การถอนทหารจากอัฟกานิสถาน
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
บทนำ
การถอนทหารจากอัฟกานิสถานเป็นปฏิบัติการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ระหว่าง ปี ค.ศ. 2020-2021 อันถือเป็นจุดสิ้นสุดสงครามที่ยื้อเยื้อยาวนานถึง 20 ปี ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ปี ค.ศ. 2001 ทั้งนี้ การถอนกำลังทหารจากอัฟกานิสถานเป็นผลจากการตัดสินใจเชิงนโยบายภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แต่มาสิ้นสุดในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden)
สงครามในอัฟกานิสถาน ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2021
เหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯ โดยผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์ 9/11” นั้น เครื่องบินพาณิชย์ 4 ลำถูกจี้ โดยที่สองลำพุ่งชนตึกแฝด Word Trade Center อีกหนึ่งลำพุ่งชนตึก Pentagon กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และลำสุดท้ายตกลงก่อนที่จะมุ่งไปโจมตีทำเนียบขาว รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 2,977 ราย และเหตุการณ์นี้ได้สร้างความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายไปทั่วโลก[1] รัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประกาศตอบโต้ในทันทีว่าใช้ทุกสรรพกำลังเข้าห้ำหั่นศัตรู และจะหาแนวร่วมพันธมิตรจากทั่วโลกเพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สำหรับเหตุการณ์ 9/11 นั้น สหรัฐฯ เชื่อว่านายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน (Osama bin Laden) ผู้นำกลุ่มอัลเคดา (Al-Qaeda) อยู่เบื้องหลัง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตาลีบัน (Taliban) ของอัฟกานิสถานขณะนั้น ส่งตัวบินลาดินให้แก่สหรัฐฯ เพื่อรับการลงโทษ ทว่ารัฐบาลตาลิบันปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวของสหรัฐฯ[2] ในการแถลงต่อสภาคองเกรซ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2001 ประธานาธิบดีบุช ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “สงครามต่อต้านความหวัดกลัว (War on Terror) ของเราเริ่มที่กลุ่มอัลเคดา แต่มันจะไม่จบแค่นั้น มันจะไม่จบจนกว่ากลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มในโลกจะถูกค้นพบ ถูกหยุดยั้ง และถูกทำลายล้าง”[3]
การโจมตีทางอากาศระลอกแรกเปิดฉากในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001 เมื่อเครื่องบินสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรทะยานขึ้นโจมตีกลุ่มตาลีบันและฐานฝึกของอัลเคดา เสริมด้วยกำลังภาคพื้นที่เคลื่อนขบวนเข้าสู่อัฟกานิสถาน[4] ต่อมาสหรัฐฯ ชาติพันธมิตร (รวมถึงชาติใน NATO) และพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliances) ได้ร่วมกันทำสงครามในครั้งนี้จนส่งผลให้กลุ่มตาลีบันและอัลเคดาต้องพ่ายแพ้ และล่าถอยเข้าไปในเขตพื้นห่างไกล ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถจับกุมตัวนายบินลาดินมาลงโทษได้ เนื่องจากหลบหนีข้ามพรมแดนไปซ่อนตัวอยู่ในเขตปากีสถานแต่สหรัฐฯ และพันธมิตรอีกกว่า 40 ชาติก็ยังคงตรึงกำลังอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป โดยร่วมกันจัดตั้งกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อรักษาความมั่นคง (International Security Assistance Force: ISAF) เพื่อฟื้นฟูรัฐบาลประชาธิปไตยในอัฟกานิสถานและป้องกันการหวนคืนสู่อำนาจของตาลีบันและอัลเคดา[5] สงครามในอัฟกานิสถานเป็นสงครามยืดเยื้อเพราะฝ่ายตาลีบันและอัลเคดาใช้ยุทธศาสตร์สงครามกองโจร (guerrilla warfare) ขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรถนัดสงครามตามแบบ (conventional warfare) ทำให้ฝ่ายแรกมีข้อได้เปรียบในด้านความคุ้นเคยกับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหุบเขาและโครงข่ายถ้ำที่สลับซับซ้อน การก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลเป็นระยะด้วยระเบิดพลีชีพโจมตีพลเรือน และกองกำลังติดอาวุธจู่โจมทหารพันธมิตร จนสามารถยึดคืนพื้นที่จำนวนมากได้ใน ปี ค.ศ. 2007 ขณะที่กองกำลัง ISAF และสหรัฐฯ ก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังทหารประจำการสูงถึงประมาณ 132,000 ราย เข้าไปกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบใน ปี ค.ศ. 2011[6]
