การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ในอาเซียน
บทนำ
ทะเลจีนใต้นั้นมีพื้นที่ประมาณ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรโดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เนื่องจากว่าเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงเป็นทางเชื่อมระหว่างทวีปออสเตรเลียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ [1] ทั้งนี้อาณาเขตของทะเลจีนใต้นั้นมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ของรัฐสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ถึง 6 ประเทศ อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม นอกจากนี้ยังมีอาณาเขตติดกับไต้หวัน และประเทศมหาอำนาจ คือ จีนอีกด้วย โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ของทะเลจีนใต้นั้นพบว่า ในบริเวณทะเลจีนใต้นั้นมีพื้นที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่มากมายหลายร้อยเกาะ รวมถึงแนวปะการัง โขดหิน สันทราย ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะพาราเซล[2] ซึ่งจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญเช่นนี้เอง ทำให้ประเทศต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจีนใต้นั้นต่างต้องการพื้นที่ของหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้เพื่อขยายอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยทางทะเลของตน ซึ่งความต้องการเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งในเรื่องดินแดนระหว่างประเทศทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ความสำคัญของทะเลจีนใต้
ทะเลจีนใต้นั้นมีความสำคัญในหลายด้าน ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านยุทธศาสตร์
ในด้านการเมืองนั้น ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั้ง สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้นสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมัน เป็นเส้นทางการเดินอากาศ และสามารถใช้เคลื่อนย้ายกองกำลังทางทหารได้อีกด้วย ดังนั้นประเทศมหาอำนาจทั้งหลายรวมถึงรัฐสมาชิกของอาเซียน จึงมีความต้องการที่จะครอบครองพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหากประเทศมหาอำนาจประเทศใดสามารถครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ได้ ก็จะสามารถกุมอำนาจทางการเมืองของอาเซียนได้ด้วย [3]
ในด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากว่าทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงทำให้บริเวณดังกล่าวนี้เป็นเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญ ทั้งเรือพาณิชย์และเรือรบ รวมถึงพื้นที่ในบริเวณทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่หมู่เกาะนั้น ยังสามารถใช้เป็นฐานทัพทางทะเลได้อีกด้วย เนื่องจากความลึกของระดับน้ำทะเลนั้นเอื้ออำนวยเหมาะแก่การปฏิบัติการทางทะเล [4]
ด้านเศรษฐกิจ ทะเลจีนใต้นั้นเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญโดยเฉพาะในการเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ โดยเป็นบริเวณที่มีการเดินเรือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก [5] อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงานธรรมชาติ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเหลวธรรมชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว [6] นอกจากนี้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านสัตว์ทะเล โดยมีสัดส่วนของจำนวนสัตว์ทะเลมากถึง 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งส่งผลให้ประเทศที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจีนใต้นั้น มีการเจริญเติบโตในด้านอุตสาหกรรมการประมงอย่างต่อเนื่อง [7]
ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้
ปัญหาในทะเลจีนใต้ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดก็คือปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหมู่เกาะสแปรตลีย์ และหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งคาดการณ์กันว่าเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งพลังงานธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล[8] โดยปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์นี้เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้วแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขได้โดยง่าย ซึ่งแต่ละประเทศที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจีนใต้นั้นก็มักจะยกเหตุผลต่างๆขึ้นมาสนับสนุนการกล่าวอ้างกรรมสิทธ์ของตน ยกตัวอย่างเหตุที่อ้างเช่น [9]
