การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2528)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 (2528)

หลังจากที่รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยกเลิกการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2520 กรุงเทพมหานครกลับไปใช้วิธีการแต่งตั้งผู้บริหารแทนการเลือกตั้งระหว่างปี 2520 จนถึงปี 2528 กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้งถึง 3 คน คือ นายชลอ ธรรมศิริ (29 เมษายน 2520 – 14 พฤษภาคม 2522), นายเชาวน์วัศ สุดลาภา (4 กรกฎาคม 2522 – 16 เมษายน 2524), พลเรือเอกเทียม มกรานนท์ (28 เมษายน 2524 – 1 พฤศจิกายน 2527) และนายอาษา เมฆสวรรค์ (6 พฤศจิกายน 2527 – 13 พฤศจิกายน 2528) ด้วยผลของการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี คล้ายกับที่เกิดขึ้นในปี 2518 ประชาชนในกรุงเทพมหานครจึงมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกทั้งที่สังกัดพรรคการเมืองและไม่สังกัดพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่น่าสนใจ เช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จาก “กลุ่มรวมพลัง”, นายชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์, พล.ต.ต.เจตจันทร์ ประวิตร จากพรรคประชากรไทย และนายมงคล สิมะโรจน์ จากพรรคก้าวหน้า ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากกลุ่มรวมพลัง ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน ได้เป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งคนที่ 2

Duncan McCargo ให้ความเห็นว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของพล.ต.จำลองมาจากปัจจัยด้านภาพลักษณ์ส่วนตัวที่แสดงออกว่าเป็นคนธรรมะธรรโมและสมถะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะส่วนตัวของพล.ต.จำลองที่แสดงออกถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ทานอาหารเจ และแต่งกายด้วยเสื้อม่อฮ่อม ตัดผมสั้น คล้ายกับสมณะ พล.ต.จำลองกล่าวถึงตนเองว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ผมพยายามควบคุมตนเองให้มากที่สุด ทานอาหารให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมพยายามตัดความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว และผมเชื่อว่า คนที่สามารถตัดความต้องการของตนเองได้มากที่สุด คือผู้ที่จะสามารถแก้ปัญหาของชาติได้ดีที่สุด”[1] ยิ่งไปกว่านั้น พล.ต.จำลองยังกล่าวถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งของตนเองว่า “ผมตัดสินใจว่านี่เป็นหน้าที่ของผมที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะตลอดมาผมได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของผมที่จะรับใช้ประชาชนในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[2]

ภาพลักษณ์อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่พล.ต.จำลองประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใดๆ เพราะว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนในกรุงเทพมหานครรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดหวังกับพรรคการเมืองและนักการเมือง อันเนื่องมาจากปัญหาคอร์รัปชั่น และความไม่สามารถในการบริหารประเทศของพรรคการเมืองเหล่านี้ ดังนั้นการที่พล.ต.จำลองประกาศลงสมัครในนามกลุ่มอิสระจึงมีผลอย่างมากต่อความนิยมของประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีต่อพล.ต.จำลอง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ว่าเป็นคนมือสะอาด โปร่งใส มีคุณธรรม และเสียสละ[3]

McCargo[4] ชี้ว่า นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพล.ต.จำลองไม่ได้มีลักษณะเป็นระบบหรือชัดเจนมากนัก เนื่องจากพล.ต.จำลองไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสวัสดิการทางสังคมมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.จำลองมองว่า นโยบายที่ใช้เงินในการพัฒนานั้นไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เงินจำนวนมากในการพัฒนากรุงเทพมหานครอาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่นของข้าราชการที่ “ฮั้ว” กับบริษัทรับเหมาได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แนวนโยบายหลักของพล.ต.จำลองจึงไม่ใช่การก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่มุ่งเน้นการทำนโยบายที่แก้ปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นประเด็นๆไปมากกว่า เช่น นโยบายแก้ปัญหากวาดถนน นโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นโยบายแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต (หมายความถึง การแก้ปัญหาผู้ติดยาเสพย์ติด อบรมคุณธรรม เป็นต้น)[5]

ด้วยภาพลักษณ์และนโยบายดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ พล.ต.จำลองเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากคนกรุงเทพ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “จำลองฟีเวอร์

อ้างอิง

  1. อ้างใน Duncan McCargo, Chamlong Srimuang and the new Thai politics (London: Hurst & Company, 1997), p. 110
  2. อ้างใน Ibid., p. 110.
  3. Ibid., pp. 116-7.
  4. Ibid., p. 118.
  5. Ibid., pp. 119-32.