การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

 

1. บทนำ

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนอกจากคุณสมบัติส่วนบุคคลที่กำหนดไว้ในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และมีลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับเขตเลือกตั้งนั้น ๆ อย่างใดอย่างหนี่ง เช่น มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตนั้นไม่น้อยกว่าห้าปี, เกิดในจังหวัดนั้น, หรือเคยศึกษาในจังหวัดนั้น หรือ เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในเขตเลือกตั้งที่จะลงสมัคร ทั้งนี้ในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้กำหนดคุณสมบัติในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติม โดยให้พรรคการเมืองต้องส่งสมาชิกของพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

 

2. เอกสารและหลักฐานในการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

          เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ให้้ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศวิธีการหรือสถานที่รับสมัคร กรณีมีเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจมีการเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้ โดยจะกำหนดให้การรับสมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันกระทำในสถานที่เดียวกันก็ได้[1]

ในกรณีมีเหตุจําเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจําเป็นอื่น ในเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกําหนดให้ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้[2]

ในการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องดำเนินการภายในระยะเวลาการรับสมัคร โดยต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร ดังต่อไปนี้[3]

(1) หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีคํารับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว

(2) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัคร รับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำหลักฐานในส่วนนี้และให้เปิดเผยแก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

(3) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท

(4) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดเท่าที่จําเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง

 

3. การตรวจสอบผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ “ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง” เป็นผู้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง[4] และดำเนินการดังต่อไปนี้

          (1) ออกหลักฐานการรับสมัคร

ในกรณีเอกสารหลักฐานครบถ้วน ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัคร รูปถ่าย พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน ทั้งนี้ หมายเลขประจําตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลำดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน[5]

          เมื่อผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัคร หรือ เปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตาย หรือ ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทําก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง[6]

          (2) ออกคำสั่งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

การออกคำสั่งในกรณีนี้กฎหมายเปิดช่องให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี เพื่อให้ศาลฎีการพิจารณาและวินิจฉัย[7]

          (3) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัครก่อนวันเลือกตั้ง

ในกรณีที่ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้ว เห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง[8]

          หากตรวจสอบพบว่าผู้สมัครเป็นบุคคลที่ได้คะแนนในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย[9] ทั้งนี้ หากพบเหตุดังกล่าวภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย[10]

          (4) ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศ “ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ให้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคําวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้แจ้งคําวินิจฉัยไปยังผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคําวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว

หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร[11]

4. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[2] มาตรา 47 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[3] มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[4] มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[5] มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[6] มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[7] มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[8] มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[9] มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[10] มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[11] มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561