การะเวก ศรีวิจารณ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การะเวก ศรีวิจารณ์ : ผู้ถูกฆ่ากลางลำโขง
การปฏิบัติงานเสรีไทยที่คนไทยได้ร่วมกันทำงานเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติในยามสงครามนั้นยังมีเรื่องให้เล่าขานกันอีกมาก ครั้งนี้จะเล่าถึงคนกล้าที่อาสาทำงานเสรีไทยทีต้องมาเสียชีวิตลงเพราะความโลภของเจ้าหน้าที่ โดยทั่วไป การสู้รบที่เสรีไทยต้องทำนั้นมีให้เห็นไม่มากเพราะวันที่จะต้องเปิดตัวลุกขึ้นจับอาวุธเข้ารบเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทยยังไม่ทันเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีคนกล้าที่อาสาทำงานเสรีไทยได้เสียชีวิตลงขณะที่ออกปฏิบัติงาน และเป็นการถูกฆ่าเพื่อชิงทรัพย์และปิดปาก อย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็นที่กลางแม่น้ำโขง เสรีไทยผู้นี้เป็นเสรีไทย สายอเมริกา ชื่อ ร.อ.การะเวก ศรีวิจารณ์ การเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านพอจะเป็นที่รู้กันบ้างก็เพราะภายหลังที่สงครามสิ้นสุดลง ได้มีการนำคดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของท่านไป ฟ้องร้องกันดังนั้นจึงมีการบันทึกคำให้การในคดีที่จะทำให้ทราบเรื่องราวที่พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้
การะเวก ศรีวิจารณ์ เป็นชาวบ้านเมืองคนกล้าในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือท่านเกิดที่อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2462 มีบิดาชื่อ กลิ่น และมารดาชื่อ นวม โดย การะเวกเป็นบุตรคนสุดท้องของแม่ พี่ชายของท่าน คือนาย ฟุ้ง ศรีวิจารณ์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ทางด้านการศึกษาของการะเวกนั้น ท่านได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดอ่างทองตลอดมาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ครั้นจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนนี้แล้วจึงได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนเทคนิคทหารบกในปี 2478 ขณะที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 ขึ้นชั้นปีที่ 4 ทางราชการทหารคัดเลือกส่งไปศึกษาวิชาแผนที่ยังประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงได้ไปศึกษาต่อที่ Massachusetts Institute of Technology ในด้านวิศวกรรมโยธา จนสำเร็จปริญญาตรี ในเดือนมิถุนายน ปี 2484 แล้วจึงย้ายรัฐมาเรียนปริญญาโททางด้านคำนวณและดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสิราคิวส์อีกหนึ่งปี จึงสำเร็จปริญญาโทในเดือนมิถุนายน ปีถัดมา และท่านก็คิดจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกต่อไป ก็พอดีเป็นช่วงที่รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม ปี 2485 ทำให้ทูตไทย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคนไทยในสหรัฐฯจัดตั้งกลุ่มเสรีไทยในอเมริกาขึ้นมา มีนักศึกษาไทยทั้งชายและหญิงเข้าร่วมด้วย การะเวก ศรีวิจารณ์ ก็เป็นนักศึกษาไทยคนหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นเสรีไทย ท่านถูกส่งมาฝึกที่อินเดีย และไปรับคำสั่งและงานจากหัวหน้าหน่วยที่จีน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย
