การเมืองสิ่งแวดล้อม
ผู้เรียบเรียง : ดร.นิตยา โพธิ์นอก
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ
ความหมายและแนวทางศึกษา
การเมืองสิ่งแวดล้อม (environmental politics) มีความหมายที่ผสมผสานระหว่างสองคำ คือ การเมือง (politics) และสิ่งแวดล้อม (environment) ซึ่งมีความเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของ Gabrielson et al. ที่ได้อธิบายการเมืองสิ่งแวดล้อมในเชิงทฤษฎี ว่าการเมืองสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในทฤษฎีการเมืองที่สนใจศึกษาและอธิบายเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมกลุ่มตัวแสดงในสังคมที่มีอิทธิพลในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม[1] การเมืองสิ่งแวดล้อมจึงหมายถึงแนวคิดที่อธิบายและนำไปสู่การวิเคราะห์กิจกรรมที่แสดงให้เห็นอำนาจของตัวแสดงในการตัดสินใจ ใช้ ได้หรือเสียประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในระดับการเมืองหรือการเมืองรูปแบบใด[2] ซึ่งสิ่งแวดล้อมในมิติที่กล่าวถึงนี้เน้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นหลัก[3] ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ เช่น มลพิษ พลังงาน โลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ ความยั่งยืน เป็นต้น[4]
สำหรับแนวทาง (approach) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ตามแนวคิดการเมืองสิ่งแวดล้อมแบ่งได้หลายแบบ ผู้เขียนสรุปเป็น 4 แนวทาง ได้แก่[5] การศึกษาเชิงระดับการเมือง การศึกษาเชิงตัวแสดง การศึกษาเชิงรูปแบบการเมืองการปกครอง และการศึกษาเชิงประเด็นสิ่งแวดล้อม สำหรับการศึกษาเชิงระดับการเมือง เป็นแนวทางที่ศึกษาหรือวิเคราะห์กิจกรรมการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมของเหล่าตัวแสดงโดยเน้น "พื้นที่" เป็นหลัก พื้นที่ที่ว่านี้อาจเป็นการศึกษาเฉพาะระดับนานาประเทศ ภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่น หรือเชื่อมโยงระหว่างระดับพื้นที่ก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น การวิเคราะห์การพัฒนาบนกรอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาประเทศที่พบความล้มเหลว เพราะประเทศสมาชิกลงนามความร่วมมือกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนไว้ก่อน[6] ทั้งกลไกระดับนานาประเทศที่สหประชาชาติออกแบบไว้ไม่อาจนำไปสู่การติดตามการดำเนินงานของประเทศสมาชิกได้[7]
การศึกษาเชิงตัวแสดง เป็นการศึกษาที่เน้นอธิบายและวิเคราะห์บทบาทของตัวแสดง (actors) หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในประเด็นสิ่งแวดล้อม อาจเป็นการอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ความเป็นมา อิทธิพลหรืออำนาจที่แสดงออกระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นสิ่งแวดล้อม หากเป็นตัวแสดงระดับนานาชาติจะประกอบด้วยตัวแสดง ได้แก่ องค์กรระหว่างประเทศ ประเทศต่าง ๆ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเคลื่อนไหวระดับประเทศ หรือปัจเจกชนที่เข้าไปเคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อม[8] ในระดับประเทศเองมีตัวแสดงคล้ายกันโดยมีตัวแสดงหน่วยงานของรัฐทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่นเพิ่มเข้ามา ยกตัวอย่างการศึกษาการเมืองสิ่งแวดล้อมเชิงตัวแสดง เช่น บทความ Inside International Environmental Organizations. Negotiating the Greening of International Politics[9] เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการแสดงออกของประเทศสมาชิกองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศต่อการตัดสินใจบนกรอบและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ บทความ Is there Space for Politics in the Environmental Bureaucracy? Discretion and Constraint in Aotearoa New Zealand’s Ministry for the Environment อธิบายผลการศึกษาบทบาทหน่วยงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมนิวซีแลนด์ว่ามีการใช้วิจารณญาณในระบบราชการอย่างไร[10]
