การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต
การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง
1. แนวคิดในทางการเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง
วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ความมุ่งหวังหนึ่งในการปฏิรูป คือ การปฏิรูปด้านการเมืองให้มีการเมืองที่เข้มแข็งเพื่อให้เป็นการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นการเมืองสำหรับประชาชนอย่างแท้จริงได้ ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการ ให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม[1]
เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งในการเข้าไปทำหน้าที่ในทางการเมืองแทนประชาชนชาวไทย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการปฏิรูปทางการเมืองในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การจัดตั้งพรรคการเมือง การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนคนไทย การควบคุมการเงินและบัญชีของพรรคการเมือง เป็นต้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางด้านการเมืองที่ได้รับการอนุวัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ “สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีหน้าที่ในการติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ในด้านการเงินและการบัญชีของพรรคการเมืองมีบางเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีในกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมาก่อน จึงจำเป็นที่ต้องติดตามเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
'2'. การควบคุมการเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง
กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้ให้ความสำคัญกับการควบคุม ติดตาม และตรวจสอบการเงินและการบัญชีของพรรคการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยการกำหนดให้การเงินและการบัญชีของพรรคการเมืองไว้ในหมวด 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตั้งแต่มาตรา 58 – 61 กำหนดหน้าที่ให้แก่พรรคการเมือง ดังนี้
'2'.'1 'หน้าที่บริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด
กฎหมายกำหนดให้ “คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง” มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง โดยการจัดทำ
- “บัญชีรับและบัญชีจ่าย” ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
- “บัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่” ของสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรคการเมืองหรือในเขตจังหวัดที่ตนเป็นตัวแทน แล้วแต่กรณี[2]
2'.'2 'ประเภทของบัญชีพรรคการเมือง ประกอบด้วย''[3]'
(1) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย บัญชีประเภทนี้ต้องลงรายการ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่รายการนั้นเกิดขึ้น
(2) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่รายการนั้นเกิดขึ้นต้องระบุรายละเอียด ดังนี้
2.1 ชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่คำนวณเป็นเงินได้ของผู้บริจาค
2.2 วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค
2.3 สำเนาหลักฐานการรับบริจาค
(3) บัญชีแยกประเภท ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือน ที่เกิดรายการนั้น
(4) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้น เดือนของเดือนที่เกิดรายการนั้น
2.3 ระยะเวลาปิดบัญชี[4]
พรรคการเมืองต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน
การปิดบัญชีให้จัดทำงบการเงิน โดยงบการเงินดังกล่าวต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชีด้วย งบการเงินอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
1. งบแสดงฐานะทางการเงิน ต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง ทั้งต้องแสดงที่มาของรายได้ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
2. งบรายได้และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
2'.'4 'การรายงานงบการเงิน'
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบ และรับรองแล้วต่อ
“ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง” เพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี[5] ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวตามแบบ ท.พ. ๙[6] โดยต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า และ ปิดประกาศไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 15 วัน สำหรับรายได้ และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร เมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง และส่งให้แก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ เพื่อให้นายทะเบียนประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
3. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 121 ก/ 30 พฤศจิกายน 2560. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง วิธีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง พ.ศ. 2560.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560'. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560
[1] มาตรา 258 ก(2) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
[2] มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[3] มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[4] มาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[5] มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[6] ข้อ 4 แห่งประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง วิธีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง พ.ศ. 2560