การเมืองสำหรับทุกคน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          การเมืองสำหรับทุกคนมีฐานคิดมาจากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นแนวคิดประชาธิปไตยผสานกับแนวคิดการมีส่วนร่วม เป็นการเติมเต็มช่องว่างของประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง การตัดสินใจในระดับต่าง ๆ มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และถอดถอนผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนที่บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่สุจริต ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมยังเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันอันมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจึงหมายถึง การที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจควรได้รับการจัดสรรในระหว่างประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมือง[1]

          แนวคิดการเมืองสำหรับทุกคนจึงนำไปสู่การเมืองแนวใหม่ที่มีฐานคิด ดังนี้[2]

          ประการที่หนึ่ง อำนาจมาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการช่วงชิงอำนาจรัฐของผู้แทน

          ประการที่สอง อำนาจของประชาชนจะกระจายออกไปในทุกองคาพยพของสังคมไม่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐหรือพรรคการเมือง

          ประการที่สาม ไม่กำหนดเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

          ดังนั้น รัฐบาลและพรรคการเมืองจึงไม่ใช่สถาบันหลักในการตัดสินใจอีกต่อไป เมื่อเป็นดังนี้ ความหมายของ “การเมือง” จึงไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์หรือการจัดสรรคุณค่าหรืออำนาจในแง่ของการแย่งชิงและการแข่งขันอีกต่อไป หากแต่ให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวพันกับประชาชนในฐานะที่เป็นตัวแสดงหลักแทน เช่น เพศ ภาษา วัฒนธรรม สิทธิ โอกาส[3] และเป็นที่มาของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีการนำเสนอแนวคิดการเมืองแบบมีส่วนร่วม ที่ยึดหลักพื้นฐานที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยมีส่วนร่วมทางการเมือง 4 ลักษณะ คือ[4]

          1) การเรียกคืนอำนาจโดยการถอดถอนหรือปลดออกจากตำแหน่ง (recall) เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของผู้แทนในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทนประชาชน หากปรากฏว่าผู้แทนใช้อำนาจโดยมิชอบ ทุจริตหรือกระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถเรียกคืนอำนาจที่ให้ไปนั้น โดยการถอดถอนหรือปลดออกจากตำแหน่งได้

          2) การริเริ่มเสนอกฎหมาย (initiative) เป็นการทดแทนการทำหน้าที่ของผู้แทนของประชาชนหรือการส่งเสริมการทำหน้าที่ของผู้แทนของประชาชน โดยประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งมาตรการใหม่เองได้ หากตัวแทนประชาชนไม่เสนอหรือเสนอแล้วแต่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

          3) การประชาพิจารณ์ (public hearing) เป็นการแสดงออกของประชาชนในการเฝ้าดูตรวจสอบและควบคุมการทำงานของตัวแทนของประชาชน ในกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายหรือมาตรการใด ๆ ก็ตามอันมีผลกระทบต่อสิทธิความเป็นอยู่หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย สามารถที่จะเรียกร้องให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและผลดีผลเสีย ก่อนการออกและบังคับใช้กฎหมายนโยบายหรือมาตรการนั้น ๆ ได้

          4) การแสดงประชามติ (referendum หรือ plebiscite) ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำคัญหรือการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก เช่น การขึ้นภาษี การสร้างเขื่อน หรือโรงไฟฟ้า ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสามารถเรียกร้องให้รัฐรับฟังมติของประชาชนเสียก่อนที่จะตรากฎหมาย หรือดำเนินการสำคัญ ๆ โดยการจัดให้มีการลงประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่อันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้าย[5]

          ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใน “จิตสำนึก” หรือ “จิตไร้สำนึก” ที่เริ่มจากการมองตนเอง และการปฏิบัติกับตนเองในฐานะผู้บริโภค มาเป็นการมองตนเองและปฏิบัติต่อตนเองในฐานะผู้นำ[6] และต้องการความรู้สึกร่วมกัน และการเปลี่ยนบทบาทจากประชาชนสู่ความเป็นพลเมือง แม้ว่าความเป็นพลเมืองดังกล่าวจะยังมีปัญหาและอุปสรรคในด้านการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ประชาชนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอยู่บ้างในมิติของโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระดับความเป็นพลเมือง ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมทางสังคมยังขาดความเหนียวแน่นและการยึดโยงร่วมกันดังนั้นสิ่งสำคัญคือการทำให้ประชาชนมีการขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงฐานะของตนเองเข้าสู่ความเป็นพลเมือง[7]

          การเมืองสำหรับทุกคนจะเกิดขึ้นได้ พลเมืองจึงต้องเป็นศูนย์กลางของการแสดงบทบาทในกระบวนการประชาธิปไตยโดยเฉพาะการปรึกษาหารือ (deliberation) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีการถกเถียงในเรื่องสำคัญ ๆ กับทุกภาคส่วนของสังคม กระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม (participatory process) ดังนั้น พลเมืองจึงจะเป็นกุญแจสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย เชื่อมั่นในพหุนิยม (pluralism) คือ เคารพในความแตกต่างที่หลากหลาย ใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) สามารถพึ่งตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างพึ่งพากัน (inter-dependence) มีความรับผิดชอบ (accountable citizen) รับผิดชอบต่อผู้อื่นและเคารพกฎหมาย[8]

 

อ้างอิง

[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2557. การพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 35.

[2] นิภาพรรณ เจนสันติกุล, 2556. “โครงสร้างทางสังคม บทบาทและนโยบายสาธารณะกับความเป็นพลเมือง.” วารสารศิลปศาสตร์ 5 (1) (ม.ค.-มิ.ย. 2556), หน้า 50.

[3] จุมพล หนิมพานิช, 2548. พัฒนาการทางการเมืองไทย อำมาตยาธิปไตย ธนาธิปไตย หรือประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: บริษัท ธรรมดาเพรส จำกัด, หน้า 296-297. อ้างถึงใน นิภาพรรณ เจนสันติกุล, อ้างแล้ว, หน้า 51.

[4] นิภาพรรณ เจนสันติกุล, อ้างแล้ว, หน้า 51.

[5] วันพิชิต ศรีสุข, 2552. “กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่เยาวชนด้านการขับร้องเพลงซอพื้นเมืองเพื่อเสนอแนวคิดการเมืองภาคพลเมือง.” รายงานการวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หน้า 7-9. อ้างถึงใน นิภาพรรณ เจนสันติกุล, อ้างแล้ว, หน้า 51.

[6] จุมพล หนิมพานิช, อ้างแล้ว, หน้า 301. อ้างถึงใน นิภาพรรณ เจนสันติกุล, อ้างแล้ว, หน้า 51.

[7] นิภาพรรณ เจนสันติกุล, อ้างแล้ว, หน้า 51-52.

[8] วัฒนา อัคคพานิช, ม.ป.ป. การเมืองเรื่องของพวกเรา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย, หน้า 34.