การศึกษาเชิงรูปแบบการเมืองการปกครอง เป็นการศึกษาที่เน้นให้เห็นความสัมพันธ์ของรูปแบบการเมืองการปกครองส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่นว่าประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างหรือไม่อย่างไรสำหรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับแบบสังคมนิยมหรือแบบคอมมิวนิสต์ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภากับแบบประธานาธิบดี ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างอย่างไร หรือในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในหลายประเทศมีระบบการเมืองที่ไม่เหมือนกัน บางประเทศเป็นแบบรัฐรวม (federal state) บางประเทศเป็นแบบรัฐเดี่ยว (unitary state) แบบรัฐเดี่ยวยังมีทั้งการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจและกระจายอำนาจการปกครอง การเมืองสิ่งแวดล้อมเชิงรูปแบบการเมืองการปกครองจึงเน้นมุมมองเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่อง Environmental Licensing After the Job Creation Act in the Perspective of a Decentralized Unitary State เป็นการศึกษาเพื่อยกระดับเครื่องมือควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกลาง จังหวัด และระดับเมืองในอินโดนีเซีย[11] หรือการวิเคราะห์เรื่อง Federalism, Decentral Governance, and Joint Decision-Making: Bad News for the Implementation of International Environmental Agreements? ศึกษาผลกระทบของสหพันธ์รัฐ การปกครองแบบกระจายอำนาจ และการตัดสินใจร่วมกันว่ามีผลต่อการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร โดยการวิเคราะห์การดำเนินการตามอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำหรือแรมซาร์ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat)[12]
สำหรับแนวทางศึกษาและวิเคราะห์เชิงประเด็นสิ่งแวดล้อมจะขอนำเสนอตัวอย่างในส่วนต่อไป
ตัวอย่างกรณีการเมืองสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างกรณีการเมืองสิ่งแวดล้อมอาจเสนอได้หลากหลายตามแต่มุมมองทั้ง 4 ข้อ ข้างต้นที่ได้สรุปไว้ ในส่วนนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีตามประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่ได้แสดงรายละเอียดให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน ในส่วนนี้นำเสนอตัวอย่างเพียงบางกรณีที่เกี่ยวกับมลพิษ พลังงาน โลกร้อน และทรัพยากรธรรมชาติ
กรณีมลพิษ การเมืองสิ่งแวดล้อมในกรณีนี้กล่าวถึงบทบาทภาคส่วนต่าง ๆ ต่อสภาพความเป็นพิษของสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศเสีย น้ำเสีย หรือเหตุรำคาญอื่นที่ทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวของชาวบ้านตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านซึ่งเป็นโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ และจะมีการดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแต่เป็นพื้นที่ชุมชน ทั้งยังพบความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาที่ดูเหมือนมีการกำหนดหลักเกณฑ์ทำให้เหลือผู้รับเหมาเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในราคาที่สูงเกินจริงไปมาก รวมทั้งการทำให้ชาวบ้านอยู่ในสภาพบังคับให้ต้องขายที่ดินทั้งที่ไม่จำเป็น นำไปสู่การเรียกร้องของชาวคลองด่านกว่า 1,500 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2542 และหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความไม่โปร่งใสและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการ ระหว่างนั้นมีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน การเสนอข่าวของสื่อมวลชน การวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ ขณะเดียวกันบริษัทผู้รับเหมายังมีการดำเนินงานก่อสร้างระบบบำบัดไปด้วย จนในที่สุด พ.ศ. 2561 ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษผู้ทุจริตทั้งบริษัท นักการเมือง และข้าราชการ แต่ประเทศชาติสูญเงินไปมากกว่า 30,000 ล้านบาท และโครงการไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์[13]
กรณีพลังงาน กล่าวถึงการได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการจัดหาพัฒนาแหล่งพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ทำให้ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ กังวลผลกระทบที่จะตามมา จึงขอให้จังหวัดตรวจสอบการจัดทำอีไอเอ (EIA) และการนำพื้นที่สาธารณะไปเป็นที่ตั้งโรงงานฯ แม้โครงการนี้จะถูกคัดค้านต่อเนื่อง เช่น วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิดตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ครูและนักเรียนในพื้นที่เข้าร้องเรียนที่ว่าการอำเภอจะนะ เพื่อเรียกร้องให้หยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ มีความพยายามเดินหน้าโครงการ และรีบดำเนินการจัดทำรายงาน EIA โดยไม่ฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน[14] จนปัจจุบันโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและดำเนินโครงการแล้ว เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ต้องติดตามต่อไปว่าหลังการดำเนินโครงการไปแล้วจะมีผลกระทบตามมาหรือไม่อย่างไร
