การลงจอดของอพอลโล 11
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
อพอลโล 11 เป็นยานอวกาศลำแรกขององค์การนาซาที่ทำภารกิจในการลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ภารกิจดังกล่าวนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลก และเป็นประเด็นถกเถียงของทฤษฎีสมคบคิดที่มองว่าภารกิจนี้เป็นเพียงการจัดฉากเหตุการณ์เหยียบดวงจันทร์ โดยถ่ายทำกันในโรงถ่ายภาพยนตร์หรือทะเลทรายบางแห่งเท่านั้น

ภาพ : ทีมนักบินอวกาศยานอะพอลโล 11 นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และ เอดวิน "บัซ" อัลดริน
ที่มา
ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียม สปุกนิก 1 เข้าสู่วงโคจรของโลก ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มการแข่งขั้นด้านอวกาศกับสหภาพโซเวียต ซึ่งในช่วงแรกสหภาพโซเวียตมีความล้ำหน้าสหรัฐอเมริกาในเทคโนโลยีอวกาศ โดยสามารถส่งมนุษย์ไปยังอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1961
ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตทำให้ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ตั้งเป้าหมายจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ โดยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1962 ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ การประกาศว่าสหรัฐฯ จะไปดวงจันทร์ภายในทศวรรษที่ 1960[1]
“เราเลือกจะไปยังดวงจันทร์ในทศวรรษนี้และทำสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย แต่เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยาก เพราะเป้าหมายนี้จะช่วยจัดระเบียบและวัดพลัง และฝีมือของเราได้ดีที่สุด เพราะความท้าทายนี้คือสิ่งที่เราเต็มใจยอมรับ คือสิ่งที่เราไม่เต็มใจจะเลื่อนออกไป และเป็นสิ่งที่เราต้องการจะเอาชนะ”[2]
โดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ได้ทุ่มทรัพยากรมหาศาลไปกับโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกา เพราะขณะนั้นมีความเชื่อว่าหากสหรัฐฯ ทุ่มทรัพยากรทั้งหมดลงไปจะสามารถแซงหน้าสหภาพโซเวียตด้านเทคโนโลยีอวกาศได้สำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการส่งคนไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์[3]
หากแต่ว่าการจะทำเช่นนั้นได้ทางสหรัฐฯ ต้องทำการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย
โครงการก่อนโครงการอพอลโล
เพื่อให้สามารถส่งคนไปยังดวงจันทร์ได้ นาซ่าได้ทำโครงการวิจัยสองโครงการ ได้แก่ โครงการเมอร์คิวรี่ ซึ่งมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ
1. เพื่อส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์โดยสารออกสู่อวกาศ
2. เพื่อทดสอบศักยภาพของมนุษย์ในอวกาศ
3. เพื่อทำให้ยานอวกาศและมนุษย์กลับสู่พื้นโลกโดยปลอดภัย[4]
ในขณะที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้เริ่มตั้งเป้าหมายไปที่การไปยังดวงจันทร์ โครงการเมอร์คิวรี่ก็ได้ส่งมนุษย์ไปยังอวกาศเป็นที่เรียบร้อย โดยในต้นปี 1961 ไม่กี่เดือนหลังจากที่โซเวียตได้ส่ง ยูริ กาการิน ขึ้นไปจนกลายเป็นมนุษย์อวกาศคนแรก สหรัฐฯ ก็ได้ส่ง อลัน เชปเพิร์ด ขึ้นไปเป็นมนุษย์อวกาศคนที่สอง [5]ซึ่งโครงการเมอร์คิวรี่เป็นโครงการที่ออกแบบยานอวกาศสำหรับนักบินเพียงคนเดียว
ต่อมา เมื่อสิ้นสุดโครงการเมอร์คิวรี่ สหรัฐฯ ก็ได้เริ่มทำโครงการเจมินี่ โดยมีเป้าหมายเพื่อทดสอบการเดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ภายใต้วัตถุประสงค์ 4 ประการ ได้แก่
1. เพื่อทดลองการบินระยะยาวในอวกาศของมนุษย์โดยในที่นี้ คือ การปฏิบัติการในอวกาศนานอย่างน้อยสองสัปดาห์
2. เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการเข้าสู่วงโคจรและลงจอดบนโลกและบนดวงจันทร์ของยานอวกาศ
3. หาวิธีลงจอดที่สมบูรณ์แบบ
4. เข้าใจผลของการปฏิบัติการในอวกาศระยะยาวที่เกิดขึ้นกับตัวนักบินอวกาศ
โดยโครงการเจมินี่ได้ออกแบบยานอวกาศใหม่ ให้เหมาะต่อการเดินทางและทำภารกิจระยะยาว รวมไปถึงเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้สามารถทำภารกิจได้สองคน[6]
โครงการอพอลโล และภารกิจอพอลโล 11
ภายหลังจากโครงการเจมินี่ ได้เริ่มโครงการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ คือ โครงการอพอลโล โครงการอพอลโลได้รับความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างจรวดแซตเทินวี (Saturn V) ที่ใช้ในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ และจึงนำมาสู่ภารกิจเดินทางไปยังดวงจันทร์ในเวลาต่อมา โดยสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการส่งคนไปทำภารกิจ อพอลโล 8 ซึ่งเป็นภารกิจในการส่งคนเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้สำเร็จ หากแต่ต่อมาในภารกิจ อพอลโล 11 สหรัฐฯ ก็ประสบความสำเร็จในการส่งคนไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 เวลา 02.56 น. นีล อาร์มสตรอง ก็ได้เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบบนดวงจันทร์และได้ประกาศคำว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ” ต่อมาในเวลา 03.15 น. บัซ อัลดริน ก็ได้ลงมาจากยานอีเกิลและกลายเป็นมนุษย์คนที่สองที่เหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนที่จะทำการปักธงชาติสหรัฐอเมริกาในเวลา 03.41 น.[7][8]