การไล่ล่าตัวบินลาดินประสบความสำเร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 เมื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษนาวีซีลบุกเข้าไปในที่พักของเขาที่ตั้งอยู่ในเขตตอนเหนือของปากีสถาน การเสียชีวิตของนายบินลาดินจากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่หลายชาติพันธมิตรถือว่าภารกิจสงครามในอัฟกานิสถานได้เสร็จสิ้นแล้วไม่เว้นแม้แต่กองกำลัง ISAF ที่ยุติบทบาทลงก่อนที่จะมีการวางแผนถ่ายโอนอำนาจความรับผิดชอบด้านความมั่นคงให้รัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์ใน ปี ค.ศ. 2014[7] ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะถอนทหารจากอัฟกานิสถานภายในสิ้นปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่ได้ดำเนินการถอนทหารทั้งหมด แม้จำนวนทหารประจำการในอัฟกานิสถานจะลดลงอย่างมาก ทว่ายังคงมีอีกกว่า 10,000 ราย ที่ยังดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่อง[8] การถอนทหารอย่างสมบูรณ์เสร็จสิ้นในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ในสิ้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021
นโยบายการถอนทหารจากอัฟกานิสถานของรัฐบาลสหรัฐฯ
การถอนทหารจากอัฟกานิสถานดำเนินการโดย 3 รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีแต่ละคนต่างก็มีนโยบายต่อสงครามในอัฟกานิสถานและการถอนทหารแตกต่างกันในช่วง 100 วันแรก ภายหลังเหตุการณ์โจมตี 9/11 ประธานาธิบดีบุช สร้างพันธมิตรกับทั่วโลกเพื่อต่อต้านก่อการร้าย ตลอดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งระหว่าง ปี ค.ศ. 2001-2009 รัฐบาลบุช ตั้งเป้าไปที่การสกัดกั้นเส้นทางทางการเงินที่สนับสนุนการก่อการร้าย การเพิ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนการป้องกันกิจการภายในประเทศ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวอัฟกันและการขับไล่ตาลีบันและพันธมิตรอัลเคดาให้พ้นจากอำนาจ อย่างไรก็ตามใน ปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลบุช เบนความสนใจไปที่สงครามในอิรักเพื่อขยายยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้งบประมาณรายจ่ายด้านการทหารในอัฟกานิสถานลดลงอย่างเห็นได้ชัด[9] เมื่อถึงรัฐบาลโอบามาใน ปี ค.ศ. 2009 ทหารกว่า 30,000 รายถูกส่งไปประจำการเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 68,000 ราย เพื่อสกัดกั้นการอุบัติซ้ำของกลุ่มตาลีบัน ภายหลังปฏิบัติการสังหารบินลาดินใน ปี ค.ศ. 2011 ทหารกว่า 33,000 ราย ถูกถอนออกมาจากอัฟกานิสถานในทันทีและมีแผนการที่จะถ่ายโอนภารกิจด้านความมั่นคงไปให้รัฐบาลพลเรือนอัฟกานิสถานใน ปี ค.ศ. 2014 ด้วยความหวังว่าจะถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2016 ก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา แต่แผนการนี้ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด[10]
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นสู่ตำแหน่งในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2017 มีนโยบายที่ระมัดระวังในการถอนทหารเพื่อหลีกเลี่ยงสูญญากาศทางการเมืองภายหลังจากที่ไม่มีกองกำลังต่างชาติประจำการแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยกเลิกการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างผู้นำกลุ่มตาลีบันกับประธานาธิบดี อัชราฟ กานี (Ashraf Ghani) ในปี ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการตอบโต้เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในกรุงคาบูล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และหนึ่งในนั้นเป็นชาวอเมริกัน[11] ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 การประชุมที่โดฮา ประเทศกาตาร์ รัฐบาลทรัมป์และผู้นำกลุ่มตาลีบันได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ "ข้อตกลงโดฮา" (Doha Agreement) ที่ให้สหรัฐฯ ถอนทหาร 13,000 ราย ภายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ตาลีบันจะป้องกันไม่ให้กลุ่มอัลเคดากลับมามีอิทธิพล และจะไม่โจมตีกองทัพสหรัฐฯ อีกต่อไป[12] กำหนดเส้นตายการถอนทหารได้รับการประกาศอีกครั้งในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นสู่อำนาจ และแถลงว่าจะกำหนดให้กองทัพสหรัฐถอนตัวจากอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์ใน วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์ 9/11 ภารกิจถอนทหารจากอัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลไบเดน เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นกำหนดการเดิมของประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนั้นแล้วยังได้ประกาศแผนการเคลื่อนย้ายประชาชนชาวอัฟกันที่เคยให้ความช่วยเหลือกองทัพสหรัฐกว่า 1,000 ราย อีกด้วย[13]
เมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021 ปรากฏรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่าได้อพยพกองกำลังที่ประจำการอยู่ ณ ฐานบินบากรัม (Bagram Airfield) ออกไปแล้ว ซึ่งฐานบินแห่งนี้ถือเป็นศูนย์บัญชาการทางการทหารใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เริ่มสงครามต่อต้านความหวาดกลัวใน ปี ค.ศ. 2001 และได้มีการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดให้แก่กองทัพอัฟกานิสถานที่ผ่านการฝึกฝนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ[14] ไม่กี่วันหลังจากนั้นประธานาธิบดีไบเดน ก็ประกาศร่นเวลาการถอนทหารทั้งหมดมาเป็น วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ในการแถลงที่ทำเนียบขาวประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า “สหรัฐฯ ไปอัฟกานิสถานเพื่อจับตัวผู้ก่อการร้ายที่โจมตีเราในเหตุการณ์ 9/11 มอบความยุติธรรมที่สาสมแก่บินลาดิน และบั่นทอนกำลังของผู้ก่อการร้ายเพื่อให้อัฟกานิสถานพ้นจากการเป็นฐานโจมตีสหรัฐฯ เราได้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นแล้วและนั่นก็เป็นเหตุผลที่เราไปที่นั่น เราไม่ได้ไปอัฟกานิสถานเพื่อสร้างชาติ มันเป็นสิทธิและความรับผิดชอบของประชาชนชาวแอฟริกันเท่านั้นที่จะกำหนดอนาคตของพวกเขาและกำหนดว่าจะให้ประเทศเป็นไปอย่างไร” นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนยังเสริมว่าการถอนกำลังครั้งนี้อยู่บนความเชื่อมั่นในกองทัพอัฟกานิสถานที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี มีการติดอาวุธที่ดีกว่าและมีความพร้อมรบในสงครามมากกว่ากลุ่มตาลีบัน[15] ทั้งนี้การถอนทหารสหรัฐฯ เกิดขึ้นคู่ขนานกับการรุกคืบเข้ามาของกองกำลังตาลีบันที่ค่อย ๆ ยึดเมืองสำคัญต่าง ๆ จนถึง วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2021 รัฐบาลอัฟกานิสถานต้องถอยร่นออกไปจากเฮรัต (Herat) กัซนี (Ghazni) และกันดาฮาร์ (Ghandahar) เหลือไว้เพียงกรุงคาบูล (Kabul) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ[16] การรุกคืบของกองกำลังตาลีบันดำเนินไปภายใต้ความกังวลและหวาดกลัวว่าการกลับมามีอำนาจของกลุ่มตาลีบันจะนำมาซึ่งการล้างแค้นชาวอัฟกันที่เคยทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ จะถูกนำกลับมาใช้กับสตรีและเด็กชาวอัฟกันอีกครั้ง
ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2021 เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงคาบูลได้อพยพอย่างเร่งด่วนพร้อม ๆ กับที่มีข่าวว่าประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ได้เดินทางออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินแล้ว ขณะเดียวกันกองกำลังตาลีบันก็ประชิดเข้ามาโอบล้อมใกล้กรุงคาบูทุกขณะ[17] ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น การจลาจลก็เริ่มต้นขึ้นประชาชนชาวอัฟกันที่อาศัยอยู่ในกรุงคาบูลจำนวนมากเดินทางไปที่สนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ เพื่อหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางไปพร้อมกับเที่ยวบินทหารของสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะช่วยให้ประชาชนชาวอัฟกันอพยพออกนอกประเทศได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งถึงขนาดเกาะล้อเครื่องบินขณะที่กำลังทะยานขึ้นสู่อากาศส่งผลให้พลัดตกลงมาเสียชีวิต[18]
เมื่อภาพเหตุการณ์จลาจลดังกล่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ประธานาธิบดีไบเดนแถลงยืนยันแผนการถอนทหารว่ายังคงยึดถือกำหนดเส้นตายเดิมคือ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2021 พร้อมกับกล่าวว่านอกเหนือจากการเคลื่อนย้ายผู้คนที่หลงเหลืออยู่แล้วสหรัฐฯ ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้และนี่ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เพราะเป็นสงครามยืดเยื้อที่กินเวลานับ 20 ปี ตลอดการบริหารประเทศของ 4 ประธานาธิบดี ดังนั้นตนเองจะไม่ส่งมอบงานนี้ต่อไปให้ประธานาธิบดี คนที่ 5 อย่างเด็ดขาด[19] เมื่อถึง วันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2021 เที่ยวบินกองทัพสหรัฐฯ เที่ยวสุดท้ายก็ทะยานขึ้นจากสนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ถือเป็นการปิดฉากภารกิจสงครามและภารกิจถอนทหารในอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์ ขณะที่กลุ่มตาลีบันจุดพลุเฉลิมฉลองการตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดย โมฮัมมัด ฮาซัน อาคุนด์ (Mohammad Hasan Akhund) และเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน" (Islamic State of Afghanistan) ไปเป็น "เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน" (Islamic Emirate Of Afghanistan)[20]
มูลค่าความสูญเสียของสงครามอัฟกานิสถาน
แม้ ประธานาธิบดีไบเดนจะประกาศว่าสามารถบรรลุภารกิจในอัฟกานิสถาน ทว่าหลายฝ่ายประเมินว่านี่เป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางการทหารที่ล้มเหลวที่สุดอีกด้วยตลอด 20 ปี ของสงครามต่อต้านความหวาดกลัวนับตั้งแต่การบุกอัฟกานิสถานใน ปี ค.ศ. 2001 ทีมวิจัย Costs of War Project ของมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ประเมินว่าสหรัฐฯ สูญเสียงบประมาณไปในสงครามที่ยืดเยื้อและล้มเหลวนี้ถึง 8 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปฏิบัติการกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นงบประมาณในกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ที่ดูแลทั้งปฏิบัติการทางการทหาร การข่าว ปฏิบัติการพิเศษ การดูแลทหารผ่านศึกในปัจจุบันไปจนถึง ปี ค.ศ. 2050 เป็นต้น ขณะที่จำนวนการสูญเสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ ประมาณ 897,000-929,000 ราย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และพันธมิตร กองกำลังฝ่ายต่อต้าน พลเรือน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยในจำนวนงบประมาณทั้งหมดนั้น เม็ดเงินมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ถูกใช้ไปในพื้นที่สงครามอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 300,000,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน[21] ในส่วนของความสูญเสียนั้น ทหารอเมริกันสูญเสียไปถึง 2,448 ราย (ไม่รวมที่บาดเจ็บอีกกว่า 20,000 ราย) ผู้รับเหมากับรัฐบาลสหรัฐฯ 3,846 ราย ทหารพันธมิตร (รวมชาติใน NATO) 1,144 ราย ทหารอัฟกัน 66,000 ราย พลเรือน 47,245 ราย ทหารตาลีบันและอัลเคดา 51,191 ราย เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม 444 ราย และสื่อมวลชน 72 ราย[22]
