กิจประชาธิปไตย (พ.ศ. 2538)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคกิจประชาธิปไตย (2538)
เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2538 ได้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมือง ในชื่อพรรคกิจประชาธิปไตย หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “DEMOCRATIC ACTION PARTY” ภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ในทะเบียนเลขที่ 46/2538 โดยสำนักงานใหญ่ของพรรคตั้งอยู่ที่เลขที่ 99 ถนนบุรีรัมย์-สตึก หมู่ที่ 19 ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ [1] เครื่องหมายประจำพรรคการเมืองกิจประชาธิปไตยเป็นรูปวงกลมขนาดใหญ่พื้นสีขาว ปรากฏชื่อพรรคทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถูกซ้อนทับด้วยวงกลมขนาดเล็กสีดำ ภายในเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าพื้นสีขาวจำนวนสามรูป ต่างขนาดซ้อนทับกัน โดยภายในรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กสุดมีรูปพานรัฐธรรมนูญบรรจุอยู่ด้วย [2]
อนึ่งรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคกิจประชาธิปไตยเมื่อครั้งจดทะเบียนจัดตั้งพรรคมีทั้งสิ้น 25 คน โดยมีตำแหน่งสำคัญดังนี้ [3]
1. นางสาวอัจจิมา วัฒนพงศ์ศิริ หัวหน้าพรรค
2. นายสมาน มณีราชกิจ รองหัวหน้าพรรค
3. นายอรุณ เหลืองชัยศรี รองหัวหน้าพรรค
4. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เลขาธิการพรรค
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ลาออกจาการเป็นสมาชิกพรรค และลาออกจากการเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ประกาศยอมรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคกิจประชาธิปไตยครั้งนี้ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538 [4]
พรรคกิจประชาธิปไตยได้ประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของตนว่า จะยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยให้พื้นฐานของพรรคมาจากประชาชนชาวไทย เพื่อให้ “อำนาจอธิปไตย มาจากปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาประเทศชาติ จะเคารพในสิทธิเสรีภาพของมนุษยชนและสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเต็มที่ เพื่อนำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความผาสุก ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญรุ่งเรือง มาสู่ประชาชนในชาติอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน รวมทั้งช่วยกันรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกราชของชาติไทยด้วย [5]
นโยบายของพรรคกิจประชาธิปไตย ปีพ.ศ. 2538 [6]
1. นโยบายด้านการเมืองและการปกครอง
(1) ยึดมั่นและส่งเสริมการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย
(2) ปฏิรูประบบ องค์กร อำนาจ และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาซึ่งความผาสุกของประชาชนชาวไทย
(3) ปรับปรุงและพัฒนาบุคลากรของรัฐให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการประชาชนด้วยความเป็นธรรม
(4) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง
(5) ส่งเสริมและจัดให้มีระบบและวิธีการ แสดงประชามติในการวินิจฉัยปัญหาของชาติ
(6) พัฒนาโครงสร้าง และระบบพรรคการเมืองให้มีเป้าหมายอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนเข้าใจในค่านิยมและอุดมการณ์ของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนทั้งรัฐและประชาชน
(7) สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และสามารถหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตด้วยความสงบสุข
2. นโยบายด้านสังคม
(1) สร้างความสงบสุขและส่งเสริมให้ประชาชนทั้งชายและหญิง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ
(2) สนับสนุนการขยาย และพัฒนาสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีคุณภาพทุกระดับชั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะเยาวชนให้มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ และให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศชาติตามต้องการทั้งในและนอกประเทศ
(3) ส่งเสริมการนับถือและการทำกิจกรรมด้านศาสนา ทุกศาสนา เพื่อให้ประชาชนมีศีลธรรมอันดีงาม
(4) ส่งเสริม ฟื้นฟู และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โบราณวัตถุ และประเพณีอันดีงาม โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ
(5) ส่งเสริมและสนับสนุน ให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาคุณภาพสถานบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยเฉพาะการกระจายบริการสาธารณสุขไปสู่ประชาชนที่ยากจนอย่างทั่วถึง
(6) พัฒนาสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชนบทให้เป็นสถานที่น่าอยู่ ประกอบอาชีพ มีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นกว่าเดิม
(7) ส่งเสริมบทบาท ความสามารถ สถานภาพ และสิทธิของสตรีให้มีความเสมอภาคในสังคม
(8) พัฒนาและส่งเสริมเยาวชนของชาติ ตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัย การศึกษาและมีศีลธรรมเป็นพลเมืองดีของชาติ