ทฤษฎีสมคบคิด
แม้ภารกิจอพอลโล 11 จะประสบความสำเร็จ แต่ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยเป็นการจัดฉากตบตาผู้คนของสหรัฐฯ เพื่อเอาชนะสหภาพโซเวียตชาติมหาอำนาจคู่แข่งซึ่งในขณะนั้นเริ่มถูกมองว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศเหนือกว่าตัวเอง
ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องรัฐบาลสหรัฐฯ จัดฉากเหตุการณ์เหยียบดวงจันทร์นี้ เริ่มเป็นข่าวเล่าลือตั้งแต่ทีมนักบินอวกาศกลับถึงโลกใหม่ ๆ แล้ว โดยความเชื่อนี้เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในปี 1976 เมื่อ นายบิลล์ เคย์ซิง อดีตทหารเรือและลูกจ้างของฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ร็อกเก็ตไดน์ ผู้ผลิตจรวดขนส่งอวกาศให้นาซา ได้ตีพิมพ์หนังสือ "เราไม่เคยไปดวงจันทร์ : กรณีฉ้อโกงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ของอเมริกา" (We never went to the Moon : America's thirty billion dollar swindle) หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกใช้อ้างอิงในการผลิตภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยทฤษฎีสมคบคิดในโครงการอวกาศของสหรัฐฯ หลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งช่วยโหมกระพือให้กระแสความข้องใจสงสัยขยายวงกว้างออกไปอีก[9] อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ ก็ได้มีการพยายามยืนยันผ่านการทำภารกิจ เช่น การส่งยานโคจรสำรวจดวงจันทร์ (LRO) และถ่ายภาพยืนยันหลักฐาน การเก็บตัวอย่างของวัตถุบนดวงจันทร์เพื่อเป็นข้อยืนยันว่าสหรัฐฯ ได้ส่งคนขึ้นไปยังดวงจันทร์จริงๆ[10]
บรรณานุกรม
Adam Mann. (2023). What was the space race?. Retrieved 16 September 2023, from https://www.space.com/space-race.html
Dustin Jones. (2022). How space exploration has changed, 60 years since JFK's 'We Choose the Moon' speech. Retrieved from https://www.npr.org/2022/09/12/1122375097/space-exploration-jfk-we-choose-the-moon-speech
NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race
rev. (n.d.). John F. Kennedy (JFK) Moon Speech Transcript: “We Choose to Go to the Moon”. Retrieved from https://www.rev.com/blog/transcripts/john-f-kennedy-jfk-moon-speech-transcript-we-choose-to-go-to-the-moon
Royal Museums Greenwich (n.d.). How many people have walked on the Moon?. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/how-many-people-have-walked-on-moon
Royal Museums Greenwich (n.d.). Space race timeline. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/space-race-timeline
บีบีซีไทย (2562). อะพอลโล 11 : เรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนของภารกิจเหยียบดวงจันทร์. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/features-49001306
บีบีซีไทย (2562). 7 ข้อเท็จจริงล้างทฤษฎีสมคบคิด “สหรัฐฯ จัดฉากเหยียบดวงจันทร์.” เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/international-49016500
อ้างอิง
[1] Dustin Jones. (2022). How space exploration has changed, 60 years since JFK's 'We Choose the Moon' speech. Retrieved fromhttps://www.npr.org/2022/09/12/1122375097/space-exploration-jfk-we-choose-the-moon-speech
[2] อ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.rev.com/blog/transcripts/john-f-kennedy-jfk-moon-speech-transcript-we-choose-to-go-to-the-moon
[3] Adam Mann. (2023). What was the space race?. Retrieved 16 September 2023, from https://www.space.com/space-race.html
[4] อ่านเพิ่มเติมได้ใน NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
[5] Royal Museums Greenwich (n.d.). Space race timeline. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/space-race-timeline
[6] NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
[7] Royal Museums Greenwich (n.d.). How many people have walked on the Moon?. Retrieved from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/how-many-people-have-walked-on-moon
[8] National Air and Space Museum (2023). What Was the Space Race?. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/what-was-space-race
[9] บีบีซีไทย (2562). 7 ข้อเท็จจริงล้างทฤษฎีสมคบคิด “สหรัฐฯ จัดฉากเหยียบดวงจันทร์.” เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/international-49016500
[10] บีบีซีไทย (2562). อะพอลโล 11 : เรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนของภารกิจเหยียบดวงจันทร์. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/features-49001306