กรณีโลกร้อน เกี่ยวกับบทบาทภาคส่วนที่หลากหลายต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังการเคลื่อนไหวของเยาวชนต่อการรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เยาวชนนักเคลื่อนไหวอย่างเกรตา ทุนเบิร์ก ได้ประกาศต่อหน้ารัฐสภาสวีเดนว่าจะประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส การประท้วงใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram Twitter Facebook และ YouTube และการแชร์แฮชแท็ก เช่น #FridaysForFuture (FFF) และ #Climatestrike จนกลายเป็นการระดมเยาวชนขนาดใหญ่ มีการเคลื่อนไหวของเยาวชนดำเนินตลอด ปี พ.ศ. 2562 ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562 ผู้คน 1.4 ล้านคน ในกว่า 1,700 เมือง ทั่วโลกเข้าร่วมการนัดหยุดงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการของรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส ด้วยการระดมพลด้านสภาพภูมิอากาศของเยาวชนขนาดใหญ่แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้เป็นเจ้าภาพการประชุม Youth Climate Summit ครั้งแรก ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562 เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวคิดของเยาวชนและผู้นำระดับโลก นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวเยาวชนยังได้เปิดตัวแคมเปญเพื่อผลักดันผู้กำหนดนโยบายผ่านช่องทางที่เป็นทางการมากขึ้น ขณะเข้าร่วมการประชุม UN Youth Climate Summit ทุนเบิร์กและเพื่อน 14 คน (จากอาร์เจนตินา หมู่เกาะมาร์แชล ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อให้สหภาพยุโรปปรับเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 80% ภายในปี พ.ศ. 2573 และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง[15]
กรณีทรัพยากรธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับบทบาทที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ ที่ดิน ดังกรณีป่าบุญเรือง ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ที่ชาวบ้านใช้ป่านี้เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพร ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้าไปหาผัก หาปลา จับปลา ล่าสัตว์ เป็นแหล่งทำประโยชน์ของชาวบ้านมากว่า 300 ปี ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลพยายามยึดพื้นที่ป่าเพื่อทำโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ชาวบ้านเคลื่อนไหวด้วยการเสวนาและอภิปราย ตลอดจนร่วมมือกับนักวิชาการทำงานวิจัยเพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าพื้นที่ป่าบุญเรืองไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมอย่างที่รัฐบาลอ้าง สุดท้ายรัฐบาลยกเลิกการใช้ป่าบุญเรืองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อมาป่าบุญเรืองได้รับรางวัลป่าชุมชนระดับโลก เรียกว่า Equator Prize ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2563 เพราะเป็นชุมชนที่ดูแลรักษาป่าเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนำไปสู่การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ[16]
นอกจากนี้ ประเด็นสิ่งแวดล้อมอาจครอบคลุมไปถึงระบบนิเวศที่เป็นการบริหารจัดการระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต เช่น ระบบมหาสมุทร ป่าชายเลน ทะเลทราย การเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นบทบาทภาคส่วนต่าง ๆ ต่อกิจกรรมทางการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นการบริหารจัดการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว
อ้างอิง
[1] Teena Gabrielson, Cheryl Hall, John M. Meyer, and David Schlosberg, 2016. “Introducing Environmental Political Theory.” In Teena Gabrielson, Cheryl Hall, John M. Meyer, and David Schlosberg (Eds.) The Oxford Handbook of Environmental Political Theory. Oxford University Press. p.11.
