การบุกเบิกการกระจายเสียงในสยาม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


การกระจายเสียงทางวิทยุเป็นสื่อสารมวลชนอีกประเภทหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานความสนพระราชหฤทัยและความสนับสนุนอย่างจริงจัง แต่ก็ยังคงเป็นในระยะเริ่มแรก

ผู้ที่ทำการบุกเบิกสื่อนี้คือ พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดยได้ทรงพัฒนาต่อยอดจากการที่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ กระทรวงทหารเรือได้ตั้งสถานีวิทยุโทรเลขถาวรเพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ และในปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำว่า “วิทยุ” ให้ใช้แทนคำว่า “ราดิโอ” หรือ “เรดิโอ” (radio) ๔ ปีต่อมา กรมไปรษณียโทรเลขได้ร่วมกับกระทรวงทหารเรือเปิดให้ประชาชนได้ใช้วิทยุโทรเลขนั้นได้เป็นครั้งแรก [1]

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ เสด็จในกรมฯ พระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงทำการทดลองการรับส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นการส่วนพระองค์ที่วังบ้านดอกไม้และในพ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ทรงตั้งกองช่างวิทยุขึ้นและต่อมาได้กระจายเสียงในนามสถานีวิทยุกระจายเสียง “๔ พี.เจ” และ “๑๑ พี.เจ” โดย พี.เจ. เป็นอักษรย่อพระนาม Purachatra Jayakorn[2]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้นมาตั้งที่โฮเตลพญาไท ซึ่งเดิมเป็นพระราชวัง (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ซึ่งในสมัยนั้นยังอยู่กลางทุ่ง ไม่มีคลื่นไฟฟ้ารบกวน สถานีวิทยุนั้นจึงได้เป็นทางการขึ้นมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยเหตุนี้ สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้ประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ในสมัยต่อมาผู้มีชื่อเสียง จึงถือว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานหูทิพย์” [3]

พิธีเปิด “สถานีวิทยุกรุงเทพที่พญาไท” กระทำในวันฉัตรมงคลของพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศ คือ มีการถ่ายทอดพระสุรเสียงพระราชดำรัสจากพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวังไปตามสายเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงให้ประชาชนได้สดับ ความตอนที่เกี่ยวข้องว่า:

“การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้นและทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราได้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป” [4]

พึงสังเกตว่า รับสั่งว่าเพื่อ “ส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิง” วิทยุกระจายเสียงจึงได้กลายเป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่งซึ่งได้ค่อยๆ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่นั้นมา ส่วนที่ว่าในสมัยต่อๆ มา การวิทยุได้ส่งเสริมด้านใดมากน้อยกว่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ในสยามในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพียง ๑๐ ปี หลังจากที่มีการเริ่มกระจายเสียงทางวิทยุครั้งแรกในโลกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐ (พ.ศ. ๒๔๖๓) จึงนับว่าสยามในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทันสมัยมากทีเดียว ปัจจุบัน จึงถือว่าวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์เป็นวันวิทยุกระจายเสียง

ต่อมีอีก ๓ วัน ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเหยียบสถานีวิทยุนั้นในเวลา ๑๗.๐๐ น. แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยที่จริงจัง พระองค์ทรงรับข่าวสารทางวิทยุควบคู่กับหนังสือพิมพ์อยู่โดยสม่ำเสมอ และในราชสำนักรัชกาลที่ ๗ มีการใช้คำว่า “วุ” แทนคำว่า “วิทยุ” เป็นการแสดงถึงความเอ็นดูเครื่องมือสื่อสารและสื่อมวลชนประเภทนี้[5]

สถานีวิทยุกรุงเทพที่พญาไทนี้ ใช้ชื่อย่อว่า HSP1 (คลื่นยาว ๓๕๐ เมตร) และ HSP2 (คลื่นสั้น ๓๑ เมตร) ตามลำดับ (ย่อมาจาก Hotel Siam at Phyathai กระมัง) ใช้ “ฆ้องสี่เสียง” เป็นเสียงขานจากกรุงเทพฯ (Bangkok calling) ตอนเปิดสถานี ซึ่งกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ทรงคิดขึ้นโดยใช้ไซโลโฟน (xylophone) หรือระนาดฝรั่ง ตามเสียงระนาดเชิญรับประทานอาหารในเรือโดยสาร ทำนอง “ฆ้องสี่เสียง” นี้ จึงเป็นที่รู้จักคุ้นหูกันสืบมาทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยหลัง “ฆ้องสี่เสียง” นี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์กระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ [6]

สำหรับพระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข พ.ศ. ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้นมีสาระสำคัญตรงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีเครื่องรับวิทยุ (รัฐสภา ๒๕๒๔: ๓๔๒) แต่จำนวนคนที่รับฟังได้ในขณะนั้นคงมีไม่มากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน เพราะเครื่องส่งซึ่งแม้จะเป็นอย่างดีของบริษัทฟิลิปส์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นกำลังส่งยังจำกัดอยู่ โดยผู้ฟังใช้เครื่องที่เรียกกันว่า “เครื่องแร่” ซึ่งราคาไม่แพง แต่ต้องใช้หูฟัง ฟังได้เพียงลำพังคนเดียว[7]

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ เสนาบดีสภาเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมอนุญาตให้ห้างร้านประกาศโฆษณาทางวิทยุได้ แต่ต้องไม่เป็นการพรรณนาถึงคุณภาพของสินค้า คือเป็นการประชาสัมพันธ์มากกว่าการโฆษณา ในการนี้รัฐจะได้ค่าธรรมเนียมกับค่าตอบแทนมาชดเชยกับการที่การวิทยุกระจายเสียงขาดทุนอยู่ประมาณเดือนละ ๔๐๐ บาท[8] นับว่าเป็นนโยบายที่มุ่งให้ได้ดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง ๓ ฝ่าย คือ บริษัทห้างร้าน ผู้บริโภค และรัฐ

การวิทยุกระจายเสียงน่าจะได้แพร่หลายในกรุงเทพฯ มากพอสมควรแล้ว ทางราชการจึงได้มีประกาศเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (๓ เดือนก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จากทรงสละราชสมบัติ) ว่า “บัดนี้ การส่งสัญญาณบอกเวลาทางวิทยุได้แพร่หลายแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธียิงปืนบอกเวลาดังเช่นสมัยก่อนอีก” [9]

แถมท้ายในที่นี้ได้ด้วยว่า ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินยังได้ทรงติดตามความคืบหน้าของการทดลองการสื่อสารมวลชนอีกประเภทหนึ่งในต่างประเทศ คือ “เทเลวิชั่น” (television) ซึ่งเป็นการกระจายทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว และในปัจจุบันคนไทยเรียกสั้นๆ ว่า “ที.วี.” หรืออย่างเป็นทางการว่า “วิทยุโทรทัศน์” ซึ่งหากมีขึ้นในสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้พระราชทาน “ตาทิพย์” ด้วย[10] หากแต่ว่าการทดลองในระบบอีเลคโทนิคยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) หลังสมัยรัชกาลที่ ๗ การแพร่ภาพโทรทัศน์ในประเทศไทยจึงมิได้เริ่มมีขึ้นจนกระทั่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ทำการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๔ ผ่านระบบโทรทัศน์ขาวดำจากที่ทำการในบริเวณวังบางขุนพรหม มีนายจำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก

อ้างอิง

  1. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๓.
  2. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๕.
  3. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑.
  4. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๖.
  5. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๓๔๓.
  6. ศุภลักษณ์ หัตถพนม. ๒๕๕๒. “ฆ้องสี่เสียง”. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๒๒ วันที่ ๒๐-๒๖ กุมภาพันธ์. หน้า ๓๘-๓๙.
  7. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๖.
  8. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๓๔๓.
  9. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๓๔๓.
  10. สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๗.

บรรณานุกรม

พรทิพย์ ดีสมโชค. ๒๕๕๓ก. แนวความคิดและวิธีการสื่อสารทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗. กรุงเทพฯ: หาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พรทิพย์ ดีสมโชค. ๒๕๕๓ข. เสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน รายงานประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ.

รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.

ศุภลักษณ์ หัตถพนม. ๒๕๕๒. ฆ้องสี่เสียง. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๒๒ วันที่ ๒๐-๒๖ กุมภาพันธ์. หน้า ๓๘-๓๙.

สรรพสิริ วิริยศิริ. ๒๕๓๗. พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทาน “หูทิพย์” ในเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง สังคมไทยไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดย สถาบันไทยศึกษาและฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๗-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

En. Wikipedia. Org/wili/History_ of_television. Accessed on 30 January 2015.

Th. wikipedia. Org/โทรทัศน์ในประเทศไทย. Accessed on 30 January 2015.