(9) ส่งเสริมความเป็นอยู่และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ พระภิกษุ สามเณรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
(10) ประสานงานการกีฬา ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาให้ประชาชนได้เล่นกีฬาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานกันอย่างทั่วถึง
(11) ปรับปรุงระบบ กระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งให้ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินคดีความในศาล
3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ
(1) ส่งเสริมการถ่ายทอด และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ทั้งผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีความต่อเนื่องกัน โดยเน้นเพื่อการส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศ
(2) ส่งเสริมให้สิทธิพิเศษ แก่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อมและอุตสาหกรรมในครอบครัว ในส่วนภูมิภาคให้ได้มากขึ้น
(3) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยจะเน้นหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคพื้นอินโดจีน” รวมถึง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สื่อสาร คมนาคม การเงินและการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และการคมนาคมติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดจีน
(4) ส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจให้ไปสู่ชนบทให้มาก รวมทั้งจัดปัจจัยพื้นฐานการผลิต เช่น สาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นแก่การผลิต
(5) ปรับปรุงโครงสร้าง ภาษีอากร และค่าธรรมเนียม ให้ง่ายและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
(6) ปรับปรุงและส่งเสริมสภาพการเงินของภาครัฐและภาคเอกชน โดยกระจายอำนาจการบริหารการเงินและการคลังไปสู่ภูมิภาคในระดับอำเภอให้มากที่สุดที่จะมากได้
(7) ส่งเสริมและปรับปรุงการค้าระหว่างประเทศให้มีสภาพคล่องและรวดเร็วขึ้น
4. นโยบายด้านการต่างประเทศ
(1) สนับสนุนอุดมการณ์และปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทในองค์การสหประชาชาติมากขึ้น
(2) พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางเศรษฐกิจ การค้า สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยวกับทุกประเทศรวมทั้งภาคเอกชนด้วย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในระบอบการปกครอง สังคมและเชื้อชาติ
(3) พัฒนาการอยู่ร่วมกันโดยสันติ กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างมิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน และจะไม่แทรกแซงหรือคุกคามซึ่งกันและกัน
(4) ส่งเสริมและสนับสนุน การรักศักดิ์ศรีของคนไทยและรักษาเกียรติภูมิของประเทศชาติ รวมทั้งการปกป้องคนไทย และทรัพย์สินของคนไทยในต่างประเทศ
(5) ส่งเสริมและสนับสนุน การแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร
5. นโยบายด้านความมั่นคง
(1) พัฒนาการป้องกันประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนการปรับปรุง การจัดหา และการค้นคว้าวิจัย และผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้กองทัพมีความพร้อมและสัมพันธ์กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี มีความรักชาติ และมีจิตสำนึกถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ แต่ไม่มีนโยบายที่จะให้แทรกแซงหรือคุกคามประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น
(3) ส่งเสริมการปรับปรุงสวัสดิการและการพัฒนา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกำลังพลของกองทัพ และให้กำลังพลช่วยกันพัฒนาประเทศชาติในยามสงบด้วย
(4) ส่งเสริมและสนับสนุน การให้ความช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก ตำรวจและประชาชนที่ได้ช่วยกันป้องกันประเทศชาติ
หลังจากได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2538 ดังกล่าวแล้ว พรรคกิจประชาธิปไตยก็ถูกคำสั่งศาลฎีกา ที่ 5041/2539 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ให้ยุบเลิกพรรคกิจประชาธิปไตย เนื่องจากพรรคไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ตามนัยมาตรา 46 (3) แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2538 มาตรา 3 พรรคกิจประชาธิปไตยจึงต้องยุติบทบาทในฐานะพรรคการเมืองตามคำสั่งดังกล่าว [7]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 19 ง, วันที่ 16 พฤษภาคม 2538, หน้า 41.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 19 ง, วันที่ 16 พฤษภาคม 2538, หน้า 41.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 19 ง, วันที่ 16 พฤษภาคม 2538, หน้า 41-42.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 56 ง, วันที่ 13 กรกฎาคม 2538, หน้า 84.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 19 ง, วันที่ 16 พฤษภาคม 2538, หน้า 43.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 19 ง, วันที่ 16 พฤษภาคม 2538, หน้า 43-47.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 54 ง, วันที่ 8 กรกฎาคม 2540, หน้า 17.