นอกจากงบประมาณและชีวิตผู้คนที่สูญเสียแล้วสิ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักก็คือ การดำเนินนนโยบายของสหรัฐฯ และบทบาทของกองทัพในสงครามต่อต้านความหวาดกลัวตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ในรายงานของรัฐบาลที่อื้อฉาวที่สุดชิ้นหนึ่งอย่าง “Afghanistan Papers” ซึ่งถูกเผยแพร่โดยสื่อสำนัก Washington Postราวปลาย ปี ค.ศ. 2019 ระบุว่าผู้นำกองทัพสหรัฐฯ ต่างให้เฉพาะข้อมูลเชิงบวกแก่ฝ่ายบริหาร เพื่อทำให้แน่ใจว่ากองทัพสหรัฐฯ จะยังคงตรึงกำลังในอัฟกานิสถานต่อไป โดยปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐฯ จะไม่มีวันชนะในสงครามครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำสงครามในอัฟกานิสถานภายหลัง ปี ค.ศ. 2011 การแถลงต่อสาธารณชนว่าแผนการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยในอัฟกานิสถานมีความคืบหน้าตามลำดับ การบิดเบือนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับงบประมาณและการสูญเสียของฝ่ายสหรัฐฯ เป็นต้น ผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เคยปฏิบัติการณ์ในอัฟกานิสถานให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าสงครามครั้งนี้เต็มไปด้วยการโกหกคำโตต่ออเมริกันชน[23] ด้วยงบประมาณและชีวิตของผู้คนที่สูญเสียไปจำนวนมากแต่กลับไม่สามารถป้องกันการหวนคืนสู่อำนาจของกลุ่มตาลีบันได้ กอปรกับเรื่องอื้อฉาวที่ปรากฏใน “Afghanistan Papers” ทำให้ถือได้ว่าสงครามในอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางการทหารที่ล้มเหลวที่สุดของสหรัฐฯ นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศยืนยันว่าการถอนทหารจากสงครามดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว และไม่มีช่วงเวลาใดจะเหมาะสมไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว
บรรณานุกรม
“A Timeline of the U.S.-Led War on Terror." History (May 5, 2020). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/war-on-terror-timeline>. Accessed September 15, 2021.
“Afghan President Ghani flees country as Taliban enters Kabul." Aljazeera (August 15, 2021). Available <https://www.aljazeera.com/news/2021/8/15/afghan-president-ghani-flees-country-as-taliban-surrounds-kabul>. Accessed September 20, 2021.
“Afghanistan War." History (August 20, 2021). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/afghanistan-war>. Accessed September 15, 2021.
“Biden keeps August 31 deadline to withdraw from Afghanistan: 'The sooner we finish the better'." CNN (August 24, 2021). Available <https://edition.cnn.com/2021/08/24/politics/joe-biden-g7-afghanistan/index.html>. Accessed September 20, 2021.
“Biden says US will complete pullout from Afghanistan by Aug. 31." USA Today (July 8, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/07/08/biden-says-u-s-withdrawal-afghanistan-conclude-august-31/7900297002/>. Accessed September 18, 2021.
Biden, Joe. "Remarks by President Biden on the Drawdown of U.S. Forces in Afghanistan." White House (July 08, 2021). Available <https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/07/08/remarks-by-president-biden-on-the-drawdown-of-u-s-forces-in-afghanistan/>. Accessed September 18, 2021.
“Costs of the 20-year war on terror: $8 trillion and 900,000 deaths.” Costs of War Project. Available < https://www.brown.edu/news/2021-09-01/costsofwar>. Accessed September 19, 2021.
“Costs of the Afghanistan war, in lives and dollars." AP News (August 17, 2021). Available <https://apnews.com/article/middle-east-business-afghanistan-43d8f53b35e80ec18c130cd683e1a38f>. Accessed September 20, 2021.
Cox, Chelsey. "From Bush to Biden: policies that led to the chaos in Afghanistan." USA Today (August 23, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/08/23/presidents-policies-afghanistan-bush-biden/8245394002/>. Accessed September 18, 2021.
