ขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา
ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามกระบวนการทางรัฐสภา บางครั้งในแต่ละเรื่องจะมีเนื้อหามาก ทำให้จำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดรอบครอบในการพิจารณาเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์มากที่สุด และการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามกระบวนการทางรัฐสภานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ประกอบกับสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เมื่อปิดสมัยประชุมสภาแล้ว ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีการประชุมต่ออีกไม่ได้ แต่กรรมาธิการชุดต่าง ๆ สามารถที่จะประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามหากยังมีกิจการสำคัญ เร่งด่วน ที่รัฐสภาจำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาหารือกันอยู่อีก แต่ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมหนึ่ง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง รวมทั้งการประชุมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะประชุมกันได้เฉพาะในระหว่างสมัยประชุมเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการ “ขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา” ออกไปอีก เพื่อให้มีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินกิจการสำคัญ เร่งด่วน ที่รัฐสภาจะต้องประชุมปรึกษาหารือกันอยู่ให้แล้วเสร็จ
ในกรณีดังกล่าวนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้อธิบายว่า “...ระยะเวลา 120 วันของแต่ละสมัยประชุมนั้น ถ้ามีความจำเป็นก็อาจมีการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อขยายเวลาออกไปอีกก็ได้โดยเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร...”[1]
ความหมาย
ขยายเวลา หมายถึง การผ่อนผันให้ยืดเวลาในกระบวนการทางรัฐสภาออกไป เพื่อให้มีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ได้รับมอบหมายหรือมีหน้าที่ การขยายเวลาในที่นี้ หมายถึง เฉพาะการขยายเวลาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการตามกระบวนการรัฐสภาเท่านั้น มิได้หมายถึง การขยายเวลา ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การขยายเวลาสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา การขยายเวลาการแปรญัตติ การขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และการขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา เป็นต้น[2]
สมัยประชุมของรัฐสภา หมายถึง ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ในปีหนึ่ง ๆ รัฐสภาจะมีการประชุมกี่สมัย แต่ละสมัยมีระยะเวลานานเท่าใด โดยแบ่งออกเป็น สมัยประชุมสามัญและสมัยประชุมวิสามัญ[3] ทั้งนี้ สมัยประชุมสามัญเป็นสมัยประชุมที่มีการกำหนดระยะเวลาประชุมไว้แน่นอนในแต่ละปีว่าจะประชุมเมื่อใด รวมทั้ง สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลา 120 วัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ ส่วนสมัยประชุมวิสามัญเป็นการเปิดประชุมนอกสมัยประชุมสามัญ และเป็นการประชุมเมื่อมีความจำเป็น
ดังนั้น “ขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา” หมายถึง การเพิ่มระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทางด้านนิติบัญญัติ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หลังจากที่ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง
การขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาในอดีตของไทย
นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทางด้านนิติบัญญัติ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หลังจากที่ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงหลายครั้ง โดยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2476 ซึ่งมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476 จนกระทั่งครั้งล่าสุดที่มีการขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา คือในสมัยของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ. 2542 ส่วนพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมในปีต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2480 พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2481 พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2482 พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2497 และพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญรัฐสภา พ.ศ. 2512 เป็นต้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่ขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาในแต่ละครั้งจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ “แต่โดยเหตุที่ยังมีกิจการที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องประชุมปรึกษากันอยู่อีก” แต่ในความเป็นจริงแล้วในการขยายเวลาสมัยประชุมรัฐสภาในแต่ละครั้งก็เพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างการพิจารณาซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาภายในเวลาตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั่วทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติ ญัตติ และกระทู้ถาม อาทิ พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ. 2542 รัฐสภาพิจารณาเรื่องที่ค้างการพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวมทั้ง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ในวาระที่สอง และสาม เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา นอกจากเหตุผลที่ขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาในแต่ละครั้งจะมีความคล้ายคลึงกันแล้ว ยังมีส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละฉบับก็คือ บางฉบับได้มีการระบุวันสิ้นสุดวันที่ให้ขยายเวลาสมัยประชุมออกไป คือ พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา ในปี 2476 และในปี 2477 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา การออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาก็มิได้ระบุวันที่สิ้นสุดวันที่ให้ขยายเวลาสมัยประชุม เพียงแต่เปิดกว้างว่าจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมเท่านั้น ดังตัวอย่างพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาในปี พ.ศ. 2542
ตัวอย่างพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก | ตัวอย่างพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมรัฐสภาปี พ.ศ. 2542 |
การขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการขยายเวลาสมัยประชุมของรัฐสภา ไว้ว่า
ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ สมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ ส่วนการปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา และเมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ ทั้งนี้การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำเป็นพระราชกฤษฎีกา
อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาสมัยประชุมเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทางด้านนิติบัญญัติให้บรรลุตามวัตถุประสงค์นั้น นับว่าเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างไว้ให้กับสมาชิกรัฐสภาดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศโดยรวมเป็นอย่างมาก
อ้างอิง
- ↑ มีชัย ฤชุพันธุ์. เรียนรู้กฎหมายใกล้ตัว. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=3&action=view&type=10&mcid=21 วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.10 น.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548. หน้า 75-77.