การเดินทางของการะเวกนั้นมากับเพื่อนเสรีไทยชื่อสมพงษ์ ศัลยพงษ์ กับศิษย์ชื่อบุญช่วย เป็นการเดินทางด้วยม้ามาที่เมืองหล้าในแคว้นสิบสองปันนา จากนั้นจึงเข้ามาที่เมืองพงสาลีของลาว แล้วล่องเรือมาในแม่น้ำโขงมาที่เมืองหลวงพระบาง และหาทางหลบเข้าเขตไทยจนมาพักอยู่ที่บ้านสารวัตรกำนันตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดลานช้าง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2487 ตอนนั้นจังหวัดลานช้างยังเป็นของไทย วันรุ่งขึ้นตำรวจชั้นประทวนจากอำเภอเชียงแมน 3 นาย มี ส.ต.ท.สมวงษ์ จันทรศร พลฯถึง มูลพิชัย กับพลฯวิชัย ทรงพุทธ ได้มาควบคุมเสรีไทย 3 คนไปลงเรือลำแรกกับคนพายเรือและพลตำรวจสองนาย ส่วน ส.ต.ท.กับคนพายเรือและครูที่ชื่อโล่ห์ไปเรือลำหลังที่พายตามกันมาห่างกันไม่เกิน 5 วา มีคำให้การของพยานในคดีซึ่งเกี่ยวพันไปกับการเสียชีวิตของเสรีไทยที่น่าสนใจเพราะพยานผู้นี้นั่งอยู่ในเรือลำที่สอง มีความว่า
“ ข้าฯได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทันใดนั้นเห็น ร.อ.การะเวก กับ ร.ท.สมพงษ์ ยืนขึ้นกลาง ลำเรือเรือมีประทุนกลางลำ แต่ประทุนเรือได้ถูกผลักตกลงน้ำตอน ร.อ.การะเวก กับ ร.ท.สมพงษ์ ยืนขึ้น ได้ยินเสียงพูดจากเรือลำหน้าว่า ไม่ควรยิงเขาเลย เขาเป็นไข้นอนอยู่เฉยๆ แล้ว ส.ต.ท.สมวงษ์ก็สั่งให้เรือลำข้าฯ เอาหัวเรือจอดเทียบไปที่เรือลำพวก ร.อ.การะเวก ขณะนั้นเรือ 2 ลำอยู่กลางแม่น้ำโขง ”
ตอนแรกใครยิงพยานไม่ได้ระบุชัดแต่เมื่อเอาเรือลำที่สองไปเทียบลำแรก ครูระบุว่า ส.ต.ท.สมวงษ์ เป็นคนใช้ปืนสั้นยิงไปที่เสรีไทยทั้งสามคนการะเวกและสมพงษ์ล้มลง บุญช่วยเองโดนกระสุนด้วย พยานบอกอีกว่าการะเวกและบุญช่วยเสียชีวิตทันทีแต่สมพงษ์ยังไม่ตายยังร้องครวญครางอยู่ ดังนั้นพอจะประมวลได้ว่าการะเวกและบุญช่วยถูกยิงตายในเรือ และสมพงษ์ถูกยิงยังไม่ตายก็ถูกเอาร่างโยนน้ำ
หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ได้มีการรื้อเอาเรื่องนี้ขึ้นมาสอบสวนตอนนั้นเพื่อนเสรีไทยสายอเมริกา คือพันตรี โผน อินทรทัต และนายตำรวจได้เดินทางขึ้นไปที่อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง เพื่อสืบสวนและได้ไปขุดศพ ร.อ.การะเวกและนาย บุญช่วย พร้อมกับหาของกลางที่เป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อเอามาเป็นหลักฐานฟ้องคดี แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้ต้องสงสัย 3 คนที่เป็นตำรวจซึ่งเดินทางไปรับตัวและคุมตัวเสรีไทยทั้งสามมาสถานีตำรวจ เพราะได้หลบหนีหายไปจากพื้นที่
ส่วนคดีที่อัยการเป็นโจทย์ฟ้องหัวหน้าสถานีตำรวจอำเภอเชียงแมน จังหวัดลานช้าง กับภรรยา ในฐานความผิดเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่และสมคบกันยักยอกทรัพย์ของเสรีไทยที่ถูกฆ่าเสียชีวิตนั้น เมื่อมีการพิจารณาคดีในปี 2490 ปรากฏคำพิพากษาให้ยกฟ้องแต่การกล้าอาสาศึกมาปฏิบัติการของ การะเวก ศรีวิจารณ์ ครั้งนั้น อดีตเสรีไทยคนสำคัญ พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร ได้เขียนถึง เมื่อปี 2498 มีความว่า
“ เกียรติประวัติของ พันตรี การะเวก ศรีวิจารณ์ จึงสมควรที่จะจารึกไว้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการทหารพร้อมแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงกับต้องเสียชีวิตไปในการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น ”