“International Security Assistance Force (ISAF): Key Facts and Figures." NATO (May 4, 2011). Available <https://www.nato.int/isaf/placemats_archive/2011-03-04-isaf-placemat.pdf>. Accessed September 20, 2021.
“Kabul airport: footage appears to show Afghans falling from plane after takeoff." The Guardian (August 16, 2021). Available <https://www.theguardian.com/world/2021/aug/16/kabul-airport-chaos-and-panic-as-afghans-and-foreigners-attempt-to-flee-the-capital>. Accessed September 20, 2021.
“NATO to endorse Afghan exit plan, seeks routes out." Reuters (May 21, 2012). Available <https://www.reuters.com/article/us-nato-summit1/nato-to-endorse-afghan-exit-plan-seeks-routes-out-idUSBRE84K05V20120521>. Accessed September 20, 2021.
Phillips, Amber. "Trump’s deal with the Taliban, explained." The Washington Post (August 26, 2021). Available <https://www.washingtonpost.com/politics/2021/08/20/trump-peace-deal-taliban/>. Accessed September 18, 2021.
“President Bush Addresses the Nation." The Washington Post (September 20, 2001). Available <https://www.washingtonpost.com/wp-srv/nation/specials/attacked/transcripts/bushaddress_092001.html>. Accessed September 15, 2021.
Sisk, Richard. "Amid Confusion, DoD Names New Mission 'Operation Freedom's Sentinel'." Military.com (December 29, 2014). Available <https://www.military.com/daily-news/2014/12/29/amid-confusion-dod-names-new-mission-operation-freedoms.html>. Accessed September 14, 2021.
“Taliban announces new government in Afghanistan." Aljazeera (September 7, 2021). Available <https://www.aljazeera.com/news/2021/9/7/taliban-announce-acting-ministers-of-new-government>. Accessed September 20, 2021.
“Taliban take Kandahar, Herat in major Afghanistan offensive." AP News (August 13, 2021). Available <https://apnews.com/article/middle-east-afghanistan-taliban-26d485963b7a0d9f2107afcbc38f239a>. Accessed September 20, 2021.
“U.S. military vacates main air base in Afghanistan but slows withdrawal plan." The Washington Post (July 2, 2021). Available <https://www.washingtonpost.com/national-security/2021/07/02/bagram-afghanistan-biden-war/>. Accessed September 18, 2021.
Whitlock, Craig. “At War with the Truth.” The Washington Post (December 9, 2019). Available < https://www.washingtonpost.com/graphics/2019/investigations/afghanistan-papers/afghanistan-war-confidential-documents/>. Accessed September 19, 2021.
อ้างอิง
[1] "A Timeline of the U.S.-Led War on Terror," History (May 5, 2020). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/war-on-terror-timeline>. Accessed September 15, 2021.
[2] "A Timeline of the U.S.-Led War on Terror," History (MAY 5, 2020). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/war-on-terror-timeline>. Accessed September 15, 2021.
[3] "President Bush Addresses the Nation," The Washington Post (September 20, 2001). Available <https://www.washingtonpost.com/wp-srv/nation/specials/attacked/transcripts/bushaddress_092001.html>. Accessed September 15, 2021.
[4] "Afghanistan War," History (August 20, 2021). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/afghanistan-war>. Accessed September 15, 2021.
[5] "Afghanistan War," History (August 20, 2021). Available <https://www.history.com/topics/21st-century/afghanistan-war>. Accessed September 15, 2021.
[6] "International Security Assistance Force (ISAF): Key Facts and Figures," NATO (May 4, 2011). Available <https://www.nato.int/isaf/placemats_archive/2011-03-04-isaf-placemat.pdf>. Accessed September 20, 2021.
[7] "NATO to endorse Afghan exit plan, seeks routes out," Reuters (May 21, 2012). Available <https://www.reuters.com/article/us-nato-summit1/nato-to-endorse-afghan-exit-plan-seeks-routes-out-idUSBRE84K05V20120521>. Accessed September 20, 2021.
