย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ฯ ต่อสภาฯ ว่า

    “…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…” (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)

  2. เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้รับการโต้เถียงจากนักวิชาการหลายสำนัก บางสำนักก็บอกว่าการกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คือการรัฐประหารครั้งแรก แต่บางสำนักก็บอกว่าการยึดอำนาจโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ต่างหากคือการรัฐประหารครั้งแรก
  3. กบฎบวรเดช เกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 โดยในครั้งนั้น พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และ "นายทหารอื่นๆ ที่โดนปลดหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นำทหารมาจากต่างจังหวัด โดยทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุดร (กองพันทหารราบที่ 18) เข้ารบ อย่างไรก็ตามการก่อการดังกล่าวของพระองค์เจ้าบวรเดชไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่สามารถให้ทหารกรุงเทพร่วมมือได้ เพราะทหารกรุงเทพนับถือพันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงครามมากกว่า พล.อ. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายทหารระดับคุมกำลังให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ

    เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นายทหารฝ่ายกบฏ ได้แก่ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิตในพื้นที่โดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดยพันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา ทรงขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ขณะที่พระอนุชาของท่าน (หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร) ถูกทหารจับกุม และภายหลังได้มีการตั้งศาลพิเศษ มีการคุมขังทหารและพลเรือนผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้นับร้อยคนที่เรือนจำบางขวาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ พร้อมกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์กบฏนายสิบ ถูกส่งไปกักบริเวณอยู่ที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล และในที่สุดในปี พ.ศ. 2487 ได้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษกรณีกบฏบวรเดชทั้งหมดออกจากเรือนจำ

  4. และมีพันโทบัญญัติ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา เป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1, พันโทสุรใจ พูลทรัพย์ เป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ 1, พันโทประภาส จารุเสถียร เป็นผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1, พันโทตรี บุษยกนิษฐ์ เป็นผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 พันโทชะลอ จารุกลัส เป็นผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 และในขณะนั้นพันเอกถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนนายร้อย ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่มีบทบาทในการรัฐประหาร อยู่ในบริเวณ ถ. ราชดำเนิน และต่อมา พันเอกถนอมได้ย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 พันเอกถนอมได้มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฎวังหลวง
  5. ซึ่งในตอนนั้นกลุ่มทหารภายในพรรคสหประชาไทยได้มีการแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ คือ

    1. กลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร พลตำรวจตรีสง่า กิตติขจร

    2. กลุ่มจอมพลประภาส กิตติขจร

    3 กลุ่มพล.อ. กฤษณ์ สีวะรา

    4. กลุ่มพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์

    5. กลุ่มพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์