การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย  สันต์ชัย  รัตนะขวัญ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

          การบริหารราชการแผ่นดินเฉพาะในส่วนของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการปรับรูปแบบและโครงสร้างองค์การในการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่หลายรูปแบบ เมื่อจัดลำดับตามศักยภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตามอำนาจหน้าที่แล้ว พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและการเข้าถึงการจัดบริการสาธารณะของประชาชนภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นรูปแบบของตน แต่เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเจริญเติบโตขึ้น มีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ปัญหาของชุมชนเมืองย่อมมีความสลับซับซ้อนและหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย และขนาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก (องค์การบริหารส่วนตำบล) อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยวิธีการจัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ มีอำนาจหน้าที่ ตลอดจนรายได้ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและปรับปรุงการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นขนาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการจัดบริการสาธารณะและได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะ

 

หลักการและความจำเป็นในการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          แนวคิดเรื่องการลดจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงเพื่อให้เหลือจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น เป็นแนวโน้มที่ปรากฏทั่วไปทั้งประเทศที่ปกครองในรูปแบบรัฐเดี่ยวและรัฐรวม สำหรับประเทศไทย ข้อเสนอเกี่ยวกับการยุบรวมหน่วยการปกครองท้องถิ่นเข้าด้วยกัน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้มีจำนวนและรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลดน้อยลง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปัจจุบันของไทยมีจำนวนมากและหลายรูปแบบ คือ จำนวน 7,853 แห่ง แยกเป็นเทศบาล 2,441 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,334 แห่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)[1]

          กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการยุบรวมหน่วยการปกครองท้องถิ่น โดยเห็นว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยควรคงระบบแบบสองชั้น (Two tier system) เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่หรือระดับบน (Upper tier) คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้รับผิดชอบดำเนินกิจการขนาดใหญ่กับพื้นที่กว้าง และเป็นงานที่เกินขีดความสามารถของท้องถิ่นขนาดเล็ก ในขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็ก (Lower tier) คือ เทศบาล ให้ดูแลแก้ไขเฉพาะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเทศบาลทั้งหมด เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายอำนาจ งบประมาณได้ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกัน ทั้งนี้การกำหนดขนาดขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้ใกล้เคียงและเหมาะสม โดยการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กเข้าด้วยกัน (Amalgamation) ต้องอยู่บนฐานของการพิจารณาในมิติทางการคลัง ศักยภาพขององค์กร และการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่น อย่างมีเหตุผลในทางเศรษฐกิจมากกว่าจะใช้เหตุผลทางการเมืองของท้องถิ่น [2]

 

หลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมและการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[3]

          1) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546) มาตรา 40 กล่าวว่า สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปี งบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปี ละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทหรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยในวรรคสองอาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยในประกาศนั้นให้ระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ด้วย การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา 41 สภาตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 40 ให้ พ้นจากสภาพแห่งสภาตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นต้นไป โดยบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล

          มาตรา 41 ทวิ สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยให้นำมาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 41 ตรี สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับหน่วยการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย และให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยด้วย ให้นำ มาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการรวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

          มาตรา 41 จัตวา ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบรวมสภาตำบลทั้งหมดและองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว การรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใดตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยการสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด  องค์การบริหารส่วนส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคนแต่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะหรือโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่จะไปรวมได้โดยสะดวก กระทรวงมหาดไทยจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นก็ได้ และให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับการยุบและรวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

          มาตรา 42 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล อาจจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลได้โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาลตามวรรคหนึ่ง ให้พ้นจากสภาพแห่งองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลเป็นต้นไป บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นของเทศบาลที่จัดตั้งขึ้นนั้น บรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้วให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่

          2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องการสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อไปรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. 2547

          3) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.1/ ว 1177 ลงวันที่ 2 เมษายน 2547 เรื่องซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการจัดตั้งและยุบรวมสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

          4) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0890.2/ ว 2206 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 เรื่อง การดำเนินการยุบรวมสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อไปรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

 

ข้อดี ข้อเสียของการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นที่สนใจของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รวบรวมข้อคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงข้อดีข้อเสียของการยุบรวมองค์กรกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ [4]  

ข้อดี

          การพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่ระดับจังหวัด และเทศบาลทำหน้าที่ระดับต่ำกว่าจังหวัด ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลให้ยกฐานะเป็นเทศบาล และเทศบาลขนาดเล็กให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่แทน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กจำเป็นต้องต้องมีการยุบรวม เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เมื่อเกิดการยุบรวมทำให้เกิดการประหยัดงบประมาณ อีกทั้งการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประโยชน์คือทำให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ไม่เกิดการทับซ้อนกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ นอกจากนี้ การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุนค่าบริหารจัดการบุคลากร และได้ประโยชน์จากการประหยัดเนื่องจากจำนวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีน้อยลง[5]