จีน อ้างว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ นั้นเป็นของจีนมาตั้งแต่โบราณโดยอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ว่าค้นพบตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าปกครองประเทศในปี ค.ศ.1949 จีนก็ได้ประกาศอำนาจอธิปไตยของตนเหนือหมู่เกาะดังกล่าว โดยให้หมู่เกาะสแปรตลีย์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองเกาะไหหลำ รวมถึงในปี ค.ศ.1989 จีนก็ได้สร้างฐานทัพบนหมู่เกาะดังกล่าวด้วย และในปัจจุบันจีนได้ให้สัมปทานแก่บริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกาในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย
ไต้หวัน ได้อ้างกรรมสิทธิ์ โดยใช้เหตุผลทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับจีน รวมถึงการที่ไต้หวันได้ส่งทหารไปเกาะ Itu Abu ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 รวมถึงการสร้างฐานทัพบนเกาะไทปิงด้วย ทั้งยังได้ทำแผนที่โดยผนวกหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นของตนในปี ค.ศ.1958 รวมถึงการอ้างการสืบช่วงสิทธิจากฝรั่งเศส ในสมัยที่ฝรั่งเศสยึดหมู่เกาะบางส่วนในปี ค.ศ.1975 ปัจจุบันเวียดนามได้มีการให้สัมปทานน้ำมันแก่ต่างชาติ รวมถึงได้มีการสร้างป้อมทหารและติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเหนือหมู่เกาะ
ฟิลิปปินส์ ได้อ้างว่า ในปี ค.ศ.1947 นาย Thumas Cloma ซึ่งเป็นนักผจญภัยชาวฟิลิปปินส์ ได้ค้นพบเกาะ Kalayaan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และ ฟิลิปปินส์ก็ได้ครอบครองเกาะดังกล่าวและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี ค.ศ.1978 ฟิลิปปินส์ได้ประกาศให้เกาะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด Palawan โดยในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างเมืองบนเกาะ Kalayaan ชื่อว่าเมือง Thitu
มาเลเซีย ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะบางเกาะของหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยมาเลเซียได้ประกาศเขตแดนทางทะเลของตนในส่วนของเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ในปี ค.ศ.1979 และในปี ค.ศ.1980 ตามลำดับ อีกทั้งยังได้พิมพ์แผนที่เผยแพร่ว่าเขตไหล่ทวีปของตนได้ครอบคลุมถึง 11 เกาะของหมู่เกาะสแปรตลีย์ นอกจากนี้ยังมีการอ้างหลักการสืบช่วงสิทธิต่อจากอังกฤษด้วย ในปัจจุบันมาเลเซียได้ให้สัมปทานน้ำมันแก่บริษัทของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีการส่งทหารเข้าไปในหมู่เกาะด้วย
บรูไน ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือ Louisa Reef และ Louisa Reef ซึ่งอยู่ในเขตไหล่ทวีปของตน จากการที่ประเทศต่างๆได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้นั้นทำให้เกิดข้อพิพาททางเขตแดนเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีสถานการณ์ตึงเครียดเป็นระยะ ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1988 ได้เกิดการปะทะระหว่างกองทัพเรือจีนและเวียดนามในบริเวณ Johnson South Reef ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จนทหารเวียดนามได้เสียชีวิตมากถึง 70 นาย [10] หรือในปี ค.ศ.2011 เวียดนามได้กล่าวหาว่าจีนขัดขวางเรือสำรวจน้ำมันของตนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม แต่จีนได้โต้กลับว่า เวียดนามได้รุกล้ำน่านน้ำและคุกคามชาวประมงจีน ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้ง 2 ประเทศได้ข่มขวัญกันโดยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในทะเลจีนใต้ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าปัญหาข้อพิพาทในเรื่องเขตแดนในบริเวณจีนใต้นั้นเป็นปัญหาที่มีความต่อเนื่องและยาวนานและไม่มีท่าทีว่าจะจบได้โดยง่าย ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอาเซียนเองที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้เนื่องจากว่ามีรัฐสมาชิกอาเซียนเข้าไปพิพาทเป็นจำนวนมาก
บทบาทของ ASEAN ในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้
นับแต่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้นั้น อาเซียนได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดมา ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเน้นการใช้การแก้ไขปัญหาทางการทูต และมีความพยายาม ในการแก้ไขปัญหาโดยใช้เวทีของอาเซียนกับประเทศสมาชิกอาเซียนก่อน จากนั้นจึงได้จัดประชุมกับจีนและไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1990 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายหลังจากนั้นก็ได้ใช้เวทีการประชุมต่างๆในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ยกตัวอย่างเช่น เวทีหารือของภูมิภาคอาเซียน (ARF) การประชุม ASEAN Post Ministerial Conference [11] ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1992 โดยได้ออกปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the China Sea) ซึ่งในปฏิญญาดังกล่าวนี้ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าวโดยสันติวิธี โดยจีนก็ได้เข้าร่วมและลงนามรับรองปฏิญญานี้อีกด้วย ต่อมาในปี ค.ศ.1994 อาเซียนได้เชิญจีนเข้าร่วมประชุมในเวที ASEAN Regional Forum (ARF) ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งได้หยิบยกประเด็นปัญหาในทะเลจีนใต้ขึ้นมาพิจารณาด้วย[12] อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวกลับทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากว่าในปีต่อมา จีนได้เข้าไปครอบครอง Mischief Reef ซึ่งเป็นเกาะในทะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์ได้อ้างการครอบครองมาก่อนแล้ว ทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรงระหว่างจีนกับอาเซียน [13]
