การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

 

                   การกระทำที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง คือ การกระทำที่จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น การให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือ การชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการให้จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด รวมทั้งการโฆษณาหาเสียงด้วยมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ การเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง รวมไปถึงการหลอกลวง บังคับ ขู่เข็น ใช้อิทธิพลคุกคาม ใช้ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง (มาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561) เมื่อตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดอำนาจในการดำเนินการในกรณีที่ตรวจพบว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมไว้ดังต่อไปนี้

 

1. กรณีตรวจพบการกระทำผิดการเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง  (มาตรา 132)

          ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้งให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่

          หากการดำเนินการดังกล่าวมีหัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย

 

2. กรณีที่ตรวจพบการกระทำผิดการเลือกตั้งภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 133)

          ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

 

3. อำนาจหน้าที่เมื่อตรวจพบการกระทำผิดการเลือกตั้ง

3.1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง

          ในกรณีที่ปรากฎหลักฐานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจดังต่อไปนี้

                     (1) ออกคำสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำหรือมีคำสั่งให้แก้ไขการกระทำตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดได้ (มาตรา 135)

                    (2) ตั้งคณะกรรมการตามความจำเป็นเพื่อช่วยตรวจสอบสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวน รวมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือพยานหลักฐานแทนคณะกรรมการได้ (มาตรา 134)

                    (3) สั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินไว้เป็นการชั่วคราว (มาตรา 136)

                    (4) สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ ยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้ (มาตรา 137)

                    (5) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง (มาตรา 138)

          3.2) เจ้าพนักงานตำรวจ

          หากพบเห็นการกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและ ดำเนินคดีโดยเร็ว และแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไป (มาตรา 135 วรรคสอง)

 

4. สิทธิในการคัดค้าน (มาตรา 140)

          ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิ ยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กล่าวหาว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยอาจยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งจนถึงสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อหา ข้อเท็จจริงโดยพลัน

 

5. บรรณนานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561