ข้อเสีย

          การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงของประชาชนที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนของระบบการบริหารงานสาธารณะ อีกทั้งยังอาจเกิดการผูกขาดอำนาจโดยผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบงำการบริหารท้องถิ่นได้ง่าย นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องขนาดที่เหมาะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าควรจะพิจารณาจากมิติใดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละที่มีสภาพที่แตกต่างกัน การออกแบบให้มีรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมือนกันทั้งหมด จึงอาจขัดแย้งกับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มิติด้านประชากร มิติด้านพื้นที่ หรือมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นที่ลดลงก็เป็นข้อเสียประการหนึ่ง โดยพิจารณาเชิงประจักษ์จากจำนวนผู้ลงคะแนนเสียง เพราะเมื่อถูกยุบรวมกลายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ อาจทำให้มีคนไม่ยอมไปลงคะแนนจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนอาจจะไม่ใกล้ชิดเหมือนเดิม[6]

 

ข้อเสนอการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและกระแสเรื่องการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากความคิดเห็นและข้อเสนอของที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ฝ่ายราชการส่วนกลาง และฝ่ายข้าราชการประจำ พบว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้[7]

          1) โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นไทยควรมีสองรูปแบบ คือ (1) รูปแบบทั่วไป และ (2) รูปแบบพิเศษ โดยใช้รูปแบบสภาผู้จัดการ (City Manager)  การปกครองรูปแบบพิเศษ ได้แก่ การปกครองเขตพิเศษต่างๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตวัฒนธรรม เขตการท่องเที่ยว เขตชายแดน เป็นต้น และการปกครองรูปแบบทั่วไป 2 ชั้น (2 Tiers) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดควรเปลี่ยนรูปแบบเป็นเทศบาลระดับบน (Upper Tier) คือเป็นรูปแบบที่มีพื้นที่ไม่ทับซ้อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น แต่มีหน้าที่ที่กว้างขวางทั้งเขต โดยการรวมกับเทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองเป็น “เทศบาลจังหวัด” ส่วนรูปแบบเทศบาลเป็นท้องถิ่นในระดับล่าง (Lower Tier) โดยควรมีหลายรูปแบบตามบริบทของพื้นที่ และสภาพ เศรษฐกิจสังคม โดยแยกเป็น (1) เทศบาลเขตเมือง (2) เทศบาลเขตชนบท (3) เทศบาลพิเศษตามสภาพ เศรษฐกิจสังคม

          2) เหตุผลความจำเป็นที่ต้องยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมาก และมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งขนาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีผลต่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าในการให้บริการ หากแต่อาจไม่มีงบประมาณที่พอเพียง เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้จ่ายเป็นค่าประจำไป ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อภารกิจในการพัฒนาท้องถิ่น

          3) หลักเกณฑ์ในการจัดขนาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสม จะพิจารณาจำนวนประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิสังคม เพื่อพิจารณาประกอบการกำหนดขนาดที่เหมาะสม (Optimal Size or Maximize Size) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          4) หลักเกณฑ์การยกเว้นการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การยุบรวมหรือควบรวมไม่ได้ ด้วยเหตุผลความจำเป็นพิเศษเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น พื้นที่ป่าเขา ทุรกันดาร ห่างไกล เป็นเกาะ ฯลฯ หรือที่มีลักษณะพิเศษอื่นใดถือเป็นกรณียกเว้น และให้เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

          5) การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ภารกิจหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร ประหยัดงบประมาณ เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ ป้องกันการการทุจริตต่างๆ

          กล่าวโดยสรุป การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเหตุผลสำคัญ คือ การลดจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลง เพื่อให้เหลือจำนวนและขนาดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมาะสม ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดคือเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่นที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การยุบรวมต้องให้ความสำคัญกับความเห็นหรือเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่ตอบคำถามได้ชัดเจนที่สุดเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ

 

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. 2557.  เข้าถึงจาก http://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. คู่มือการปฏิบัติงาน การจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรวมและยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรับรวมและแยกพื้นที่บางส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพัฒนาระบบรูปแบบและโครงสร้าง. มปป.

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. การควบรวมท้องถิ่น. มติชนรายวัน วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เข้าถึงจาก http://www.matichon.co.th/news/376060

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน. 2546.

สรณะ เทพเนาว์ . บทความพิเศษการเมืองท้องถิ่น สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 62 ฉบับที่ 1 วันที่ 19-25 กันยายน 2557

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.การยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.). 2558.

 

อ้างอิง

[1] กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. 2557.  เข้าถึงจาก http://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp

[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน. 2546.หน้า 341-343

[3] กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. คู่มือการปฏิบัติงาน การจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรวมและยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรับรวมและแยกพื้นที่บางส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพัฒนาระบบรูปแบบและโครงสร้าง. มปป.

[4] สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.การยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.). 2558. หน้า 9-10.

[5] ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. การควบรวมท้องถิ่น. มติชนรายวัน วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เข้าถึงจาก http://www.matichon.co.th/news/376060 

[6] ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. การควบรวมท้องถิ่น. มติชนรายวัน วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เข้าถึงจาก http://www.matichon.co.th/news/376060

[7] สรณะ เทพเนาว์. บทความพิเศษการเมืองท้องถิ่น สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 62 ฉบับที่ 1 วันที่ 19-25 กันยายน 2557