การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม 2550
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 1 ภายใต้กฏกติกาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกร่างขึ้นภายหลังจากที่ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ทำการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดยใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภารกิจหลักท่าสำคัญของ คปค.นี้ ก็คือ “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชนในทุกขั้นตอน...โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ...และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”
ทั้งนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาทางการเมืองใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 จึงเป็นเหตุให้ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความแตกต่างไปจากเดิม (การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22-24) ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของระบบการเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550
(1) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเดียวหลายคน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนแบบเขตเดียวหลายคนทั้งประเทศจำนวน 400 คน
(2) จัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยกำหนดให้กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 กลุ่มจังหวัด และแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 10 คน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนแบบเขตเดียวหลายคนทั้งประเทศจำนวน 80 คน
วันที่ 17 ตุลาคม 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน มี 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี ส.ส. 10 คน ดังนี้
• กลุ่มที่ 1 มีจำนวน 11 จังหวัด ประชากรรวม 7,615,610 คน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, ลำปาง, ลำพูน, แพร่, สุโขทัย, ตาก และกำแพงเพชร
• กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 9 จังหวัด ประชากรรวม 7,897,563 คน ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, ชัยภูม, ขอนแก่น, ลพบุรี, นครสวรรค์ และอุทัยธานี
• กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 10 จังหวัด ประชากรรวม 7,959,163 คน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย, อุดรธานี, เลย, นครพนม, สกลนคร, หนองบัวลำภู, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, มหาสารคาม และอำนาจเจริญ
• กลุ่มที่ 4 มีจำนวน 6 จังหวัด ประชากรรวม 7,992,434 คน ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด, ยโสธร, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และบุรีรัมย์
• กลุ่มที่ 5 มีจำนวน 10 จังหวัด ประชากรรวม 7,818,710 คน ได้แก่ นครราชสีมา, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และปทุมธานี
• กลุ่มที่ 6 มีจำนวน 3 จังหวัด ประชากรรวม 7,802,639 คน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ
• กลุ่มที่ 7 มีจำนวน 15 จังหวัด ประชากรรวม 7,800,965 คน ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
• กลุ่มที่ 8 มีจำนวน 12 จังหวัด ประชากรรวม 7,941,622 คน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, พังงา, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, พัทลุง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส และยะลา
(3) เปลี่ยนมานับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแทนสถานที่นับคะแนนผลการเลือกตั้งกลาง
สรุปข้อมูลทั่วไป[1]
1 | วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นทางการทั่วไป | 23 ธันวาคม 2550 |
2 | วันสมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วน | 7–11 พฤศจิกายน 2550 |
3 | วันสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง | 12–16 พฤศจิกายน 2550 |
4 | วันลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร | 3–16 ธันวาคม 2550 |
5 | วันลงคะแนนล่วงหน้า นอกเขตจังหวัด | 15–16 ธันวาคม 2550 |
6 | วันลงคะแนนล่วงหน้า ในเขตเลือกตั้ง | 15–16 ธันวาคม 2550 |
7 | จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วน
- ชาย 989 คน (78.49%) - หญิง 271 คน (21.51%) |
1,260 คน |
8 | จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
- ชาย 3,320 คน (85.26%) - หญิง 574 คน (14.74%) |
3,894 คน |
9 | จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน
- ชาย 73 คน (91.25%) - หญิง 7 คน (8.75%) |
80 คน |
10 | จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
- ชาย 351 คน (87.75%) - หญิง 49 คน (12.25%) |
400 คน |
11 | จำนวนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบสัดส่วน | 31 พรรค |
12 | จำนวนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง | 39 พรรค |
13 | ที่เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร | 90 แห่ง |
14 | ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด (กรุงเทพฯ 50 แห่ง) | 144 แห่ง |
15 | ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ 50 แห่ง) | 927 แห่ง |
16 | จำนวนเขตเลือกตั้ง | 157 เขต |
17 | จำนวนหน่วยเลือกตั้ง | 88,500 หน่วย |
18 | จำนวนราษฎร | 62,828,706 คน |
19 | จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง | 44,002,593 คน |
20 | จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน | 157,071 คน |
21 | การใช้สิทธิเลือกตั้ง
21.1 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
