การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต
การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
1. บทนำ
พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ทำหน้าที่ควบคุมการบริหารประเทศแทนประชาชนส่วนใหญ่ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในฐานะกลไกของการปกครองจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนด กฎเกณฑ์และข้อบังคับของพรรคการเมืองเช่นเดียวกับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรทางการเมืองอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ระบบการเมืองของประเทศไทยเป็นระบบที่ผู้แทนราษฎรต้องดำเนินการผ่านพรรคการเมืองเท่านั้นจึงทำให้พรรคการเมืองมีโอกาสถูกครอบงำโดยผู้บริหารพรรคที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมืองของพรรคได้ ระบบการเมืองแบบนี้อาจทำให้กลายเป็นการปกครองโดยพรรคมิใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ตัวแทนของประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพรรคการเมืองเพื่อให้สมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมของพรรคการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจโดยหัวหน้าพรรคการเมือง หรือ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
2. การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมืองถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ต้องควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย รายละเอียดดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีความสามารถเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งพรรคการเมืองอยู่ 2 ประการ คือ[1]
- เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันในลักษณะของการประกอบธุรกิจทั่ว ๆ ไป
- เพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง
2.2 ผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองต้องมี “คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง” เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง[2] โดยกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดามติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองโดยปรากฏหลักฐานการคัดค้านนั้นในรายงานการประชุมหรือได้ทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานในที่ประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่การประชุมนั้นสิ้นสุดลง
องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ
หน้าที่หลักของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง คือ[3]
- การควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับรวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- จัดทำแผนหรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในแต่ละปีส่งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนเมษายน[4] ของทุกปี เช่น การส่งเสริมประชาชนให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้ประชาชนสามัคคีปรองดองยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง (กิจกรรมตามมาตรา 23) และให้นายทะเบียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
2.3 กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการ
2.3.1 กิจกรรมที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการในแต่ละปี มีดังต่อไปนี้[5]
(1) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
(2) ร่วมกับประชาชนในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน
(3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระอย่างมีเหตุผล
(4) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
(5) กิจกรรมอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(6) ประชุมใหญ่พรรคการเมือง[6]
(7) จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี[7] พรรคการเมืองใดที่จดทะเบียนยังไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับปีนั้น[8]
2.3.2 กิจกรรมที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด มีดังนี้
(1) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้[9]
- ให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
- จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป
2.4 กิจกรรมที่ต้องห้ามของพรรคการเมือง
กฎหมายกำหนดกิจกรรมที่ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือ สมาชิกของพรรคการเมือง หรือ ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้
(1) กระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม[10]
(2) เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก[11]
(4) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก[12]
(5) ใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองหรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า “พรรคการเมือง” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “พรรคการเมือง”[13]
(6) รับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน[14]
(7) กระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ[15]
(8) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ[16]
(9) ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ[17]
3. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 121 ก/ 30 พฤศจิกายน 2560. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง วิธีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง พ.ศ. 2560.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[1] มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[2] มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[3] มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[4] มาตรา 23 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[5] มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[6] มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[7] มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[8] ข้อ 4 แห่งประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง วิธีการรายงานการดำคเนินกิจการของพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[9] มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[10] มาตรา 28 และ มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[11] มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[12] มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[13] มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[14] มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[15] มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[16] มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
[17] มาตรา 46 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560