[8] Richard Sisk, "Amid Confusion, DoD Names New Mission 'Operation Freedom's Sentinel'," Military.com (December 29, 2014). Available <https://www.military.com/daily-news/2014/12/29/amid-confusion-dod-names-new-mission-operation-freedoms.html>. Accessed September 14, 2021.
[9] Chelsey Cox, "From Bush to Biden: policies that led to the chaos in Afghanistan," USA Today (August 23, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/08/23/presidents-policies-afghanistan-bush-biden/8245394002/>. Accessed September 18, 2021.
[10] Chelsey Cox, "From Bush to Biden: policies that led to the chaos in Afghanistan," USA Today (August 23, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/08/23/presidents-policies-afghanistan-bush-biden/8245394002/>. Accessed September 18, 2021.
[11] Chelsey Cox, "From Bush to Biden: policies that led to the chaos in Afghanistan," USA Today (August 23, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/08/23/presidents-policies-afghanistan-bush-biden/8245394002/>. Accessed September 18, 2021.
[12] Amber Phillips, "Trump’s deal with the Taliban, explained," The Washington Post (August 26, 2021). Available <https://www.washingtonpost.com/politics/2021/08/20/trump-peace-deal-taliban/>. Accessed September 18, 2021.
[13] "Biden says US will complete pullout from Afghanistan by Aug. 31," USA Today (July 8, 2021). Available <https://www.usatoday.com/story/news/politics/2021/07/08/biden-says-u-s-withdrawal-afghanistan-conclude-august-31/7900297002/>. Accessed September 18, 2021.
[14] "U.S. military vacates main air base in Afghanistan but slows withdrawal plan," The Washington Post (July 2, 2021). Available <https://www.washingtonpost.com/national-security/2021/07/02/bagram-afghanistan-biden-war/>. Accessed September 18, 2021.
[15] Joe Biden, "Remarks by President Biden on the Drawdown of U.S. Forces in Afghanistan," White House (July 08, 2021). Available <https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/07/08/remarks-by-president-biden-on-the-drawdown-of-u-s-forces-in-afghanistan/>. Accessed September 18, 2021.
[16] "Taliban take Kandahar, Herat in major Afghanistan offensive," AP News (August 13, 2021). Available <https://apnews.com/article/middle-east-afghanistan-taliban-26d485963b7a0d9f2107afcbc38f239a>. Accessed September 20, 2021.
[17] "Afghan President Ghani flees country as Taliban enters Kabul," Aljazeera (August 15, 2021). Available <https://www.aljazeera.com/news/2021/8/15/afghan-president-ghani-flees-country-as-taliban-surrounds-kabul>. Accessed September 20, 2021.
[18] "Kabul airport: footage appears to show Afghans falling from plane after takeoff," The Guardian (August 16, 2021). Available <https://www.theguardian.com/world/2021/aug/16/kabul-airport-chaos-and-panic-as-afghans-and-foreigners-attempt-to-flee-the-capital>. Accessed September 20, 2021.
[19] "Biden keeps August 31 deadline to withdraw from Afghanistan: 'The sooner we finish the better'," CNN (August 24, 2021). Available <https://edition.cnn.com/2021/08/24/politics/joe-biden-g7-afghanistan/index.html>. Accessed September 20, 2021.
[20] "Taliban announces new government in Afghanistan," Aljazeera (September 7, 2021). Available <https://www.aljazeera.com/news/2021/9/7/taliban-announce-acting-ministers-of-new-government>. Accessed September 20, 2021.
[21] “Costs of the 20-year war on terror: $8 trillion and 900,000 deaths,” Costs of War Project. Available < https://www.brown.edu/news/2021-09-01/costsofwar>. Accessed September 19, 2021.
[22] "Costs of the Afghanistan war, in lives and dollars," AP News (August 17, 2021). Available <https://apnews.com/article/middle-east-business-afghanistan-43d8f53b35e80ec18c130cd683e1a38f>. Accessed September 20, 2021.
[23] Craig Whitlock, “At War with the Truth,” The Washington Post (December 9, 2019). Available < https://www.washingtonpost.com/graphics/2019/investigations/afghanistan-papers/afghanistan-war-confidential-documents/>. Accessed September 19, 2021.