21.2 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตจังหวัด
21.3 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขตเลือกตั้ง
21.4 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
|
|
รายชื่อพรรคการเมือง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 39 พรรค และมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 31 พรรค โดยประกอบไปด้วย
(1) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั้งในระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และ ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนทั้งหมด 27 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทเป็นไท พรรคเกษตรกรไทย พรรคประชามติ พรรครักเมืองไทย พรรคไทยร่ำรวย พรรคพลังเกษตรกร พรรคพลังแผ่นดิน พรรคพัฒนาประชาธิปไตย พรรคประชากรไทย พรรคคุณธรรม พรรคดำรงไทย พรรคพลังแผ่นดินไท พรรคชาติสามัคคี พรรคเอกราช พรรคนิติศาสตร์ไทย พรรคนำวิถี พรรคมหาชน และพรรคกฤษไทยมั่นคง
(2) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่เฉพาะระบบการเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 12 พรรค คือ พรรคสยามสันติ พรรคสยาม พรรคเผ่าไท พรรคเสียงประชาชน พรรคอุดมรัฐ พรรคกสิกรไทย พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคแนวสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาชาติไทย พรรครักษ์ไทย พรรคสังคมไท และพรรคศรีสยาม
(3) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่เฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 4 พรรค คือ พรรคราษฎรรักไทย พรรคแรงงาน พรรคสังคมธิปไตย และพรรคอยู่ดีมีสุข
(4) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 7 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช
(5) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งหมด 36 พรรค ได้แก่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทเป็นไท พรรคเกษตรกรไทย พรรคประชามติ พรรครักเมืองไทย พรรคไทยร่ำรวย พรรคพลังเกษตรกร พรรคพลังแผ่นดิน พรรคพัฒนาประชาธิปไตย พรรคประชากรไทย พรรคคุณธรรม พรรคดำรงไทย พรรคพลังแผ่นดินไท พรรคชาติสามัคคี พรรคเอกราช พรรคนิติศาสตร์ไทย พรรคนำวิถี พรรคมหาชน พรรคกฤษไทยมั่นคง พรรคสยามสันติ พรรคสยาม พรรคเผ่าไท พรรคเสียงประชาชน พรรคอุดมรัฐ พรรคกสิกรไทย พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคแนวสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาชาติไทย พรรครักษ์ไทย พรรคสังคมไท พรรคศรีสยาม พรรคราษฎรรักไทย พรรคแรงงาน พรรคสังคมธิปไตย และพรรคอยู่ดีมีสุข
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 5,154 คน มีจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 1,260 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3,894 คน
เหตุการณ์สืบเนื่องจากการเลือกตั้ง 2550
ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ส่งผลให้นายสมัคร สนุทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2551 อันเนื่องมาจากพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด จำนวน 233 ที่นั่ง และเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ พรรคชาติไทย 34 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 ที่นั่ง พรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 ที่นั่ง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 ที่นั่ง และพรรคประชาราช 5 ที่นั่ง รวมคะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น 316 ที่นั่ง ต่อ พรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว คือ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 164 ที่นั่ง
แต่จนแล้วจนรอดนายสมัครก็ถูกพลังของตุลาการวิวัฒน์ทำลายลงไป โดยถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องมาจากการจัดรายการ ‘ชิมไป บ่นไป’ และ ‘ยกโขยง หกโมงเช้า’ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551
จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผลในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย ก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นั่นคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของนายสมชาย ในครั้งนี้ได้เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญหาทางการเมืองไทยอีกครั้ง เนื่องมาจากเขาเป็นนายกฯ ‘ภาคทักษิณ’ ‘น้องเขย’ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่จนแล้วจนรอดอีกเช่นกัน รัฐบาลนายสมชายก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ อันเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ด้วยสาเหตุมาจากการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช และมีคำสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จนเป็นเหตุให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจำต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย
ต่อจากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง อันเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ภายใต้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 และอันเนื่องมาจากการเกิดกระแสการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองขึ้น กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้ยกมือสนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยในปัจจุบัน...
อ้างอิง
- ↑ รายละเอียดเพิ่มเติมจากสรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 23 ธันวาคม 2550, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, http://www.ect.go.th/newweb/th/election/index4.php, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2552.