[2] Lisa Vanhala, 2017. “Process Tracing in the Study of Environmental Politics.” Global Environmental Politics. 17(4). p. 95; Elizabeth R. DeSombre, 2020. What is Environmental Politics?. John Wiley & Sons. p.2; Aseem Prakash and Thomas Bernauer, 2020. “Survey Research in Environmental Politics: Why it is important and What the Challenges are.” Environmental Politics. 29(7). p. 1128; Radoslav S Dimitrov, 2020. “Empty Institutions in Global Environmental Politics.” International Studies Review. 22(3). p. 627.
[3] สิ่งแวดล้อม อย่างกว้างหมายถึงสรรพสิ่งในโลกนี้ แบ่งเป็น 2 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้น ดูเพิ่มเติมใน ณัฐณภรณ์ เอกนราจินดาวัฒน์, 2558. พรรคการเมืองไทยกับนโยบายสิ่งแวดล้อม. (ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีนิพนธ์การเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง). หน้า 88-89; DeSombre. Op. Cit. pp.2-4.
[4] Bridget K. Fahey and Sarah B. Pralle, 2016. “Governing Complexity: Recent Developments in Environmental Politics and Policy.” The Policy Studies Journal. 44(1). p.31.
[5] นิตยา โพธิ์นอก จิตรเลขา หวลกสิน และดวงจันทร์ ศิริรักษ์โสภณ, 2565. สถานภาพองค์ความรู้ด้านการเมืองสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. สถาบันพระปกเกล้า. หน้า 9-15.
[6] บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, 2555. “การประชุม Rio+20: ความหวัง (อีกครั้ง) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.” ใน จับกระแส Rio+20 สู่สังคมไทย. กรุงเทพฯ: ทีคิวพี.
[7] เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ, 2566. การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในฐานะการพัฒนาแนวใหม่ของโลก. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์เดือนตุลา. หน้า 82-83.
[8] Pamela Chasek and David L. Downie, 2020. Global Environmental Politics. Routledge. P.11.
[9] Diana Panke, 2019. “Inside International Environmental Organizations. Negotiating the Greening of International Politics.” Cambridge Review of International Affairs. 33(3).
[10] Marc Tadaki, 2020. “Is there Space for Politics in the Environmental Bureaucracy? Discretion and Constraint in Aotearoa New Zealand’s Ministry for the Environment.” Geoforum. 111(May 2020).
[11] Iskatrinah, Aniek Periani, Wahyu Hariadi, and Esti Ningrum, 2022. “Environmental Licensing After the Job Creation Act in the Perspective of a Decentralized Unitary State.” In IOP Conference Series: Earth and Environmental Science (Vol. 1030, No. 1). IOP Publishing. p.012023.
[12] Johannes Müller Gómez, 2024. “Federalism, Decentral Governance, and Joint Decision-Making: Bad News for the Implementation of International Environmental Agreements?.” Publius: The Journal of Federalism. 54(2). pp.407-433.
[13] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, 2567. ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ. มติชน. หน้า 336-353.
[14] นิตยา โพธิ์นอก, 2566. “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม: กรณีเขื่อนปากมูลจังหวัดอุบลราชธานี กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจังหวัดกาญจนบุรี และกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอำเภอจะนะจังหวัดสงขลา.” ใน ถวิลวดี บุรีกุล อภิญญา ดิสสะมาน นิตยา โพธิ์นอก ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อินทุอร แสงอรัญ, ปัทมา สูบกำปัง นุชประภา โมกข์ศาสตร์ วริศรา อัมพรศิริธรรม และดนยา พลไพรสรรพ์. การศึกษาการป้องกันวิกฤติสังคมในอนาคต. กรุงเทพฯ. สถาบันพระปกเกล้า. หน้า 424-430.
[15] Heejin Han and Sang Wuk Ahn, 2020. “Youth mobilization to stop global climate change: Narratives and impact.” Sustainability. 12(10). p.4127.
[16] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. เรื่องเดิม. หน้า 44-149.