การรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


การรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

         

การปกครองประเทศด้วยกฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม “The Rule of Law” หมายถึง การปกครองโดยใช้กฎหมาย ภายใต้กฎหมายบุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกัน การมีอำนาจจึงเป็นเรื่องยกเว้นจนกว่าจะมีกฎหมายให้อำนาจ และบุคคลจะต้องสามารถทราบก่อนล่วงหน้าว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะบังคับให้ตนทำอะไรหรือไม่ให้ตนทำอะไร ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายคืออะไร ทั้งนี้เพื่อที่จะบุคคลได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย[1] ทั้งนี้ ในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสองว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม” หลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมจึงถูกมาใช้ในหลายมิติโดยเฉพาะในมิติของการใช้อำนาจรัฐ หมายถึง การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจในการดำเนินการ หรือ มิติในการตรากฎหมายที่จำเป็นต้องเคารพหลักนิติธรรมตลอดทั้งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เป็นต้น

หลักนิติรัฐในฐานะที่เป็น “เกณฑ์” ในการตรากฎหมาย มีหลัการสำคัญ 5 ประการ กล่าวคือ จะต้องพิจารณาถึงหลักการดังต่อไปนี้[2]

          1 หลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ

          2 หลักความมั่นคงของกฎหมาย

          3 หลักห้ามให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง

          4 หลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย

          5 หลักการคุ้มครองความสุจริตของบุคคล

การตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ

          หลักการในการตรากฎหมายโดยทั่วไปมักจะตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คือ การตรากฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 ได้บัญญัติเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยกฎหมายและจะจำกัดได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติไว้เช่นทำนองเดียวกันในมาตรา 26 รวมทั้งเพิ่มเติมเงื่อนไขไว้ว่ากฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม

 

การกำหนดกรอบและเงื่อนไขในการตรากฎหมายเพิ่มเติม

          จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 ในการกำหนดเงื่อนไขในการตรากฎหมายไว้ อย่างไรก็ดี ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นบทบัญญัติทั้งสองยังไม่เป็นหลักประกันที่เพียงพอที่จะไม่ให้รัฐตรากฎหมายมาสร้างภาระให้เกิดกับประชาชน ทั้งกฎหมยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็ถูกนำมาใช้จนกลายเป็นที่มาของการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้ง่าย สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนจากผลของการออกกฎหมายดังกล่าว จึงเกิดแนวความคิดที่จะกำหนดกรอบและหลักการสำคัญในการตรากฎหมายขึ้นไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั่นเอง

          ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มาตรา 77 ไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อมุ่งประสงค์ให้รัฐมีเวลาที่จะพัฒนาและปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรากฎหมาย และคาดหวังว่ารัฐจะตรากฎหมายแม่บทในการจัดทำร่างกฎหมายและการพิจารณากฎหมายในโอกาสอันควร ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้มีการปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อสร้างความมีนิติทัศนะให้เกิดขึ้นในหมู่นักกฎหมาย (มาตรา 258 (ค) (2))

          ต่อมาได้มีการจัดทำแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย การตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบ หรือแนวทางการดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

 

แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77

          โดยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 77 และมาตรา 258 ในการกำหนดมาตรการสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการตรากฎหมายและการปฏิรูประเทศด้านกฎหมาย โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่[3]

1 มาตรการทั่วไปที่รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น

2 มาตรการก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยประเด็นดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่จะอธิบายถึงหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็นต่อไป

3 มาตรการภายหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ที่รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

4 มาตรการควบคุมเนื้อหาของร่างกฎหมาย ที่รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น

          สำหรับมาตรการก่อนกาตรากฎหมายและหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับที่ต้องรับผิดความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันได้มีมติของคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำขึ้น และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป จัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

          ส่วนที่ 1 หลักเกณฑ์การร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ พิจารณาได้ดังนี้

                    1.1 ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

                    1.2 ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติและ แผนการปฏิรูปประเทศ

                    1.3 การร่างกฎหมายต้องคานึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558

                    1.4 ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

          ส่วนที่ 2 แนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย

มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางดังต่อไปนี้[4]

1. การจัดทำร่างกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ

1.1 ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้น หรือ ผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th หรือจะใช้วิธีอื่นใดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

1.2 ในการรับฟังความคิดเห็น ให้หน่วยงานของรัฐประกาศวิธีการรับฟัง ความคิดเห็น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลประกอบ การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอย่างน้อยประกอบด้วย (1) สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา (2) ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น (3) หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น และ (4) ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