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวได้มีการคลี่คลายอีกครั้งในปี ค.ศ.2002 โดยอาเซียนกับจีนได้มีการเจรจา เพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าวโดยได้มีการลงนามใน ปฏิญญาอาเซียน-จีน ว่าด้วยแนวปฏิบัติของฝ่ายต่างๆในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) โดยเนื้อหาในปฏิญญาฉบับนี้กำหนดให้รัฐคู่พิพาททุกฝ่ายจะต้องแก้ไขข้อพิพาทดัวยสันติวิธี และให้มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอธิปไตยของแต่ละประเทศ[14] ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดีปฏิญญาฉบับดังกล่าวยังมีจุดอ่อนอยู่ กล่าวคือ ไม่มีข้อกำหนดหรือบทบัญญัติใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการหรือกลไกที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐภาคีจะปฏิบัติตามพันธกรณีตามปฏิญญาฉบับนี้ [15]
แม้ว่าปฏิญญาดังกล่าวจะทำให้ปัญหาในทะเลจีนใต้สงบลงไปได้ระยะหนึ่ง แต่ปัญหานั้นก็ยังไม่หมดไป โดยความขัดแย้งนั้นมีขึ้นอย่างประปราย แต่ก็ไม่ได้ปะทุเป็นความตึงเครียดอย่างรุนแรงแต่อย่างใด จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ.2007 – ค.ศ.2008 เกิดวิกฤตการณ์การขาดพลังงาน ทำให้รัฐที่พิพาทพยายามส่งเรือเข้าไปเพื่อสำรวจทรัพยากรจนเกิดปัญหาการล่วงล้ำน่านน้ำระหว่างกัน ซึ่งเกิดเป็นความตึงเครียดรอบใหม่ โดยในปี ค.ศ.2011 นั้น ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาถ่วงดุลอำนาจในทะเลจีนใต้ รวมถึงการที่เวียดนามมีความต้องการให้การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้นั้นอยู่ในกรอบของอาเซียน แต่จีนต้องการให้แก้ไขในระดับทวิภาคีมากกว่า [16] จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้นั้นปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จนเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ในปัจจุบัน
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้นั้น เป็นปัญหาที่พิพาทกันมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอาเซียนมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดมา แต่อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาของอาเซียนที่ผ่านมานั้น ยังมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น การที่อาเซียน ไม่ได้ระบุถึงข้อกำหนดหรือบทลงโทษ ใน ปฏิญญาอาเซียน-จีน ว่าด้วยแนวปฏิบัติของฝ่ายต่างๆในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ในกรณีที่รัฐภาคีในปฏิญญาไม่ได้ปฏิบัติตามปฏิญญาฉบับดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หรือ เหตุปัจจัยอื่นๆ เช่นกรณีที่ จีนต้องการจะให้แก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ในระดับทวิภาคี แต่เวียดนามต้องการที่จะแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค เป็นต้น
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น อาจมีแนวทางในการดำเนินการ ได้ในหลายกรณี ดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆร่วมกัน ซึ่งประเด็นในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนั้น ต้องพักไว้ก่อน เพื่อลดสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน อันเป็นหนทางที่นำไปสู่การเจรจาทางการทูตในลำดับต่อไป [17] ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดพื้นที่พิพาทนั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ได้
2. อาเซียนอาจต้องเข้าไปมีบทบาทในฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือช่วยประสานงานในปัญหาดังกล่าว โดยอาจเปิดการเจรจาในระดับทวิภาคี ระหว่างรัฐคู่พิพาท พร้อมกันนี้ หากมีความเริ่มมีความตึงเครียดเกิดขึ้น อาเซียนอาจส่งหนังสือหรือแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เป็นครั้งคราว [18]
3. อาเซียนอาจจะจัดหาบุคคลที่สาม หรือชาติที่เป็นกลาง เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว [19]
4. นำปัญหาดังกล่าวยกขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ICJ) เพื่อตัดสินชี้ขาดปัญหาดังกล่าว
บรรณานุกรม
กิตติ ประเสริฐสุข.2012. ทะเลจีนใต้ไม่เคยหลับ. http://aseanwatch.org/2012/05/02/south-china-sea/ (accessed May 23,2015)
จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ :ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง. จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128. กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.
