การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองมีจำนวน 150 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน รวมกันเป็น 500 คน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นมีจำนวนลดลงจากจำนวนที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มีจำนวน 375 คน หรือที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีจำนวน 400 คน ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลทำให้ต้องการการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกลดลงถึง 25 เขต ซึ่งอาจทำให้บางเขตเลือกตั้งยังคงเดิมและบางเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไป ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้
1. ความหมาย หรือแนวคิด
การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง เป็นผลมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[1] ในมาตรา มาตรา 83 ที่กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจํานวนห้าร้อยคน ดังนี้
(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสามร้อยห้าสิบคน
(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ประกอบกับความ ในมาตรา 85 ที่กำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละหนึ่งคน ด้วยเหตุนี้เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบนั้นมีจำนวนลดลงจากจำนวนที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มีจำนวน 375 คน ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลทำให้ต้องการการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกลดลงถึง 25 เขต ซึ่งอาจทำให้บางเขตเลือกตั้งยังคงเดิมและบางเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไป ซึ่งในการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในมาตราดังต่อไปนี้[2]
มาตรา 26 การกําหนดจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่ง
เขตเลือกตั้ง ให้ดําเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ใช้จํานวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามร้อยห้าสิบคน จํานวนที่ได้รับให้ถือว่า เป็นจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
(2) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจํานวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(4) เมื่อได้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้ว ถ้าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสามร้อยห้าสิบคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคํานวณตาม (3) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคํานวณนั้นในลําดับรองลงมา ตามลําดับจนครบจํานวนสามร้อย
ห้าสิบคน
(5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออก เป็นเขตเลือกตั้งเท่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจํานวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสําหรับการเลือกตั้งแบบแบ่ง เขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าซึ่งจะต้องกําหนดตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 26 และต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจํานวนราษฎร ในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ให้รวมอําเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอําเภอในลักษณะนี้จะทําให้มีจํานวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตําบลของอําเภอออกเพื่อให้ได้จํานวนราษฎรพอเพียงสําหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตําบลไม่ได้
(2) ในกรณีที่การกําหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (1) จะทําให้จํานวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีจํานวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพ ของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจําในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถ เดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทําให้จํานวนราษฎรมีจํานวนใกล้เคียงกันมากที่สุด
(3) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบ
การพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (1) และ (2) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา 28 เมื่อได้ดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ในกรณีที่มีการกําหนดเขตเลือกตั้งใหม่และมีผลให้พื้นที่ของเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ให้การดําเนินการใดที่ได้ดําเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก่อนมีการกําหนดเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นอันใช้ได้
จากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งที่กำหนดวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้แล้ว หากได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง ชอบธรรม และสุจริตในการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าการดำเนินการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ยุติธรรม ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปเอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกที่มีฐานเสียงในพื้นที่ใดแล้วก็อาจมีผลต่อการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งได้ ซึ่งเรียกแนวคิดการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม นี้ว่า Gerrymandering นั่นเอง
สนธิ เตชานันท์[3] ได้อธิบาย แนวคิดการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม (Gerrymandering) ว่าเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมากจาการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้คนเดียว ก็คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งหมายถึง การขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น การกำหนดเขตเลือกตั้งนี้ควรจะกระทำในลักษณะที่ประชากรในเขตต่างๆ มีจำนวนใกล้เคียงกันใหม้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และควรที่จะลากเส้นแบ่งเขตให้สมเหตุสมผลกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของประชากร โดยให้พื้นที่ที่ต่อเนื่องกันคงสภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งที่ยังมีปัญหาเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบคนเดียวลงเขตเดียวนั้น ศาลได้ให้คำวินิจฉัยว่าประชากรในเขตเลือกตั้งที่คล้ายคลึงกันไม่ควรที่จะมีจำนวนแตกต่างกัน 5% อย่างไรก็ดีมันเป็นธรรมเนียมปกติธรรมดาของชาวอเมริกันที่จะแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่คำนึงว่าขนาดของประชากรจะเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือมีสภาพความต่อเนื่องทางภูมิศาสตร์ที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เท่าที่เป็นมานั้นพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจจะขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งหลังการสำรวจสำมะโนประชากรซึ่งกระทำกันทุกๆ 10 ปีในลักษณะที่จะยังประโยชน์ให้กับพรรค
โดยคำว่า Gerrymander หรือที่มีความหมายในภาษาไทยว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม
เป็นคำศัพท์ที่กำเนิดขึ้นมาในตอนต้นๆ คริสต์ศคตวรรษที่ 19 ในมลรัฐแมสซาซูเซทส์ เมื่อครั้งที่เอลเบริดจ์
เกอรี่ (Elbridge Gerry) เป็นผู้ว่าการรัฐแมสซาซูเซทส์ ในปี 1812 เขาได้ทำการแบ่งเขตเลือกตั้งในเอสเส็ก เคาน์ตี้ (Essex County) ในลักษณะที่ยังประโยชน์แก่พรรครีพับลิกัน และเป็นผลเสียต่อเฟเดอรัลลิสต์ โดยรวมประชากรส่วนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคเฟเดอรัลริสต์ในมลรัฐแมสซาซูเซทส์เข้าเป็นเขตเลือกตั้งเขตหนึ่งอันมีผลทำให้เขตเลือกตั้งอื่นๆ เกือบจะไม่มีประชากรผู้สนับสนุนพรรคเฟเดอรัลลิสต์อาศัยอยู่เลย เขตเลือกตั้งใหม่ที่มีแต่ประชากรที่สนับสนุนพรรคเฟเดอรัลลิสต์นั้นมีลักษณะเรียวยาวมาก และไม่อาจนำทฤษฎีทางด้านประชากรหรือทางด้านภูมิศาสตร์ใดๆ มาอธิบายได้เลย นักเขียนการ์ตูนผู้หนึ่งได้เขียนรูปเขตเลือกตั้งดังกล่าวลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พร้อมทั้งได้เติมลิ้นและนัยตาสองข้าง และได้บรรยายรูปดังกล่าวว่าเหมือนกับสัตวืเลื้อยคลานชนิดหนึ่งซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “salamander” นอกจากนั้นยังได้นำชื่อของผู้ว่าการมลรัฐคือ Gerry ไปผนวกเข้ากับคำว่า Salamander เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นว่าคือ Gerrymander ซึ่งคำๆนี้ได้กลายเป็นศัพท์ที่มีความหมายในทางการเมืองว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม อันเป็นผลให้พรรคการเมืองหนึ่งได้เปรียบพรรคที่เป็นคู่แข่ง โดยสิ่งที่ผู้ว่าการมลรัฐ Gerry กระทำขึ้นในมลรัฐแมสซาซูเซทส์นั้นคือการรวมผู้ที่อยู่ในฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดให้เข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีประชากรสนับสนุนผู้สมัครที่ตนเองสนับสนุนให้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันซึ่งจะทำให้รูปร่างของเขตเลือกตั้งที่ได้มีลักษณะบิดเบี้ยวคล้ายสัตว์เลื้อยคลานที่เรียกว่า Salamander นั่นเอง
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่19 กันยายน พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด[4]
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. 1 คน จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมี ทั้งนี้ ใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยพบว่าจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน หมายความว่า จังหวัดใดมี ส.ส. 1 คน ก็นับจังหวัดนั้นทั้งจังหวัดเป็น 1 เขตเลือกตั้ง ส่วนจังหวัดใดมี ส.ส. มากกว่า 1 คน ให้แบ่งจังหวัดนั้นเป็นหลายเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส.
สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังกล่วว ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. เขตที่ลดลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 ทั้งสิ้น 23 จังหวัด ประกอบด้วย[5]
(1) จังหวัดกรุงเทพมหานคร เดิมมี ส.ส. 33 คน ลดเหลือ 30 คน
(2) จังหวัดกระบี่ เดิมมี ส.ส. 3 คน ลดเหลือ 2 คน
(3) จังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมมี ส.ส. 6 คน ลดเหลือ 5 คน
(4) จังหวัดชัยภูมิ เดิมมี ส.ส. 7 คน ลดเหลือ 6 คน
(5) จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมี ส.ส. 10 คน ลดเหลือ 9 คน
(6) จังหวัดตรัง เดิมมี ส.ส. 4 คน ลดเหลือ 3 คน
(7) จังหวัดนครราชสีมา เดิมมี ส.ส. 15 คน ลดเหลือ 14 คน
(8) จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมมี ส.ส. 9 คน ลดเหลือ 8 คน
(9) จังหวัดนนทบุรี เดิมมี ส.ส. 7 คน ลดเหลือ 6 คน
(10) จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมมี ส.ส. 9 คน ลดเหลือ 8 คน
(11) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมมี ส.ส. 5 คน ลดเหลือ 4 คน
(12) จังหวัดเพชรบูรณ์ เดิมมี ส.ส. 6 คน เหลือ 5 คน
(13) จังหวัดแพร่ เดิมมี ส.ส. 3 คน ลดเหลือ 2 คน
(14) จังหวัดร้อยเอ็ด เดิมมี ส.ส. 8 คน ลดเหลือ 7 คน
(15) จังหวัดเลย เดิมมี ส.ส. 4 คน ลดเหลือ 3 คน
(16) จังหวัดสกลนคร เดิมมี ส.ส. 7 คน ลดเหลือ 6 คน
(17) จังหวัดสระบุรี เดิมมี ส.ส. 4 คน ลดเหลือ 3 คน
(18) จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมมี ส.ส 5 คน ลดเหลือ 4 คน
(19) จังหวัดสุรินทร์ เดิมมี ส.ส. 8 คน ลดเหลือ 7 คน
(20) จังหวัดอ่างทอง เดิมมี ส.ส. 2 คน ลดเหลือ 1 คน
(21) จังหวัดอุดรธานี เดิมมี ส.ส 9 คน ลดเหลือ 8 คน
(22) จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมมี ส.ส. 3 คน ลดเหลือ 2 คน
(23) จังหวัดอุบลราชธานี เดิมมี ส.ส. 11 คน ลดเหลือ 10 คน
ในขณะที่ 54 จังหวัดที่เหลือ มีจำนวน ส.ส. เท่าเดิม และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งภายในจังหวัดเหล่านั้น
ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ได้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต. จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กกต. แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็น และประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัดเคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย
ยกตัวอย่าง การแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2562 มีจำนวน ส.ส. ลดลงจาก 4 เป็น 3 ที่นั่ง พื้นที่นี้ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และปัจจุบันย้ายมาเป็นสมาชิกและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งในปี 2554 ที่นั่ง ส.ส. สุโขทัยถูกแบ่งให้กับสองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง โดยสมศักดิ์
เทพสุทิน ส่งคนใกล้ชิดลงในนามพรรคภูมิใจไทย ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้พรรคพลังประชารัฐได้ จักรวาล
ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมด้วย และภายหลังจากที่ กกต. ประกาศการแบ่งเขตการ ปรากฎว่ามีอดีต ส.ส. สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเปิดโปงถึงเบื้องหลังของการแบ่งเขตเลือกตั้งอันสุดประหลาดครั้งนี้ว่า กกต. ได้แบ่งพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ออกเป็น 2 ส่วน อย่างที่ไม่เคยมีการแบ่งลักษณะนี้มาก่อน รวมถึงการเอาพื้นที่อำเภอหนึ่งเชื่อมกับเขตเลือกตั้งเขตหนึ่งทั้งๆ ที่เขตทั้งสองต่างมีอาณาเขตติดต่อกันเพียง 500 เมตรเท่านั้น และยังมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นภูเขา ผลก็คือ เกิดการวิจารณ์กันอย่างหนาหูว่ามีนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยบางคนต้องการตัดแบ่งเขตออกเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ และการแบ่งเขตสุดพิศวงแบบนี้หรือไม่[6]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
หลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561[7] (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งกำหนดหลักการเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และการแบ่งเขตการเลือกตั้งไว้ดังนี้
การกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดควรมี (มาตรา '26) '
1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดคือ 350 คน จะได้เป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน
โดยในการเลือกตั้งปี 2562 กกต. ได้ใช้จำนวนราษฎรตามฐานทะเบียนราษฎรปี 2560 จำนวน 66,188,503 คน มาคำนวณ และเมื่อนำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวน ส.ส. 350 เขต ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นราษฎรเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
2) จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่งคน
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีแปดจังหวัดจาก 77 จังหวัดที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดละหนึ่งคน คือ ตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยจังหวัดจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง 190,399 คน ส่วนจังหวัดที่เหลือส่วนใหญ่มีราษฎรเกิน 200,000 คน
3) หากจังหวัดไหนมีจำนวนราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วนจำนวนราษฎร และแบ่งเขตเท่าจำนวนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันและจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา '27)'
1) ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง
2) คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน
3) ความสะดวกในการเดินทาง
4) การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
แม้จะมีวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้ กกต. ดำเนินการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งข้างต้น แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต. จะได้มีการดำเนินการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว
เป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนด และประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เรื่อง จำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ลงวันที่ 18 กันยายน 2561 เพื่อดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและเป็นการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น
ต่อมาได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามหมวด 3 การจัดการเลือกตั้งแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
และข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561 ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนของประชาชนและพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ได้ข้อยุติ โดยหากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมติใด ๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกไว้ ก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศ เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องเรียนหรือการแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 20 – 25 พฤศจิกายน 2561 และได้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ครบ 350 เขตเลือกตั้ง ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561
4. สรุป
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองมีจำนวน 150 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน รวมกันเป็น 500 คน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นมีจำนวนลดลงจากจำนวนที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มีจำนวน 375 คน หรือที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีจำนวน 400 คน ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลทำให้ต้องมีการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกลดลงถึง 25 เขต ซึ่งการดำเนินการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดยกำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. 1 คน จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมี ทั้งนี้ ใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยพบว่าจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน หมายความว่า จังหวัดใดมี ส.ส. 1 คน ก็นับจังหวัดนั้นทั้งจังหวัดเป็น 1 เขตเลือกตั้ง ส่วนจังหวัดใดมี ส.ส. มากกว่า 1 คน ให้แบ่งจังหวัดนั้นเป็นหลายเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส. สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. เขตที่ลดลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 ทั้งสิ้น 23 จังหวัดจึงเป็นที่มีของการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งที่หลายฝ่ายจับตามองว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อผลแพ้ชนะของผู้สมัครรับเลือกตั้งและฐานเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไรด้วย
5. บรรณานุกรม
เดอะสแตนดาร์ด. (2561). แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เตรียมหย่อนบัตรปี 62 ส.ส. ลด 23 จังหวัด อีสานหด 10
ที่นั่ง สืบค้นจาก https://thestandard.co/new-electoral-district/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/101/T_0005.PDF, เข้าถึง
เมื่อ 6 มิถุนายน 2563
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2563). เมื่อ กกต. ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง: เข้าใจกลไกอำนาจรัฐและประชาชน กับ
กลวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง
สืบค้นจาก https://elect.in.th/2020/06/state-with-gerrymandering/882/?fbclid=IwAR0LeULk3F2-yfW4SteuariCoYyLcnFSaoVkhDi_iUCh8Lr5X_qyk4So2vU, เข้าถึง
เมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
[3] สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น. 207 – 208
[4] ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งสืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/101/T_0005.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[5] เดอะสแตนดาร์ด. (2561). แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เตรียมหย่อนบัตรปี 62 ส.ส. ลด 23 จังหวัด อีสานหด 10
ที่นั่ง สืบค้นจาก https://thestandard.co/new-electoral-district/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[6] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2563). เมื่อ กกต. ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง: เข้าใจกลไกอำนาจรัฐและประชาชน กับกลวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง. สืบค้นจาก https://elect.in.th/2020/06/state-with-gerrymandering/882/?fbclid=IwAR0LeULk3F2-yfW4SteuariCoYyLcnFSaoVkhDi_iUCh8Lr5X_qyk4So2vU, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81