1.3 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น ให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น โดยในรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) วิธีการในการรับฟังความคิดเห็น (2) จำนวนครั้งและระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้ง (3) พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็น (4) ประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็น (5) ข้อคัดค้านหรือความเห็นของหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น และ (6) คำชี้แจงเหตุผลรายประเด็น และ (7) การนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย

1.4 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบ ความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ท้ายระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ที่ได้ปรับปรุง และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 และในการส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้นให้เสนอพร้อมรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นด้วย

1.5 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีวิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานของรัฐได้จัดทำขึ้นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามหลักเกณฑ์ การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ในกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบการดำเนินการรับฟัง ความคิดเห็นในการจัดทำร่างกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ และตรวจสอบการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) แล้วเห็นว่าจำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นหรือการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพิ่มเติม ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องคืนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เสนอเรื่องดำเนินการเพิ่มเติมโดยให้ระบุการดำเนินการให้ชัดเจนด้วย และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป

1.6 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำผลการรับฟังความคิดเห็น และ การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐได้จัดทำขึ้นมาประกอบการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย

ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบการดำเนินการรับฟัง ความคิดเห็นในการจัดทำร่างกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ และตรวจสอบการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) แล้วเห็นว่าจำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจดำเนินการดังกล่าวเอง หรือจะขอให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องเป็นผู้ดำเนินการก็ได้และเมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย สำหรับกรณีที่สานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจดำเนินการดังกล่าวเอง หรือจะขอให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเพิ่มเติมก็ได้ เพื่อนำมาประกอบการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป

1.7 ในกรณีที่ร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่าง และ สมควรแก้ไขการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากกฎหมายเพิ่มเติมตามประเด็นที่มีการแก้ไข ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องดำเนินการดังกล่าว และให้ส่งคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วมาพร้อมกับการยืนยันให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อ 1.5 คือ วิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามหลักเกณฑ์ การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

3. การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดำเนินการตามแนวทางที่กาหนดไว้ ในข้อ 1.6 หรือข้อ 1.7 สำหรับกรณีการดำเนินการตามข้อ 1.7 หากหน่วยงานของรัฐได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือขอให้หน่วยงานของรัฐที่เสนอร่างกฎหมายดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.7 ได้

ในกรณีร่างกฎหมายใดมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องดำเนินการเป็นการลับหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายให้แตกต่างจากแนวทางตามที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีไป

4. การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและอยู่ระหว่างการดำเนินการของสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  ในกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างจนแตกต่างจากร่างที่หน่วยงานของรัฐเสนอ และสมควรแก้ไขการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย เพิ่มเติมตามประเด็นที่มีการแก้ไข ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องดำเนินการดังกล่าว และให้ส่งคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

5. ในกรณีร่างกฎหมายใดมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องดำเนินการเป็นการลับหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย ให้แตกต่างจากแนวทางตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 ก็ได้ แต่หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีไป

          ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ('Checklist)' ด้วยการกำหนดหัวข้อเพื่อให้ตรวจสอบใน 10 หัวข้อหลัก พร้อมทั้งให้ลงลายมือชื่อรับรองการเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ และ ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีฯ แล้ว

บรรณานุกรม

          กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 77 และมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ. กันยายน 2560.

บรรเจิด สิงคะเนติ. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่อง “หนักนิติธรรม” ในฐานะ “เกณฑ์” ตรวจสอบการกระทำขององค์ของรัฐ. รายงานการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,  หน้า 15.

วรเจตน์ ภาคีรัตน์. หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม. เข้าถึงจาก http://www.public-law.net/publaw
/view.aspx?id=1431. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. เอกสารประกอบโครงการสัมมนาแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. เข้าถึงจาก http://www.soc.go.th/constitution77/
section77.html. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562.

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

          กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 77 และมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ. กันยายน 2560.

บรรเจิด สิงคะเนติ. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่อง “หนักนิติธรรม” ในฐานะ “เกณฑ์” ตรวจสอบการกระทำขององค์ของรัฐ'.' รายงานการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

          เพลินตา ตันรังสรรค์. สรุปการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตย. จุลนิติ ฉบับเดือน ม.ค – ก.พ. 59. หน้า 5ภ – 61.

 

อ้างอิง  


[1] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม, เข้าถึงจาก http://www.public-law.net/publaw/
view.aspx?id=1431, เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562

[2] บรรเจิด สิงคะเนติ, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่อง “หนักนิติธรรม” ในฐานะ “เกณฑ์” ตรวจสอบการกระทำขององค์ของรัฐ, รายงานการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,  หน้า 15.

[3] กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 77 และมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ, กันยายน 2560.

[4] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เอกสารประกอบโครงการสัมมนาแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, เข้าถึงจาก http://www.soc.go.th/constitution77/section77.html, เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562.