ธัญญาทิพย์ ศรีพนา.2555.ทะเลจีนใต้. http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=1215 (accessed May 23,2015)
วิษณุ ศิริอาชารุ่งโรจน์.2557. ข้อเสนอทางออก แก้พิพาททะเลจีนใต้. http://www.dailynews.co.th/article/263116 (accessed May 25,2015)
ศนิโรจน์ ธรรมยศ.2557. จับตาหมู่เกาะสแปรตลี. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=vuw&date=21-06-2014&group=4&gblog=45 (accessed May 24,2015)
สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012. กะเทาะเปลือกอาเซียน : ปัญหาเชิงสถาบัน... จุดอ่อนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนจบ). http://www.siamintelligence.com/structure-problems-in-asean-in-case-of-dispute-on-south-china-sea-part-2/ (accessed May 23,2015)
สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012. กะเทาะเปลือกอาเซียน : ปัญหาเชิงสถาบัน... จุดอ่อนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่1). http://www.siamintelligence.com/structure-problems-in-asean-in-case-of-dispute-on-south-china-sea/ (accessed May 22,2015)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ.2544.ทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะสแปรทลีย์ ชนวนแห่งความขัดแย้งด้านสิทธิครอบครอง. http://www.eppo.go.th/vrs/VRS51-07-Spratly.html(accessed May 24,2015)
Siam Intelligence.2012.ข้อพิพาท “ทะเลจีนใต้” หากไม่ยุติ อาจกลายเป็นทะเลเลือด http://www.siamintelligence.com/dispute-on-south-china-sea-become-tragedy/ (accessed May 23,2015)
อ้างอิง
- ↑ ธัญญาทิพย์ ศรีพนา.2555.”ทะเลจีนใต้.” http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=1215 (accessed May 23,2015)
- ↑ ศนิโรจน์ ธรรมยศ.2557. “จับตาหมู่เกาะสแปรตลี.” http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=vuw&date=21-06-2014&group=4&gblog=45 (accessed May 24,2015)
- ↑ จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556. ”กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ :ทัศนะทางกฎหมายและการเมือง.”จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 127-128.(กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.),หน้า9-10.
- ↑ เพิ่งอ้าง. หน้า11.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ.2544.”ทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะสแปรทลีย์ ชนวนแห่งความขัดแย้งด้านสิทธิครอบครอง.” http://www.eppo.go.th/vrs/VRS51-07-Spratly.html(accessed May 24,2015)
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ ธัญญาทิพย์ ศรีพนา.2555.อ้างแล้ว.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ.2544.อ้างแล้ว.
- ↑ จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556.อ้างแล้ว. หน้า 4-9.
- ↑ สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012. “กะเทาะเปลือกอาเซียน : ปัญหาเชิงสถาบัน... จุดอ่อนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่1).” http://www.siamintelligence.com/structure-problems-in-asean-in-case-of-dispute-on-south-china-sea/ (accessed May 22,2015)
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ.2544.อ้างแล้ว.
- ↑ กิตติ ประเสริฐสุข.2012. “ทะเลจีนใต้ไม่เคยหลับ.” http://aseanwatch.org/2012/05/02/south-china-sea/ (accessed May 23,2015)
- ↑ Siam Intelligence.2012.”ข้อพิพาท “ทะเลจีนใต้” หากไม่ยุติ อาจกลายเป็นทะเลเลือด.” http://www.siamintelligence.com/dispute-on-south-china-sea-become-tragedy/ (accessed May 23,2015)
- ↑ กิตติ ประเสริฐสุข.2012.อ้างแล้ว.
- ↑ จันตรี สินศุภฤกษ์ .2556.อ้างแล้ว. หน้า 61.
- ↑ Siam Intelligence.2012.อ้างแล้ว.
- ↑ วิษณุ ศิริอาชารุ่งโรจน์.2557. “ข้อเสนอทางออก แก้พิพาททะเลจีนใต้.” http://www.dailynews.co.th/article/263116 (accessed May 25,2015)
- ↑ สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012.อ้างแล้ว.
- ↑ สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012. “กะเทาะเปลือกอาเซียน : ปัญหาเชิงสถาบัน... จุดอ่อนอาเซียนในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนจบ).” http://www.siamintelligence.com/structure-problems-in-asean-in-case-of-dispute-on-south-china-sea-part-2/ (accessed May 23,2015)