การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 11 กันยายน 2481
ผู้เรียบเรียง สิวาพร สุขเอียด
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 11 กันยายน 2481
ความหมายของการยุบสภา
“การยุบสภา” (Dissolution of Parliament) เป็นศัพท์ทางกฎหมาย หมายถึง การที่ประมุขของรัฐในระบบรัฐสภา ประกาศให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาสิ้นสุดพร้อมกันทุกคนก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้นกว่าวาระปกติของสภา[1]
สำหรับประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ที่มีการยุบสภา เป็นวิธีหนึ่งของการดำเนินการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการของฝ่ายบริหาร ใช้ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ[2]
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทยนำรูปแบบการยุบสภาประเทศอังกฤษมาใช้ โดยสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้ง ถูกยุบได้โดยฝ่ายบริหาร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนสภาสูงหรือวุฒิสภาไม่อาจถูกยุบโดยฝ่ายบริหารได้ ซึ่งเป็นหลักการของระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้เกือบทุกฉบับ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งกำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 35 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่...” ต่อมาเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้มีการบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ละฉบับ คือ[3]
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 32
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มาตรา 97
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มาตรา 65
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มาตรา 93
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 122
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 101
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 211
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 116 และ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 107
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรทุกฉบับดังกล่าว บัญญัติให้รูปแบบของการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา สาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481
การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2481 นับเป็นการยุบสภาครั้งแรกในระบบรัฐสภาไทยสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (21 ธันวาคม 2480 – 16 ธันวาคม 2481) ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดที่ 8 โดยมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 สภาผู้แทนราษฎรที่ถูกยุบในครั้งนี้มีสมาชิกจำนวน 91 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480[4]
เหตุการณ์ที่นำมาสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อพิจารณารับหลักการขั้นต้นในสภาผู้แทนราษฎร ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2481 ซึ่งญัตติดังกล่าวเสนอโดยนายถวิล อุดล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะ ทั้งนี้ มีสาระสำคัญว่า เมื่อเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณ รัฐบาลต้องเสนอรายละเอียดงบประมาณให้สภาผู้แทนราษฎรทราบด้วย เพื่อจะได้พิจารณาตัดทอนหรือเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้อง โดยให้รัฐบาลเสนอรายละเอียดทั้งรายรับ รายจ่ายตามงบประมาณนั้นโดยชัดแจ้ง เพื่อให้สมาชิกสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณได้ทราบก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติไปตามยอดงบประมาณที่รัฐบาลเสนอมา[5]
การอภิปรายในสภานั้น ผู้เสนอญัตติอ้างว่าไม่เห็นด้วยในหลักการแห่งพระราชบัญญัติงบประมาณและสมาชิกไม่เข้าใจในตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลได้เสนอมา เพราะรัฐบาลเสนองบประมาณอย่างคลุมเครือไม่ชัดเจนจนเป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎรไม่อาจพิจารณารับหลักการแห่งงบประมาณได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้เสนอญัตติจึงได้พิจารณาข้อบังคับที่ 68 และเห็นว่าเป็นบทบัญญัติกว้าง ๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนั้น จึงประสงค์ให้ทำงบประมาณของรัฐบาลแสดงรายละเอียดอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม[6]
ฝ่ายรัฐบาลคัดค้านหลักการดังกล่าวเพราะเหตุผลว่า มีอุปสรรคในด้านเวลาประกอบกับการทำงบประมาณนั้นว่า ได้มีการพิจารณากลั่นกรองกันเป็นชั้น ๆ หลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางเรื่องที่สำคัญไม่อาจเปิดเผยได้ก่อนถึงเวลาอันสมควร เช่น เทคนิคในทางการคลัง การทหาร นโยบายต่างประเทศ เป็นต้น และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรต้องการให้รายงานละเอียดมากกว่านี้ รัฐบาลสามารถทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น การวางข้อบังคับตายตัวย่อมเป็นอุปสรรคต่อความคล่องตัวของงบประมาณซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงตามความต้องการแต่ละยุคสมัย และหน้าที่ของสภาควรมุ่งที่พิจารณาในนโยบายว่ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณตรงตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย หรือไม่ และข้อบังคับนี้กล่าวถึงข้อปลีกย่อยมากเกินไป จนก่อให้เกิดภาระแก่ฝ่ายบริหารมากขึ้น โดยที่สภาผู้แทนราษฎรจะไม่ได้ประโยชน์ยิ่งไปกว่าเดิม[7]
ภายหลังที่รัฐบาลอภิปรายจบลงและที่ประชุมได้ให้มีการลงมติ โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ด้วยคะแนนเสียง 45 ต่อ 31 เป็นเหตุให้รัฐบาลแพ้ในสภา ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่ง เพราะทางรัฐบาลไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสภาได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่เห็นชอบด้วย โดยให้เหตุผลว่า สภาพการณ์ของโลกในขณะนั้นปั่นป่วน คับขัน ประกอบกับคณะรัฐบาลจะต้องเตรียมการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะเสด็จกลับสู่พระนคร รัฐบาลจึงควรบริหารราชการต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา
ยุบสภาผู้แทนราษฎร มีความว่า “ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้นใหม่มีกำหนดภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ใช้พระราชกฤษฎีกานี้เป็นต้นไป” [8]
การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงความจำเป็นที่ต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยแสดงเหตุผลที่ไม่อาจปฏิบัติตามหลักการแห่งการแก้ไขข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาอย่างชัดแจ้งแล้ว และได้แสดงให้เห็นทางเสียหายที่ประเทศชาติจะได้รับในการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวด้วย แต่ผู้เสนอญัตติก็มิได้สนใจพิจารณาตามเหตุผลดังกล่าวแต่ประการใด กลับใช้วิธีการรวบรัดการพิจารณาเพื่อเอาเปรียบรัฐบาลโดยไม่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิได้คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ จึงไม่สามารถบริหารราชการภายใต้การควบคุมของสภานี้ได้ ประกอบกับสภาพการณ์ของโลกอยู่ในระหว่างความปั่นป่วน คับขัน อีกทั้งต้องเตรียมการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระนคร รัฐบาลจำเป็นต้องอยู่บริหารประเทศต่อไป[9]
ที่มา
กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง, การยุบสภาในประเทศไทย วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
“คำแถลงการณ์ของรัฐบาล”, ราชกิจจานุเบกษา 55 (11 กันยายน 2481) : 407.
ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, ปัญหาทางกฎหมายของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542.
“พระราชกฤาฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2481”, ราชกิจจานุเบกษา 55 (11 กันยายน 2481) : 405.
มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7 การยุบสภา กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2518.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง, “การยุบสภาในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530.
ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, ปัญหาทางกฎหมายของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542.
อ้างอิง
- ↑ มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง 7 การยุบสภา (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544), หน้า 1.
- ↑ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, ปัญหาทางกฎหมายของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย (วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542), หน้า 40.
- ↑ อ้างแล้ว, หน้า 75.
- ↑ กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง, การยุบสภาในประเทศไทย (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530), หน้า 77.
- ↑ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, อ้างแล้ว, หน้า 72.
- ↑ อ้างแล้ว, หน้าเดิม.
- ↑ วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตย (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2518), หน้า 542.
- ↑ “พระราชกฤาฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2481”, ราชกิจจานุเบกษา 55 (11 กันยายน 2481) : 405.
- ↑ “คำแถลงการณ์ของรัฐบาล”, ราชกิจจานุเบกษา 55 (11 กันยายน 2481) : 407.