- ↑ ชัยอนันต์ สมุทวณิช และเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. มปท. : มปพ., มปป.. หน้า 36.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2533.
ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. มปท. : มปพ., มปป..
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. การประชุมสภา. กรุงเทพฯ : บริษัท เลคแอนด์ฟาวด์เท่น พริ้นติ้ง จำกัด, มปป..
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2550.
บรรณานุกรม
การขยายเวลาสมัยประชุม. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?SID=5E06F1D897EBD385E84F1E86811915C4 วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.10 น.
การขยายเวลาสมัยประชุม. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search_result.jsp?openPageTime=1243415220171 วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.15 น.
การประชุมสภา. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.parliament.go.th/parcy/428.0.html วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 น.
ขยายเวลา. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://librarymb.parliament.go.th/lsw2web/lsw2.html วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.20 น.
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. มปท. : มปพ., มปป..
พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50, วันที่ 8 มีนาคม 2476.
พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ. 2542. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 16 ก, 12 มีนาคม 2542.
พระราชอำนาจในการเรียกประชุม เปิดประชุม ปิดประชุม และขยายเวลาประชุมของรัฐสภา. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/ วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.10 น.
มีชัย ฤชุพันธุ์. เรียนรู้กฎหมายใกล้ตัว. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=3&action=view&type=10&mcid=21 วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.10 น.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 24 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ 31 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 38 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 8 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2542.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2550.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มีชัย ฤชุพันธุ์. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/ วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.10 น.
ดูเพิ่มเติม
- ขยายเวลา. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://librarymb.parliament.go.th/lsw2web/lsw2.html.
- มีชัย ฤชุพันธุ์. เรียนรู้กฎหมายใกล้ตัว. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=3&action=view&type=10&mcid=21.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50, วันที่ 8 มีนาคม 2476.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, วันที่ 14 มีนาคม 2477.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2480. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54, วันที่ 9 มีนาคม 2480.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2481. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55, วันที่ 8 มีนาคม 2481.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2482. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56, วันที่ 18 กันยายน 2482.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2482. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 19 กันยายน 2484.
- พระราชกริสดีกาขยายเวลาประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราสดร พุทธศักราช 2485. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 62, 22 กันยายน 2485.
- พระราชกริสดีกาขยายเวลาประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราสดร พุทธศักราช 2487. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 61 ตอนที่ 58, 19 กันยายน 2487.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2488. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 ตอนที่ 52, 20 กันยายน 2488.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรพุทธศักราช 2489. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 24, 23 เมษายน 2489.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมสามัญพฤฒสภาและสภาผู้แทน พ.ศ. 2490. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 64 ตอนที่ 35, 7 สิงหาคม 2490.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทน พ.ศ. 2491. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 65 ตอนที่ 28, 18 พฤษภาคม 2491.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2497. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 60, 21 กันยายน 2497.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2511. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 92, 10 ตุลาคม 2511.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาสมัยประชุมสามัญรัฐสภา พ.ศ. 2512. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 86 ตอนที่ 80, 16 กันยายน 2512.
- พระราชกฤษฎีกาขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป พ.ศ. 2542. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 16 ก, 12 มีนาคม 2542.