การปฏิบัติราชการแทน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย..อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ .. รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล




ความหมายของการปฏิบัติราชการแทน

การปฏิบัติราชการแทน หมายถึงการมอบอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ให้กับผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปฏิบัติราชการแทน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ[1]


ความสำคัญของการปฏิบัติราชการแทน

ในการบริหารราชแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ และกระจายอำนาจความรับผิดชอบ จึงมีบทบัญญัติในการปฏิบัติราชการแทนโดยผู้ปฏิบัติราชการแทนจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้มอบอำนาจและการมอบอำนาจจะมีอยู่ตลอดจนกว่าจะมีการยกเลิกการมอบอำนาจนั้น ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ


การปฏิบัติราชการแทนในการบริหารราชการแผ่นดิน

ในการบริหารราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจในการบริหารราชการอาจจะมอบอำนาจในการสั่งการ อนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น โดยผู้มีอำนาจในการบริหารราชการสามารถมอบอำนาจให้แก่ผู้มีอำนาจชั้นรองเพื่อปฏิบัติราชการแทน โดยที่ผู้มอบอำนาจยังคงดำรงตำแหน่งและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ

หลักในการมอบอำนาจด้วยกัน 5 ประการ คือ[2]

1. เป็นอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

2. กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

3. การมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ

4. เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้นและจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ (เว้นแต่กรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งกฎหมายกำหนดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจนั้นต่อไปอีกได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค)

5. เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หมวด 5 มาตรา 38 – 40 ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ ดังนี้


ข้อมูลแสดงการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน

- นายกรัฐมนตรี (ผู้มอบอำนาจ) / รองนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

(ผู้รับมอบอำนาจ)

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (ผู้มอบอำนาจ)/ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง , ปลัดกระทรวง ,

อธิบดีหัวหน้าส่วนราชการอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า , ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้รับมอบอำนาจ)

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (ผู้มอบอำนาจ) / รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง , ปลัดทบวง , อธิบดี ,

หัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า , ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้รับมอบอำนาจ)

- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้มอบอำนาจ) / รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,

ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี , อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า , ผู้ว่าราชการจังหวัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (ผู้มอบอำนาจ)

- ปลัดกระทรวง (ผู้มอบอำนาจ)/ รองปลัดกระทรวง , ผู้ช่วยปลัดกระทรวง , อธิบดี

หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า , ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (ผู้มอบอำนาจ)

- ปลัดทบวง (ผู้มอบอำนาจ) / รองปลัดทบวง , ผู้ช่วยปลัดทบวง , อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ,

ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้มอบอำนาจ)

- อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า (ผู้มอบอำนาจ) / รองอธิบดี , ผู้ช่วยอธิบดี , ผู้อำนวยการกอง ,

หัวหน้ากอง , หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า (ผู้มอบอำนาจ)

ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามมาตรา 31 วรรค 2

(ผู้มอบอำนาจ) / ข้าราชการในกองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง

หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (ผู้มอบอำนาจ)

- ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้มอบอำนาจ) / รองผู้ว่าราชการจังหวัด , ปลัดจังหวัด ,

หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด , นายอำเภอ , ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ,

หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ)

- นายอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ) / ปลัดอำเภอ , หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ)

- ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ) / ปลัดอำเภอ ,

หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ)

- หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด (ผู้มอบอำนาจ) / หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ,

หัวหน้าส่วนราชการประจำกิ่งอำเภอ (ผู้มอบอำนาจ)

- ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (1) ถึง (12) (ผู้มอบอำนาจ) /

บุคคลอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ผู้มอบอำนาจ)

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ,หมวด 5 มาตรา 38-40.
  2. เฉลิมพงศ์ มีสมนัย, ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ และคณะ, การบริหารราชการไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5, (นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551).

บรรณานุกรม

เฉลิมพงศ์ มีสมนัย, ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ และคณะ, การบริหารราชการไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5, นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551.

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ,หมวด 5 มาตรา 38-40.

หนังสืออ่านประกอบ

มานิตย์ จุมปา, (2548), คำอธิบายกฎหมายปกครองว่าด้วยการจัดระเบียบราชการบริหาร กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธันยวัฒน์ รัตนสัค,(2555), การบริหารราชการไทย ,เชียงใหม่ : คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.